fbpx

ถือเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากกับการกอบกู้สถานะทางการเงินของ POST หรือบริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด(มหาชน) ที่ถูกให้เครื่องหมาย C อยู่ในขณะนี้ เนื่องจากงบการเงินไตรมาสที่ 3/2563 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 แสดงส่วนของผู้ถือหุ้นมีมูลค่าน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันนี้ (28 มกราคม 2564) POST ได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบถึงมติคณะกรรมการบริษัทฯ ที่ได้ประชุมไป โดยได้แจ้งผลการประมูลราคาขายทรัพย์สิน ได้แก่ ศูนย์การพิมพ์และจัดจำหน่าย (บางนา) และอาคารสำนักงาน (คลองเตย) ซึ่งได้มีการจัดการประมูลเพื่อหาผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั้ง 2 แห่ง โดยได้ลงประกาศในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 24-30 ธันวาคม 2563 และให้ผู้เข้าร่วมการประมูลเข้าซื้อซองและยื่นซองในวันที่ 4-12 มกราคม 2564 กำหนดยื่นซองประกวดราคาวันที่ 13 มกราคม 2564 และเปิดซองประกวดราคาในวันที่ 14 มกราคม 2564

โดยผู้ชนะการประมูลอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองแห่ง ได้แก่บริษัท ที่ดินร่มรื่น จำกัด ซึ่งมีกรรมการของ POST เกี่ยวข้องกับบริษัท ที่ดินร่มรื่น จำกัดด้วย ได้แก่ สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ และธีระเกียรติ จิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นทั้งสองบริษัท โดยได้เสนอราคาซื้อทรัพย์สินอยู่ที่ 1,226.21 ล้านบาท แบ่งเป็นราคาทรัพย์สินของศูนย์การพิมพ์และจัดจำหน่าย (บางนา) จำนวนราคาที่ขายพร้อมที่ดิน อาคาร และเครื่องจักรทั้งสิ้น 344.03 ล้านบาท และอาคารบางกอกโพสต์ (คลองเตย) ซึ่งราคารวมที่ดินและอาคารสำนักงานอยู่ที่ 882.18 ล้านบาท

Den Bancha Chumchaivate on Twitter: "ขายถูกๆ!สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์  ประธานกรรมการบางกอกโพสต์ ประกาศขายทิ้งโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ริมถ.บางนา-ตราด  ขายทิ้งสำนักงานบางกอกโพสต์ที่ถ.คลองเตย รวมมูลค่า 1,599-1,685 ล้านบาท  รายได้โฆษณาหดหาย ขาดเงินสดหมุนเวียน ขาดทุน ...
อาคารบางกอกโพสต์ (คลองเตย) ที่มาของภาพ : Twitter

ทั้งนี้ บางกอกโพสต์ได้ใช้เงื่อนไขการเช่ากลับพื้นที่อาคารสำนักงาน (คลองเตย) ขนาดรวมไม่เกิน 9,000 ตารางเมตร เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี ในอัตราค่าเช่า 400 บาท/ตารางเมตร พร้อมที่จอดรถ 180 คัน ซึ่งวัตถุประสงค์ในการขายครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์เพื่อชำระคืนเงินกู้ยืมและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากบริษัทฯ ประสบภาวะขาดสภาพคล่องเนื่องจากมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานติดต่อกันหลายปีอันมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไปจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปยังสื่อออนไลน์

รวมถึงการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลให้งบโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ลดลง ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ปัจจุบัน บริษัทฯ ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากศูนย์การพิมพ์และจัดจำหน่าย (บางนา) เนื่องจากบริษัทฯ ได้ยุติการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ที่ศูนย์การพิมพ์และจัดจำหน่าย (บางนา) และได้ทำการว่าจ้างบริษัทภายนอกในการผลิตหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ ตั้งแต่ 1 กันยายน 2562 เป็นต้นมา ประกอบกับบริษัทฯ มีการปรับลดขนาดองค์กร ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่สำนักงานภายในอาคารสำนักงาน (คลองเตย) ทั้งหมด

นอกจากนี้บางกอกโพสต์ยังตอบรับการรับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมจากจำนวนไม่เกิน 250 ล้านบาท เป็นจำนวนไม่เกิน 400 ล้านบาทจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ โดยเป็นการการกู้ยืมประเภทชำระคืนเมื่อทวงถาม ไม่มีหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่อีกด้วย ทั้งนี้การลงมติของคณะกรรมการบริษัทในครั้งนี้ จะไม่นับรวมกับกรรมการที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการทำรายการในครั้งนี้ด้วยนั่นเอง

สำหรับผลประกอบการของบริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด(มหาชน) ในไตรมาสที่ 3/2563 มีรายได้จากสื่อสิ่งพิมพ์และโฆษณาในไตรมาสนี้อยู่ที่ 70,744,000 บาท รายได้จากการผลิตรายการโทรทัศน์ 27,059,000 บาท และรายได้จากส่วนอื่นๆ อยู่ที่ 29,227,000 บาท ทำให้มีรายได้รวมอยู่ที่ 127,030,000 บาท ขาดทุนอยู่ที่ 25,601,000 บาท (เป็นตัวเลขขาดทุนก่อนค่าใช้จ่ายในการบริหารและอื่นๆ)

สำหรับแผนงานของบางกอกโพสต์นั้น เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 บริษัทได้มีการจัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ครั้งที่ 2/2563 ได้ชี้แจงแผนการแก้ไขฐานะการเงินที่บริษัทได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง คือ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและลูกค้าโฆษณา ด้วยการสร้างทีมการตลาดที่ดูแลผลิตภัณฑ์ Branding และ Digital, สร้างทีม Strategy เพื่อวางแผนกลยุทธ์ในการทำการตลาดเชิงรุก รวมถึงพัฒนาช่องทางสื่อ Digital เพื่อเสริมสร้างรายได้ทดแทนรายได้ในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ลดลง ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการให้ตอบรับกับผู้อ่านและตลาดในปัจจุบัน ขยายฐานผู้อ่าน Online ให้มากขึ้น เพิ่มช่องทางในการให้บริการเพื่อรองรับการเข้าถึง ของผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยเฉพาะสื่อ Social Media และพัฒนาระบบ Customer Relationship Management (CRM) และฐานข้อมูลลูกค้าผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการพัฒนาทักษะพนักงานและเพิ่มบุคลากรด้านสื่อ Digital ด้วยการเพิ่มทักษะการทำงาน โดยการจัดอบรม Training ในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสื่อ Digital จัดหาบุคลากรที่มีความชำนาญมาร่วมพัฒนาสื่อ Digital ว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาร่วมวางแผนงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน Digital ตลอดจนสร้างสินค้าใหม่ภายใต้ ชื่อ Brand ของ Bangkok Post Group เพื่อเสริมรายได้ อาทิ การจัดงานสัมมนา กิจกรรมส่งเสริมการขาย การทำประชาสัมพันธ์ให้องค์กรต่าง ๆ การจัด Masterclass เป็นต้น รวมทั้งลดการว่าจ้างพนักงานบางส่วน และโยกย้าย พนักงานภายในที่มีทักษะที่เหมาะสมกับงาน ให้รับหน้าที่ที่สอดรับกับความต้องการของตลาด

บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด(มหาชน) นั้นมีบริษัทในเครือ ประกอบไปด้วย บริษัท โพสต์ นิว มีเดีย จำกัด , บริษัท โพสต์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งสองบริษัทนี้มีลักษณะการดำเนินธุรกิจ โดยเน้นการลงทุนเป็นหลัก , บริษัท โพสต์ ทีวี จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์และให้เช่าสตูดิโอ , บริษัท โพสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีเดีย จำกัด , บริษัท โพสต์-ไอเอ็ม พลัส จำกัด ซึ่งสองบริษัทนี้มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับผลิตและจัดจำหน่ายนิตยสาร และบริษัท มัชรูม กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับผลิตรายการโทรทัศน์ เช่น อายุน้อยร้อยล้าน นั่นเอง นอกจากนี้บางกอกโพสต์ยังมีแบรนด์ในเครือ ได้แก่ Bangkok Post , โพสต์ทูเดย์ , ELLE Thailand และ Forbes Thailand อีกด้วย