fbpx

บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 3/2563 แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจากผลประกอบการสะท้อนให้เห็นว่ามีรายได้ที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่สามารถทำกำไรได้ในรอบหลายไตรมาส อันเนื่องมาจากการตัดลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการลดขนาดองค์กรให้สามารถแข่งขันได้

โดยรายได้ในไตรมาสที่ 3/2563 ของบีอีซี (ชื่อย่อของหลักทรัพย์) มีรายได้ทั้งหมด 1,329,990,000 บาท น้อยกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 2,531,869,000 บาท แบ่งรายได้เป็นรายได้จากธุรกิจโทรทัศน์ 1,143,514,000 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 1,685,027,000 บาท แต่มีอัตราสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2563 อันเนื่องมาจากมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาลต่อกรณีของไวรัสโคโรนา ทำให้เริ่มมีการกลับมาจัดกิจกรรมทางการตลาดและมีความต้องการในการลงโฆษณามากขึ้น

ในขณะที่รายได้จากลิขสิทธิ์ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสนี้มีรายได้อยู่ที่ 169,191,000 บาท อันเนื่องมาจากการขายลิขสิทธิ์ละครไปต่างประเทศที่ลดลง ประกอบกับรายได้จากออนไลน์ที่ลดลง อันเนื่องมาจากการรีรันละครที่มากขึ้นผ่านหน้าจาโทรทัศน์ ทำให้คอนเทนต์ที่เคยลงออนไลน์หายไปบางส่วน และไม่มีคอนเทนต์ใหม่ขึ้นบนออนไลน์แพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน

ในส่วนของการจัดแสดงและคอนเสิร์ต มีรายได้ที่ลดลงเหลือ 807,000 บาท อันเนื่องมาจากจัดคอนเสิร์ตจากต่างประเทศยังไม่สามารถจัดได้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของบีอีซี-เทโร เลยทีเดียว แต่รายได้จากการขายสินค้ากลับเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้อยู่ที่ 9,279,000 บาท และยังมีรายได้อื่นๆ อีก 7,199,000 บาท

เมื่อสำรวจในส่วนของค่าใช้จ่ายของบีอีซี พบว่าต้นทุนขายและให้บริการลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาส 3/2563 มีต้นทุนการขายอยู่ที่ 950,409,000 บาท ต่างจากไตรมาสที่ 3/2562 ที่มีต้นทุนการขายอยู่ที่ 1,755,900,000 บาท และเมื่อค่าใช้จ่ายรวมกันก็น้อยกว่าไตรมาสที่ 3/2562 ที่มีรายจ่ายอยู่ที่ 2,397,915,000 บาท แต่ในไตรมาสที่ 3/2563 มีรายจ่ายอยู่ที่ 1,232,672,000 บาท

การที่รายจ่ายลดลง เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำให้บีอีซีต้องลดต้นทุน โดยเน้นไปลดต้นทุนการผลิตรายการและละครลง และลดค่าตัดจ่ายละครลง โดยเน้นรีรันละครในเวลา Prime-Time เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง รวมไปถึงการปรับผังรายการในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ที่เกิดขึ้นและสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เช่นกัน ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าในไตรมาส 3/2563 บีอีซีมีผลประกอบการหลังหักภาษีเงินได้เป็นกำไรมากขึ้น คือได้กำไรอยู่ที่ 43,115,000 บาท แต่ลดลงจากไตรมาสที่ 3/2562 ที่ได้กำไรอยู่ที่ 88,133,000 บาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการฟ้องร้องระหว่างอดีตพนักงานของบีอีซี และบริษัทฯ ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลย รวม 3 คดี ในคดีแรงงาน โดย 2 คดีแรกจำนวน ทุนทรัพย์รวม 35.20 ล้านบาท ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องของโจทก์ และโจทก์ใช้สิทธิยื่นคำอุทธรณ์คำพิพากษาแล้ว ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และอีก 1 คดี จำนวนทุนทรัพย์รวม 135.14 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่ารายละเอียดของคดีจะเป็นอย่างไรต่อไป

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 บริษัท แซทเทิลไลท์ ทีวี บรอดคาสติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้จดทะเบียนเลิกกิจการกับกระทรวงพาณิชย์ และอยู่ระหว่างการชำระบัญชีอยู่ในขณะนี้ แน่นอนว่าต้องจับตาการบริหารงานของบีอีซีต่อไปในยุค 2020 ว่าจะคว้ากำไรในงวดสุดท้ายของปี 2020 ได้มากน้อยแค่ไหน? ติดตามได้ทางส่องสื่อครับ