fbpx

5 โชว์ที่ได้ปุ่มทอง Golden Buzzer ของ America’s Got Talent #16

เป็นวาระประจำปีที่รายการประกวดความสามารถระดับโลกตระกูล Got Talent จะกลับมาเล่นในช่วงต้นถึงกลางปี ซึ่งตามจริงแล้วต้นฉบับจากอังกฤษอย่าง Britain’s Got Talent จะต้องเล่นก่อนในช่วงต้นปี แต่เพราะการระบาดของ COVID-19 ในอังกฤษยังเข้มข้นเกินกว่าจะเปิดดำเนินการแข่งขันได้ ซึ่งเมื่อข้ามมาอเมริกาที่ตอนนี้ค่อยๆ ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จน America’s Got Talent (AGT) ประจำปีนี้ ซึ่งเป็นซีซั่นที่ 16 ของรายการเริ่มจัดแข่งขันได้ตามปกติ

สิ่งที่ถูกพูดถึงอยู่ทุกๆ ปีคือการแสดงที่ได้ปุ่มทองหรือ Golden Buzzer จากรอบออดิชั่น ซึ่งโครงสร้างการแข่งขันของ AGT จะต่างจากประเทศอื่นนิดนึงคือ หลังจากรอบออดิชั่นแล้วจะต้องเข้าแข่งขันต่ออีกรอบหนึ่งเพื่อเข้าสู่การแข่งขันในรอบการแสดงสด ซึ่งตรงนี้เราอาจเข้าใจได้ว่ามันคือรอบ Judge’s Cut หรือ Bootcamp ก็แล้วแต่ ดังนั้นใครที่ได้รับปุ่มทองจากกรรมการหรือพิธีกร ก็จะถือว่าได้เข้าสู่รอบการแสดงสดไปในทันที

โดยหลักการ Golden Buzzer จะกดได้ 5 ครั้งตลอดการแข่งขันในรอบ Audition คือการกดจากกรรมการทั้งสี่อย่างไซมอน คาเวลล์, ฮาววี่ แมนเดล, โซเฟีย เวอร์การา และไฮดี้ คลุม คนละหนึ่งครั้ง รวมถึงพิธีกรอย่างเทอร์รี่ ครูวส์ อีกหนึ่งครั้ง แต่ปีนี้มีความพิเศษที่เกิดการกด Golden Buzzer ครั้งที่ 6 ขึ้น 

เราจึงชวนคุณไปรีแคปการแสดงที่เจ๋งพอจนจะได้ปุ่มทองจากคณะกรรมการและพิธีกรประจำปีนี้กัน

Nightbirde: Simon Cowell

การแสดงที่เป็นไวรัลในโลกอินเทอร์เน็ตแทบจะทันทีเมื่อ AGT ปีนี้เปิดซีซั่น 

Nightbirde หรือเจน คือหญิงสาววัย 30 จากโอไฮโอ ที่ตอนแรกเหมือนไม่มีอะไรเลย ก็แค่การร้องเพลงทั่วๆ ไป แต่เมื่อเธอเล่าถึงที่มาของเพลง “It’s Okay” ที่เธอแต่งเอง มันคือการต่อสู้กับโรคมะเร็งที่ลุกลามไปถึง 3 จุดทั่วร่างกายทั้งตับ ไต และกระดูกสันหลัง ซึ่งการต่อสู้กับมะเร็งที่ลุกลามขนาดนี้ต้องใช้กำลังใจและกำลังกายเยอะมากๆ จากการที่คุณหมอของเธอวิเคราะห์ว่าเธอมีโอกาสในชีวิตเพียงแค่ 2 เปอร์เซนต์ แต่เพลงนี้ที่เธอแต่งกำลังบอกว่า ทุกอย่างที่คุณเผชิญอยู่ที่อาจเป็นเรื่องแย่ๆ ร้ายๆ ที่ส่งผลกับใจขนาดไหน และต่อให้เราทุกข์ทนเพียงใด ทุกอย่างมันจะโอเค

เพลงที่เธอร้องออกมามันจับใจเพราะมัน “จริง” ทั้งในเสียงร้องที่ออกมาเพียวๆ จากความรู้สึก หรือเนื้อร้องที่บอกให้คนรู้ว่าทุกอย่าง “มันจะโอเค” มันก็ทำงานได้ดีมาก หลายต่อหลายคนบอกว่าเพลงนี้และเรื่องราวของเจนมันคาราเมลจิตใจได้เป็นอย่างดี แต่ไซม่อนกลับบอกว่า มีนักร้องที่เก่งมากมายมาร่วมรายการนี้ และเขาจะไม่ให้เธอผ่าน

แต่เธอกลับได้ปุ่มทองจากไซม่อนไปในที่สุด

Jimmie Herrod: Sofia Vergara

แนะนำเร็วๆ แล้วกัน โซเฟีย เวอร์การา คือนักแสดงเชื้อสายโคลอมเบีย-อเมริกัน ที่ป๊อปมากๆ จากซีรีส์ Modern Family และได้มานั่งเก้าอี้กรรมการของ AGT เป็นปีที่สองแล้ว

ผู้แข่งขันที่โซเฟียเลือกกดปุ่มทองให้คือนักร้องชายที่ชื่อจิมมี่ เฮรอด จากพอร์ตแลนด์ ออริกอน ซึ่งเขาเป็นครูสอนร้องเพลงออนไลน์ตามประสาโควิด ซึ่งแน่นอน เขามาประกวด AGT เพราะมันเป็นโอกาสที่เขาจะได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองออกมา แต่ประเด็นคือ จิมมี่เลือกเพลง “Tomorrow” ของ Annie มาร้อง ซึ่งมันเป็นเพลงที่ไซม่อนดันเกลียดเข้าไส้แบบสุดๆ

ก็ไม่ต่างจากสตอรี่ของนักร้องบนเวทีนี้ จบเพลงทุกคนก็ต่างตื่นตากับศักยภาพของจิมมี่ที่แสดงออกมา จนไซม่อนต้องถอนคำพูดในที่สุด แต่ก็ตามที่ใครหลายคนเดาออก โซเฟียที่คอมเมนต์ว่าเธอไม่ได้ชอบโชว์นี้เท่าไหร่

แต่เธอก็รักโชว์นี้จนเอื้อมไปกดปุ่มทองให้จิมมี่

Léa Kyle: Heidi Klum

สำหรับไฮดี้ คลุม เธอคือนางแบบชาวเยอรมัน-อเมริกัน ที่เคยเป็นพิธีกรรายการประกวดหานางแบบอย่าง Project Runway และเดินแบบในหลายๆ เวทีมาแล้ว ในฐานะที่เธอนั่งโต๊ะกรรมการ AGT หลายปี เธอกดปุ่มทองให้กับโชว์หลากหลายรูปแบบ แต่ใครจะรู้ว่าเธอกลับอินกับโชว์นี้มากๆ

ลีอา ไคล์ คือนักแสดง “เปลี่ยนชุดเร็ว” (เธอให้สัมภาษณ์ในประวัติผู้แข่งขันไว้แบบนี้จริงๆ) ซึ่งเธอรักแฟชั่นมากๆ แต่การเป็นนักแสดงเปลี่ยนชุดเร็วไม่ใช่สิ่งที่เธอฝันซักเท่าไหร่ เพราะความปรารถนาของเธอจริงๆ มันคือการได้โลดแล่นในโลกแฟชั่น 

แฟนของลีอาเคยมาแข่ง AGT ซีซั่นก่อนหน้ามาแล้ว โดยการนำเอาแพสชั่นสองอย่างของเธอทั้งความชอบในการออกแบบเสื้อผ้า และทักษะการแสดงจากคนรักของเธอมาหลอมรวมกันเป็นการแสดงเปลี่ยนชุดอย่างรวดเร็ว ซึ่งชุดที่ใช้ในการแสดงเกือบ 20 ชุดที่เปลี่ยนในเวลารวดเร็วนั้น มาจากการออกแบบของเธอทั้งสิ้น

ไฮดี้กดปุ่มทองให้แบบไม่ลังเล ซึ่งเราเข้าใจได้ว่ามันคงมาจากความ “อิน”​ และความ “เข้าใจ” ของคนที่รักในแฟชั่นเหมือนกัน และสำหรับไฮดี้เอง มันคือสิ่งที่ตอบแทนความพยายามของเธอมากๆ เพราะคนที่กดปุ่มทองให้เธอคือแบบอย่างที่ทำให้เธอเดินตามในเส้นทางสายแฟชั่น

Northwell Health Nurse Choir: Howie Mandell

ฮาววี่ แมนเดล คือตลกและพิธีกรมือฉมังที่ครองเก้าอี้กรรมการ AGT มาอย่างยาวนาน การกดปุ่มทองของเขาในแต่ละปีนั้นคาดเดาไม่ได้เลยว่าการแสดงแบบไหนจะถูกใจเขาบ้าง เพราะบางทีก็กดให้นักร้อง กดให้กายกรรม หรือกดให้นักพูด Speech จนได้แชมป์มาแล้วก็มี

ที่สหรัฐอเมริกาเอง สภาวการณ์การระบาดของ COVID-19 ค่อยๆ ซาลงและถูกแก้ไขจนทุกคนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว เบื้องหลังสำคัญคือ Frontline Workers อย่างหมอและพยาบาลที่ช่วยกันดูแลรักษาคนไข้จำนวนมาก และในวงสังคมของบุคลากรทางการแพทย์ บ้างก็มีการตั้งชมรมเพื่อทำบางสิ่งบางอย่างเป็นกิจวัตร หนึ่งในนั้นคือการร้องเพลงประสานเสียงแบบคอรัสหรือ Choir (อ่านว่า ไควร์-เอ้อ)

การเป็นพยายาลเหมือนสิ่งที่เบื้องบนได้กำหนดไว้แล้วว่าพวกเขาต้องประกอบอาชีพนี้ ซึ่งทุกคนรักในอาชีพพยาบาลมาก และพวกเขาก็อุทิศตัวเองในช่วงการระบาดของ COVID-19 ในฐานะ Frontline Workers ที่ต้องรับมือกับคนไข้จำนวนมากและความกดดัน ความหดหู่ที่พวกเขาต้องเผชิญ หนึ่งในปัญหาหนึ่งที่พยาบาลกลุ่มนี้เห็นคือ การเห็นคนไข้โดดเดี่ยวเพราะญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ดนตรีจึงเป็นความหวังที่ช่วยเพิ่มพูนพลังใจให้กับพวกเขา ต่อให้พวกเขาร้องเพลงได้แบบงูๆ ปลาๆ ไม่ใช่นักร้องอาชีพ แต่การแสดงบนเวทีคือการให้ความสุขในฐานะ “ด่านหน้า” ของสังคม

กรรมการต่างชมเปาะเพราะต่อให้พวกเขาจะบอกว่าเขาไม่ใช่นักร้องอาชีพ และเนื้อหาของเพลงที่เราควรไว้ใจและเชื่อใจในกันและกัน รวมถึงฮาววี่ที่เห็นในความเป็น “ฮีโร่” ในตัวของพวกเขาทุกคน เพื่อเป็นการสดุดีในความอุทิศตนแก่อาชีพของพวกเขา เขาจึงลุกยืนขึ้น และกดปุ่มทองให้กับกลุ่มพยาบาลเหล่านี้

World Taekwondo Demonstration Team: Terry Crews

อีกหนึ่งโชว์ที่ไม่ใช่การร้องเพลงที่เทอร์รี่ ครูวส์​ พิธีกรคนที่ 5 ของรายการกดปุ่มทองให้ด้วยความทึ่งในศักยภาพของนักกีฬาเทควันโดกลุ่มนี้

World Taekwondo Demonstration Team คือการรวมตัวของนักกีฬาเทควันโดทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นจากหลายชนชาติ ทั้งเกาหลีต้นฉบับ หรือสหรัฐอเมริกาก็มี และการมาเวที AGT ในครั้งนี้ เพราะเนื่องจากที่นักกีฬากลุ่มนี้ได้รับเชิญให้ขึ้นแสดงในการแข่งขัน Olympics 2021 ที่ประเทศญี่ปุ่นแต่ก็ต้องถูกยกเลิกไปเพราะโรคระบาด จึงทำให้พวกเขาเลือกจะนำโชว์นี้มาแสดงบน AGT แทน

การแสดงของพวกเขาไม่ใช่แค่การเตะตีเทควันโดธรรมดา แต่คือการแสดงที่ใช้ทักษะจากศิลปะการป้องกันตัวผสมผสานกับความเป็นโชว์ได้อย่างโคตรน่าทึ่ง มีการท้าทายตัวเองด้วยท่าหวาดเสียวมากมาย รวมถึงการผสมผสานการรำเข้าไปในโชว์ที่พร้อมเพรียงกันเหมือนก๊อปวาง ซึ่งทั้งหมดสร้างความตื่นตาและสมควรกับการเป็นโชว์ในมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ และเทอร์รี่ก็ไม่พลาดที่จะกดปุ่มทองให้กับความสามารถของพวกเขาเหล่านี้

Victory Brinker: All Judges & Terry

ไม่รู้ว่าทางรายการจัดลำดับคิวการออดิชั่นก่อน-หลัง ยังไง แต่ในช่วงที่น้องวิคตอรี่ขึ้นแสดง เราต่างเข้าใจว่ากรรมการทุกคนและพิธีกรใช้โควต้า Golden Buzzer ไปหมดแล้ว

วิคตอรี่ บริงเกอร์ เด็กสาววัย 9 ขวบที่มีความสุขกับการร้องเพลงมากๆ จนยิ้มแก้มปริออกมาทุกครั้งที่เธอได้เปล่งเสียงร้องออกมาไม่ว่าจะในเวลาไหนที่เธอว่าง ซึ่งผู้ชมส่วนมากของเธอคือน้องๆ ตุ๊กตาที่อยู่ในบ้าน โดยคุณแม่ของวิคตอรี่ให้การสนับสนุนเต็มที่ และตัวเด็กน้อยเองก็คาดหวังว่าเธอจะชนะการแข่งขันในครั้งนี้

ฉากการสัมภาษณ์เพื่อปูประวัติชีวิตดูไม่มีอะไรเลยนอกจากเด็กคนหนึ่งที่อยากร้องเพลงบนเวทีใหญ่ และเราไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายจากเด็ก 9 ขวบ เพราะแค่ตอบคำถามกรรมการยังงงๆ ไปมาอยู่เลย

แต่ใครจะไปรู้ว่าสิ่งที่เธอเอามาแสดงบนเวทีคือ การร้องโอเปร่า

Juliet’s Waltz คือบทอุปรากรที่เธอหยิบเอามาร้องบนเวที และใครจะไปคิดว่าเด็ก 9 ขวบที่ยังไม่เติบโตเป็นวัยรุ่นดีจะร้องโอเปร่าที่ใช้ศักยภาพได้สูงขนาดนี้ ทั้งห้องโรงละครปรบมือให้กับความสามารถของเธอ แต่กรรมการกลับคิดหนักว่าจะตัดสินอย่างไรดี จนไซม่อนต้องเชิญเทอรี่ออกมาลงมติร่วมกัน จนสุดท้ายผลการตัดสินของวิคตอรี่คือ การกดปุ่ม Golden Buzzer ร่วมกันของคณะกรรมการและพิธีกรทั้ง 5 คนที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แฟรนไชส์ Got Talent

หลายต่อหลายครั้งรายการในตระกูล Got Talent มักถูกตั้งคำถามถึงการให้ปุ่มทองหรือการตัดสินหาผู้ชนะที่มีพื้นฐานจากการแสดงความสามารถในหมวด “ร้องเพลง” อย่างเดียว ซึ่งเราก็ไม่เถียงว่า 4 ใน 6 โชว์ที่ได้ปุ่มทองในปีนี้มันก็คือร้องเพลงนั่นแหละ แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ในการทำรายการโทรทัศน์แบบแมสที่ต้องสื่อสารกับผู้ชมให้ได้มากที่สุด แกนกลางการสื่อสารด้วยเสียงดนตรีมันคือสิ่งที่ย่อยง่าย เข้าใจง่าย และเป็นสากล

แต่ก็ยังมีโชว์อีกจำนวนหนึ่งที่ใช้ศักยภาพและการฝึกฝนจนแสดงออกมาให้เราเห็นคุณค่าของความพยายาม และกลายเป็นโชว์ที่ประทับใจผู้ชมได้เช่นกัน ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ ปฏิกิริยาของผู้แข่งขันที่ได้ปุ่มทองทุกคนจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน เพราะเราเชื่อว่าไม่มีใครคาดหวังว่าสิ่งที่เขาทำนั้น จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนชื่นชอบและควรค่าแก่เกียรติแห่งปุ่มทอง

ยังมีปุ่มทองอีก 2 ครั้งในรอบ Judge’s Cut ให้ได้ติดตามต่อว่าจะมีโชว์ไหนให้ได้ว้าวอีก แล้วเราจะ “ส่อง” การแสดงที่ควรค่าแก่ปุ่มทองเหล่านั้นมาเล่าให้คุณฟังอีกนะ

ขอบคุณภาพจาก Entertainment Tonight และ Newsweek