fbpx

YouTube ยืนหนึ่ง! รองลงมา Netflix-Line TV กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่นิยมชมละคร!

จุดที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือจากผลการศึกษาของ กสทช. พบว่าแพลตฟอร์มที่เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มตัวอย่าง 1,141 คนจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงใน 4 ภูมิภาค พบว่าในด้านของแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ YouTube รองลงมาคือ Netflix และ Line TV ซึ่งทั้ง 3 แพลตฟอร์มนั้นก็มีรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างกัน

หากเจาะลึกลงไปกว่านั้น ก็จะพบว่า ในด้านอุปกรณ์ที่ใช้รับชม ร้อยละ 65.6 รับชมผ่านโทรศัพท์มือถือ, ร้อยละ 17.3 รับชมผ่านทีวีหรืออุปกรณ์ต่อพ่วง, ร้อยละ 8.9 รับชมผ่าน Tablet และร้อยละ 8.3 รับชมผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็สื่อถึงผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในไทยที่มีค่อนข้างเยอะในระดับหนึ่ง ส่วนในด้านระยะเวลาในการรับชม ร้อยละ 54.8 ใช้เวลารับชมเฉลี่ย 1-3 ชั่วโมงต่อวัน, ร้อยละ 29.7 ใช้เวลารับชมเฉลี่ยมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 15.5 ใช้เวลารับชมเฉลี่ยน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน

ในด้านความถี่ในการเปิดรับชม ร้อยละ 46.9 รับชมทุกวัน, ร้อยละ 18.6 รับชม 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์, ร้อยละ 15.5 รับชม 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์, ร้อยละ 10.6 ไม่ได้เปิดรับชมทุกสัปดาห์ และร้อยละ 8.4 รับชม 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ซึ่งสื่อได้ว่าคนไทยนั้นนิยมรับชม OTT ไม่น้อยเลยทีเดียว

ในด้านคอนเทนต์ยอดนิยมบนแพลตฟอร์ม OTT ร้อยละ 46.9 นิยมรับชมคอนเทนต์ประเภทซีรีส์หรือละครชุด, ร้อยละ 22.3 นิยมรับชมคอนเทนต์ประเภทภาพยนตร์, ร้อยละ 8.6 นิยมรับชมคอนเทนต์ประเภทเกมโชว์, ร้อยละ 5.5 นิยมรับชมคอนเทนต์ประเภทสารคดี, ร้อยละ 5.0 นิยมรับชมคอนเทนต์ประเภทกีฬา ซึ่งก็คงจะแสดงถึงความนิยมที่ยังคงสูงอยู่สำหรับคอนเทนต์ในหมวดละคร

สำหรับแหล่งที่มาของคอนเทนต์ยอดนิยม อันดับ 1 ก็คือคอนเทนต์ในประเทศ รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ นั่นแสดงถึงความนิยมคอนเทนต์ไทยที่ล้วนแต่ถูกออกแบบมาให้ถูกปากผู้ชมในประเทศไทยไม่มากก็น้อย

ส่วนรูปแบบของเนื้อหายอดนิยม อันดับแรก ๆ เลย คือคอนเทนต์ที่เคยออกอากาศบนสถานีโทรทัศน์แล้วนำมารีรัน รองลงมาคือเนื้อหารายการหรือภาพยนตร์ที่มีการผลิตเป็นครั้งแรก(Original) ของตัวแพลตฟอร์มออนไลน์เอง และภาพยนตร์ที่เคยออกฉายแล้วผ่านแหล่งรับชมต่าง ๆ [1][2] ซึ่งก็สื่อได้ว่าคนไทยนั้นยังนิยมรับชมคอนเทนต์บนโทรทัศน์อยู่ เพียงแค่ว่าอาจจะไม่สะดวกรับชมบนโทรทัศน์ เนื่องจากเรื่องของเวลาการใช้ชีวิตหรือภารกิจส่วนตัว จึงทำให้คนกลุ่มนี้นิยมรับชมบนช่องทางออนไลน์

ที่น่าสนใจอีกอย่าง แต่นำมาเขียนแบบเต็ม ๆ ไม่ได้เลยก็คือในเรื่องของจำนวนตอน (ซึ่งแหล่งอ้างอิงที่ [2] ไม่ได้ระบุไว้) ก็คือ ร้อยละ 43.6 รับชมเฉลี่ย 1-3 ตอนต่อครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างพอดีสำหรับใครหลาย ๆ คนเลยละครับ

โควิดเป็นเหตุ เมื่อ YouTube ขอไม่ทำ Rewind

โดยปกติแล้วทุก ๆ ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 YouTube ก็มักจะมีการทำ Rewind ซึ่งเป็นคลิปสรุปเรื่องราวเด่น ๆ จากทั้งโลกบนแพลตฟอร์มของตน แต่ทว่าในปีนี้นั่นด้วยสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ทีมงานมองว่าคงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องเท่าไหร่ หากจะทำทุกอย่างเหมือนปกติ นั่นทำให้ YouTube เลือกที่จะประกาศบนทวิตเตอร์ว่าทาง YouTube จะไม่ทำ Rewind ออกมาในปีนี้ [3]

YouTube Premium ยังแจ๋ว ผู้ใช้งานทั่วโลก 30 ล้านราย

ที่น่าสนใจสำหรับฝั่งพรีเมี่ยมก็คือรายงานประจำไตรมาสที่ 3 ของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google นั้นระบุไว้ว่ามีผู้ใช้บริการ YouTube Premium และ YouTube Music อย่างต่ำ ๆ 30 ล้านรายแล้ว [4] ซึ่งก็น่าจะแสดงได้ว่ามีลูกค้าที่พร้อมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อฟังก์ชั่นที่มากกว่าบน YouTube Premium

เมื่อโควิดเข้ามา ยิ่งทำให้ Netflix เฉิดฉาย ผู้ใช้เพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น มูลค่าแบรนด์ปังกว่าเดิม!

1 ในดาวที่เปล่งประกายในวงการ OTT ในช่วงล็อกดาวน์ 1 ในนั้นก็คือ Netflix ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งเจ้าดังเจ้าหนึ่ง ที่ในปี 2020 ยังไม่ทันปิดปีดี ก็มียอดผู้ใช้กว่า 193 ล้านบัญชีเข้าไปแล้ว เติบโตจากปี 2019 ที่มีผู้ใช้อยู่ที่ 167.1 ล้านบัญชี ส่วนรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายที่นับถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อยู่ที่ 2.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าปีก่อนที่ทำไปได้ 2.01 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สำคัญก็คือจากการจัดอันดับ The World’s Most Valuable Brands 2020 โดยนิตยสาร Forbes นั้นจัดอันดับให้ Netflix เป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าแบรนด์เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในโลก ด้วยมูลค่า 26,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นถึง 72% จากมูลค่าแบรนด์เมื่อปี 2019 [5] แสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้ใช้ที่เยอะขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยของการล็อกดาวน์ และพร้อมใจกันอยู่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19

Line TV กับกลยุทธ์น่าสนใจในตลาดซีรีส์วาย

สำหรับ Line TV ผลกระทบในปีนี้ที่เกิดขึ้นก็คือมียอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพิ่มขึ้น 43% และใช้เวลารับชมนานขึ้นรวม 43% และมีจุดแข็งในด้านออริจินัลคอนเทนต์ที่มีถึง 78 คอนเทนต์(ข้อมูลเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563) แต่ที่เราสนใจก็คือในเรื่องของซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายรักชาย หรือซีรีส์วาย ซึ่งทาง Line TV มีกลยุทธ์ในการผลักดันกระแส Boy’s Love ให้เป็นที่นิยมมากขึ้นในวงกว้าง สร้าง Engagement สูงสุด ซึ่ง Line TV มีซีรีส์วายมากที่สุดในไทย รวมแล้วกว่า 39 เรื่อง (ข้อมูลเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563) และในช่วงปีที่ผ่านมา ฐานผู้ชมในทุกช่วงวัยโตขึ้นถึง 3 เท่าตัว

Line Insight ได้สำรวจพฤติกรรมเชิงพาณิชย์ในกลุ่มผู้ชมซีรีส์วายในเมืองไทยและพบว่าผู้รับชมคอนเทนต์ประเภทนี้ ต้องการดูซ้ำเพื่อเพิ่มยอดวิวให้สูงขึ้น และต้องการเชื่อมต่อกับชุมชนบนสื่อสังคมออนไลน์ขณะรับชม หากแพลตฟอร์มนั้นมีระบบนิเวศภายในที่รองรับพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ได้ นอกจากตัวคอนเทนต์จะดังแล้ว ยังสามารถสร้าง Engagement กับผู้ชมได้มากขึ้น และยังเปิดโอกาสให้แบรนด์สินค้าที่สนใจเข้าไปมีส่วนร่วมได้อีกด้วย [6]

สำหรับ 5 กลุ่มสินค้าที่ยอดนิยมจากการทำการตลาดกับตัวของซีรีส์วาย อันดับ 1 คือกลุ่มของเครื่องดื่ม ซี่งสามารถนำไปวางสินค้าในซีรีส์ได้อย่างแนบเนียน รองลงมาคือขนมขบเคี้ยว, สกินแคร์และเครื่องสำอาง, เสื้อผ้า และฟาสต์ฟู้ด [7]

WeTV กับสถิติที่น่าสนใจในด้านคอนเทนต์

ในด้านคอนเทนต์นั้น เมื่อไม่กี่วันก่อนทาง WeTV ได้รวบรวมที่สุดแห่งปี 2020 ของทางแพลตฟอร์ม ทางผู้รวบรวมขออนุญาตนำสถิติที่น่าสนใจใน 2 ส่วนคือฝั่งคอนเทนต์ไทย และคอนเทนต์จีนมาให้ได้อ่านกัน

ฝั่งของคอนเทนต์ไทย ที่เห็นจะโดดเด่นสุดเห็นจะเป็นซีรีส์ “ฉลาดเกมส์โกง” ที่หลังจากออกอากาศตอนแรกไปแล้ว ก็นำพาให้แอพพลิเคชั่นติดอันดับแอพพลิเคชั่นยอดนิยมอันดับ 1 บน App Store และอันดับ 5 บน Google Play, ยอดดาวน์โหลดทั้งหมดในเดือนสิงหาคม เป็นยอดการโหลดแบบ Organic ถึง 45% และหลังจากออกอากาศเพียง 2 สัปดาห์ ก็สามารถสร้างยอดวิวรวมทั่วเอเชียเป็นอันดับ 1 ของแอพได้

ฝั่งคอนเทนต์จีน สำหรับคอนเทนต์ที่ได้รับการเปิดรับชมมากที่สุดบนแอพก็คือซีรีส์ “สามชาติสามภพ ลิขิตเหลือเขนย” ที่มียอดการรับชมอยู่ที่ 290 ล้านนาที และฝั่งวาไรตี้ ยังมีรายการ CHUANG 2020 ที่มีสถิติการรับชมรายการตั้งแต่ต้นจนจบซีซั่นรวม 175 นาที จนคว้าตำแหน่งคอนเทนต์วาไรตี้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดบนแพลตฟอร์มในปีนี้ และ #CHUANG2020FINAL ยังติดเทรนด์อันดับ 1 บนทวิตเตอร์นานถึง 6 ชั่วโมง! [8]

Single Content, Multiple Platform : กลยุทธ์ของช่อง 3 ที่น่าสนใจ

“สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในส่องสื่อว่า “ในส่วนของเราในปีหน้ารูปแบบที่เรียกว่า single content multiple platform ก็จะเข้ามาเสริม ซึ่ง single content แปลว่าเราทำละครหนึ่งครั้ง แต่เราสามารถออกไปหลาย platform ซึ่ง platform ที่ออกไปเราเรียกว่าหลายช่องทาง ในอดีตเราทำละครออกมาปุ๊บ มันออกทางหน้าจอทีวี มันขายโฆษณาเสร็จ อย่างมากก็ออกมาเป็นรีรัน” [9] ซึ่งผู้รวบรวมมองว่า กลยุทธ์นี้สะท้อนให้เห็นได้ว่าการทำคอนเทนต์ 1 ครั้ง สามารถขายได้บนหลายแพลตฟอร์ม เริ่มจากบนทีวี และไม่จบแค่บนทีวี แต่ยังสามารถกระจายออกไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ และยังสามารถกระจายความสนุกของละครไปให้ผู้ชมในต่างประเทศรับชมได้ด้วย และที่น่าสนใจเช่นกันก็คือแอพพลิเคชั่น 3+ ที่กำลังทดลองการรับชมย้อนหลังรายการที่พลาดในช่วงไม่กี่ชั่วโมงได้ทันที และยังมีโมเดล 3+ Premium 1 ในช่องทางการรับชมละครเก่าของช่อง 3 ที่จะมาในปีหน้า

OTT กับการเป็นทางเลือกคอนเสิร์ตวิถีใหม่

มีงานวิจัยที่น่าสนใจจากสำนักงาน กสทช. ที่ทางผู้รวบรวมก็สนใจ และมองว่าน่าเอาเนื้อหาบางส่วนมาเขียนลงในบทความนี้

ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดหนักจนต้องล็อกดาวน์ 1 ในนั้นคืองดการจัดงานคอนเสิร์ตและอีเวนต์ต่าง ๆ หลายงานถูกเลื่อน หลายงานถูกประกาศยกเลิก ถึงแม้ว่าจะจัดกันในพื้นที่จริง ๆ ไม่ได้ จะให้ช่วงนั้นไม่มีงานเลยก็คงไม่ได้เช่นกัน การมีจัดคอนเสิร์ตออนไลน์จึงเป็นช่องทางที่น่าสนใจช่องทางหนึ่ง โดยมีอยู่ 2 ปะเภทใหญ่ ๆ ก็คือ “คอนเสิร์ตออนไลน์ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม” ซี่งถูกจัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ตัวศิลปิน หรือรักษาความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับผู้ชมในช่วงที่ไม่สามารถจัดคอนเสิร์ตได้ และ “คอนเสิร์ตออนไลน์ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม” ซึ่งมักจะเตรียมการจัดงานค่อนข้างจริงจัง มีทั้งการจัดเวที แสงสีเสียง และองค์ประกอบต่าง ๆ เหมือนกับคอนเสิร์ตปกติ โดยคอนเสิร์ตรูปแบบนี้มักจะมีการหารายได้แบบการจ่ายเป็นรายครั้ง

คุณสมบัติเฉพาะของการรับชมคอนเสิร์ตผ่านช่องทาง OTT นั้นก็คือ “การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมในระหว่างการรับชมคอนเสิร์ต” ตั้งแต่ส่วนช่องสนทนา (Chat Box) ไปจนถึงการนำแพลตฟอร์ม Virtual Meeting ที่ศิลปินสามารถเห็นหน้าของผู้ชมคอนเสิร์ตได้ และยังสามารถสื่อสารกับทางฝั่งของศิลปินได้อีกด้วย , การเลือกเปลี่ยนมุมมองการรับชมได้ตามต้องการ โดยการตั้งกล้องถ่ายทอดสดในหลาย ๆ จุด หรือหากผู้ชมไม่สามารถเลือกสลับจอเองได้ ก็มักจะมีการนำภาพจากหลากหลายมุมกล้องมาออกอากาศพร้อมกัน เพื่อให้เห็นภาพจากมุมต่าง ๆ ได้ครบถ้วน และการสร้างความบันเทิงรูปแบบใหม่ ที่คอนเสิร์ตปกติไม่สามารถทำได้ อย่างเช่นการใช้นวัตกรรม Augmented Reality หรือการใช้กราฟิกสามมิติผนวกเข้ากับการแสดงคอนเสิร์ต และยังมีการสร้าง Real-time Subtitle เพื่อให้ผู้ชมในประเทศอื่น ๆ เข้าใจสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในคอนเสิร์ตได้มากขึ้น

ในภาวะของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 นั้นแสดงให้เห็นได้ว่า OTT TV เป็นอีกทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ และมีศักยภาพในการสร้างประสบการณ์ในการรับชมคอนเสิร์ตให้กับผู้ชม และยังสร้างรายได้ให้ผู้จัดคอนเสิร์ตได้ในระดับหนึ่ง ด้วยศักยภาพของแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ทั่วโลก และยังไม่มีข้อจำกัดเรื่องของความจุของสถานที่จัดแสดงอีกด้วย ซึ่งถือเป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้งผู้จัด เจ้าของแพลตฟอร์ม และผู้ชม [10]

จับตา Disney+ กับการตั้งทีมในเอเชียเพื่อให้บริการในปีหน้า

ที่น่าสนใจในปีหน้าก็คือการทีมีกระแสว่า Disney เริ่มการประกาศรับสมัครพนักงานในประเทศไทย เพื่อดูแลส่วนของ Disney+ แพลตฟอร์ม OTT ของทาง Disney เองที่มีแผนจะเริ่มให้บริการในแถบเอเชียปีหน้า [11] ซึ่งไม่กี่เดือนถัดมาก็มีข่าวว่าช่อง Disney XD จะยุติการออกอากาศบนช่องทางของทรูวิชั่นส์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งอาจจะส่งสัญญาณถึงการเข้ามาของ Disney+ ในแถบเอเชียได้บ้างแล้ว


อ้างอิง

[1] สำนักงาน กสทช., สรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ การศึกษาผลกระทบของ OTT ต่อกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ และแนวทางการส่งเสริมและกำกับดูแล
http://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/631100000005.pdf?fbclid=IwAR2f1unkcdPPqsERMLTgipYkECanomClHchCiMnt7y-XnlgaaQ3wa54bX0M

[2] สำนักงาน กสทช., เปิดผลวิจัยการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ของคนไทย ปี 2563
http://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/631200000004.pdf

[3] Blognone, เพราะโดนด่าเยอะ? Youtube แจ้ง ปีนี้ไม่มี Youtube Rewind เพราะไม่เหมาะสม
https://www.blognone.com/node/119573

[4] Blognone, Youtube Music และ Premium มีผู้ใช้งานทั่วโลก 30 ล้านรายแล้ว
https://www.blognone.com/node/119329

[5] ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, ความสำเร็จของ Local Content พา Netflix เป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าเติบโตมากสุดในปี 2020
https://www.prachachat.net/d-life/news-565691

[6] The Reporter Asia, LINE TV ฉลองครบรอบ 6 ปี ขึ้นแท่นผู้นำด้าน OTT TV ของไทย
https://www.thereporter.asia/th/2020/11/13/line-tv-ott-tv/

[7] ล้ำหน้าโชว์, LINE TV เผย 5 กลุ่มสินค้าฮอตฮิต จากการนำแบรนด์เข้ากระแสซีรีส์วาย
https://www.techoffside.com/2020/12/line-tv-y-series-insight/

[8] Brand Inside, รวมที่สุดแห่งปี 2020 ของ WeTV : บทพิสูจน์ความเป็น “ศูนย์รวมความบันเทิงแห่งเอเชีย” ตัวจริง
https://brandinside.asia/best-2020-of-wetv-thailand/

[9] ส่องสื่อ, พลิกมุมกลับ ปรับมุมมองช่อง 3 และการกลับมาถิ่นมาลีนนท์ของ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์”
https://songsue.co/11694/

[10] สำนักงาน กสทช., OTT TV กับการปรับตัวของอุตสาหกรรมเพลงในสถานการณ์ COVID-19
https://broadcast.nbtc.go.th/bcj/2563/doc/2563_07_3.pdf

[11] ล้ำหน้าโชว์, Disney+ รับสมัครทีมงานประจำประเทศไทย คาดเตรียม เปิดบริการในไทย เร็ว ๆ นี้
https://www.techoffside.com/2020/10/disney-plus-thailand//


Infographic : อาภาภัทร คงมานะชาญ