fbpx

กลายเป็นประเด็นร้อนประจำสัปดาห์นี้ในวงการสื่อเลยก็ว่าได้ เมื่อมีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จำนวนกว่า 264 ล้านบาท โดยโครงการที่ถูกเพ่งเล็งเอาไว้ตั้งแต่ต้นคือการสร้างภาพยนตร์รักชาติมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ซึ่งกลายเป็นที่วิจารณ์จากประชาชนจำนวนมากตั้งแต่วันแรกที่ออกนโยบายนี้ออกมา

ล่าสุดก็ได้เจ้าของที่รับเงินมูลค่า 30 ล้านบาทมาพัฒนาโครงการหนังรักชาติแล้ว ซึ่งก็คือบริษัท เดอะวิน ออแกไนเซอร์ จำกัด ภายใต้ชื่อโครงการภาพยนตร์เรื่อง “พระร่วง พระราชาผู้ทรงธรรม” ของบประมาณไปทั้งหมด 30 ล้านบาท เรียกว่าเต็มมูลค่าที่ตั้งเอาไว้เลยทีเดียว วันนี้ทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อขอสรุปรายได้ พร้อมรวบรวมเรื่องราวของ “พระร่วง” อดีตละครเวทีที่ไม่มีคนดู จนกลายมาเป็นภาพยนตร์กัน

อันที่จริงนโยบายนี้ ทีมกองบรรณาธิการ The Modernist ได้เคยไปสัมภาษณ์ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ถึงแนวคิดในการทำหนังรักชาติมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ซึ่งท่านได้ให้คำตอบเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เอาไว้ว่า “คือเมื่อพูดว่ารักชาติ หลายคนคิดไปในมุมของการเมือง เพราะว่าสภาพการณ์ก่อนหน้านี้มันมีคำที่เป็นคู่ตรงข้ามอยู่ก็คือคำว่าชังชาติ เพราะถ้าคิดว่าชังชาติเป็นคำการเมือง คำว่ารักชาติก็เป็นคำการเมือง เพราะในแง่นี้โอกาสที่คนไม่สบายใจทันทีเลย ต้องเรียนทุกท่านให้สบายใจโดยเฉพาะผู้จัดการเอง คิดว่าการใช้คำว่ารักชาติเป็นโอกาสที่ดี ที่ทำให้คนมาสนใจหันมาให้ความสำคัญ แต่เราที่อยู่ในฐานะกองทุนสื่อฯ เราต้องการสร้างสื่อเพื่อสร้างความรักความสามัคคีในสังคม กรรมการเพียงแค่กำหนดหัวข้อแต่ธีมไม่ได้กำหนด วันนี้สังคมต้องการอะไรที่ทุกคนแชร์ได้ ไม่ว่ารักชาติในรูปแบบอะไรเสื้อสีไหน คุณทำได้หรือเปล่า นี่ต่างหากที่เป็นความท้าทาย นี่ต่างหากที่กองทุนอยากให้เกิด ไม่ใช่ต้องรักชาติแบบหัวชนฝา รักชาติแบบนี้คือการทำลายชาติ เพราะเป็นการผลักคนจำนวนหนึ่งที่นิยามความรักชาติไม่เหมือนเราออกเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย”

ในขณะเดียวกันยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “ปีหนึ่งอยากจะเห็นสื่อชิ้นใหญ่ๆ อย่างน้อย ภาพยนตร์แห่งชาติที่เป็นของประชาชนทุกคน ไม่ใช่หนังรัฐบาล ไม่ใช่หนังราชการ ไม่ใช่หนังกองทุน แต่เป็นหนังของคนไทยทุกคน แล้วได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ดู parasite ของเกาหลี เป็นหนังเรื่องแรกที่พูดภาษาท้องถิ่นนะ แล้วได้รางวัลออสการ์ มันสุดยอด แล้วทำไมเมืองไทยไม่คิดแบบนี้บ้าง คนไทยต้องฝันนะ”

กลับมาที่การพิจารณาการให้ทุนแก่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ พบว่าในปีนี้มีไทม์ไลน์ที่ถูกยืดระยะเวลาออกไป ซึ่งไม่แน่ใจด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ระยะเวลาคัดเลือกกินไปตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์ – 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับกระบวนการการคัดเลือกแบ่งออกเป็นดังนี้

1) สำนักงานฯ ตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติเบื้องต้นก่อนนำเสนอคณะทำงานแต่ละชุดพิจารณา 

2) คณะทำงานจำนวน 11 คณะ แต่งตั้งโดยมติคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการ จากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สอดคล้องกับประเด็นที่พิจารณา ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเบื้องต้น สรุปรายงานพร้อมข้อเสนอแนะ

3) อนุกรรมการกลั่นกรองและพัฒนาโครงการซึ่งแต่งตั้งโดยมติคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พิจารณาข้อเสนอและรายงานของคณะทำงานชุดต่างๆ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ตามข้อ 19 แห่งข้อบังคับกองทุนฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินแก่โครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561

4) คณะอนุกรรมการบริหารฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 23 แห่ง พรบ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 2558 ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมที่สมควรได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ

5) คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีมติรับทราบผลการพิจารณาอนุมัติโครงการหรือกิจกรรม พร้อมให้ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ และให้สำนักงานดำเนินการต่อไป

ซึ่งหลังจากการตัดสินเสร็จสิ้น ดร.ธนกร กล่าวว่า การพิจารณาโครงการ/กิจกรรมในปีนี้ ทุกกระบวนการเป็นไปด้วยความเข้มข้น รอบคอบ ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายกองทุนฯ  ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงมั่นใจว่าการใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ในการจัดสรรทุน จะก่อให้เกิดผลงานคุณภาพ ที่ยังประโยชน์ให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เกิดผลลัพธ์ผลผลิตที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกองทุนฯ ซึ่งมุ่งประสงค์จะส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์หลังจากประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุนแล้ว ผู้จัดการกองทุนกล่าวว่าเป็นธรรมดาที่การพิจารณาจัดสรรทุนแต่ละครั้ง จะมีทั้งผู้สมหวังและผู้ผิดหวัง ซึ่งกองทุนสื่อมีเงินน้อยแต่มีผู้ขอทุนจำนวนมากจึงมีผู้ผิดหวังมากเช่นกัน ทั้งนี้ สำนักงานน้อมรับความคิดเห็นต่างๆ นำเสนอผู้เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์หาข้อสรุปประกอบแนวทางการดำเนินงานต่อไป

กลับมาที่ผู้ได้รับทุนมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ซึ่งอย่างที่เกริ่นกันไปว่าปีนี้ตกเป็นของ บริษัท เดอะวิน ออแกไนเซอร์ จำกัด ซึ่งมีกรรมการบริษัท ได้แก่ อนาวิล วิภาสวัสดิ์ และพชร อาชาศรัย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 633 ซอยเสือใหญ่อุทิศ ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยจดทะเบียนดำเนินกิจการกิจกรรมด้านความบันเทิง

สำหรับผลประกอบการในช่วงปี 2563 พบว่า เดอะวิน มีสินทรัพย์รวม 4,068,382 บาท มีหนี้สินรวม 31,345,982 บาท มีรายได้รวม 1,045,135.63 บาท และผลประกอบการขาดทุนอยู่ที่ 391,543.53 บาท

ละครเวที “พระร่วง เดอะมิวสิคัล”

สำหรับภาพยนตร์เรื่องพระร่วง พระราชาผู้ทรงธรรมที่ได้รับทุนจำนวน 30 ล้านบาท เดิมเคยถูกสร้างเป็นละครเวทีเรื่อง “พระร่วง เดอะ มิวสิคัล” ซึ่งมาจากบทพระราชนิพนธ์ละครพูดคำกลอนเรื่อง ‘พระร่วง’ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถูกจัดสร้างในรูปแบบละครเวทีในปี 2561 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในมงคลสมัยเสด็จขึ้นทรงราชย์

อนาวิลให้สัมภาษณ์กับธนกร วงษ์ปัญญา ผ่าน เดอะสแตนดาร์ดเอาไว้ถึงช่วงที่ทำละครเวทีเรื่องนี้ว่า “สมัยที่เรียนก็ได้มีโอกาสดูโปรดักชันของต่างประเทศมากมาย และคิดว่าคนไทยก็สามารถทำได้เช่นกัน ผมจึงอยากจะลองทำ และพระร่วงคือบทประพันธ์ที่ผมนึกถึง แต่ยอดขายจนวันนี้ยังไม่ดีขึ้นเลย”

แน่นอนว่าหลังจากการได้รับทุนในครั้งนี้ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 30 ล้านบาท ผู้คนคงตั้งตารอคอยพร้อมกับคาดหวังว่าเงินจากพวกเขาทุกบาททุกสตางค์จะถูกใช้ให้คุ้มค่าสมกับการตัดสินของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายนั่นเอง เราคงตัดสินเองไม่ได้ แต่ประชาชนควรเป็นผู้ช่วยสอดส่องถึงโครงการต่างๆ ในกองทุนว่าถูกใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด