fbpx

**บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ The Modernist เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565**

หากคุณกำลังเห็นชายที่นั่งอยู่ต่อหน้าผม และกองบรรณาธิการของเราในวันสัมภาษณ์ ภาพในหัวเราคงเห็นเขาลุกขึ้นยืนแทน ตำแหน่งที่ยืนน่าจะเป็นแถวๆ สถานีตำรวจที่ใดที่หนึ่ง ใส่สูทหนาๆ ร้อนๆ ยืนพูดหน้านิ่ง น้ำเสียงเรียบเฉยไร้ไดนามิก สอดแทรกจังหวะจะโคนเล็กน้อย พูดข้อความสั้นๆ ตบท้ายเรื่องราวบทบาทสมมติ ที่ฟังแล้วขำคิกๆ ทุกประโยคของ หว่อง-พิสิทธิ์ กิรติการกุล ที่ต้องยอมรับว่าในฐานะประชาชนที่เห็นหน้าของเขาในจอโทรทัศน์ คงจะเป็นรายการเล่าเรื่องคดีสุดหฤหรรษ์ในรายการคดีเด็ด เป็นอันดับแรก

แต่อันดับแรกของชีวิตบนจอโทรทัศน์ของเขาก็ไม่ใช่รายการคดีเด็ด

เพราะอีกขาหนึ่งของเขา คลุกคลีอยู่กับการทำงานด้านข่าวมาอย่างยาวนาน ซึ่งยาวนานกว่าภาพจำของเขาบนรายการเล่าเรื่องคดีนั้นอีกมากโข

ตลอดระยะเวลากว่า 35 ปีบนหน้าจอโทรทัศน์ไทย ทุกหน้าที่ และทุกบทบาทที่เขาได้รับ ล้วนหล่อหลอมกระบวนการคิด กระบวนการทำงาน และทำให้กลายเป็นอาหว่อง ที่น้องๆ เคารพในฐานะคนข่าวอาวุโสคนหนึ่งของช่อง 7HD

มาถึงบรรทัดนี้เราอยากให้คุณกลับไปอ่านหัวเรื่องอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเลื่อนลงไปอ่านเรื่องราวชีวิตของเขาตั้งแต่อาชีพแรก จนถึงอาชีพคนข่าว แล้วลองตั้งคำถามดูว่า ‘ทำไมเขายังไม่ยอมไปทำอาชีพอื่น ?’

หรืออาจเป็นเพราะเขารักในอาชีพนี้ไปแล้วก็ได้

ถ้านับจนถึงตอนนี้ อาหว่องเป็นคนข่าวมากี่ปีแล้ว

“เอาจริงๆ ผมเริ่มทำข่าวที่ญี่ปุ่นก่อน กับทาง Fuji TV น่าจะช่วงปี พ.ศ. 2524 หรือ พ.ศ. 2525 นี่แหละ ตอนนี้อายุ 65 ปี ก็เป็นคนข่าวจริงๆ มา 40 ปีแล้ว แต่ว่าย้ายมาอยู่ช่อง 7HD น่าจะปี พ.ศ. 2530 ก็น่าจะทำมา 35 ปี”

ยังไม่เบื่อกับการทำข่าวใช่มั้ย

“มันอาจจะมีบางช่วงที่เบื่อ ตามสถานการณ์อะนะ เช่น เวลาไม่ค่อยมีข่าวอะไรใหญ่ๆ มันก็น่าเบื่อเหมือนกัน แต่ถ้ามีข่าวใหญ่ๆ มันก็ไม่น่าเบื่อ มันกลายเป็นอาชีพของเราไปแล้ว ถ้าให้ไปทำอย่างอื่นก็คงไม่ใช่แล้วล่ะ”

หมายความว่าอาหว่องนึกภาพตัวเองไปทำอาชีพอื่นไม่ได้เลยหรือเปล่า งั้นอยากให้ลองนึกเล่นๆ ดูว่า ถ้าไม่ได้ทำงานข่าว ทุกวันนี้อาหว่องน่าจะทำอะไรอยู่

“ถ้าไม่ทำงานข่าวก็ไปทำรายการคดีเด็ดไง คดีเด็ดนี่ถือว่ามาช่วยชีวิตผมนะ เพราะตอนนั้นเนี่ย หลังปี 40 ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง สถานการณ์ก็คือฟองสบู่แตก เศรษฐกิจประเทศเราล้มละลาย

เหมือนกับศรีลังกาทุกวันนี้แหละ ประเทศไม่มีเงิน ใช้เงินหมดเลย แบงก์ก็ปล่อยกู้ แบงก์ไม่มีเงินใช่ไหมครับ ก็ล่มสิ แบงก์ไม่มีเงินให้กู้ แบงก์จะไปขอเงินแบงก์ชาติ แบงก์ชาติก็ไม่มี แบงก์ชาติก็ เงินก็หมดกระเป๋าแล้ว โครงการต่าง ๆ ล้มหมด คอนโดมิเนียมล้มหมด ธุรกิจอื่นก็ล้มตาม เจ๊งอะ บริษัทปิดหมด คนตกงาน ก็เลยไม่มีงานทำ ก็เอาของเก่ามาขาย ที่เรียกว่าเปิดท้ายขายของ ผมก็โดนด้วย ใช่ไหมล่ะ เคยทำรายการมาอยู่ดีๆ 2-3 รายการก็หายไป มาได้รายการคดีเด็ดนี่แหละมาช่วยชีวิตผม เขาขอให้มาทำรายการนี้ให้หน่อย ก็เอาสิ ลองทำดู

ตอนแรกคิดว่าเป็นรายการคั่นเวลา ทางเขาก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะไปได้ขนาดไหน แต่ว่ามันเป็นรายการในช่วงตอนบ่าย พูดง่ายๆ ว่ามันไม่แพงอะ ค่าเช่าเวลามันถูก

ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่ามีคนดู มีรายได้ ก็อยู่มาเรื่อยๆ ผมเคยถามเขาเหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะเลิก เขาบอกว่าเขาก็ไม่ได้ยินเจ้าของรายการบอกว่าจะเลิกเหมือนกัน คุณดูสิครับ จากที่ผมตกงาน แล้วมีรายการนี้มาช่วย มันกลายเป็นรายการที่เลี้ยงผมมา 20 กว่าปี เพราะงั้นจะไปลืมบุญคุณเขาได้ยังไง

ผมมองว่ามันก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของรายการทีวี บางคนเขาว่ามันไม่ใช่ข่าวนะพี่ ก็ใช่ มันไม่ใช่ข่าว แต่มันก็มีการขึ้นโรงพัก มันก็เป็นข่าวอยู่ไม่ใช่หรือ มันก็เป็นได้”

คิดว่าอะไรที่ทำให้รายการคดีเด็ดอยู่มาได้ถึงขวบปีที่ 22

“ผมว่ามันสะท้อนเรื่องของชาวบ้าน ชีวิตความเป็นจริงของชาวบ้านก็ดูได้จากการขึ้นโรงพัก มีอะไรอะ ตีชิง วิ่งราว เล่นการพนัน เมาเหล้า เมายา ผัวเมียทะเลาะกัน ฉ้อโกง นี่คือชีวิตของคนทั่วๆ ไป เราก็เอาชีวิตพวกนี้มาสะท้อนให้เขาดูอีกทีหนึ่ง เขาก็บอกว่า “อ่าว ทำไมมันเหมือนกันกับชีวิตจริงเลย” คนดูเขาเข้าใจง่าย คดีที่เลือกมาส่วนใหญ่ก็มีมุขที่เบาสมองอยู่ด้วย ไม่ได้เอาเรื่องแบบฆ่าโหด ฝังปูน มันก็ไม่ใช่คดีเด็ด แบบนั้นไม่โอเค ก็เลยทำเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เป็นเรื่องที่ดูแล้วอดขำไม่ได้ อีกอันหนึ่งก็คือโฆษณาคงไม่แพงมั้ง เลยอยู่มาได้จนถึงตอนนี้”

กลับไปที่จุดเริ่มต้นของอาหว่องบ้าง อาชีพนักข่าวเป็นความฝันตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า

“ไม่ใช่เลย มาเลือกเป็นนักข่าวตอนโตแล้ว ผมเลือกเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ เพราะคิดว่าอยากจะเป็นนักข่าว เป็นคนเขียนข่าว หรือคอลัมนิสต์อะไรแบบนั้น ไม่ได้มองนักข่าวโทรทัศน์มาแต่แรก สมัยนั้นไม่มีคำว่านักข่าวโทรทัศน์ ไม่มีอาชีพนี้เลยด้วยซ้ำ มีแต่ไปทำงานที่สถานีโทรทัศน์ 

ตอนที่เรียนอยู่ก็ไม่มีอะไรสอนเกี่ยวกับการทำข่าวโทรทัศน์ แม้แต่ข่าวหนังสือพิมพ์ผมก็ไม่ได้เรียนนะ สมัยนั้นคนจะเรียนหนังสือพิมพ์ก็ต้องไปเรียนอีกสาขาหนึ่ง พวก Journalism อะ คุณก็ดูข่าวหนังสือพิมพ์เขียนสิ จะไปจับคนร้ายทีหนึ่งก็ไล่ตั้งแต่ผู้กำกับไปถึงจ่าโน่น สิบกว่าคน คุณจะเป็นข่าวโทรทัศน์ได้ไง มันพูดชื่อตำรวจเกือบทั้งโรงพักแล้วอะ ใช่มั้ย คนจะดูมั้ยข่าวแบบนี้ แต่หนังสือพิมพ์เขาต้องเป็นแบบนั้น ดูแล้วคนละแนวกันเลย”

ไปยังไงมายังไงถึงได้ทำงานเป็นนักข่าวที่ Fuji TV

“ตอนนั้นผมจากจบมหาวิทยาลัย ก็เริ่มต้นทำที่บริษัทโฆษณาก่อน ทำไปทำมาก็คิดว่าเมื่อไหร่เราจะก้าวหน้า เงินก็นิดเดียว แล้วไปดูพวกที่ดีกว่าเรา เขาจบเมืองนอกมาทำงานเลยนะ เรามันไม่ได้จบนอกเหมือนเขา ดูแล้วไม่น่าจะไปได้ไกล ก็เลยคิดหางาน

เผอิญไปเห็นงานที่ตรงกับใจเลยก็คืองานทางด้านนักข่าว จริงๆ แล้วสนใจนักข่าวหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นทีวีในไทยยังไม่มีคำว่าข่าวทีวี มีแต่ข่าวในพระราชสำนัก ข่าวนายก เขาไม่ได้เรียกข่าววิทยุโทรทัศน์เหมือนปัจจุบัน ทาง Fuji TV เขาบอกว่ารับนักข่าวทีวี เอาวะ ก็ไปสมัครกับเขา ทั้งที่ไม่มีพื้นฐานอะไรเลยนะ ที่ได้มาคือไปเรียนจากเขาทั้งนั้น

มีวันหนึ่งไปถามนักข่าวที่ญี่ปุ่นว่า “พี่จบนักข่าวมาหรือเปล่า” นักข่าวญี่ปุ่นเขาพูดภาษาไทยได้ เขาบอก “เมื่อก่อนผมเป็นเซลล์” “เซลล์ขายอะไร”เซลล์ขายหนังการ์ตูนญี่ปุ่นให้กับโทรทัศน์ไทย” คือบริษัทโทรทัศน์ช่อง Fuji TV เนี่ยเขาก็มีหนังการ์ตูน มีรายการเกมโชว์ เขาเลยมาเป็นเซลล์เพื่อที่จะขายรายการโทรทัศน์ไปที่ช่องของไทย ตอนนั้นรายการโทรทัศน์ญี่ปุ่นคนก็นิยม โดยเฉพาะพวกการ์ตูน มีโดราเอมอนอะไรมาแล้ว รายการโทรทัศน์ตอนนั้นแข่งอยู่สองประเทศ ถ้าเป็นการ์ตูน เป็นเกมโชว์ หรือแม้กระทั่งหนังก็เป็นทางฝั่งญี่ปุ่นส่วนหนึ่ง อีกส่วนคือหนังฮ่องกง พวกเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ หนังกำลังภายใน เต็มตลาดบ้านเราเลย

จนมาช่วงที่เกิดสงครามแถวกัมพูชา (ปัญหาสงครามกลางเมืองในกัมพูชา และการยึดครองกัมพูชาของเวียดนามในปี 2522-2532 ขณะนั้นอยู่ในยุครัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ – ผู้เขียน) ช่วงนั้นก็เป็นข่าวใหญ่เลย ที่สถานีเขาเลยบอกว่ารายการเราสู้ของฮ่องกงไม่ได้ งั้นเอ็งไม่ต้องเป็นเซลล์ละ ส่งกล้องมาให้เรา ไปถ่ายข่าวให้หน่อย

ช่วงนั้นผมเลยไปอยู่กับเขา 2-3 ปี เขาเป็นนักข่าวที่ฝึกมาจากรุ่นพี่ที่เป็นนักข่าวอีกที เป็นช่างภาพคนเดียว ระหว่างนั้นก็ได้เรียนรู้พื้นฐานการถ่ายภาพ เมื่อก่อนเป็นฟิล์ม 8 มิลลิเมตร ถ่ายเสร็จแล้วไม่เห็นอะไรเลย ต้องส่งฟิล์มไปให้ที่ญี่ปุ่นล้าง เข้าใจว่าโทรทัศน์ทั่วไปก็เป็นฟิล์มอะ ยกเว้นรายการถึงจะเป็นเทป เทป 1 นิ้ว โหใหญ่ ยังไม่มีดิจิทัลแบบปัจจุบันนี้ อันนี้มาทีหลังแล้ว

ไปอยู่สถานีนี้ที่ญี่ปุ่นก็ทำงานข่าวกันสองสามคน ก็สนุกดี เรียนรู้อะไรจากเขาเยอะแยะเลย”

พอมาช่อง 7HD ก็เริ่มทำข่าวต่างประเทศตั้งแต่แรกเลยมั้ย

“ไม่เลย ตอนแรกผมมาอยู่หน้าห้องก่อน หิ้วกระเป๋าให้เจ้านาย เข้าใจว่าเขาคงเห็นผมเคยทำงานโฆษณา มันเป็นแหล่งรายได้ของเขา ก็คิดว่าน่าจะเลือกผมช่วยให้สถานีเข้าหาลูกค้า พูดกับลูกค้าได้ หรือทำให้มีโฆษณาเข้าสถานีมากกว่านี้ เพราะรายการของช่อง 7HD เราตอนนั้นมันก็ไม่ได้ขี้เหร่ แข่งกันอยู่สองช่องตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

แต่ผมพบอยู่อย่างหนึ่งตอนทำบริษัทโฆษณาว่าสองช่องนี้ แม้จะมีคนดูพอๆ กัน แต่ต่างกันอยู่สองอย่าง ก็คืออีกช่องหนึ่ง ตอนนั้นเจ้าของมาหาลูกค้า คือ Agency บริษัทโฆษณาทุกวัน ทุกเช้าด้วยตัวเองเลย แต่กลับกันเราไม่เห็นช่อง 7HD เลย ไม่เคยมีใครมาหาเลย แล้วถ้าคุณจะตัดสินใจซื้อโฆษณา จ่ายงบให้กับช่องสองช่องตอนนั้น คุณจะนึกถึงหน้าใครก่อน ตรงนี้ผมว่าความเสียเปรียบของช่อง 7HD ในช่วงนั้น อยู่ตรงนี้ ไม่ง้อลูกค้า มันเป็นไปได้ยังไง

สิ่งที่ปรากฏก็คือว่า ช่อง 7HD แม้คนดูจะเยอะ แต่รายได้ไม่ค่อยดี เนี่ยตรงนี้ผมก็คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะได้คน ว่ามาช่วยกันหน่อยสิ เผื่อว่าจะทำให้โฆษณามันดีขึ้น เลยได้ช่วยเขา ทั้งๆ ที่มีฝ่ายโฆษณานะ แต่อย่างที่บอกว่าฝ่ายโฆษณาตอนนั้นไม่สนใจที่จะไปหาลูกค้า เจ้านายซึ่งเป็นกรรมการบริการ เขากลายเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบหมด ตอนนั้นเป็นคุณชาติเชื้อ กรรณสูต กับคุณสุรางค์ เปรมปรีดิ์ คุณสุรางค์ก็ดูฝ่ายรายการ คุณชาติเชื้อก็เป็นกรรมการผู้จัดการ เรื่องไหนที่เป็นปัญหาเขาก็ต้องดูไง เรื่องโฆษณา ไอ้หมอนี่มันไม่สนใจลูกค้า แต่ผมสนใจ เลยช่วยเขาดูเรื่องโฆษณาไปด้วย”

ไปเจอลูกค้าในทุกๆ ครั้งใช่ไหม

“ไม่อะ ผมไม่ได้ไปเจอลูกค้า ไม่ได้เป็นฝ่ายโฆษณาอะไรกับเขา ก็อยู่หน้าห้องนั่นแหละ มีแต่ลูกค้าก็มาหาเรา แล้วลูกค้าบางคนด้วยความเป็นเจ้านายเก่า เขาก็ตกใจ “เห้ย ! มึงมาอยู่ที่นี่ได้ไงวะ ตอนนี้กลายเป็นว่ากูต้องมาหามึงแล้ว” เมื่อก่อนผมเป็นลูกน้องเขา แล้วคือบริษัทที่คุณพูดเนี่ย มาวันนี้เขาเกิดอยากได้โฆษณาช่อง 7HD ที่เรียกได้ว่าโฆษณาเริ่มเป็นที่ต้องการแล้ว ลูกค้าไม่มาหาเรา เราก็ต้องไปหามัน คล้ายๆ อย่างนั้น มาแล้วมาเจอผม อ่าว อยู่หน้าห้องกรรมการผู้จัดการ จากผู้ซื้อมาเป็นผู้ขาย แล้วตลาดเริ่มเป็นของผู้ขาย”

การนั่งหน้าห้องของอาหว่องนี่ต้องทำอะไรบ้าง

“บางทีก็ขับรถไปรับเจ้านายมาทำงาน เพราะเมียเอารถเจ้านายไปใช้ บางทีเจ้านายไปเที่ยวต่างจังหวัดก็พาไปด้วย ดูแลลูกเจ้านาย อันนี้คือเจ้านายแบบไทยๆ นะ ก็คือเป็นเจ้านาย 7 วันต่อสัปดาห์ เป็นเจ้านายเกือบจะ 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็โอเค คือเป็นส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง พูดง่ายๆ ว่าเป็นการทำงานรับใช้เขาทุกอย่างที่เขาอยากจะเรียกเรา

จู่ๆ วันหนึ่งมันมีอีกงานที่โผล่เข้ามาหลังจากอยู่ที่นั่นได้ปีสองปี เขาเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธ เขาก็บอกว่าสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธ เขาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ประกวดนางสาวไทย เขาก็เลยบอกว่าไปช่วยเชิญกรรมการเก่าๆ ที่เขาจัดประกวดนางงามมาสิ เราจะจัดประกวดนางงามขึ้นมาใหม่ แล้วทำไปทำมาก็กลายเป็นนางงามจักรวาล เขาก็ไปได้ลิขสิทธิ์มาด้วย ก็คือพอประกวดนางสาวไทยแล้วก็เอาไปส่งประกวดนางงามจักรวาลต่อ เหมือนที่จัดกันทุกวันนี้ ผมก็เลยได้ไปช่วยเขา”

จำได้ว่าช่วงแรกๆ ที่อาหว่องอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ คือการตามติดคุณปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ไปเวทีนางงามจักรวาล

“ใช่ ช่วงนั้นเป็นการไปประกวดนางงามที่สุดยอดที่สุดแล้วในบ้านเรา นางสาวไทยได้เป็นนางงามจักรวาลอะ 23 ปีหลังจากคุณอาภัสรา หงสกุล ได้เป็นนางงามจักรวาลคนแรก เวลาผ่านไปคนมันคิดกันแล้วว่าเมื่อไหร่มันจะได้เป็นอีก จนคุณปุ๋ยได้เป็นนางงามจักรวาล วันนั้นไม่มีโทรทัศน์ช่องไหนไปอยู่ในการประกวดนั้นเลย ที่ไต้หวันอะ

ก่อนหน้านั้นเจ้านายบอกว่าเขาเชิญให้เราไป คล้ายๆ ไปในฐานะที่คุณเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ในการจัดประกวด แล้วก็มันจัดประเทศใกล้ๆ กัน คุณจะไม่มาร่วมกับเราบ้างหรือ เราก็ไป คิดว่าไหนๆ ก็ไปแล้ว ก็ส่งตากล้องไปด้วย มีอะไรก็เก็บภาพมา ไม่ได้มีความหวังอะไรมาก คิดว่าคงเหมือนสองสามรุ่นที่เคยประกวดมาแล้ว ช่วงนั้นเก่งที่สุดก็เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย ใครจะไปคิด คนในเมืองไทยก็ไม่มีใครคิดว่าคุณปุ๋ยจะได้เป็นนางงามจักรวาล พอได้เป็น เผอิญผมในนามช่อง 7HD อยู่ที่นั่นช่องเดียว ก็เลยได้ทำ”

ทำข่าวคุณปุ๋ยเป็นยังไงบ้าง

“แทบจะไม่ได้ทำข่าวเลย คือปุ๋ยเป็นคนกำหนดหมดอะ แรกๆ คุณปุ๋ยนี่ หลบเราตลอดเลยนะ เขาก็ไม่ต้องการเป็นข่าว ตอนนั้นที่อยู่ในระหว่างการประกวด ก็หลบๆ เรา สัมภาษณ์อะไรไม่ได้เลย 2 อาทิตย์ เป็นสไตล์ของเขา

จนกระทั่งเวทีประกาศว่าคุณปุ๋ยเป็นนางงามจักรวาล ผมอยู่หน้าเวทีพอดี แล้วฝรั่งที่เป็น คนที่จัดการในเรื่องการแถลงข่าวก็บอกว่า “คุณเป็นนักข่าวประเทศไทยใช่ไหม นางงามประเทศไทยมาจากประเทศไทย เราให้คุณสัมภาษณ์เป็นคนแรก” ผมก็เลยได้สัมภาษณ์

จังหวะแรกพูดง่ายๆ ว่าตกตะลึง เป็นไปได้ไงวะ ก็ไปยื่นไมค์ ถามตอนที่ปุ๋ยประกวดนางสาวไทย ว่าตอนนั้นคุณปุ๋ยพูดภาษาไทยยังไม่ค่อยจะได้ คุณปุ๋ยคว้าไมค์เฉยเลย แล้วก็พูดภาษาไทยปร๋ออยู่คนเดียว มีเวลาอยู่ไม่มาก นักข่าวไม่รู้กี่สิบคนรอสัมภาษณ์อยู่ ก็คงจะคิดว่าไอ้นักข่าวคนนี้มันเป็นใคร ให้มันไปสัมภาษณ์อยู่คนเดียว คล้ายๆ อย่างนั่น

พอส่งกลับมาเมืองไทยปรากฏว่า โทรทัศน์ตกข่าวกันหมดอะ มันไม่มีใครไป สรุปทุกช่องฉายช้ากว่าช่อง 7 หมด เพราะเขามาขอช่อง 7 ไง พอเขามาขอเทปก็บอกว่ารอเดี๋ยว รอให้ผมออกข่าวก่อน พอเราออกข่าว ปุ๋ยให้สัมภาษณ์มีไมค์ช่อง 7 อยู่ช่องเดียว ก็เรียบร้อยแล้ว พอแล้ว ข่าวหลังจากนั้นราคามันก็ตกหมดแล้ว ตอนนั้นใครอยากจะได้เทปก็แจกไปเลย”

แล้วจุดไหนเป็นจุดที่อาหว่องถึงได้มาทำข่าวต่างประเทศแบบเป็นจริงเป็นจัง

“หลังจากเหตุการณ์คุณปุ๋ย สถานการณ์มันเปลี่ยนไป เข้าใจว่าหลังจากคุณปุ๋ย พรทิพย์ ได้เป็นนางงามจักรวาล การประกวดนางงามมันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับบ้านเรา เข้าใจว่าคนในแวดวงธุรกิจช่วงนั้นหันมาจัดประกวดนางงามกันเยอะแยะไปหมดเลย คนก็หลั่งไหลเข้ามาสู่ธุรกิจประกวดนางงาม ทางช่องเขาก็คิดว่าปล่อยให้พวกนักธุรกิจเขาทำไป ก็เกิดคำถามว่า “แล้วจะให้ผมทำอะไรต่อล่ะ” เขาก็เลยบอกว่า ข่าวโทรทัศน์ตอนนี้ตื่นตัวขึ้นใช่มั้ย กลายเป็นรายการที่โทรทัศน์บอกว่าต้องมี เราต้องทำข่าวโทรทัศน์ให้เป็นเรื่องเป็นราว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการพลิกโฉมวงการจาก ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ที่ทำข่าวถูกใจคนดู จากสถานีโทรทัศน์ที่ไม่เคยสนใจเรื่องข่าวเลย กลายเป็นว่าต้องทำเรื่องข่าวให้เป็นรายการใหญ่ขึ้นมา

จากเดิมมีอยู่ช่วงเดียวคือ 20.00 น. ข่าวในพระราชสำนัก เสร็จแล้วตามด้วยข่าวนายก เสร็จแล้วตามด้วยข่าวผู้บัญชาการทหารบก เพราะเขาเป็นเจ้าของ 2 ช่อง ทั้งช่อง 5 และช่อง 7HD เสร็จแล้วตามด้วยภารกิจของภริยาผู้บัญชาการทหารบก ไม่เคยสนใจเลยว่าคนดูอยากจะดูหรือไม่ ข่าวเมื่อก่อนเป็นอย่างนั้น มันต้องทำ

อย่างข่าวผู้บัญชาการทหารบกเนี่ย บางคนก็เป็นผู้บัญชาการทหารบกที่คิดว่าตัวเองใหญ่ เนื้อหาข่าวใหญ่กว่าข่าวนายกอะ ข่าวนายกอาจจะนาทีสองนาที ข่าวผบ.ทบ. 8 นาที ถ้าคุณจำได้สมัยพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก  8 นาที แกคิดว่าแกทำอะไรก็ต้องเป็นข่าว จะลอยแพ ลอยกระทงรัฐบาลนี้ เขาก็ต้องพูดกันถึงขนาดนั้น ก็โอเค แต่เดี๋ยวนี้มันก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว

เขาเลยให้ผมไปช่วยงานข่าว เรื่องภาษาผมก็พอใช้ได้หน่อย เขาเลยให้ผมเริ่มต้นแปลข่าว แปลไปแปลมาเวลาข่าวก็เพิ่มมากขึ้นๆ มีความหลากหลายมากขึ้น ก็ไปตามสถานการณ์ จากแค่เป็นคนแปลข่าวก็ต้องออกไปทำข่าว แล้วก็มีรายการข่าวย่อยๆ ตามมาอีก พูดง่ายๆ ว่าช่วงนั้นใครอยากทำอะไร มันมีโอกาสทำได้หมด

พอผมทำบทข่าว ผมก็เขียนสคริปต์ให้พวกน้องๆ ผู้หญิง มีบางครั้งเขาไม่อยู่ที่สถานี ทำไงล่ะ ผมเขียนสคริปต์เสร็จแล้ว ข่าวต้องออกแล้ว จะมาเก็บเอาไว้เหมือนกับสินค้าที่บรรจุหีบห่ออยู่ในกระป๋องเป็นเดือนไม่ได้

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของข่าวคือ ต้องเร็ว ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นเวลาคนนั้นคนนี้ไม่อยู่ ผมก็เลยคิดว่า “ถ้างั้นฉันออกไปก่อนละกัน” ตอนแรกเข้าใจว่าก็มีแต่เสียงแหละ จนกระทั่งเจ้านายมาบอกว่า “มึงรู้ไหม กูไปต่างจังหวัดเนี่ย พอเสียงมึงมา ลูกเขานอนหลับอยู่ในมุ้ง ต้องมุดหัวออกมา เพราะว่าสงสัยมีเรื่องใหญ่อีกแล้ว” เราก็บอกว่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน”

คล้ายๆ กับว่า เวลาข่าวของผมมา คนดูก็ไม่ผิดหวัง ต้องได้รู้แน่ว่าเกิดเรื่องใหญ่อะไรขึ้นทำนองนั้น จากนั้นมาก็ได้ดูแลข่าวเพิ่มมากขึ้นๆ แต่ผมออกเฉพาะข่าวเด็ดนะ เป็นข่าวสั้นๆ สองสามนาทีตามสถานการณ์ หรือตารางที่สถานีจัดไว้ให้ หรือว่าถ้ามีเรื่องใหญ่อะไรก็บอกเขาได้ ผมว่าที่ตกกระไดพลอยโจนมาทำรายการนี้ได้คงเพราะผมเป็นคนเขียนข่าวเอง ขั้นตอนต่างๆ มันอยู่ที่ผมหมดแล้ว เวลาถ่ายทำผมไม่ได้ต้องการฉากอะไรเลย นั่งเก้าอี้ที่ทำงานก็อ่านสคริปต์แล้วถ่ายทำ ออกอากาศได้เลย

ผมไม่เคยออกรายการข่าวใหญ่ ข่าวสองทุ่มอะไรแบบนี้ เขาก็มีผู้ประกาศของเขา อย่างคุณจักรพันธุ์ ยมจินดา, คุณศันสนีย์ นาคพงศ์ แม้กระทั่ง ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ก็เคยมาอยู่ช่อง 7 อยู่ช่วงหนึ่ง

ช่วงนั้นมันมี black out นะ โทรทัศน์เมืองไทย ประหยัดพลังงานช่วงเย็นๆ ยาวนาน เป็นสิบๆ ปีเลย รายการข่าวมันจะอยู่ช่วงตอนเย็น 17.00 น. 19.00 น. ก็แล้วแต่ แล้วโอ้โห เหตุการณ์มันเกิดขึ้นตั้งแต่ 8 โมงเช้า 9 โมงเช้า ใครจะมารอถึง 17.00 น. จริงไหม เครื่องบินตกตั้งแต่ 9 โมงเช้าแล้ว คนตายเป็นร้อยแล้ว คุณจะมารอหรือ ไฟไหม้ตั้งแต่เช้า เที่ยงนี่ไฟดับไปแล้ว ยังไม่ออกข่าวเลย รายการข่าวเด็ดเลยเป็นที่ระบายข่าวที่ตามสถานการณ์เกิดขึ้น ต้องการเสนอข่าวที่เร็วที่สุด ให้คนได้รู้ ตอบสนองความต้องการของคนที่อยากจะรู้ว่าเช้านี้เกิดอะไรขึ้น หรือว่าเมื่อสักครู่เกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าคุณไม่ทันดูข่าวเด็ด ไม่เป็นไร เดี๋ยวตอนเย็นก็จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่มันเกิดขึ้นทีหนึ่ง

เมื่อก่อนคุณเคยเห็นโทรทัศน์อยู่ในที่ทำงาน ไม่มีนะ เมื่อก่อนเครื่องรับโทรทัศน์ก็จะอยู่ในบ้าน อย่างเก่งก็มีเครื่องเดียว แต่ทุกวันนี้เป็นไง โทรศัพท์มือถือก็คือโทรทัศน์ ก็เอาโทรทัศน์ถ่ายทอดออกทางมือถือ แสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของคน ความอยากรู้ของคนก็คือก็อยากรู้เดี๋ยวนี้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันถึงมีสตรีมสดไง เพื่อมาตอบสนองธรรมชาติของมนุษย์ เรื่องที่ทุกอย่างต้องได้ดั่งใจเกิดอะไรขึ้น คือต้องเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เฉพาะเด็ก ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ใจร้อนกันมากขึ้น ถ้าคุณใจเย็น ก็รอดูหนังสือพิมพ์ อย่างที่ญี่ปุ่น เวลาเกิดข่าวปุ๊บ หนังสือพิมพ์เขาออกทันทีเลยนะ พิมพ์แผ่นเดียวเลย เกิดเหตุการณ์นายกอาเบะถูกยิงปุ๊บ ครึ่งชั่วโมงกลายเป็นหนังสือพิมพ์แจกฟรีเลย”

ทราบมาว่าอาหว่องมีโอกาสได้ไปวิเคราะห์ข่าวเพิ่มเติมด้วย

“มันก็มาจากประสบการณ์ ทั้งประสบการณ์ในพื้นที่ คุณได้ไปเห็นสถานที่ต่าง ๆ 20 30 ปี ก็รู้หมด ทำเนียบรัฐบาลเป็นยังไง ทำเนียบไวท์เฮาส์เป็นยังไง แคปิตัลฮิลล์เป็นยังไง ทำให้มีความเข้าใจพื้นฐานบางอย่าง มันก็ช่วยให้คุณสามารถที่จะพูดเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ได้ด้วยความเข้าใจมากกว่าคนที่อ่านข่าวแต่ไม่เคยไปที่ไหนเลย มันก็ต่อยอดไป

ผมเลยพูดได้ถึงเบื้องหน้า เบื้องหลังของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เข้าใจว่ามันน่าจะตอบสนองคนได้ว่า อ๋อ มิน่าล่ะ มันถึงเป็นแบบนี้ เพราะคนก็อยากจะรู้ว่า ทำไมถึงเกิดแบบนั้นแบบนี้ล่ะ ในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ไม่รู้จะกี่สิบเรื่องด้วยกัน แล้วมันก็มีคนเยอะแยะไปหมดที่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น อย่างตอนนี้มันเถียงกัน หาร 100 หาร 500 เห็นไหม คนไม่เข้าใจอะไรของมันวะ หาร 500 รู้แต่ห้าคูณร้อย สี่คูณร้อย เราในฐานะของคนที่มีประสบการณ์ก็ควรจะต้องสามารถอธิบายให้เขาได้เข้าใจง่ายๆ หน่อยว่าหมายความว่ายังไง”

วงการนักข่าวในยุคนั้นหาแหล่งข่าวกันยังไง

“สมมติว่าข่าวการเมืองในประเทศ เรายกหูโทรศัพท์คุยกับนักการเมือง ส่วนใหญ่เขาก็อยากจะพูดกับเราอยู่แล้ว เพราะว่านักการเมืองเขาเห็นนักข่าวเป็นเครื่องมือของเขาอย่างหนึ่งที่เขาจะได้เป็นกระแส จริงไหมล่ะ 

สมมติมี ส.ส. 500 คน แล้วคิดว่าทั้ง 500 คนอยากจะเป็นข่าวไหม ส.ส. บางคนไม่ได้เป็นข่าวชาวบ้านถามนะ เราเลือกคุณเป็น ส.ส. ไม่เคยเห็นคุณเป็นข่าวเลย สอบตกได้นะ เพราะฉะนั้นเขาขอให้ได้เป็นข่าวก่อน ดีไม่ดีไม่สนใจ ขนาดเรื่องมีชู้ มีบ้านเล็กบ้านใหญ่ของ ส.ส. มันยังเป็นข่าวเลย เพราะคนดูมันหูผึ่ง โห อะไรวะ ส.ส. สามคนผัวเมีย อยู่ในสภาด้วย เชิดหน้าชูตาเมียน้อย อย่างเงี้ย เรื่องแบบนี้คนก็ยิ่งชอบเลย

ส่วนข่าวต่างประเทศแหล่งข่าวมันเยอะ เขาก็มีทั้งขายข่าวมาให้ หรือแหล่งข่าวที่เป็นสาธารณะ เวลามีข่าวก็เกิดขึ้นก็ต้องเช็ค ถ้าสองแหล่งข่าวมันตรงกันก็ถือว่าเชื่อถือได้ แล้วคุณก็ดูว่าคุณอยากจะรู้แนวไหนของข่าว ถ้าอยากจะรู้แนวลึก คุณก็ต้องไปสื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์ รู้เร็วก็ไปทางสื่อโทรทัศน์ หรือไม่ก็ไปเองเลยถ้าสถานีมีสตางค์ อยากจะไปทำข่าวต่างประเทศ ถ้ามีเรื่องสำคัญก็ไปทำข่าวเองได้เลย เข้าพื้นที่เหมือนกับทำข่าวในประเทศ เวลาไปก็ไปหาแหล่งข่าวในพื้นที่เอา เหมือนกับที่นักข่าวญี่ปุ่นมาหาเราเวลามีข่าวแถวบ้านเรา”

ประสบการณ์การทำข่าวต่างประเทศครั้งไหนที่ชอบที่สุด

“ก็ต้องชอบกรณีของคุณปุ๋ย ภรณ์ทิพย์น่ะสิ วันนั้นคุณรู้ไหม มีแต่ข่าวคุณปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ข่าวเดียวทั้งวัน แต่ว่าโอเค นายกของเราตอนนั้น พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกมาจากการเลือกตั้งแล้ว ข่าวก็เปลี่ยนไปเยอะละ ข่าวนายกไม่จำเป็นจะต้องเป็นข่าวสำคัญที่สุด ข่าว ผบ.ทบ. ก็ไม่ได้เป็นข่าวที่สถานีจะต้องออก ไม่ใช่แล้ว เพราะฉะนั้นข่าวช่วงนั้นก็ออกอากาศไปตามกระแสของคน ขนาดข่าวนายกก็ยังพูดถึงเรื่องนางงามอะ ผมเข้าใจว่าถ้าต้องไปสัมภาษณ์ ผบ.ทบ. เขาก็น่าจะบอกว่า “กองทัพก็พร้อมที่จะให้การต้อนรับนางงามจักรวาลคนใหม่ครับ” ใช่ไหม มันก็เหมือนกันกับทุกวันนี้ อยู่ๆ คุณได้ผู้ว่ากทม.คนใหม่ ผู้ว่าฯ บอกว่าจัดดนตรีในสวน กองทัพก็บอกว่าจะจัดดนตรีในสวนด้วย ผู้ว่าฯ บอกว่าต้องแก้ปัญหาน้ำท่วม กองทัพก็บอกว่าพร้อมที่จะลอกท่อแก้น้ำท่วม ก็แบบเดียวกันเลยกับตอนนั้นอะนะ

ช่วงเวลานั้นคนรักเรื่องนี้ คนก็จะมาฟังข่าว มาดูข่าวกัน วันนั้นคนอยากรู้ว่าปุ๋ย ภรณ์ทิพย์เป็นนางงามจักรวาล เขาพูดอะไร แล้วคนในประเทศไทยว่ายังไงกับคุณปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ อะไรอย่างงี้ มันก็กลายเป็นลูกโซ่ของข่าว ใครๆ ก็พูดแต่เรื่องนางงามจักรวาล (ระหว่างนั้นกองบรรณาธิการของเราก็ไล่หาคลิปข่าวในวันนั้นมาเปิดให้ดู) ใช่ๆ อันนี้ไมค์ของผม เขาคว้าไปพูดปร๋อเลย

ข่าวคุณปุ๋ยนี้ก็คือผมเอาเทปกลับมานะ ประกวดที่ไต้หวันตอน 9 โมงเช้า เวลาของอเมริกา เขาประกวดเวลานั้นเพื่อที่จะเอาไปถ่ายทอดที่อเมริกาตอนช่วง Prime time เพราะเป็นรายการของอเมริกาเขา ก็คืออกอากาศจริงๆ ตอน 3 ทุ่มของบ้านเขา ประกวดเสร็จผมก็นั่งเครื่องบินกลับ จากไต้หวันมาเมืองไทย มาถึงเมืองไทยประมาณเที่ยง ก็หิ้วเทปกลับมา ถ้าเดี๋ยวนี้เป็นไง สบาย คุณก็ส่งผ่านโน้ตบุ๊กของเรียบร้อย ส่งผ่านมือถือก็ได้ใช่ไหม ตอนนั้นเอาข่าวกลับมาที่ไทยเลยเวลาไป 3 ชั่วโมงยังทันสถานการณ์เลย เหตุการณ์เกิดเมื่อ 9 โมงเช้า เที่ยงออกข่าวช่อง 7HD แล้ว บ่ายมาทุกช่องก็ออกหมด วันนั้นทั้งวันก็พูดแต่เรื่องนี้”

การทำงานข่าวในยุคปัจจุบันนี้ แตกต่างยังไงกับยุคอนาล็อกบ้าง

“สะดวกขึ้น เร็วขึ้น และมันไม่จำกัดแล้วว่าต้องเป็นคนที่เรียนมาทางด้านนักข่าว หรือคณะนิเทศศาสตร์ ชาวบ้านทุกคนมีสิทธิ์จะเป็นนักข่าว คุณดูสิ ทุกวันนี้เราต้องพึ่งเขา เขาส่งภาพข่าวมาทางไหนล่ะ TikTok อะเยอะมากเลย จริงบ้างไม่จริงบ้างก็แล้วแต่ อุปกรณ์ในการทำข่าวทุกวันนี้เนี่ยมันสะดวกขึ้นมากๆ

มีกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ ตอนเครื่องบินตกที่สุราษฎร์ธานี แล้วก็มีนักร้องชื่อ เจมส์ เรืองศักดิ์ ที่รอดชีวิตกับผู้โดยสารอีกจำนวนหนึ่ง ปรากฏว่าสถานีโทรทัศน์ที่ไม่มีใครคาดฝันว่าจะทำได้ดีมากก็คือ ช่อง 11 ก็มีคำถามว่าทำไมช่อง 11 ได้ข่าวเรื่องนี้ออกก่อนเพื่อน ภาพดีที่สุด ชัดที่สุด ก็ใช่สิ เครื่องบินมันตกหน้าสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ที่สุราษฎร์ธานี อยู่ใกล้ๆ นั่นแหละ แบบเดียวกันที่คนทั่วไปยุคนี้สามารถที่จะเป็นนักข่าวได้ “โอ้โห พี่ได้ภาพนี้มายังไง” ก็มันเกิดต่อหน้าต่อตา เกิดในบ้านเขา มันเกิดในหมู่บ้านเขา ความหลากหลายของภาพเหตุการณ์ที่ได้ก็แล้วแต่โอกาสว่าเกิดขึ้นกับใคร แล้วโอกาสก็ค่อนข้างจะทัดเทียมกัน เนื่องมาจากอุปกรณ์ดิจิทัล สมัยก่อนมันไม่มีแบบนี้ ทำข่าวทีหนึ่งมันต้องใช้เวลาในการเดินทาง ใช้เวลาในการสื่อสารมากกว่าเดี๋ยวนี้ เพียงแต่ว่าเนื้อหาที่ได้ไม่ต่างกันนะ ข่าวก็เป็นข่าวอย่างนั้น”

ปัจจุบันนี้เราเห็นว่าใครๆ ก็ทำข่าวได้ ในมุมนี้อาหว่องคิดว่าสุดท้ายแล้วมาตรฐานของนักข่าวที่ทุกคนพึงมีคืออะไร

“เอาจริงๆ ทุกคนสามารถเป็นได้ ไม่ว่าใครจะเป็นได้ดีกว่าใคร ทุกคนก็มีสิทธิ์เป็นได้ คุณสามารถถ่ายภาพได้ ส่งได้ สามารถที่จะบอกได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น บอกว่าใครเป็นใครในข่าวได้ คุณก็ทำได้ แต่ว่าถ้าคุณจะเป็นนักข่าวอาชีพที่อยากให้คนเขาให้ความเชื่อถือ อยากให้คนเขาอยากดูคุณ คุณก็ต้องลองดูนักข่าวที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ เช่นคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา, คุณอนุวัต เฟื่องทองแดง หรือใครก็แล้วแต่ที่คนพูดถึง จะเห็นว่าคุณจะต้องแตกต่างจากนักข่าวทั่วๆ ไป

ถ้าถามถึงมาตรฐานที่นักข่าวควรมี อันดับแรกคุณก็ต้องมีจริยธรรม มีจรรยาบรรณของการเป็นนักข่าวที่คนธรรมดาเขาเป็นไม่ได้อย่างคุณ อีกเรื่องคือประเด็นของคำว่าเป็นกลางๆๆ เนี่ย ต้องดูว่าคำว่านักข่าวเป็นกลางคืออะไร มีกรณีตัวอย่าง ข่าวที่แม่ไปขโมยนมจากร้านสะดวกซื้อมาให้ลูก ในแง่หนึ่งคุณต้องเป็นกลาง เสนอข่าว คุณแม่มีความผิด ติดคุกก็แล้วไป แล้วคุณไม่ไปดูล่ะว่าทำไมคุณแม่เขาทำแบบนั้น เหตุผลอะไรที่ทำให้เขาถึงต้องไปขโมยนมให้ลูก ใช่ไหม แล้วเหตุการณ์คือทางฝ่ายเจ้าของร้านบอกว่าจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด จับเข้าคุกเลย แล้วคุณเป็นกลางบอกว่าถูกแล้ว ก็เสนอข่าวไปตามนั้น ในมุนหนึ่งมันอาจจะมีหนทางอื่นบ้างหรือเปล่า

เรื่องนี้อาจจะไม่ชัด อีกเรื่องที่ชัดคือเรื่องระหว่างนายทุน เจ้าของที่ดิน กับคนที่ไปเช่าที่ไล่ที่เขา ข่าวมันเกิดขึ้นแบบนี้ครับ นายทุนไล่ที่ชาวบ้านไป แล้วชาวบ้านจะต่อสู้คดีไหม ในขณะที่ถ้าบอกคุณเป็นกลางคุณก็เสนอแค่นี้ เพราะฉะนั้นต่อไปนายทุนก็ทำแบบนี้ทุกครั้ง มีที่ไหนๆ ก็ไล่ที่ ตำรวจก็เข้าข้างนายทุน ทนายความก็เข้าข้างนายทุน ละคนจนเมื่อไหร่มันจะชนะคดีสักทีล่ะ ใช่ไหม แต่ถ้าหากว่าคุณมีจริยธรรม มีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว คุณจะต้องไปดูว่าคนจน หรือคนที่ไปขโมยนมมาให้ลูกเขาเนี่ย เขามีเหตุผลอะไรถึงทำแบบนั้น แล้วคนจนๆ มันจะไปสู้คนรวยได้ยังไง เงินจะจ้างทนายความก็ไม่มี คุณต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เป็นกลางแบบเถรตรงไปเลยก็เละเทะ ไม่มีทางที่คนจนจะไปสู้คนรวยได้ เพราะนักข่าวบอกว่าต้องเป็นกลาง สุดท้ายชีวิตจริงมันจะมีคนเหนือกว่าเขาหนึ่งระดับเสมอ

อีกอย่างก็เรื่องความสม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าทำข่าวสองวัน อีกสามวันป่วยไม่ทำงาน มาบ้างไม่มาบ้าง ตรรกะไม่นิ่ง ไม่อยู่กับร่องกับรอย ​ทุกด้านมันต้องมีมาตรฐาน ที่จะต้องเหนือกว่า มากกว่าคนธรรมดาทั่วไป”

ทุกวันนี้คนมักบอกว่าสื่อเน้นขายดราม่า แต่ไม่เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน ในเรื่องนี้อาหว่องมีมุมมองยังไงบ้าง

“เอาจริงๆ เขาก็อยากจะเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนนะ แต่ทางด้านการเมืองมันอำนาจครอบงำสื่อมวลชนบบางอย่างอยู่ตลอดเวลา ผมเข้าใจว่าเขาก็ทำทุกวิถีทาง อาจจะอ้างเรื่องเชื้อโรคก็แล้วแต่ เพื่อครอบงำด้วยวิธีต่างๆ กีดกันไม่ให้คุณเข้าพื้นที่บ้างล่ะ แล้วให้ทำไงอะ เวลาต้องนำเสนอข่าว เขาก็ส่งเนื้อหาข่าวมาให้คุณแล้วก็เอาไปพิจารณาออกกันเอง ส่งมาให้แล้วไม่เอาออกมีเรื่องด้วยนะ

อย่างกรณีของผมเนี่ย โฆษกของรัฐบาลแถลงข่าว เสร็จแล้วนายกก็แถลงอีก รัฐมนตรีแถลงอีก เรื่องเดียวกันสามคนแถลงพร้อมกัน แล้วสถานีโทรทัศน์จะเสนอใคร เป็นคุณจะเสนอใคร หนึ่ง คุณก็ต้องเอาคนพูดเบอร์หนึ่งมาออกก่อนถูกไหม จนวันหนึ่งมีโทรศัพท์มา “นี่โฆษกรัฐบาลนะคะ ทำไมดิฉันแถลงข่าวแล้วถึงไม่ได้ออกคะ” เห็นไหม “แล้วต่อไปนี้อย่ามาขอความร่วมมือจากดิฉันนะคะ” กลายเป็นเขามากีดกันเราเพิ่ม อีกหน่อยจะขอเอารถเข้าทำเนียบรัฐบาลแต่ต้องผ่านโฆษกเป็นคนอนุมัติ ลำบากอีกนะ รัฐมนตรีก็เหมือนกัน “อ่าวผมแถลงข่าวเรื่องนี้ทำไมไม่ออกครับ” นี่มันเกิดขึ้นจริงๆ ในที่สุดบางทีก็ให้นายกไปออกข่าวช่วงที่มีคนดูเยอะที่สุดละกัน โฆษกก็เอาข่าวตอนเช้าละกัน แบ่งๆ กันไป

ทุกวันนี้สถานีโทรทัศน์ก็ประคับประคองเพื่อความอยู่รอดของตนเอง และเพื่อความสมดุลของคนที่มีอำนาจเขา ไม่ใช่เฉพาะทางข่าวโทรทัศน์เท่านั้น แม้กระทั่งคนสร้างภาพยนตร์ เคยได้ยินไหม ผมจะสร้างหนังล้อเลียนนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ไม่ผ่านเซนเซอร์ ต้องเอาไปให้เซนเซอร์ตรวจภาพยนตร์ก่อนฉาย ล้อเลียนนายกรัฐมนตรีไม่ได้ อ่าว ประเทศอื่นเขาล้อเลียนไม่เห็นว่าอะไรเลย แต่ก็นั่นแหละ อันนั้นประเทศอื่น ประเทศนี้ทำภาพยนตร์ล้อเลียนนายกรัฐมนตรีไม่ได้ แล้วคุณจะมีเสรีภาพได้ไง ล้อเลียนไม่ได้ เป็นเทวดามาจากไหนล้อเลียนไม่ได้ เรื่องในข่าว ในละครมันเลยกลายเป็นเรื่องพวกนี้ เรื่องชิงรักหักสวาท วนเวียนอยู่อย่างนี้”

ถ้ามองว่าข่าวคือเสนอความจริง แต่ความจริงที่จะเสนอถูกเซนเซอร์ด้วยอะไรบางอย่าง แล้วแบบนี้ความจริงที่เราเสนอยังคงเป็นความจริงอยู่อีกหรือเปล่า

“การเซนเซอร์นี่เกิดขึ้นทุกวัน ข่าวจากทำเนียบรัฐบาลนี่ก็เซนเซอร์ บางทีการจะเสนอข่าวก็มีโทรศัพท์มาให้เซนเซอร์ ถ้าคุณไม่ยอมให้ปิดคุณก็เสนอไป ส่วนจะเกิดอะไรขึ้นก็ลองดู คนที่เขาอยากจะวางอำนาจ อยากจะคุมสื่อมวลชนมีอยู่ตลอดเวลา บางทีมันก็ต้องเสนอเท่าที่จะทำได้

มันมีอยู่ข่าวนึง นักข่าวของเราไปทำข่าวนักประดิษฐ์เขาทำเครื่องร่อน เขาบอกว่าจะโชว์ให้นักข่าวดู นักข่าวก็ไปทำข่าว มันก็บินขึ้น สักพักเครื่องมันเกิดตก นักประดิษฐ์ตาย นักข่าวคนนั้นบอกว่า “หนูไม่ให้ออกข่าวค่ะ เพราะหนูรู้สึกผิดที่ไปทำข่าวเขา” คล้ายๆ ว่าเขามีส่วนทำให้นักประดิษฐ์ตาย ถ้าเขาไม่โชว์เรา เขาก็อาจจะไม่ตาย แต่ในแง่ของสถานีโทรทัศน์ ในแง่ของกองบรรณาธิการเขาบอกว่า “อันนี้มันเป็นข่าว หนูจะมาอ้างว่าหนูเป็นเจ้าของข่าวนี้ แล้วบอกว่าไม่ให้ออกเนี่ย มันคงไม่ได้นะ” ในที่สุดแล้วก็ออกข่าวนะ แต่ในทีนี้เราก็เล่าสถานการณ์ด้วยความเห็นใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

บางทีเราคิดจะนำเสนอ ไม่นำเสนอ ด้วยมุมมองส่วนตัวของเราเนี่ย มันก็อาจจะคิดแบบนั้นไม่ได้ทั้งหมด มันยังมีกอง บ.ก. ที่เขาก็ช่วยคิดกันว่าอันไหนมันควรจะออก ออกได้ขนาดไหน มันไม่ใช่ว่าได้มาแล้วก็สามารถออกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้เข้มงวดกว่าเมื่อก่อนเยอะ อย่าง กสทช. ก็บอกว่าภาพข่าวที่มีเด็กก็ออกไม่ได้ เป็นการคุ้มครองเด็ก ผมถามว่าอย่างภาพเด็กที่ประสบภัยพิบัติ หิวโหย ไม่มีอะไรจะกิน ไม่มีเสื้อผ้า ไม่มีที่อยู่อาศัย แบบนี้ภาพข่าวที่มีเด็กทั้งนั้นเลย แล้วคุณบอกว่าภาพเด็กออกไม่ได้ ถ้าออกก็ต้องเบลอ ไม่ให้เห็นความชัดเจน ถ้าไม่เห็นความชัดเจนแล้วคุณจะสื่อสารได้ยังไงว่าเด็กเขายากลำบากขนาดไหน เด็กเขาหิวขนาดไหน เด็กเขาร้องไห้ แล้วไปเบลอหมด แล้วคนที่ดูจะรู้สึกเห็นใจเด็กเหล่านี้ไหม เขาจะช่วยเด็กพวกนี้ไหม ใครจะช่วยเด็กพวกนี้ ในเมื่อคนก็คิดว่าไม่เห็นมันเป็นอะไรเลย เพราะมันภาพที่เห็นมันเบลอหมดแล้วเพราะคำสั่งของพวกคุณ มันก็ดาบสองคม แต่ถ้าคุณบอกว่าเด็กคนนี้ถูกล่วงละเมิด ไปทำไม่ดีกับเด็กเขา อันนี้คุ้มครองเด็กได้เลย ปิดหน้าปิดตาได้ ประเด็นแบบนี้ต้องถามคนที่ออกกฎว่ามันคิดหรือเปล่า เป็นลูกตัวเองบ้างจะเป็นยังไง”

จากประวัติอาหว่องในเว็บไซต์ของช่อง 7HD ระบุเป็นอาจารย์พิเศษสอนเขียนข่าวด้วย ในคลาสของอาหว่องสอนอะไรให้กับนักศึกษาบ้าง

“ส่วนใหญ่ก็สอนจากประสบการณ์ แล้วก็ดูหลักการจากพวกตำราฝรั่งว่าเขามีหลักการอะไรบ้าง เรื่องนักข่าวต้องเป็นกลางจากตำราฝรั่งเนี่ย ฝรั่งก็สอนเลยว่า คุณเป็นกลางได้ แต่คุณจะต้องอยู่ข้างคนที่เสียเปรียบ

สมมติง่ายๆ ผู้ชายกับผู้หญิงทะเลาะกัน คุณจะไปอยู่ข้างผู้ชายก็บรรลัย ผู้หญิงไม่มีทางจะชนะหรอก คุณต้องอยู่ข้างผู้หญิง เป็นกลางก็จริงแต่ว่าจะต้องเอียงมาข้างผู้หญิง หรือผู้ใหญ่กับเด็กทะเลาะกัน คุณจะไปอยู่ข้างผู้ใหญ่ได้ยังไง อันนั้นเป็นกลางไม่ได้ คุณจะต้องเอียงมาทางข้าง ช่วยเหลือเด็กเขา อันนี้คือตำราฝรั่ง อีกมุมอย่างที่บอกผมก็เอาประสบการณ์ที่ผมได้ไปเจอมาจากการทำข่าวมาผสม แล้วให้เขาพยายามเขียนข่าวขึ้นมา เพราะฝรั่งมันสอนตั้งแต่วันแรกเลย เวลาคุณไปเรียนสื่อสารมวลชน เรียนนักข่าวโทรทัศน์ วันแรกมันจะให้เราเขียนสคริปต์เลย หัดพูดตั้งแต่วันแรก รายงานข่าวตั้งแต่วันแรก จนกระทั่ง 4 ปีจบมา ไปเป็นนักข่าวได้เลย ของเราไม่รู้ตอนนี้มีหรือเปล่านะ ผมสอนเองก็ยังไม่สามารถจะทำได้ขนาดนั้น แต่ว่าสมัยผมไม่มี มีแต่เรื่องจะประดิษฐ์รายการเกมโชว์ รายการวาไรตี้ออกโทรทัศน์ ส่วนใหญ่ก็จะไปอยู่ในฝ่ายรายการของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ มากกว่าฝ่ายข่าว หลังๆ มาก็คงจะดีขึ้นบ้างแล้ว”

การทำงานข่าวสอนให้อาหว่องเป็นคนแบบไหน

“สอนให้เห็นอนิจจัง เหมือนกับคำพระท่านว่า มันไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ถ้าพูดถึงการเมืองก็คือวันนี้ตาของคุณ คุณเป็นใหญ่ คุณอาจคิดว่าคุณจะได้ใหญ่ตลอด วันนี้คุณโด่งดังเป็นนางงามจักรวาล มีแต่คนเอาอกเอาใจคุณ สักวันหนึ่งวันที่คุณไม่มีมงกุฏ คุณอาจจะกลายเป็นอีกคนไปเลยก็ได้

ช่วงที่ผมยังจัดประกวดนางงาม ผมพานางงามไปออกงานต่างจังหวัด พาเขากลับบ้านบ้าง เชื่อไหม คนมาหาเยอะแยะไปหมดเลยนะ เพราะเขารู้ว่าคนบ้านเขาเป็นนางงาม เป็นนางสาวไทย แต่พอเขาลงรถแบบไม่ใส่มงกุฏนะ ยังไม่ได้เข้าพิธีการเต็มตัว เลยยังไม่เอามงกุฏมาใส่ คนเฉยๆ ไปเลย เฮ้ย อะไรวะ นี่นางงามนะ นางสาวไทยที่พวกคุณมารอรับ แต่พอเอามงกุฏมาใส่ โอ้โหคนรุมตอมอย่างกับมดเลย ตกลงคนมาเพราะมงกุฏนะ ไม่ได้มาเพราะตัวคุณ พอไม่เห็นมงกุฏบางทีคนไม่รู้จักว่าคุณเป็นใคร

มันก็เหมือนหัวโขนทุกวันนี้ คุณไม่ได้เป็นนายก ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี หรือถ้าเป็นรัฐมนตรีก็โอเค เพราะคุณเป็นไง สักวันหนึ่งถอดหัวโขน ถอดมงกุฏออกแล้วคุณจะรู้ ขนาดคนรู้จักคุณดีๆ นะ ไม่มีมงกุฏก็ดูเฉยๆ เลย หรืออาจจะเป็นเพราะว่าไม่มีมงกุฏ ไม่อยากจะสนใจ ไม่อยากจะเซลฟี่ด้วย อันนี้คือเรื่องจริงนะ ผมงงเลย อะไรวะ”

ถ้าให้สรุปชีวิตการทำงานข่าวตลอด 40 ปี เป็นบทเรียนได้ 1 ข้อ การทำงานข่าวของ หว่อง-พิสิทธิ์ กิรติการกุล สอนให้รู้ว่า…

ถ้ามีอาชีพอื่นก็ไปทำอาชีพอื่น

“(หัวเราะกันทั้งวงสัมภาษณ์) เพราะตอนนี้อาชีพข่าวเนี่ย มันไม่ได้ผูกขาดอีกต่อไปแล้ว ต่อไปก็จะยิ่งกว่านี้ อาชีพนักข่าวจะกลายเป็นอาชีพที่เปิดกว้าง แต่สุดท้ายมันก็ต้องกลับมาที่เดิม ว่าหากคุณอยากจะทำจริงๆ เนี่ย คุณก็ต้องตั้งใจทำให้มันดีเลย ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าพอเป็นนักข่าวโทรทัศน์แล้วก็คิดว่าออกโทรทัศน์ไปปีสองปีแล้วจะต้องโด่งดัง บางคนทำไปเป็นสิบๆ ปี ไม่โด่งดัง ไม่ติดหูติดตาคนดูเลยก็มีเยอะแยะ อาจเป็นเรื่องของบุคลิกตัวคุณเอง หรืออาจเป็นเรื่องว่าทำงานมาสิบปี ไม่เคยทำข่าวใหญ่เลย บางคนไปทำข่าวไม่กี่เดือนไม่กี่ปีมีแต่โอกาสได้ไปทำข่าวใหญ่ๆ ข่าวก็เลยช่วยให้คนทำมีชื่อเสียงไปด้วย ที่สำคัญกว่าก็คือว่า ทำไปเถอะ ถ้าอยากจะทำอาชีพนี้จริงๆ ก็ทำไป สักวันหนึ่งมันคงจะประสบความสำเร็จ แต่ยังไงเสียอาชีพนี้ก็ยังเป็นอาชีพที่หากินได้ดี ไม่ต้องห่วงเลยเรื่องของข่าว ตราบใดที่โลกนี้ ประเทศนี้มันยังมีคน เรื่องพวกนี้มันหนีไม่พ้น คนก็ต้องสนใจเรื่องของคนวันยังค่ำ”


ถ่ายภาพโดย ธเนศ แสงทองศรีกมล