fbpx

ถ้าพูดถึงเทรนด์ หรือสถานการณ์ที่คนไทยเกาะติดกันอยู่ในขณะนี้ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการเลือกตั้ง ยิ่งตอนนี้ก็ถือว่าใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาเรื่อยๆ คนก็ยิ่งให้ความสนใจในสถานการณ์นี้กันแบบวินาทีต่อวินาทีเลยทีเดียว เลยขอรีวิวภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสื่อที่ล้อเลียนการเมืองในเรื่องการใช้กลยุทธ์ที่เราเองก็คาดไม่ถึงเลยทีเดียว อย่างเรื่อง Our Brand is Crisis หรือชื่อไทยที่ว่า สู้ไม่ถอย ทีมสอยตำแหน่งประธานาธิบดี ผลงานการกำกับโดย David Gordon Green  นำแสดงโดยนักแสดงรางวัลออสการ์อย่าง Sandra Bullock และ Billy Bob Thornton หนังเรื่องนี้เป็นแนว ดราม่า คอมเมดี้ พูดถึงการทำงานของทีมวางแผนกลยุทธ์การหาเสียง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสารคดีในชื่อเดียวกันเมื่อปี 2005 ของราเชล บอยน์ตัน (Rachel Boynton)

เนื้อหาของหนังพูดถึง เจน โบดีน สาวนักวางแผนกลยุทธ์หาเสียง มือวางอันดับหนึ่งของวงการที่เคยวางมือไปเพราะถูกข่าวโจมตี แต่ในครั้งนี้เธอได้รับการชักชวนให้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีโบลิเวีย และเหตุผลสำคัญที่เธอกลับมา ก็คือ Mr. แคนดี้  ศัตรูตัวฉกาจในสายอาชีพเดียวกันที่ทำให้เธอต้องทำทุกวิถีทางเพื่อชนะในเกมนี้เท่านั้น

แต่แค่เริ่มต้นก็ส่อแววให้เจนปวดหัวแล้ว เพราะผู้สมัครที่เธอต้องทำงานด้วยอย่างท่านวุฒิสมาชิก เปรโด คาสติลโล อดีตประธานาธิบดีที่มีคะแนนโพลล์รองบ๊วย เป็นผู้สมัครที่ไม่มีใครชอบหน้า คนไม่เชื่อถือหรือวางใจที่จะฝากอนาคตให้ แม้กระทั่งเด็กตัวเล็กๆเองก็ยังไม่อยากเชื่อถือเขาเลยด้วยซ้ำ ซึ่งเมื่อมองไปยังฝ่ายตรงข้ามอย่าง ริเวอร่ากลับเป็นตัวเต็ง นำแบบไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว และแน่นอนเมื่อทุกอย่างคือเกมและต้องชนะเท่านั้น การหาเสียงจึงไม่ใช่แค่การได้เสียงเพิ่ม แต่คือเสียงส่วนใหญ่ต่างหากที่เขาต้องการ

ที่มา : Far Out Magazine Online

เปิดเผย 5 กลยุทธ์เกมการเมืองผ่านหนัง (สปอยล์)

ลองมาดูกลยุทธ์ต่างๆของเจนที่สามารถทำให้ คาสติลโล ผู้สมัครที่แทบจะไม่มีความหวังพลิกกลับมาอยู่เหนือเกม การจับประเด็นกลยุทธ์นี้ อยากให้เปรียบเทียบเป็นภาพว่า นักการเมืองคือ Brand หรือ Personal Brand และการหาเสียงคือแคมเปญการตลาด เพราะนอกจากจะทำให้เราได้แง่มุมที่สะท้อนสังคมแล้วยังนำไปปรับใช้ในเรื่องอื่นๆได้อีกด้วย

  1. สื่อสารจากตัวตน อย่าเสแสร้ง
    เจนรู้ว่าคาสติลโลมีคาแรคเตอร์ที่โอหัง ไม่เป็นมิตร กล้า บ้าบิ่น และพร้อมจะสู้ถ้ามีคนมาทำร้ายเขา การเปลี่ยนให้เขาเป็นคนอบอุ่นน่ารักในสายตาของคนทั่วไปเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คนไม่เชื่อ เธอจึงบอกกับทีมว่า “อย่าเปลี่ยนคนให้เข้ากับเรื่อง ต้องเปลี่ยนเรื่องให้เข้ากับคน” เจนยืนยันที่จะใช้ความกล้า บ้าบิ่นของคาสติลโล เป็นคาแรคเตอร์ของนักสู้กับปัญหาและการล่มสลายระดับประเทศ แทนการหาเสียงแบบเป็นมิตร การอ่านจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญในกลยุทธ์ และเจนมีแนวคิดที่ล้ำลึกกว่านั้นที่คิดว่าการใช้จุดอ่อนทำให้เป็นจุดแข็งก็เป็นกลยุทธ์ที่มองข้ามไม่ได้เลยทีเดียว
  2. ไม่ได้เลือกด้วยความรัก ก็ให้เลือกด้วยความกลัว
    คาสติลโล เป็นคนกล้า และบ้าบิ่นพอที่จะเป็นนักสู้กับปัญหา แต่ปัญหานั้นต้องเป็นมากกว่าปัญหา เธอต้องทำให้มันน่ากลัวแบบที่คนหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกลยุทธ์นั้นคือการประกาศโน้มน้าวชาวโบลีเวียว่ากำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติสังคม เศรษฐกิจ และการล่มสลายของชาติ เจนใช้คำว่า Crisis หรือ วิกฤติ เป็น Key word ในการสื่อสาร มีปรัชญาหนึ่งที่เธอพูดถึงกลยุทธ์นี้ว่า “คนจะลืมสิ่งที่คุณพูด แต่จะจำในสิ่งที่คุณทำให้รู้สึก” การสร้างความรู้สึกหวาดกลัวและทางเลือกของคนมีแค่สองฝั่ง คือ หนึ่ง คนที่กล้าและบ้าบิ่นอย่าง คาสติลโล ที่พร้อมจะลุกขึ้นสู้และต่อกรกับปัญหา และสอง ฝ่ายตรงข้ามที่อาจจะมีเพียงคำพูดที่สวยหรู และพร้อมจะนิ่งเฉยกับปัญหา และนี่จะไม่ใช่เป็นเพียงการเลือกตั้งอีกต่อไป นี่เป็นการเดิมพัน มันคือการกู้ชาติ การเลือกพรรคของเธอคือหนทางในการแก้ไขวิกฤตินี้
  3. ปล่อยข่าวที่ไม่ดีของฝ่ายตรงข้ามในหนังจะเห็นความสำคัญของสื่อว่ามีผลกับการเลือกตั้งมาก ไม่ใช่แค่การนำเสนอนโยบาย แต่สื่อมีการนำเสนอทุกประเด็นของนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็น แนวคิด หรือชีวิตส่วนตัว เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนใช้ในการตัดสินใจ แต่ถ้าข่าวนั้นไม่ได้หามาจากแหล่งข่าว แต่ส่งมาจากฝ่ายตรงข้ามในการโจมตีจะเป็นยังไง ในเรื่องเราจะเห็นกลยุทธ์หนึ่งของเจนที่คอยปล่อยข่าวที่ไม่ดีของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งขอแยกมาให้เห็นชัดเจน 2ประเด็นคือ
    • ประวัติเก่าที่ไม่ดีของฝ่ายตรงข้าม ในเรื่องเธอคุดขุ้ยข้อมูลไม่ดีของฝ่ายตรงข้าม คอยส่งให้กับสื่อเพื่อเผยแพร่ ที่โดนหนักๆในเรื่อง คือ ประวัติที่ฝ่ายตรงข้ามเคยทุจริต
    • สร้างข่าวปลอม (Fake news) เรื่องนี้ก็ทำให้เราเห็นกลยุทธ์ของข่าวปลอมว่า ถึงแม้ว่าคนทั่วไปไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรื่องราวเหล่านี้จริงหรือไม่  แต่สิ่งที่เจนรู้คือมันจะสร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจได้แบบกลายๆ ถึงแม้คนจะไม่เชื่อแต่ชวนให้คิดได้อย่างแน่นอน ในเรื่องเธอนำรูปภาพเก่าของ ริเวอร่า นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ใส่เครื่องแบบคล้ายกับเป็นอาชญากรสงคราม และปล่อยข่าวลือว่าเขาเกี่ยวข้องกับ เคลาส์ บาร์บีย์ นายพลหน่วย SS และสมาชิกของหน่วยตำรวจลับของนาซีเยอรมัน เพื่อสร้างข่าวลือที่ไม่ดีให้ฝ่ายตรงข้ามต้องออกมาปฏิเสธ
  4. สื่อสารกับผู้คนในระดับ Emotional อีกหนึ่งสิ่งที่เจนทำให้คนจดจำ คาสติลโล ได้มากขึ้น คือการให้ คาสติลโล สื่อสารความรู้สึกตัวเองออกมาให้ผู้คนได้เห็นบ้าง เช่น การเสียใจ หรือการเสียน้ำตา ซึ่งทำให้เขาเชื่อมต่อกับผู้คนในด้านอารมณ์ ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี เนื้อหาของเรื่องพูดถึงการที่  คาสติลโล มีข่าวลือว่าเขาเป็นหนึ่งในสมาชิกลัทธิแปลกประหลาดที่สร้างความเชื่อแบบผิดๆ เหตุการณ์นี้จริงๆก็ทำให้เห็นว่าไม่ใช่แต่เราที่โจมตีฝ่ายตรงข้าม แต่ต่างฝ่ายต่างโจมตีซึ่งกันและกัน ซึ่งคาสติลโลก็ถูกสื่อรายการโทรทัศน์ขอสัมภาษณ์เรื่องนี้ ฉากนี้เราจะเห็นการแก้ไขสถานการณ์จากการที่เจนเตรียมรูปแบบการให้สัมภาษณ์มาอย่างดีและขอให้เขาหันหน้าไปทางกล้องถ้าร้องไห้  พอถึงจุดสำคัญที่คาสติลโลถูกถามโยงไปถึงเรื่องลูกชาย และนั่นก็ทำให้เขาตอบคำถามสุดท้ายด้วยน้ำตาของความเป็นพ่อ สร้างความซาบซึ้งให้กับคนดู และแน่นอนก็ทำให้พรรคของเขามีคะแนนโพลล์ดีขึ้นมาทันที
  5. เกลี่ยความนิยมของอันดับ 1 ไปที่พรรคอื่น
  6. “ถ้าศัตรูผนึกกำลังกัน เราต้องจับมันแยก” เป็นกลยุทธ์ที่เจนใช้ในโค้งสุดท้าย ในขณะที่ผลโพลล์ของพรรคอยู่อันดับ3 และคู่แข่งอยู่อันดับ1 แถมยังพุ่งไม่หยุด เธอจึงใช้วิธีดึงความนิยมของอันดับ 1 ลงมาด้วยการใช้กลุ่มคนที่เป็นคอนเนคชั่น ช่วยสร้างคะแนนเสียงให้อันดับ 2 เพื่อให้อันดับ 1 อยู่ในระดับไม่ต่างชั้นกับตัวเองมากนัก เลยทำให้ผลโพลล์ 3 อันดับคะแนนอยู่ไม่ห่างกันมากก่อนวันเลือกตั้ง

สุดท้ายพอถึงวันเลือกตั้ง ผลที่เกิดขึ้น คาสติลโล จะได้เป็นประธานาธิบดีไหม เจนจะทำงานสำเร็จหรือไม่ เธอจะมีแนวคิดต่อไปยังไงกับผลที่เธอทำ และผลการเลือกตั้งจะมีผลกระทบกับคนกลุ่มไหนบ้าง  ใครคิดผิดคิดถูก ตอนสุดท้ายของหนังเรื่องนี้สะท้อนออกมาดีมากๆ ไม่ว่าคุณจะเลือกหรือไม่เลือกด้วยเหตุผลอะไร แต่ผลของการเลือกตั้งจะส่งผลต่อชีวิตของคุณ ภาพตอนจบเซอร์ไพรส์คนดูมากๆ อยากลืมไปหาชมกับหนังสะท้อนสังคมได้แง่คิดกับตัวเอง และสนุกอย่าง Our Brand is Crisis

ที่มา : Observer