fbpx

เมื่อวาน วันนี้ และพรุ่งนี้ของ “กันตนา”

หมายเหตุเนื้อหา : บทความเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561


ถ้าพูดถึงวงการโทรทัศน์ไทย คงมีหลายๆท่านคงนึกถึงละคร หรือรายการวาไรตี้ที่เสริมความบันเทิงให้กับชีวิตของคุณ ซึ่ง ณ วันนี้ก็มีผู้ผลิตรายการหลากหลายบริษัทกันเลยทีเดียว แต่ถ้าจะให้พูดถึงรายการดังๆอย่าง “The Face Thailand” หรือการ์ตูนดีๆอย่าง “ก้านกล้วย” ทุกคนคงจะนึกถึง “กันตนา” อย่างแน่นอน บริษัทที่ดำเนินกิจการมาร่วมเป็นปีที่ 67 แล้ว โดยปัจจุบันนี้ได้แปลงตัวเป็น Content Provider อย่างเต็มรูปแบบ และนำเสนอรายการที่มีคุณภาพระดับโลกหลากหลายรสชาติให้กับคุณผู้ชมชาวไทยและในต่างประเทศได้รับชมกันมาโดยตลอด วันนี้ “ส่องสื่อ” จะขอนำทุกๆท่านร่วมไปย้อนอดีต มามองปัจจุบัน และมองไปในอนาคตของกันตนาในยุคที่อะไรๆก็ง่ายไปหมดกันครับ

เมื่อวานของกันตนา

ภาพโดย : เว็บไซต์บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)

กันตนามีจุดเริ่มต้นจากการเป็น “ละครวิทยุ” ในปีพ.ศ. 2494 ที่ตอนนั้นอยู่ในช่วงที่กำลังรุ่งเรืองกัน โดยในตอนนั้นมีคุณประดิษฐ์ กัลย์จาฤก และคุณสมสุข กัลย์จาฤก ร่วมกันก่อตั้งตามคำดำริของเจ้าของคณะละครวิทยุ “กันตถาวร” อย่าง “ครูเอิบ กันตถาวร” โดยคุณประดิษฐ์เป็นผู้มีหน้าที่ในการผลิตและยืนอยู่เบื้องหน้าในการบริหารกิจการ ส่วนคุณสมสุขคือผู้อยู่เบื้องหลัง คอยสร้างสรรค์จินตนาการออกมาเป็นบทละคร ภายใต้นามปากกาว่า กุสุมา สินสุข

หลังจากที่กันตนาได้ผลิตละครวิทยุมาได้ระยะหนึ่ง “สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก” ก็ได้กำเนิดขึ้นในปีพ.ศ. 2501 ในระบบโทรทัศน์ขาว-ดำ ซึ่งทางกันตนาก็ได้กระโดดเข้ามาในวงการโทรทัศน์ โดยการผลิตละครโทรทัศน์เรื่อง “หญิงก็มีหัวใจ” เป็นเรื่องแรกประเดิมของบริษัท และในปีพ.ศ. 2503 กันตนาก็ได้กระโดดเข้ามาในวงการภาพยนตร์ โดยเริ่มสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง “ผีพยาบาท” หลังจากนั้นก็ได้พัฒนาและผลิตภาพยนตร์ออกมาอีกมากมาย จนถึงปีพ.ศ. 2519 กันตนาก็ได้ก่อตั้ง “คณะส่งเสริมศิลปิน” ขึ้นมา เพื่อเป็นเวทีกลางในการให้ผู้กำกับละครหน้าใหม่ได้มาสร้างสรรค์ละครโทรทัศน์ รวมถึงได้เปลี่ยนรูปแบบการถ่ายทำจาก “ถ่ายทอดสด-บอกบท” มาเป็น “นักแสดงท่องบทเอง” แทน ทำให้เพิ่มอรรถรสในการรับชมอีกด้วย

ละคร “ผีพยาบาท” นำมารีเมคอีกครั้งในปีพ.ศ. 2541 โดยออกอากาศทาง ททบ.5

ต่อมาในปีพ.ศ. 2523 บริษัท กันตนา วีดีโอ โปรดักชั่น จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นภายใต้การส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล ประเภทการสร้างภาพยนตร์ด้วยระบบโทรทัศน์ และได้พัฒนาทั้งการสร้างโรงถ่ายรายการและภาพยนตร์ การสร้างระบบเสียงไร้สายซึ่งเปลี่ยนมิติการถ่ายทำละครให้สามารถไปถ่ายทำนอกสถานที่ได้ และเปลี่ยนระบบเป็นการบันทึกเทปโทรทัศน์โดยสมบูรณ์ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2527 กันตนาก็ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการขยายบริษัทในเครือออกมามากมาย และได้ก่อตั้งสำนักงานใหญ่ที่บริษัทถนนรัชดาภิเษก         

ในปีพ.ศ. 2531 กันตนาได้บุกธุรกิจแอนิเมชั่น โดยการร่วมทุนกับญี่ปุ่นในชื่อ “บริษัท ไทย อนิเมะ จำกัด” เพื่อรับงานผลิตการ์ตูน และกลับมาสร้างภาพยนตร์อีกครั้งภายใต้บริษัท กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จำกัด ในปีพ.ศ. 2532 โดยการกลับมาครั้งนี้ก็กลับมาแบบไม่ธรรมดา เพราะได้นำเทคโนโลยีแปลงสัญญาณจากระบบโทรทัศน์เป็นฟิล์มภาพยนตร์ ทำให้กลายเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา โดยเรื่องแรกที่ทำคือ “แม่เบี้ย”

ใบปิดภาพยนตร์เรื่อง “แม่เบี้ย” จากเว็บไซต์ Thaifilm Fondation
(http://www.thaifilm.com/forumDetail.asp?topicID=4311)

กันตนาเริ่มบุกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจังในปีพ.ศ. 2535 โดยจัดตั้งบริษัท มิก้า มีเดีย จำกัดซึ่งร่วมทุนกับไทยนครพัฒนา ผู้ผลิตยาสามัญประจำบ้านรายใหญ่ในประเทศไทย เพื่อไปบริหารสถานีโทรทัศน์กองยุทธพลเขมรภูมินทร์ ช่อง 5 เป็นเวลา 30 ปี โดยได้รับสัมปทานในปีพ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบันก็ครบรอบปีที่ 23 ของสถานีฯแล้ว และในปีที่รับสัมปทาน กันตนาก็ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บจก.กันตนา กรุ๊ป       

ในปีพ.ศ. 2541 บริษัท โอเรียลทัล โพสท์ จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้น โดยร่วมมือกับบริษัท ล็อกซเล่ย์ วีดีโพสท์ จำกัด และได้รับการส่งเสริมด้านการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในกิจการ (BOI) กันตนาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ในปีพ.ศ.2546 กันตนาได้เปลี่ยนเป็น บริษัทมหาชนจำกัด และได้ปรับปรุงโครงสร้างของบริษัทให้มีความทันสมัย และพัฒนาโครงการเขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ภายใต้บริษัท กันตนา มูฟวี่ทาวน์ (2002) จำกัด มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท นอกจากนั้นยังได้ร่วมผลิตรายการโทรทัศน์ให้กับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งทำให้กันตนาก้าวมาเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่หลากหลาย และครอบคลุมฐานผู้ชมมากขึ้น และในปีพ.ศ. 2547 ยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลอีกด้วย ในปีนี้เองก็ได้กำเนิด “ก้านกล้วย” ภาพยนตร์แอนิเมชั่นไทยเรื่องแรกที่คนไทยผลิตทั้งหมด และออกฉายในปีพ.ศ. 2549         

และในปีพ.ศ. 2552 กันตนาได้ปรับปรุงระบบการผลิตใหม่ โดยผลิตละครในระบบดิจิทัลสมบูรณ์แบบครั้งแรกของประเทศไทย และจัดทำ “Kantana Cineplex” โรงภาพยนตร์ที่ฉายภาพยนตร์ผ่านดาวเทียมสู่โรงภาพยนตร์ และเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม “มิราแคล แชนแนล” อีกช่องทางด้วย นอกจากนั้นในปีพ.ศ. 2553 “สถาบันกันตนา” ก็ได้เปิดตัวขึ้น ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง และยังพัฒนาระบบการถ่ายทำให้เป็น HD และ 3D เพื่อให้ก้าวทันในอุตสาหกรรมบันเทิง โดยได้นำระบบการถ่ายทำ 3D มาใช้ในปีพ.ศ. 2554 ผ่านละคร “สุดหัวใจเจ้าชายเทวดา” ซึ่งเป็นที่ฮือฮาของวงการโทรทัศน์ไทยเลยก็ว่าได้

โครงการโรงภาพยนตร์ชุมชนแรกของไทย กันตนา ซีนีเพล็กซ์ (Kantana Cineplex)

นอกจากนั้นในปีพ.ศ. 2556 กันตนาได้ร่วมมือกับ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ร่วมกันเปิด บริษัท เมเจอร์ กันตนา บรอดแคสติ้ง จำกัด และได้ผลิตสถานีโทรทัศน์ในเครือทั้ง 2 ช่อง ได้แก่ M Channel และ Boomerang ที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นจำนวนมาก         

แต่สิ่งที่ทำให้ฮือฮาไม่น้อยก็คือ ในปีพ.ศ. 2557 กันตนาได้ประกาศเป็น Content Provider เต็มรูปแบบ และได้ Re-Brand ตัวเองในปีพ.ศ. 2558 สร้างความทันสมัยให้กับแบรนด์ตัวเอง โดยในช่วงหลังนี้ได้ผลิตรายการที่สร้างความนิยมและขยายฐานมาผลิตบนแพลตฟอร์มอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ifilx , Line TV และ YouTube ซึ่งทำให้ผู้ชมเข้าถึงมากขึ้นและมีส่วนร่วมในรายการมากขึ้นด้วย…

ประวัติของบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)

ปัจจุบันและอนาคตของกันตนา

กันตนาในยุคปัจจุบัน อยู่ในช่วงกำลังปรับตัวให้ก้าวทันในยุคดิจิทัล ตั้งแต่การยุบฟิล์มแล็บ ซึ่งเคยเป็นสายน้ำสายหลักของกันตนาเลยก็ว่าได้ เนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านไปเป็นดิจิทัลฟิล์ม ทำให้ได้รับผลกระทบไปไม่น้อย ซึ่งกันตนาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เพิ่มธุรกิจอื่นๆเพื่อเข้ามาเสริม และเพิ่มความแข็งแกร่งของธุรกิจโทรทัศน์มากขึ้นอีกด้วย         

ส่องสื่อ ได้มีโอกาสพูดคุยถึงทิศทางของธุรกิจโทรทัศน์ กับประธานสายธุรกิจรายการโทรทัศน์ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) “คุณศศิกร ฉันทเศรษฐ์” ว่ากันตนาในวันนี้และอนาคตจะเป็นเช่นไรต่อไปในโลกที่หมุนไวเปรียบดั่งสายฟ้าฟาดเช่นนี้…

คุณศศิกร ฉันทเศรษฐ์ ประธานสายธุรกิจรายการโทรทัศน์ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บนเวที “The Best of Kantana 2018”

ทำไมถึงเลือกเป็น Content Provider แทนที่จะผูกติดกับช่องใดช่องหนึ่งเหมือนเมื่อก่อน?

พี่โอ๋ : คือพี่เองเชื่อว่า คอนเทนต์ถ้าดี ถ้า Out Standing จริงๆ มันอยู่ตรงไหนก็ได้ คนจะตามไปดู ไม่ว่าจะเป็นทีวีช่องหลัก ทีวีช่องใหม่ หรือว่าแพลตฟอร์มอื่นที่เกิดขึ้น แล้วก็พี่เชื่อว่าแต่ละช่อง แต่ละแพลตฟอร์มเขามีคาแรคเตอร์ของตนเอง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของคนที่ทำคอนเทนต์ก็คือ ต้องทำคอนเทนต์ให้ Out Standing แล้วให้เข้ากับคาแรคเตอร์ของแต่ละแพลตฟอร์ม แต่ละช่องที่เขาเลือก กันตนาประกาศตั้งแต่วันแรกที่มีทีวีดิจิตอล บอกว่าเราเป็น Content Provider พร้อมที่จะทำคอนเทนต์ให้กับทุกช่อง ทุกแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น เพราะว่าจริงๆแล้ว พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนทุกปี ตอนนี้เปลี่ยนตลอด คนทำคอนเทนต์ก็ต้องเตรียมพร้อมตลอดสำหรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนดู แล้วทำให้เข้ากับเขามากที่สุด

ความท้าทายของกันตนาเรื่องคอนเทนต์

พี่โอ๋ : จริงๆ กันตนาไม่ค่อยกังวลมากนัก เพราะว่าไม่ได้ทำสถานีโทรทัศน์ สิ่งที่กังวลคือ กังวลแทนสถานีโทรทัศน์ว่าเขาจะอยู่ได้ในระยะยาวแค่ไหน คือการที่มีช่องมากเกินไป บางทีมันไม่ตอบโจทย์ด้านธุรกิจ เพราะว่าตัวเงินในตลาดมันมีจำนวนจำกัด มันไม่ได้เพิ่มมากขึ้น แต่ว่าจำนวนช่องที่เยอะ มันทำให้ตัวเงินมันไม่สามารถกระจายได้ คือกังวลแทนเขามากกว่า แต่ว่าคอนเทนต์มันทำอยู่กับเขา แล้วก็ถ้าช่องอยู่ไม่ได้ คอนเทนต์ก็อยู่ไม่ได้ แต่ว่าเนื่องจากแพลตฟอร์มมันมีความหลากหลายมากกว่าช่องโทรทัศน์แล้ว จะมีแพลตฟอร์มออนไลน์ ออนโมบาย คอนเทนต์ก็เลยไปได้ทั่ว แต่ในทางการตลาด เม็ดเงินโฆษณามันยังไม่สามารถสนับสนุนหรือช่วยทำให้สามารถไปผลิตในแพลตฟอร์มอื่นๆได้ สมมุติถ้ากันตนาต้องขายโฆษณามันยังไม่สามารถ support ให้ไปผลิตในแพลตฟอร์มอื่นได้ มันก็เลยต้องผลิตคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มทีวีเป็นหลัก

เหนื่อยไหมกับพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

พี่โอ๋ : จริงๆพี่ว่ามันเป็นโอกาสด้วย มันเหมือนกับพอเราจะทำโชว์หรือเราเป็นผู้แสดง หรืออะไรก็แล้วแต่ มันมีเวทีให้เล่นเยอะขึ้น แต่ว่าอยู่ที่ว่าเราจะหาเจอไหมว่าเราควรจะเอาอะไรออกมาสำหรับแต่ละเวทีให้ตรงกับคนดูหรือว่าผู้ชมของเวทีนั้น

ทำไมกันตนาไม่เข้าประมูลทีวีดิจิตอล?

พี่โอ๋ : โครงสร้างมันยังไม่ใช่ จริงๆแล้วอันนี้คุณพ่อคุณเต้ (คุณจาฤก กัลย์จาฤก) พูดตั้งแต่วันแรกว่า กันตนากระโดดลงไปประมูลยุคไอทีวี อันนั้นที่กระโดดลงไปประมูลเพราะว่าโครงสร้างมันพร้อม แต่ว่าเมื่อเข้าไปแล้วมันมีปัจจัย มันมี Factor อื่นขึ้นมา แล้วตอนนั้นมันมีทีวีธุรกิจอยู่แค่ 4 ช่อง แล้วก็มีไอทีวีเพิ่มขึ้นมากลายเป็น 5 ช่อง เราก็เลยกระโดดเข้าไป แต่ว่าพออยู่ดีๆมาบอกว่าจะมีทีวีอีก 24 ช่องซึ่งโครงสร้างมันไม่พร้อม มันมีหลายอย่างที่ตอบคำถามเราไม่ได้ ตอนนั้นคุณจาฤกก็เลยบอกว่า งั้นเราประกาศตัวเป็น Content Provider ดีกว่า เราอย่าไปประมูลเลย เพราะเรารู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วทุกอย่างที่พูดเนี่ยคือมันได้เกิดขึ้น ณ วันนี้แล้ว

ความแตกต่างของยุค “ไอทีวี-กันตนา” กับยุค “ทีวีดิจิตอล” คืออะไร

พี่โอ๋ : จริงๆ ยุคนั้นทีวีมีไม่เยอะ และยุคนั้นทำรายการโทรทัศน์แบบมืออาชีพจริงๆ แล้วก็ไม่กระจายรูปแบบเท่าตอนนี้ อย่างยุคนี้มันมีความรู้สึกว่า Free Form มาก ทุกคนสามารถทำทีวีได้ คำว่า Free Form บางทีมันสามารถใช้เงินทำทีวีตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้านได้ โดยที่ไม่รู้ว่าจุดพอดีมันอยู่ตรงไหน? แต่ว่าถ้ายุคในอดีตมันมี Format ของมันอยู่ว่าต้องทำขนาดไหน มันก็จะเห็นภาพชัด แล้วก็ตัววัดการซื้อโฆษณามันคือเรตติ้งจริงๆ แต่ยุคนี้มันไม่ใช่เรตติ้งอย่างเดียวแล้ว มันต้องมียอดการรับชม ต้องมี engaged ต้องมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็ยากขึ้น แต่มันมีเวทีมากขึ้น

โครงสร้างทางธุรกิจของกันตนาในปี 2561

ผลกระทบของทีวีดิจิตอลต่อผู้ผลิตคอนเทนต์เอง มีอะไรบ้าง?

พี่โอ๋ : กันตนาไม่ได้กำไรเพิ่มมากขึ้น คืองานเยอะขึ้นแต่ Margins (อัตรากำไรขั้นต้น) น้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนทำทีวีในปัจจุบันทุกที ถ้าไม่ขาดทุนก็มีกำไรจริง แต่ Margins น้อยลง มันไม่เหมือนยุคที่มันมี 4-5 ช่อง Margins มันเยอะมาก บางทีทำรายการเดียวสามารถเลี้ยงได้ทั้งบริษัทเลย กันตนาผ่านยุคที่จริงๆมีรายการ “คดีเด็ด” รายการเดียวก็เลี้ยงได้ทั้งบริษัทได้เลย (หัวเราะ) เพราะว่ายุคนั้นโฆษณานาทีละ 300,000-400,000 บาท แต่ยุคนี้มันหาแบบนั้นไม่ได้แล้ว และยิ่งยุคนั้นเป็นยุคที่เรตติ้งถึง 30 ก็เคยทำ เชื่อไหมว่าทำละครตอนอวสานมีเรตติ้ง 30 แต่เดี๋ยวนี้เรตติ้งแค่ขึ้น 5-7 ถือว่ารายการนี้มันก็ประสบความสำเร็จมากแล้ว ซึ่งมันเปลี่ยนไปเยอะ แต่ราคาของเรตติ้งมันยังเป็นตามอุตสาหกรรมอยู่ สมมุติถ้าราคาโฆษณาแทนที่มันจะเพิ่มขึ้น มันกลับลดลง ถ้าเกิดเรตติ้งไม่ได้มันก็ยังมีราคาโฆษณามารองรับอยู่

จะได้เห็นกันตนากระโดดไปช่องอื่นเพิ่มเติมไหม?

พี่โอ๋ : จริงๆพี่ว่าแล้วแต่คาแรคเตอร์ของแต่ละช่อง คือกันตนาทำได้ทุกรูปแบบ ตามคาแรคเตอร์ของแต่ละช่อง ถ้าจับดูดีๆ ก็จะมีอะไรที่แตกต่างกัน อย่าง PPTV เขาก็เน้นอะไรที่เป็น Premier อะไรที่เป็น World Class เราก็เลยหาคอนเทนต์แบบ World Class ไปลง อย่างไลน์ทีวี เน้นอะไรที่เป็น Out Standing ที่ดูไม่ได้ทางฟรีทีวีปกติ ก็ต้องมาดูทางไลน์ทีวี มันจะมีบางอย่างที่ต้องจับให้เจอ แล้วเราต้องไปทำคอนเทนต์นำเสนอ

สถานการณ์ทีวีของกันตนาในต่างประเทศ ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ?

พี่โอ๋ : ตอนนี้สถานการณ์ทีวีไม่ค่อยดีสักประเทศ แต่ว่าอย่างเวียดนามเอง กันตนาก็ไปร่วมทุนบริหารประมาณ 10 ปีได้ ช่วงแรกก็ขึ้นดีแต่ว่าก็เป็นวัฏจักรของมัน ช่วงนี้ก็เป็นช่วงขาลงของสถานีโทรทัศน์ เพราะว่า Model ของสถานีเวียดนามมันแตกต่างกับไทยมาก เพราะว่ามันเป็นจุด มันเป็นจังหวัด ส่วนพม่าที่เพิ่งไปทำก็โอเค ถือว่าสถานีเติบโตได้ดี เพราะว่ามันเป็นช่วงของการเติบโต แต่ว่าราคาค่าโฆษณายังไม่ได้ และยังไม่พอที่จะทำคอนเทนต์ดีๆ มันอยู่ในช่วงเติบโต

กลุ่มผู้บริโภคในไทยกับต่างประเทศ แตกต่างกันไหมครับ?

พี่โอ๋ : พี่ว่าธรรมชาติใกล้เคียงกัน เพราะว่าสังเกตจากหลายอย่างที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย พอเอาไปประเทศเพื่อนบ้านก็ประสบความสำเร็จใกล้เคียงกันคะ แต่ในส่วนของเม็ดเงินโฆษณา ถ้าเราไปเทียบพม่าหรือกัมพูชาที่เข้าไปทำก็ยังแตกต่างกันอยู่เยอะ แต่เวียดนามใกล้เคียงกับบ้านเราแล้วอนาคตของกันตนาในการทำคอนเทนต์พี่โอ๋ : พี่ว่าเรื่องคอนเทนต์มันยังไปได้อีกไกล คือคนคงจะไปโฟกัสเรื่องคอนเทนต์มากกว่า แล้วก็ขยายไปตามรูปแบบแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนแปลง ที่ขยายหลักก็คือถ้าในประเทศไทยก็ไปตามแพลตฟอร์มที่เปลี่ยน ถ้าในต่างประเทศเราก็ไปในภูมิภาคนี้ ในส่วนของรายการอาจจะเป็นแนวระดับภูมิภาคมากขึ้น คือทำรายการเดียวแล้วสามารถออกอากาศได้ทั้งภูมิภาค

ผู้บริหารกันตนาร่วมถ่ายรูปในงาน “The Best of Kantana 2018”
ภาพจาก WebLakorn

ความท้าทายในการส่งไม้ต่อของ “กันตนา” ในรุ่นของคุณเต้?

*ในบทความนี้ คุณปิยะรัฐ กัลย์จาฤก ผู้อำนวยการบมจ.กันตนา กรุ๊ป ให้เกียรติตอบคำถามข้อนี้*

พี่เต้ : (หัวเราะ) พี่เต้เป็นฝ่าย Creative อ่ะ คือได้โจทย์อะไรมา เราก็ต้องทำได้ทุกอย่าง เพราะมันคืออาชีพที่ทำมาตั้งแต่สมัยคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายเรา ส่งต่อมาถึงยุคของคุณพ่อ พี่โอ๋ เราอยากสานต่อไปให้กันตนาอยู่ไปได้ตลอดไป จนถึงรุ่นที่ 4 5 6 เพราะฉะนั้นเราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคของ Transition ให้ได้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เท่าที่กำลังจะมี

ฝากอะไรถึงท่านผู้ชมและะคนที่ติดตามกันตนา

พี่โอ๋ : เสียงสะท้อนจากผู้ชมคือสิ่งที่มีค่ามากที่สุดนะคะ แล้วยิ่งในยุคปัจจุบันมันมีวิธีที่ผู้ชมจะเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น แม้กระทั่งสร้างสรรค์รายการ มีส่วนร่วมกับรายการ ผลิตรายการในบางช่วง อันนี้ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ ก็อยากได้การมีส่วนร่วมเข้ามาในรายการมากๆนะคะ

ถามนอกเรื่อง…

จ้อจี้มีการปรับเปลี่ยนและโดนถอดออก อันนี้เกิดจากทางกันตนาเองรึเปล่า?

พี่โอ๋ : ใช่คะ เพราะว่ามันถึงจุดหนึ่งที่มันต้องพอแล้ว มันเป็นวัฎจักรของรายการ

ในส่วนของหอประวัติของกันตนา ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ?

พี่โอ๋ : อย่างหอสมุดตอนนี้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้มีพิพิธภัณฑ์อยู่ที่สถาบันกันตนาที่ศาลายา ก็ค่อยๆเก็บสะสมไป อย่างใครที่เข้าไปดูก็จะเห็นพวกเครื่องเทปเก่าๆ หนังสือเก่า หรือแม้กระทั่งสิ่งของอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีหมดทุกอย่างคะ

แล้วจะมีโปรแกรมเอาละครเก่าไปออกอากาศตามสถานีโทรทัศน์หรือแพลตฟอร์มอื่นๆบ้างไหมครับ?

พี่โอ๋ : ก็มีบางช่องขอไปฉายเหมือนกัน แต่ว่าด้วยคุณภาพมันจะดร็อปมาก ตอนนี้กันตนามีช่องทีวีดาวเทียมอย่าง “มิราเคิล แชนแนล” ก็จะฉายละครเก่าๆ อยู่
และนี่คือทั้งหมดของกันตนา ทั้งวันนี้ และอนาคตครับ…