fbpx

“วิทยุไม่มีคนฟังแล้วจริงเหรอ?” เป็นประเด็นคำถามที่เราคิดกันและอยากจะเขียนต้อนรับปี 2562 เลยทีเดียว เพราะเปิดต้นปีมาก็มีคลื่นวิทยุโบกมือลาไปแล้ว นอกจากนั้นเรายังเห็นว่าในยุคนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะคนมักฟังเพลงจาก YouTube ไม่ก็ JOOX , Spotify แล้ว (ส่องสื่อ Podcast ก็มีใน Spotify นะ) ก็เลยคิดว่าวิทยุไม่มีคนฟังแล้วรึเปล่า? แล้วเขาเปลี่ยนแปลงกันยังไงในยุคนี้บ้าง? ลองติดตามจากบทความนี้กันดูนะครับ

Get 102.5 ปิดตัวเงียบไปโดยไม่บอกกล่าวก่อน

Get 102.5 ถือเป็นคลื่นเพลงสากลที่ยอดนิยมในเขตกรุงเทพมหานครและดำเนินมากว่า 17 ปี มีอันต้องยุติการออกอากาศลงโดยไม่ทราบสาเหตุ (ในตอนแรก) และไม่ได้มีการแจ้งบอกกล่าวใดๆ ทิ้งไว้เป็นคลื่นว่างเปล่าและส่งต่อให้เจ้าของคลื่นนำไปปล่อยต่อให้ผู้เช่ารายใหม่

หลังจากนั้น มติชนออนไลน์ ก็ได้เผยบทสัมภาษณ์ของดีเจอรว่าการปิดคลื่นครั้งนี้ พนักงานได้เตรียมตัวมาสักพักใหญ่ๆ และองค์กรเองก็ได้มีการปรับตัวทั้งในส่วนของกิจกรรม ดีเจ รวมไปถึงงบประมาณต่างๆ แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดีขึ้น รวมไปถึงช่องทางการฟังเพลงที่หลากหลายขึ้นก็มีผลทำให้สถานการณ์ภายในคลื่น GET ไม่ค่อยดีด้วยเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการปิดตัวคลื่นนี้เกิดขึ้น โดยตัวพนักงานจะยังคงทำงานถึงสื้นเดือนมกราคมนี้

นอกจากนี้ Positioning Online ยังรายงานถึงการปิดตัวคลื่น GET ต่อด้วยว่ามีผลมาจากตัวเลขกำไรไม่ค่อยสวยมากนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ดำเนินการ คือ บริษัท อินดิเพ็นเดนท์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวอร์ค จำกัด ได้รายงานผลประกอบการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่ารายได้ในปี 2560 อยู่ที่ 226,120,280.48 บาท กำไรอยู่ที่ 1,786,001.31 บาท ลดลงจากปี 2559 ที่รายได้อยู่ที่ 388,236,409.92 บาท และกำไรอยู่ที่ 3,782,374.79 บาท

เอไทม์ปรับคลื่น – รุก Social หนัก แถมทำ Podcast เองด้วย

ฟากของ “เอไทม์มีเดีย” เองก็ปรับหนัก โดยเน้นรายการแนววาไรตี้มากขึ้น เช่น “ใต้โต๊ะทำงาน” , “จันทร์ช็อคโลก” , “อังคารคลุมโปง” , “Club Friday” และเพิ่มรายการใหม่ลงผัง Greenwave อย่าง “Monday มันดี เอกกี้อ้อม” เข้าไปเพื่อเพิ่มสีสันและสร้างความแตกต่างกับคลื่นอื่นๆอีกด้วย นอกจากนั้นยังโยก EFM จาก 104.5 เป็น 94.0 MHz ถือว่าเป็นการกลับบ้านสู่วิทยุกองทัพบกอีกครั้ง

แต่สิ่งที่ทำให้แปลกใจและตื่นเต้นอีกครั้งก็คือ การลงมาทำ Podcast เองด้วย ซึ่งในครั้งนี้ได้ทยอยปล่อย Podcast ลงทาง YouTube บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรายการ “So Watch By Gossip Gun” หรือ “WORK OUT WORK เอง” ซึ่งการลงมือทำเองครั้งนี้เอไทม์ก็ใช้ต้นทุนทาง Social Media และฐานคนฟัง รวมไปถึงการใช้สตูดิโอได้ดีเลยทีเดียว

สรุปว่าวิทยุยังมีคนฟังอยู่จริงเหรอ?

อันที่จริงแล้วคำตอบคือ “ยังมีคนฟังอยู่” นั่นเอง โดยสถิติการรับฟังรายการวิทยุในปี 2561 ที่ผ่านมามีอัตราการรับฟังอยู่ที่ร้อยละ 15 ของประชากรทั่วประเทศ ซึ่งลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 1 และช่วยพีคของการฟังวิทยุคือ 08.00-11.00 น. และ 14.00-18.00 น. ซึ่งเป็นช่วงการทำงานเป็นหลัก แต่หลักๆแล้วคนไทยมักชอบฟังที่บ้านถึงร้อยละ 52 ส่วนฟังที่ทำงานมีร้อยละ 11 และในรถมากถึงร้อยละ 36 เลยทีเดียว

สถิติการรับฟังวิทยุ แบ่งตามอุปกรณ์และสถานที่ โดย นีลเส็น #ส่องสื่อ

ส่วนมูลค่าการโฆษณาของวิทยุนั้นมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยมูลค่าของตลาดโฆษณาในปี 2561 อยู่ที่ 4,802 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ากว่าในปี 2560 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 4,476 ล้านบาท

โดยสรุปที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของคลื่นวิทยุที่กำลังหมุนไป โดยเฉพาะปีนี้ซึ่งเป็นปีแห่ง Podcast แล้วด้วยล่ะก็จะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นให้กับการแข่งขันในวงการวิทยุไม่มากก็น้อย และอาจจะมีคนที่จำใจต้องถอดออกจากวงการไปตามมูลค่าโฆษณาที่ลดลงไป แต่ก็นั่นแหละครับ คนที่แข็งแกร่งที่สุดจะได้คว้าเค้กก้อนใหญ่ที่สุดไปนั่นเอง…

อ้างอิงจาก สรุปสถานการณ์สภาพตลาดกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2561