fbpx

ศ.ดร. พนา ทองมีอาคม ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค เพื่อขยายเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้เยาวชนรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในเผยแพร่ความรู้ ซึ่งทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 5 ที่จัดไปในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานครด้วย

ในการนี้ เราจึงขอดึงตัว ศ.ดร.พนา มาสัมภาษณ์ถึงมุมมองการมีส่วนร่วมของประชาชนว่ามีความสำคัญต่อกองทุนสื่อฯ อย่างไรได้บ้าง? ติดตามจากบทสัมภาษณ์นี้ได้เลยครับ

คนที่มารับทุนเขามีผลตอบรับอย่างไรกับการรับทุน?

มันเป็นธรรมชาติเลย คือเราต้องเข้าใจก่อนว่าคนที่ได้เขาก็ดีใจ คนที่ไม่ได้ก็ผิดหวังเสียใจ ตรงนี้มันเป็นทุกกองทุน คือผมเคยทำงานอยู่มูลนิธิเกี่ยวกับการให้ทุน หรืออยู่ที่กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งมีเงินเยอะมาก ก็เป็นแบบเดียวกัน แต่อย่างหนึ่งที่เราอยากได้ อยากให้มาร่วมกัน มาพูดคุยกัน อย่างวันนี้ที่เราจัด 5 ภาค ส่วนหนึ่งเราจัดเพื่อที่จะสร้างเครือข่าย แต่ส่วนหนึ่งเราจัดเพื่อรับฟังความคิดเห็นด้วย แต่เราก็รับฟังหมด

จัดเวทีการรับฟังความเห็นเรื่องรับทุนฯ ที่กรุงเทพเป็นอย่างไรบ้าง?

ก็ดี ก็มีคนที่ต่อว่าต่อขาน คือเขารู้สึกว่ากรรมการเอาอะไรมาตัดสินเขา บางท่านก็อยากให้ประชาชนตัดสินกันเอง บางท่านก็มีความรู้สึกว่า มันไม่ตรงกับที่เขาอยากจะทำ บางคนก็แปลกใจว่าทำไมเราไปให้เอกชน หรือไปให้บริษัทใหญ่ จริงๆ แล้วเรื่องการให้ทุน ผมอยากเรียนอย่างนี้ว่า ทุน มีอยู่ 3 ประเภท ประเภทแรกคือประเภททั่วไปคือเปิดหมดเลย ใครก็ขอได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ สื่อผู้ผลิตทั้งวิทยุโทรทัศน์ แม้กระทั่งสื่อออนไลน์ ทุกคนขอได้ อันนี้เน้นเรื่องการเข้าถึงให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ จริงๆ แล้วใจผม คนที่มีโครงการเล็กๆ ผมก็อยากให้เข้ามาให้เยอะ

ทุนประเภทที่สองคือทุน ยุทธศาสตร์ หมายความว่าทางกองทุนเลือกกำหนด เช่น ปัญหาประเทศชาติตอนนี้คืออะไร อย่างปัญหาประเทศชาติตอนนี้ของเราคือ สื่อเรื่องสุขภาพ หมายความว่า เรากำลังต่อสู้กับโควิด บ้านเมืองเรากำลังถูกคุกคามด้วยโรคร้าย เบื้องต้นป้องกันตัวอย่างไร ดูแลเยาวชน คนเปราะบางอย่างไรในเรื่องสื่อสารสุขภาพ เพราะฉะนั้นเราสามารถกำหนดตรงนี้ได้ ถ้ากองทุนมองว่า เรื่องการใช้สื่อด่าทอกัน ทำร้ายกันด้วยวาจา สร้างความแตกแยก อันนี้เป็นปัญหา เราก็กำหนดเลยว่าทุนทางยุทธศาสตร์ปีนี้เราจะให้ทุนเรื่อง Hate Speech อาจจะเป็น Cyberbully นี่คือทุนประเภทที่สอง

ส่วนทุนประเภทที่สาม เราก็จะดูว่าเป็นส่วนสำคัญที่อยากให้เกิดแต่ไม่มีใครขอ ไม่มีใครมาเกิด เราชวนคนมาทำร่วมกัน อันนี้จึงเป็นทุนความร่วมมือ คือคุณคิดอย่างไร เราคิดอย่างไร เราต้องการอย่างไร คุณมีความสามารถอย่างไร คุณต้องการอะไรแล้วเรามาคุยกัน แล้วเราคิดว่ามันเกิดประโยชน์แก่สังคม เป็นงานที่สอดคล้องกับรัฐและกสทช. เราก็มาคุยกันแล้วรังสรรค์งานขึ้นมา นี่คือลักษณะทั่ว ๆ ไป

เราแบ่งสัดส่วนงบประมาณอย่างไร?

งบประมาณมันไม่ตายตัวหรอก มันพอขยับได้ แต่มันก็มีการแบ่งคร่าว ๆ อันนี้ไม่ได้มีเกณฑ์ตายตัว แต่มันก็มีการตกลงกัน ขึ้นอยู่กับความหนักเบา เหมือนพี่น้องแบ่งตังค์เท่าๆ กัน แต่บางคนจำเป็นมาก บางคนจำเป็นน้อย ก็ต้องดูตามหลักเหตุผลว่าตรงไหนต้องการ ตรงไหนจำเป็น ตรงไหนขาดแคลน คือถึงแม้เราจะทำงานอิสระได้ แต่ก็ไม่ใช่อิสระเสียจนทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ คือเราก็ต้องดูว่ารัฐบาลกำลังจะทำอะไร จังหวัดกำลังจะทำอะไร ภาควิชาชีพกำลังจะทำอะไร

ปีหน้าด้านยุทธศาสตร์จะเน้นเรื่องอะไร?

ทางด้านยุทธศาสตร์ จริงๆ ผมอยากให้เป็นเรื่องของทางผู้จัดการกองทุนฯ ผมเองไม่ใช่ว่าไม่มีส่วนร่วมหรือว่าอะไรนะ ผมเองก็เคยมีบทบาทสำคัญทางด้านนี้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าปัจจุบันนี้ผมก็มาดูในแง่การมีส่วนร่วมมากกว่า เวลาที่ผมมีส่วนร่วมผมจะเปิดทั่วไปหมด ก็ไม่อยากจะบี้ไปทางใดทางหนึ่ง

มีคำแนะนำอะไรสำหรับคนที่จะมาขอกองทุน ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้รับทุน?

จริง ๆ แล้วอันหนึ่งที่สำคัญคือคนที่จะมาขอทุนต้องมีความเข้าใจตัวคุณเองก่อนว่าตัวคุณมีศักยภาพ เด่นทางไหน ดีทางไหน อันที่สองคือคุณต้องเข้าใจว่าทางกองทุนเอง มีภารกิจ มีความต้องการของตัวเอง อันที่สามคุณต้องรู้ว่าประเทศชาติ รัฐบาล หรือเจตนาที่เกิดกองทุนขึ้นมานั้นคืออะไร ถ้าคุณเข้าใจ 3 อันนี้ แล้วคุณผูก 3 อันนี้เข้าไปด้วยกันได้ อันนี้ประโยชน์เกิดแล้ว ผมยกตัวอย่างอย่างนี้ ว่าเวลาคุณอยากทำโครงการคุณมีความรู้สึกดี๊ดี แต่คุณรู้สึกดีของคุณคนเดียว แต่มันไม่ได้สอดคล้องกับกองทุน แล้วกองทุนรับเงินมาเพื่อทำอะไรบางอย่าง บางทีเขาก็ให้คุณไม่ได้ ผมเห็นโครงการดีๆ เยอะเลยที่ไม่ได้รับทุน โครงการส่วนใหญ่ก็เป็นโครงการดีทั้งนั้น เพราะเขาก็คิดกันมาดีแล้ว แต่ว่าบางครั้งมันไม่สอดคล้อง หรือว่ามีลำดับความสำคัญต่ำมากเลยในกองทุน บางทีก็อาจจะถูกเลื่อนออกไป และถ้ามันไม่สอดคล้องก็อาจจะไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

นอกจากกองทุนแล้ว คุณต้องดูว่าเจตนารมณ์เขาตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่ออะไร ถ้าคุณสามารถผูกเรื่องนี้เข้ามาโดยที่มองสังคมและกองทุนเป็นหลัก ถ้าสังคมได้ กองทุนได้ คุณจะไม่ได้ไม่มีทาง แต่ถ้าคุณมองแต่ตัวเอง อันนี้จะเป็นจุดอ่อนที่ผมพูดตรงนี้เพื่อชี้ว่าให้ผูกวัตถุประสงค์คุณให้เข้ากับวัตถุประสงค์กองทุน สมมติเรากำลังจะทำสื่อเพื่อส่งเสริมการศึกษาของเด็ก เราก็ต้องดูว่าคุณทำตรงนี้ขึ้นมาแต่โครงการนี้มันไม่ได้เข้ากับคนอื่นเลยมันก็ไม่ได้ แต่ถ้าคุณทำโครงการขึ้นมา คุณอย่าเพิ่งไปคิดว่าจะได้อะไร คุณคิดแค่ว่ากองทุนได้อะไร กองทุนก็ได้โครงการสำหรับสอนเด็กขึ้นมาหนึ่งโครงการ อันนี้เป็นโอกาส ถ้ามองอีกรูปแบบหนึ่งนี่คือผลผลิต แต่ถ้าเรามองในรูปผลลัพธ์สิ่งที่กองทุนได้ โครงการนี้ไม่เกิดขึ้นมาลอย ๆ โครงการนี้เอาไว้สอนเด็ก มันทำให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ รู้จักใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ อันนี้มันก็มีผลลัพธ์ขึ้นมา

ถ้าเรามองถึงระดับชาติ ถึงระดับประเทศ เรามีสังคม มีนิเวศน์สื่อที่ดี มีสิ่งแวดล้อมสื่อที่ดี คนอยู่อย่างมีความสุข สื่อไม่ได้ทำร้ายคน แต่สื่อมีประโยชน์อันนี้เป็นผลสัมฤทธิ์ แต่ถ้าคุณมองแค่โครงการเดียว คุณไม่ได้ดูเลยว่าโครงการนี้เอาไปทำอะไรได้ เป็นประโยชน์อะไร แล้วคุณก็ไม่ได้ดูเลยว่าสังคมจะได้อะไร แต่ถ้าคุณทำโครงการออกมาแล้วมันเกิดประโยชน์ผลสัมฤทธิ์ที่ดี ตอนนั้นคุณจะเกิดความภาคภูมิใจในแง่คนรับทุน คุณก็ได้ขึ้นบัญชีว่าเป็นคนรับทุนที่มีศักยภาพ มีขีดความสามารถสูง และโดยตัวคุณเองคุณก็ต้องได้รับการตอบแทนที่ดี ถ้าตังค์ไม่พอก็มีเหตุมีผลที่จะขอเพิ่มเพราะโครงการคุณดี ไม่ใช่ดีในสายตาคุณ แต่ดีในแง่ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าผูกเป้าหมายให้ตัวเอง ให้เข้ากับเป้าหมายของกองทุน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนที่ผมเห็น

เรื่องรูปแบบที่บอกว่าจะต้องมีวัตถุประสงค์ มีความเป็นมาเป็นไป และมีความสำคัญ มีความจำเป็น และถ้าเราแยกออกมาว่ามันมีปัญหาตรงนี้เราต้องแก้อย่างนี้ ตรงนั้นผมมองเป็นรูปแบบ แต่มันอาจจะไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญคือสุดท้ายเราได้อะไร แต่ได้อะไรออกมาก็ไม่ใช่ผลที่แท้จริง คือสิ่งนั้นที่เราได้มามันเอาไปทำอะไรได้ แล้วเอาไปทำอะไรได้นั้นมันมีคำตอบที่ลึกกว่านั้นว่าสังคมได้อะไรจากสิ่งที่ทำ ถ้าคุณตอบคำถามนั้นได้มันจะสำเร็จทั้งหมด

ตั้งกองทุนมากี่ปีแล้ว?

กองทุนนี้ประมาณ 5 ปีแล้ว ช่วงปีแรกๆ จะเป็นเรื่องของการทำหลักการ กฎระเบียบ และใช้การมีส่วนร่วมจากเครือข่ายที่มีอยู่เดิม ๆ ซึ่งมีอยู่เดิม ๆ ตรงนี้คือเครือข่ายที่ทำงานทางด้านสื่อไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข สสส. หรือกระทรวงวัฒนธรรม แต่ตอนนี้เราพยายามที่จะขยายให้มากขึ้น จะเห็นว่าเราพยายามขยับขยายตรงนี้อยู่

ปัญหาและอุปสรรคของกองทุนมีอะไรบ้าง?

กองทุนของเรามีปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาที่น่ารัก คือใช้เงินไม่หมด เป็นเงินงบประมาณที่เราควรจะได้ควรจะใช้ แต่ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นกองทุนใหม่ ขบวนการพิจารณา ปริมาณคนที่มีก็ไม่พอกับงาน ปรากฏว่าเราทำงานไม่ทัน และความใหม่อีกอันที่ผมมองว่าเป็นปัญหาใหญ่คือคนขอไม่รู้ว่าโครงการอะไรขอได้หรือขอไม่ได้ หรือว่าเวลาขอไม่รู้ว่าต้องผูกเป้าหมายเข้ามาด้วยกัน ผมมีตังค์ที่พร้อมจะให้ คุณก็มีความสามารถที่พร้อมจะรับ แต่ว่าคุณทำในสิ่งที่คุณอยากทำ แต่คุณไม่ได้ทำในสิ่งผมอยากได้ หรือสิ่งที่คุณอยากทำมันไปขวางนโยบายของรัฐบาล อย่างปัญหาที่สังคมต้องการมันก็ผิด ดังนั้นทั้งช่วงเวลาและประเด็นปัญหาตรงนี้สำคัญ

ที่ประเทศอื่นมีกองทุนแบบนี้ไหม?

มี และประเทศที่ประสบความสำเร็จก็มีเยอะทั้งมาเลเซียและเกาหลี ผมยังอยากให้น้อง ๆ ไปดูว่าทางนู้นเขาทำอย่างไร ผมเองก็อายุเยอะแล้วก็ไม่ได้อยากไปไหนสักเท่าไหร่ แต่อยากให้น้อง ๆ ไป แต่จริงๆ แล้วเราก็พัฒนาต้นแบบของเราเอง เพราะว่าเมืองไทยเราเองก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับกองทุนพอสมควร จริงๆ ตรงนี้ ต้องยกประโยชน์ให้รัฐธรรมนูญปี 2540 เลย คือก่อนหน้านั้นไม่ใช่ไม่มีกองทุนนะ เพียงแต่ว่าปี 2540 เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเยอะแยะมากมาย คุณจะเห็นว่ากองทุน สสส. กองทุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้กระทั่งไทยพีบีเอสก็ทำงานในลักษณะเป็นอิสระ สำหรับผมจัดอยู่ในหมวดกองทุนเหมือนกัน เขาอาจจะเข้าไม่ถึงเรา บางครั้งผมมีความรู้สึกว่าบางทีขั้นตอนมันเยอะ เราเหมือนตึกเราพยายามทำงานให้เป็นแนวทางเดียวกัน เข้ามาถึงเจอได้เลย แต่พอเป็นชั้นกว่าจะผ่านแต่ละชั้นนั้นมันเป็นอุปสรรค แต่เราก็พยายามดูตรงนี้อยู่ ผมว่าผู้จัดการคนนี้ดี

ตอนคุยร่วมกันเห็นว่าอันนี้ดีมากเลย แต่ต้องปัดตกเป็นเพราะอะไร?

อันแรกสุดเลยคือเงื่อนไขได้หรือเปล่า คือเงื่อนไขมันคล้ายกฎระเบียบ บางทีเราอยากให้แต่เราให้ไม่ได้เพราะเราต้องไปรับผิด แต่ตรงนี้เราไม่มีโอกาสอธิบาย อันที่สองคือมันสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เราแค่ไหน อันที่สามทุกอย่างมันแข่งขัน ถ้าคุณสู้เขาไม่ได้ อันที่เป็นช่องว่าง มันเกิดจากเงินโยกได้หรือไม่ได้แค่ไหน บางทีเราคิดว่าเราให้ทุนไปแล้ว แต่บางทีคนเขาปฏิเสธทุนมันก็จะเป็นช่องว่างขึ้นมา บางครั้งเราก็ไม่กล้าให้ เพราะถ้าให้ไปเราคงโดนต่อว่า  โดนตรวจสอบว่าอย่างนี้ให้ไปได้อย่างไร มันเกี่ยวกันหลายอย่าง

แต่โดยส่วนตัวผมเพราะผมเป็นบอร์ดกองทุนด้วย ผมว่าเงินนี้เป็นเงินเมตตาที่ไปช่วยคน หรือว่าในบางคนเราไม่ต้องไปเมตตาเขาหรอกเพราะเขามีศักยภาพ แต่ว่าเป็นเงินที่ไปเสริมศักยภาพเขาให้เขาทำงานได้ คือบางคนเขาต้องการความช่วยเหลือจากเรา แต่บางคนก็ไม่ได้เป็นเรื่องของการช่วยเหลือแต่เป็นการสนับสนุนสิ่งที่ดีด้วยกัน หรือเป็นเงินที่ไปเพิ่มเติมให้เขามีศักยภาพมากขึ้น เราเองก็อยากจะทำถ้ามันดี ต้องคุยกันก่อนว่าเงินนี้ไม่ใช่เงินส่วนตัวของผม เวลาที่คุณมีเงินปริมาณเยอะ คุณจะหวงทำไม เพราะมันไม่ใช่เงินของคุณ และมันเป็นเงินที่เอาไว้ใช้สิ่งที่ดีงามและไม่ใช่หมดแค่นี้เราใช้หมดไปปีหน้าก็มีอีก กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เขาก็กรุณาเรามาก

ที่ว่าใช้เงินงบไม่หมด งบส่วนไหนไม่หมด?

งบทุน ถามว่าเหลือเยอะไหมที่ใช้ไม่หมด อันนี้เราไม่รู้ เพราะทางบริหารจัดการจะคุยกับผู้จัดการเขา แต่อันนี้เป็นเรื่องในอดีต จะเห็นได้ว่าคนขอมา ยอดเงินทั้งหมดหลายพันล้าน แต่เรามีอยู่ไม่กี่ร้อยล้าน แล้วทำไมเงินใช้ไม่หมด ก็เพราะว่าโครงการมันไม่ใช่ บางทีก็มีการสลับทุน มีการทำไม่สำเร็จ

สื่อที่ดีที่สร้างสรรคในทัศนะของคุณคืออะไร?

จริง ๆ แล้วผมเป็นคนเคารพสิทธิ์ของสื่อมากนะ เพราะเราเป็นครูสอนนิเทศศาสตร์มา ผมเชื่อในเสรีภาพสื่อ และเชื่อในการรับผิดชอบสื่อ เมื่อพูดตรงนี้แล้ว คุณจะเข้าใจว่าในสายตาผมมันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย สื่อที่ดีในสายตาผม เพราะว่าสื่อที่ดีมันมีได้หลายๆ แบบ สื่อที่ดีคือสื่อที่มีความรับผิดชอบ  ถ้าเป็นสายข่าวก็นำเสนอสื่อที่เป็นวิชาชีพและมีจรรยาบรรณอันนี้ผมก็ถือว่าเป็นสื่อที่ดีแล้ว ส่วนใครจะตัดสินว่าดีไม่ดี ผมเคารพวิจารณญาณของสื่อและผมก็เคารพวิจารณญาณของคนรับ และคนตัดสิน ในโลกนี้มันไม่ควรจะมีใครมาชี้ว่าอันนี้ใช่ อันนี้ไม่ใช่

เรารู้ต้นทาง เรารู้ระหว่างทาง ปลายทางที่ทำๆ ไปเยาวชนรับรู้มากแค่ไหนตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา?

ผมว่าเด็กรู้นะ เพียงแต่ว่าเราให้โอกาสเขาแค่ไหน  แล้วเรารับรู้ความสามารถของเด็กแค่ไหน ส่วนมากเรามักจะคิดว่าเด็กไม่รู้ ถามว่าเราเข้าไปอยู่ในหัวเด็กหรือเปล่า เราไม่ได้เข้าไปอยู่ในหัวเด็กแล้วรู้ได้อย่างไรว่าเด็กไม่รู้ เพราะในขณะที่เราคิดว่าเด็กไม่รู้ เด็กก็คิดว่าเราไม่รู้ เพราะผมเป็นมนุษย์ลุง ไม่ใช่ว่าผมมีปริญญาเอกแล้วผมรู้ ปริญญาเอกไม่ได้บอกอะไรผม ปริญญาเอกบอกเพียงว่าผมตอบได้ ผมรู้หรือไม่รู้นี่อีกเรื่องหนึ่งอันนี้คือสิ่งสำคัญ