fbpx

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) จัดวันพบนักลงทุนประจำไตรมาสที่ 1/2564 โดยคุณพิริยดิส ชูพึ่งอาตม์ รองกรรมการผู้อำนวยการ – สำนักการเงินและการบัญชี มาร่วมพูดคุยผ่านระบบออนไลน์ในครั้งนี้ โดยในการพูดคุยครั้งนี้เป็นการพูดคุยถึงทิศทางในไตรมาส 1/2564 และก้าวต่อๆ ไปของไทยทีวีสีช่อง 3 อีกด้วย

สำหรับช่อง 3 เองในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวในฐานะเจ้าของสถานีโทรทัศน์ เปลี่ยนเป็นผู้ผลิตเนื้อหา (Content) โดยใช้ช่องทางปัจจุบันที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ อันประกอบไปด้วย สถานีโทรทัศน์, ออนไลน์ และการส่งออกลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ เพื่อการออกอากาศเนื้อหานั้นๆ และทำให้เกิดรายได้หลายช่องทางจากคอนเทนต์เดียว โดยพันธกิจเน้นการพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า เน้นผลิตเนื้อหาที่ตรงกับกลุ่มผู้บริโภคสื่อให้ดีขึ้นด้วย ภายใต้กลยุทธ์ “Single Content Multiple Platform” เนื้อหาเดียวแต่หลากช่องทาง โดยเน้นเนื้อหาที่มีศักยภาพเป็นหลัก ทำให้ประหยัดต้นทุนได้และทำกำไรหลากช่องทางเป็นอย่างดี

โดยนอกจากนี้ยังเน้นกลยุทธ์รักษาฐานลูกค้ากลุ่มหัวเมืองและในเมืองหลวง สร้างสรรค์และปรับปรุงเนื้อหาให้ตรงกลุ่มและสดใหม่มากขึ้นด้วย ทั้งคอนเทนต์ข่าว ละคร และวาไรตี้ซึ่งเป็นหัวใจหลักของสถานี นอกเหนือจากนี้นั้นยังเน้นการส่งเสริมทางการขายและช่องทางการขายแบบหลากหลายรูปแบบ ทั้งสื่อใหม่และสื่อโทรทัศน์ รวมไปถึงกิจกรรมร่วมด้วยกัน รวมถึงสร้างรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมาย 500 ล้านบาทในปีนี้ ส่วนออนไลน์แพลตฟอร์มอย่าง CH3+ ก็จะมีเป้าหมายที่ 500 ล้านบาทในปีนี้เช่นกัน

สำหรับแนวทางของ Single Content Multiple Platform นั้น จะใช้วิธีการผลิตเนื้อหาเพื่อออกอากาศครั้งแรก (First-Run) บนหน้าจอโทรทัศน์ช่อง 3HD เป็นหลัก หลังจากนั้นจึงจะส่งต่อให้ทั้งในและต่างประเทศผ่าน Digital Platform ทั้งในส่วนของ CH3+ ที่มีโฆษณา และ CH3+ Premium ที่ไม่มีโฆษณาแต่มีค่าสมาชิก และการลงผ่านช่องทาง Partner ต่างๆ ที่ซื้อมาอีกทางหนึ่ง, Simulcast (ออกอากาศคู่ขนานพร้อมประเทศไทย) และการขายสิทธิ์ให้แต่ละประเทศ

สำหรับสิ่งที่น่าสนใจในไตรมาส 1/2564 นั้นมีสิ่งที่น่าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของรายได้โดยรวมในอุตสาหกรรมโฆษณา, การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 และการฉีดวัคซีนที่ไม่มีความแน่นอน, การจัดทำ CH3+ The Moment ครั้งแรกที่ได้กลัฟมาเป็นตัวชูโรง และต้นทุนที่ลดลงทั้งจากการขายเทโรและการลดขนาดองค์กรเป็นหลักอีกด้วย

โดยในส่วนของรายได้โฆษณาที่ลดลงนั้นมีผลกระทบโดยรวม แต่ทางบีอีซีได้มีการลดต้นทุนโดยการขายเทโรตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2563 ซึ่งทำให้ลดผลขาดทุนได้ เนื่องจากเทโรมีผลประกอบการที่ขาดทุนมา 2-3 ปีแล้ว รวมถึงการปรับช่องทางออนไลน์ของช่อง 3 เองให้มีระบบสมัครสมาชิก โดยในไตรมาส 1/2564 มีรายได้ 126 ล้านบาทจากช่องทางนี้

สำหรับการขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ เนื่องจากไตรมาส 4/2563 มียอดการขายที่เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ (153 ล้านบาท) ทำให้ในไตรมาสที่ 1/2564 มียอดการขายที่ลดลง โดยมียอดการขายอยู่ที่ 33.8 ล้านบาท ในขณะที่รายได้จาก Digital Platform นั้นในไตรมาส 1/2564 นั้นมีรายได้อยู่ที่ 92.3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าลดลงตามช่วงเวลาปกติของปีอยู่แล้ว

ในส่วนของทิศทางต่อไป ช่อง 3 จะยังเน้นการสร้างรายได้ในช่วง Primetime มากเป็นพิเศษ รวมไปถึงช่วง Non-Primetime ที่ปรับช่วงเวลาทั้งรายการข่าว โดยเฉพาะการกลับมาของคุณสรยุทธที่ทำให้ยอดรายได้มากขึ้นด้วย และรายการวาไรตี้ที่เสริมเข้ามา นอกจากนี้ยังขยายตัวต่อเนื่องในการขายต่างประเทศ เน้นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จากเดิมที่เน้นอินโดไซน่าและจีนแผ่นดินใหญ่อยู่แล้ว

ในขณะที่การจัดผังเวลารายการในปี 2564 นั้นยังเน้นซีรีส์วายที่จัดเวลาไว้ช่วงวันพุธ 23.00 น. เพื่อสามารถต่อยอดคอนเทนต์ให้ขายไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งมีกำลังซื้อสูงได้ ในส่วนของการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ ทางช่อง 3 ในไตรมาส 1/2564 สามารถขายละครทั้งในส่วนของการขายเพื่อออกอากาศคู่ขนาน, ขายเพื่อลงแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ทั้งหมด 4 เรื่อง โดยเฉพาะสองเสน่หาที่ขายได้หลายประเทศมากที่สุด และยังคงเน้นตลาดจีนซึ่งกินส่วนแบ่งมากที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ยังขยายความร่วมมือการขายร่วมกับ JKN Global Media อีกด้วย

นอกเหนือจากนี้ยังจะเจาะการขายลิขสิทธิ์และการทำ Digital Platform ในทวีปอเมริกาใต้ จากการที่เห็นสถิติผู้สมัครสมาชิก 3+ Premium ในคอนเสิร์ตออนไลน์ของกลัฟอีกด้วย ทำให้สามารถต่อยอดมูลค่าทางการตลาดได้ต่อนั่นเอง และตั้งเป้ายอดสมาชิกในไตรมาสที่ 2/2564 ไว้ที่ 1.8 ล้านบัญชีอีกด้วย

ส่วนรายได้จากการโฆษณา ไตรมาส 1/2564 คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตกว่าร้อยละ 10 โดยมาจากการเพิ่มคอนเทนต์ละครช่วงหัวค่ำ ซึ่งเป็นละครใหม่เพื่อเพิ่มเม็ดเงินโฆษณา เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นละครรีรันทำให้ยอดค่าโฆษณาระหว่างละครรีรันและละครใหม่จะต่างกันพอสมควร และคาดหวังว่าขา Digital และ GCL เติบโตรวมกันมากกว่าร้อยละ 20 นอกจากนี้ต้นทุนในการทำคอนเทนต์ข่าวและละครจะใกล้เคียงกัน ทำให้สามารถจัดการต้นทุนและสร้างรายได้มากขึ้นด้วย โดยหลังจากการกลับเข้ามาของสรยุทธนั้นมี Loading อยู่ที่ร้อยละ 70-80 จากเดิมร้อยละ 30 เป็นผลมาจากการกลับมาบริหารเวลาโฆษณาเต็มตัวของช่อง 3 จากเดิมที่แบ่งขายหลายเจ้า และยังขยายเวลารายการอีกด้วย