fbpx

**บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ The Modernist เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565**

หากจะพูดถึงในก่อนยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก หลายคนคงอยากทำอาชีพที่เป็นที่สนใจของสังคม และสร้างฐานะทางการเงินที่ดีได้ ซึ่งในยุคนั้นคงมีไม่กี่อาชีพ หนึ่งในนั้นคือสถาปนิก เพื่อที่จะรองรับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เฟื่องฟูในยุคนั้น จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 สถาปนิกเป็นหนึ่งอาชีพที่ตกงานกันเป็นจำนวนมาก และแน่นอนว่าบัณฑิตจบใหม่ก็แทบจะไม่มีงานเลยก็ว่าได้ ทุกคนต้องมาตายเอาดาบหน้าหางานอื่นๆ ที่ไม่ได้เรียนจบตามสาย

นุ้ย – จารุพร กำธรนพคุณ บัณฑิตจบใหม่จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องดิ้นรนหางานในช่วงเวลานั้น และได้งานที่ทีวีธันเดอร์ ในฐานะฝ่ายประสานงานรายการ โดยในตอนนั้นเธอกะว่าจะทำงานแค่สักพักเพื่อสานฝันสถาปนิกต่อไป แต่ไม่น่าเชื่อว่าเธอจะทำงานจนปัจจุบันก้าวสู่ตำแหน่ง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการผลิตของทีวีธันเดอร์

จากวันนั้นที่ใฝ่ฝันเป็นสถาปนิก จนวันนี้ที่เธอเป็นสถาปนิกรายการโทรทัศน์ เธอเรียนรู้อะไรจากการทำงานสายโทรทัศน์ที่เธอไม่ได้ตั้งใจจะทำ แต่กลับประสบความสำเร็จเกินคาด และแต่ละรายการที่เธอทำมันส่งผลอะไรจนการมาเป็นหัวหอกในการทำซีรีส์ของบริษัทแห่งนี้บ้าง

สถาปนิกจุฬาที่ไม่ได้อยากทำรายการทีวี

“ทีวีธันเดอร์อยู่มา 30 ปี พี่อยู่มา 24 ปี เป็นที่ทำงานที่แรก พี่จบสถาปัตย์จุฬาฯ และก็จบในปีที่ฟองสบู่แตกประมาณปี 2540 ก่อนหน้านั้นงานสถาปนิกความหวังเรืองรอง ทุกอย่างดูเฟื่องฟู แต่พอเรียนจบมา สถาปนิกตอนนั้นแทบจะตกงานกันหมด ที่ไหนรับสมัครงานเราก็ไปทำงาน ทีนี้ทีวีธันเดอร์รับสมัครงานเราก็มาทำ โดยกะว่าทำแปปเดียวแล้วจะไปเรียนต่อ ทำสถาปนิกเหมือนเดิม แล้วตอนที่เรียนคือจะบอกว่ามีละครสถาปัตย์ก็จริง แต่เราไม่ได้สนใจเลย ไปช่วยแบบไปช่วย ไม่ได้มีความคิดเหมือนเด็กสถาปัตย์กลุ่มใหญ่ ๆ ที่ออกมาแล้วเข้าวงการเลย ไม่มีความคิดนั้นเลย คิดว่ายังไงก็เป็นสถาปนิก”

“ช่วงแรกเราได้ทำตำแหน่งประสานงาน จำได้ว่าตอนนั้นพอเศรษฐกิจไม่ดี เงินโฆษณามันก็น้อย มันเป็นยุคของคนที่ทำ Road Show พวกอีเว้นท์ ใช้เงินน้อยหน่อยแล้วก็ลงพื้นที่ และก็ทำคอนเสิร์ตให้รายการมาสเตอร์คีย์ ชื่อ ‘มาสเตอร์คีย์ตะลุยทั่วไทยกับไลปอนเอฟ’ แต่ว่ามันกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้เราได้มาลงพื้นที่ ได้เห็นจริง ๆ ว่าคนไทยเสพอะไร ซึ่งสนุกมาก ตอนนั้นพี่จำได้ว่าพี่ติดต่อคณะตลกจิ้มชวนชื่น เอาวงดนตรีไปโชว์ มีรถแห่ไปเพื่อบอกชาวบ้านว่าวันนี้มีอะไร ที่ไหน ยังไง เอาป๋าเทพ – สุเทพ โพธิ์งาม, จ๋า – ญาสุมินทร์ เลิศอมรวัฒนา และ นีโน่ – เมทนี บุรณศิริไปด้วย ทำอยู่ 1 – 2 ปีถึงได้มาทำรายการทีวี

“มาทำงานวันแรก ๆ ยังเขินเลย เจอเพื่อนยังไม่กล้าบอกเลยว่าเราทำอะไร เพราะอยากเป็นสถาปนิกไง แต่ว่าจุดเปลี่ยนจริง ๆ คือการที่ได้มาทำรายการ ‘สะบัดช่อ’ ซึ่งรายการนี้มันรันอยู่ 10 ปี และมันเป็นรายการในบริษัทมันที่มีความ Underdog (แตกต่างกว่าที่เป็นอยู่) สมัยนั้นเรามีรายการ โอโน่โชว์ อยู่ ละครอยู่ช่อง 3 ก็เยอะ แต่สะบัดช่อมันเป็นรายการ 5 ทุ่ม สตาร์ทที่ 5 ทุ่มช่อง 7 และก็เปลี่ยนมาทุกช่อง อยู่ช่อง 5 อยู่iTV แต่ความสนุกของมันก็คือมันเป็นรายการสัมภาษณ์ เป็นรายการทอล์คโชว์ ถ้าถามว่าการพัฒนามาทำซีรีส์ มามองคอนเทนต์ได้ยังไง มันมาจากการที่คุยมาเยอะนั่นแหละ”

“จริงๆ สถาปนิกมันเริ่มสร้างงานจากศูนย์นะ เริ่มงานจาก Requirement เพราะฉะนั้นสถาปนิกต้องไปนั่งและถามว่าคุณว่าเป็นคนยังไง ปกติใช้ชีวิตยังไง กลับบ้านกี่โมง สถาปนิกต้องใช้เวลาในการนั่งคุยกับเจ้าของบ้านและผู้ใช้บ้านทุกคนอย่างละเอียด จึงจะมาสรุปเป็น Requirement งานโทรทัศน์มันก็เริ่มต้นจากศูนย์ ถ้าจะให้เป็นคำตอบว่าทำไมเด็กสถาปัตย์เข้าวงการเยอะ ก็คงเป็นความใกล้เคียงกันในการทำงาน เริ่มต้นจากศูนย์ สรุปความต้องการของทุกอย่างมาเป็นโจทย์ สร้างโจทย์ให้ตัวเอง และก็ต้องออกแบบคอนเทนต์ให้ตรงใจกับผู้เสพ ความต้องการของเจ้าของแพลตฟอร์มที่จ่ายเงิน ความต้องการงานโฆษณา กระทั่งความต้องการของดาราที่อยากเล่นแบบไหน ทุกอย่างเลย”

สะบัดช่อ จุดเปลี่ยนของสถาปนิกรายการโทรทัศน์

“สะบัดช่อมันไม่ใช่รายการสูตรสำเร็จที่ทีวีธันเดอร์ทำ มันก็เป็นรายการ 5 ทุ่ม ของที่เราขายได้ดีมันก็อยู่ในอย่างอื่น ก็เป็นธรรมดาที่ฝ่ายขายจะไปโฟกัสในของที่ขายได้ดี แต่โชคดีของเราที่ทำให้เราได้ Explore คือช่วงที่เราทำขึ้นมาชื่อ Night Life ความสนุกก็คือ เราสัมภาษณ์หมอนวดได้ ไปสัมภาษณ์เจ้าของเขียงหมูว่าหมูกว่าจะมาถึงตลาดตอนเช้า กลางคืนเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องไปเจอมาเฟียเขียงหมู ที่เข้าไปสัมภาษณ์แล้วเฮียเขามีลูกน้องเต็มเลย ไปสัมภาษณ์คนหูหนวกตรงสีลมที่เขาขายของ ที่เราสงสัยว่าทำไมมันเอะอะมะเทิ่งจัง คนนึงอยู่ฝั่ง McDonald’s อีกคนอยู่อีกฝั่ง ทำไมเขาคุยกันรู้เรื่อง มันทำให้เราอยากทำอะไรก็ได้ทำ”

“พี่อยากสัมภาษณ์พรศักดิ์ ส่องแสง พี่ก็ได้สัมภาษณ์ มันทำให้ทั้งเรื่องศิลปะ เรื่องวัฒนธรรม มันผสมกัน พี่อยากให้มันมีช่วงของเสียงดนตรี พี่ก็ทำช่วงสะบัดช่อขอร้องขึ้นมาเลย และก็เอาวงดนตรีลูกทุ่ง เอาเพลงของครูเพลงต่าง ๆ มา ซึ่งพี่ไม่ได้เกิดมาในวัฒนธรรมแบบนี้ แต่เราเรียนรู้ได้ใหม่ เราได้รู้ว่าพี่ศรีหนุ่ม เชิญยิ้ม (บุญธรรม ฮวดกระโทก) ร้องเพลงครูชลธี ธารทองเพราะมาก มันก็เลยสนุก ซึ่งพี่คิดว่ามันสำคัญมากสำหรับการทำคอนเทนต์แบบนี้ ที่รู้เยอะและทำผสม มันจะรู้ว่าคนชอบอะไรเสพอะไร”

ถ้ารู้จักฟัง จะรู้จักการต่อยอดเนื้อหา

“สำหรับพี่รายการทอล์คโชว์มันคือการคุยกับคนร้อยพ่อพันแม่ คุยกับดาราตั้งแต่เบอร์หนึ่ง คุยกับคนที่ผ่านชีวิตมาเยอะ รุ่นใหญ่รุ่นใหม่ พี่ว่ามันสั่งสม สมัยก่อนการทำรายการทอล์คโชว์ในเมืองไทยถ้าเทียบกับฝรั่ง โฮสต์จะเป็นคนทำสคริปต์เอง แทบจะต้องทำสคริปต์เอง คนที่เป็นโฮสต์มันจะต้องอิน และก็มันยากนะทำสคริปต์ทอล์คโชว์ ไม่งั้นมันก็จะได้สคริปต์คำถาม ‘ทราบมาว่า’ เราก็จะต้องจูนพิธีกร คือ พี่โอ – วรุฒ วรธรรม และก็มีอีกคนนึงคือพี่โจม – ศุกล ศศิจุลกะ เราต้องจูนเขา เราต้องสัมภาษณ์เขาแล้วให้เขาหายใจจังหวะเดียวกับเรา เพราะฉะนั้นมันเหมือนเราอยากจะสัมภาษณ์เอง เขาต้องเข้าใจเรา ถามเรื่องนี้จะนำไปสู่เรื่องไหน แต่การทำทอล์คโชว์มันต้องผสมความเป็นตัวเขา แต่เราต้องทำให้เขาเข้าใจ เพราะฉะนั้นความสนุกของพี่คือตอนที่พี่โอ ‘เอ๊ะ ๆ ผมถามหน่อย’ คือเขาหายใจจังหวะเดียวกับเรา เขารู้สคริปต์แล้ว แต่เขาต้องลากมันไปให้ได้ เพราะฉะนั้น 10 ปีของสะบัดช่อมันทำให้พี่ได้ทำคอนเทนต์ทุกอย่าง อยากทำเรื่องวงดนตรีลูกทุ่ง อยากทำหมอลำ มันทำได้หมดเลย”

“แล้วพอมาเป็นการทำซีรีส์ ทำหนัง ทำละคร มันเป็นการสร้างงานที่ใกล้เคียงกับความเป็นมนุษย์ที่สุด มะเดี่ยว – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ชอบพูดว่ามันมี Fiction Truth อยู่นะ บางทีมันเป็นความจริงในโลกของหนัง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีความจริงอยู่ บางทีพี่ก็คุยกับคนเขียนบทที่อายุน้อย ๆ พี่ถามว่า ‘หนูเขียนเรื่องการทะเลาะกันในออฟฟิศ หนูเคยทำงานออฟฟิศเหรอ’ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาเขียนมันจึงเป็นภาษาที่เขาได้ยินมา พี่เลยบอกว่าไม่ใช่นะ มันเหมือนเราผ่านมาจนเรารู้แล้วว่าแบบตัวละครที่มันเป็นมนุษย์มันพูดกันแบบไหน พี่ทำทีวีเราก็ทำเพื่อให้คนดูได้ดูจริง ๆ มันก็เหมือนกัน มันก็เจอมนุษย์ ทำซีรีส์ก็ทำให้เขาดูแบบเดียวกัน แต่ที่ต่างก็คือทีวีมันมาแล้วก็ไป แต่ซีรีส์มันจะอยู่แบบนั้น ช่วงหลังมันจะมีการ Capture ต่าง ๆ เราก็ต้องละเมียดขึ้น”

และถ้ารู้จักการต่อยอด ก็จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

“ช่วงที่เราทำรายการสะบัดช่อ เราก็อยากทำช่วงอาหารสตรีทฟู้ด อยากกินของกลางคืนแบบง่าย ๆ พี่โอเป็นคนกินของอร่อย เขาก็มาเล่าให้ฟังว่าที่นี่มันมีนะหนูอร่อยมาก เราก็ ‘เฮ้ย ทำสะบัดช่อชวนชิมอิ่มอร่อยก่อนนอน’ และมันก็ประสบความสำเร็จมาก เราก็เริ่มทำแมกกาซีน ทำหนังสือรีวิว ตอนนั้นมันยังไม่มีวัฒนธรรมการรีวิว และมันขายดีมาก พี่จำได้ว่าเริ่มแรกขายได้ 20,000 เล่ม ขายดีมากนะ เราทำอยู่ 4 – 5 เล่ม หลังจากนั้นเราก็คิดว่าจะ Explore แฟนรายการเยอะ แฟนแมกกาซีน แฟนพ็อกเก็ตบุ๊กมีแล้ว เราก็ไปทำที่พารากอน ของอร่อยจากรายการขายดีมาก พี่ว่านี่แหละความสนุก เลยไม่ได้ไปเป็นสถาปนิกไง”

สะบัดช่อ ทำให้ไม่กลัวการทำงาน แต่ Dance Dance Dance Thailand ทำให้เรียนรู้การทำงาน

“ถ้าถามว่ารักเพราะว่ามันสร้างเรามาก็คงต้องบอกว่าสะบัดช่อ ฝึกให้เป็นคนไม่กลัวการเป็น Underdog และเราก็รู้ว่าสิ่งที่มันให้เราคืออะไร ทีมงานทุกคนที่ทำสะบัดช่อมาด้วยกันที่ออกไปกันแล้ว ทุกคนยังพูดอยู่เลยว่ามันเป็นวิชาที่สำคัญมาก เพราะว่ามันฝึกการทำสคริปต์ ฝึกการไม่กลัวคน ฝึกการไปสัมภาษณ์ แต่ถ้าในมิติที่ทำให้เราได้เรียนรู้มากก็เป็นรายการ Dance Dance Dance Thailand เราไปซื้อลิขสิทธิ์มาทำ ซึ่งมันเป็นรายการที่ใช้ AR (Augmented Reality) และมันก็เป็นรายการใหญ่มาก มาก่อนกาล แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในแง่ภาพใหญ่ แต่ว่ารายการนี้มันก็สร้างทีมพี่ขึ้นมา เพราะมันเป็นงานยาก งานลำบาก การต้องดีลดาราให้เขามาซ้อมเต้นกับเราหนัก ๆ ซึ่งมันยากนะ เอาไอซ์ – ปรีชญา พงษ์ธนานิกรฮั่น – อิสริยะ ภัทรมานพ, เชียร – ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์ ซึ่งเขาเป็นเบอร์หนึ่งในตอนนั้น แล้วมาดีลกันว่าต้องซ้อมเต้นจนกว่าจะเต้นได้ ต้องออกโชว์ทุกวัน ทำกับเทคโนโลยีที่เป็น AR ที่เราเอาทีมมาจากเนเธอร์แลนด์และเยอรมันมาทำ ตอนนั้น AR มันยังไม่เข้ามามาก ทุกคนก็ยอม เพราะงั้น Dance Dance Dance Thailand ก็ถือว่าเป็นรายการลูกรักนะ”

ถึงเก๋าแต่ต้องใหม่เสมอ

“ใน 30 ปีที่ผ่านมา ทีวีธันเดอร์สร้างคอนเทนต์อยู่กับคนไทยมาโดยตลอด ถ้าคนที่คุ้นทีวีธันเดอร์ในรุ่นที่ผู้ใหญ่กว่านี้ก็คงจะคุ้นรายการมาสเตอร์คีย์ ถัดมาหน่อยและเริ่มมหาชนก็เป็นรายการ Take Me Out ซึ่งอยู่มาประมาณ 10 ปีแล้ว ถ้าเป็นเด็กวัยรุ่นอาจจะไม่ได้คุ้นทั้งสองรายการนั้น แต่จะไปคุ้นในซีรีส์ Boys love ที่เราทำตั้งแต่ปี 2015 – 2016 แม็กซ์ – ตุลย์ (แม็กซ์ ณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์ และ ตุลย์ ภากร ธนศรีวนิชชัย) หรือถ้าแฟนละครก็จะไปคุ้น หลวงตามหาชน, หมู่ 7 เด็ดสะระตี่ แล้วก็จะมีละคร ทางผ่านกามเทพ, สะใภ้กาฝาก, ผู้กองยอดรัก

“มันก็จะเห็นได้ว่า 30 ปีที่ผ่านมา ทีวีธันเดอร์อยู่ในทุกการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการชม และสิ่งเราพยายามจะทำก็คือ เราพยายามหาของที่มันเปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของคนดู ในวันที่เราทำมาสเตอร์คีย์ หน้าที่เราก็คือทำให้เวลาเช้ามันเป็นเวลา Prime Time ขึ้นมา สมัยนั้นถ้าเราจำกันได้ข่าวเช้าก็ไม่มี คนไม่ดูทีวีตอนเช้า มาเปิดทีวีอีกทีตอนสามสี่โมงเย็น หรือแม้กระทั่งเราทำรายการ Take Me Out ในวันแรกที่ทำคนก็แบบ ‘รายการอะไรวะ’ เอาผู้หญิง 30 คนมายืนโพเดียมและเลือกผู้ชาย มันดูผิดขนบมากเลย และทุกคนก็กลัวมากว่ามันจะได้เหรอ คนดูจะรับได้เหรอ แต่ไม่น่าเชื่อว่ามันทำได้และอยู่มาถึงตอนนี้ ตอนนี้คนเขาบอกกันว่า Take Me Out มันเหมือนหนังสือคู่สร้างคู่สมประจำร้านเสริมสวย ตอนที่ทำ Take Me Out เราทำวิจัยว่าถ้าคอนเทนต์แบบนี้พิธีกรควรเป็นใคร ถ้าคอนเทนต์แบบนี้คนจะอยากดูไหม แล้วมันก็ประสบความสำเร็จและอยู่นานด้วย พี่ว่านี่แหละสิ่งที่เราทำ คนดูมันเปลี่ยนไปจริง ๆ นะ แฟนคลับ Take Me Out ตอนนี้เป็นผู้ใหญ่หมดเลย กลับกลายเป็นว่าถ้าเป็นวัยรุ่นไปดู Take Me Out Reality เพราะว่ามันแซบ”

“หรือตอนมาทำ Boy Loves สองคนนั้นเป็นพระเอกของค่ายเลยนะ พี่ว่าเราจะทำไม่ได้เลย ถ้าผู้บริหารที่นี่อย่างคุณภัทรภร วรรณภิญโญ หรือคุณสมพงศ์ วรรณภิญโญ เขาไม่เชื่อมั่น เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยน เราผลักดันคอนเทนต์เราให้มันรองรับถ้าตรงไหนมีคนดู รวมไปถึงพฤติการณ์ที่ตาย (Manner of Death) ทุกคนถามว่า ‘ทำไมซีรีส์ไทยวิพากษ์ภาครัฐไม่ได้ วิพากษ์สังคมไม่ได้’ พี่บอกว่า ‘พี่ไม่ได้ตั้งใจวิพากษ์นะ’ พี่ไม่ได้ทำซีรีส์เรื่องนึงเพื่อวิพากษ์ แต่มันพูดในสิ่งที่คนดูอยากดูแต่เขาหาดูไม่ได้ และเขาก็ต้องไปหาดูสตรีมมิ่งของต่างประเทศ ใน 30 ปีที่ผ่านมา เราก็หาพื้นที่ หาช่องทาง เราไม่ได้อยากอยู่แค่ 30 ปีนี้ เราอยากอยู่ต่อไป เพราะฉะนั้นเมื่อคนดูเปลี่ยน คนทำก็ต้องเปลี่ยน”

จุดเปลี่ยนในการหันมาทำซีรีส์

“มันบังเอิญว่าตอนนั้นพี่ทำรายการทีวีรายการนึง แล้วก็มีข้อมูลจากการวิจัยเป็น Off-Topic ที่เด็กเขาจะเอามาพูดกัน ตอนนั้นคำว่า ‘เมะ’ ‘เคะ’ มันเพิ่งมา พี่ก็งงว่าอะไรวะ เพราะพี่ไม่ใช่สาวกวาย ไม่เคยเสพเรื่องนี้มาก่อน แต่พอมีข้อมูลพี่ก็เข้าไปดู แล้วพี่ก็พบว่าเด็กสมัยใหม่ที่บอกว่าเขาไม่อ่านหนังสือ มันไม่ใช่ แต่มันไม่มีเรื่องที่เขาอยากอ่าน เขาก็เข้าไปอ่านกันใน Dek-D และพี่ก็พบว่าในเด็กดีมันมีนิยายอยู่ 400,000 – 500,000 เรื่องที่ดังมีคนอ่านอยู่เท่านี้ แล้วพี่ก็ตกใจเพราะมันเป็นตัวเลขมหัศจรรย์มาก พี่ก็ไปทำงานต่อจากตัวเลขเหล่านั้น เลยไปหาว่ามีเรื่องกี่แบบที่เด็กเขาเขียน เด็กคนนี้เขียนแต่ยังไม่เข้ามหาลัยเลย มีการหยุดอัพเดทเพราะช่วงนี้ติดสอบ แล้วพี่ก็ไปเจอเรื่อง Bad Romance นักเขียนชื่อน้องเดม นามปากกาคือเดมซ่า พอเราเจอนิยายปุ๊บเราก็อยากเจอกับเขา เขาเป็นเด็กเรียนมหาลัยที่เขียนนิยายแล้วพิมพ์ขาย สร้างบ้านให้พ่อแม่ได้แล้ว มีความรู้สึกว่าชอบเรื่องของน้องคนนี้ เราก็จะเลือกอะไรแบบนี้ มันมีทั้งตัวละครที่เป็น Straight และก็ตัวละครที่เป็นวาย เราก็เริ่มทำงานกับคนเขียนบท มันมีฐานว่าคนเขาดูแบบนี้”

“ปี 2015 ตลาดซีรีส์มันยังไม่ได้ใหญ่เท่าตอนนี้ เพราะว่าคนเขาทำละครช่องไง 30 ตอน เหนื่อย พอ ๆ กันในการเริ่มต้นแต่ได้เงิน 30 ตอน ซีรีส์มัน 12 ตอน กลุ่มเป้าหมายคนละแบบ แพลตฟอร์มก็น้อย แต่มันพอเริ่มมี Line TV แล้ว หลังจากนั้นตลาดซีรีส์มันก็โตขึ้น ทำไมถึงเริ่มมาทำก็เพราะคนดูเปลี่ยนคนเสพเปลี่ยน เราก็ต้องมาเสิร์ฟมาหากลุ่มใหม่ ตลาดมันเปลี่ยน เด็กอายุ 19 – 20 แต่เขียน Fiction ที่มีฉาก N Scene เราจะไม่อยากรู้เหรอว่าเขาคิดอะไร มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาอ่านก็อยู่ในนี้ก้อนเบ้อเร่อ ถ้าในแง่การตลาดเลย ตอนนั้นเราก็รู้อยู่แล้วว่าตลาดมันเปลี่ยน โอกาสที่เราจะคิดรายการทีวีที่มีฟอร์แมตดี ๆ แล้วมันจะ Travel ได้มันน้อยกว่าซีรีส์ ซึ่งมันก็จริงจนถึงตอนนี้ ซีรีส์ก็เป็นสิ่งที่เราขายออกและส่งออกได้มากที่สุดตอนนี้”

สูตรสำเร็จในการทำซีรีส์ = ไม่มี

“เทรนด์มันเปลี่ยนเร็วมาก แต่พี่ก็ไม่ได้ไหลเรื่องไปกับเทรนด์ขนาดนั้น พี่เชื่อว่าสิ่งที่เราตามหาคือหาเรื่องที่ Storytelling มันแข็งแรง และเราเห็นองค์ประกอบมันครบ ใครเขียนบท ใครกำกับ ใครถ่าย เรื่องนี้กับเรื่องนี้ Storytelling มันให้คุณค่าอะไร พอมันเจอปุ๊บมันก็อยากทำ ที่เหลือก็คือว่ามันต้องพอดีกับตลาดด้วย จริง ๆ ทริอาช กับ ใส่รักป้ายสี มันวางแผนที่จะออนพร้อมกันแหละ แต่เพราะโควิดทำให้ช่วงถ่ายทำมันต้องหยุด”

ความหลากหลายทางเพศ คืออีกเรื่องที่ทีวีธันเดอร์อยากเล่า

“เอาจริง ๆ พี่ก็อยากทำเรื่องความหลากหลายทางเพศนะ เวลาพูดเรื่องนี้คนก็มองเรื่องนี้ในมุมที่หลากหลาย เหมือนเวลาทำซีรีส์วาย ก็จะมีคนพูดว่าซีรีส์วายไม่ใช่ LGBT ซึ่งในวัตถุประสงค์ของพี่ ที่ทำก็แค่รู้สึกว่าเราทำเรื่องที่มัน Relate กับคน เอาจริงเราไม่ได้ทำจากการคิดที่ว่ามันจะต้องวายหรือไม่วาย แต่เราทำจากการที่ตัวละครมันมีวิธีคิดแบบนี้จริง ๆ ความยากมันคือตรงนี้ เวลาเขาไม่รู้แต่มันมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น เขาก็พูดได้แค่ว่ามันไม่ดี มันเป็นการชี้นำ ทำลายวัฒนธรรม มันนู่นมันนี่มันนั่นมันโน่น ซึ่งพี่ว่าไม่ผิดที่เขาจะรู้สึกแบบนั้น แต่ประเด็นเดียวที่พี่คิดว่าเขาพูดได้คือ เขาไม่ได้ชอบแบบนี้ อันนี้คือทางหลักวิชาการเลยนะ คนกลุ่มใหญ่เขายังดูแบบนี้กัน แต่การทำแบบนี้ทำให้คนกลุ่มใหญ่ที่เขาอาจจะไม่ได้ชอบเรื่องทำนองนี้ มันโฟกัสเรื่องในกลุ่มที่มันเล็กไปรึเปล่า แต่ถ้ามันไม่มีการพูด ชี้แจง หรือทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องปกติ พี่ก็คิดว่ามันเป็นปรากฎการณ์ที่ดี แต่พี่อยากทำให้เรื่องนี้มันเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้รู้สึกว่าอยากต่อสู้ด้วย แต่ถ้าวันใดเราทำให้มันเป็นเรื่องปกติ แสดงว่าเราถูกยอมรับโดยปราศจากการต่อสู้ พี่ถึงได้มีรายการ Take Guy Out พอทำก็มีคนบอกว่า ‘หูย มาทำให้มันตลก’ คือเขาตลกกันเองพี่ไม่ได้ทำ (หัวเราะ) แล้วรายการนี้มันไม่มีสคริปต์เลย พี่มีสคริปต์ไม่ได้ นางแหกอกพี่แน่ ๆ เกย์ทั้งหมด เพราะฉะนั้นพี่ถึงบอกว่าเขาเป็นเขา นี่คือความสนุกสนาน ความจัดจ้านทางวาทะ การเฉ่ง การอำกัน บางทีเราก็ไม่ต้องไปเอามุมมองคนอื่นมามากว่าเป็นการเหยียด”

ไม่ใช่แค่หน้าตาดี แต่ซีรีส์ยุคนี้ควรแสดงได้ถึงพริกถึงขิง

“พี่ไม่ได้ปักธงตรงนั้นเป็นเรื่องหลัก แต่พี่ว่าความยากของพี่ในตอนนี้ ที่เพิ่งคุยกับมะเดี่ยวมา แล้วคิดเหมือนกันคือ ความยากมันไม่ใช่เรื่อง Masculine หรือ Feminine แต่คือมันเล่นได้รึเปล่า สมบทบาทรึเปล่า ถ้ามันเล่นได้สมบทบาท มีความสามารถและตรงกับบท พี่ว่ามันได้หมด เราต้องการหานักแสดงไม่ว่าจะ Masculine หรือ Feminine แต่ต้องการคนที่อยากจะเป็นนักแสดงจริง ๆ ที่ไม่ได้อยากดังอย่างเดียว เพราะเราก็รู้กันอยู่ว่าพอเข้ามาในวงการมันก็จะมีรายได้ตรงอื่นอีกมากมาย มีชื่อเสียง ฐานแฟนซีรีส์วายก็ใหญ่ ก็มีโอกาสต่อยอดไปได้เยอะ แล้วก็ผู้ที่เลือกนักแสดงบางครั้งจึงมักจะเลือกจากฐานแฟน กลายเป็นว่าตอนนี้ฐานการเลือกต้องใส่ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ไปด้วย มียอดผู้ติดตามเท่าไหร่ การแสดงได้หรือไม่ได้เป็นลำดับถัดไป ๆ แต่สำหรับพี่ ๆ อยากหาคนที่แสดงได้และอยากเป็นนักแสดง ส่วน Masculine หรือ Feminine มันอยู่ที่เรื่องของเราเลือกนะ บางเรื่องมันต้องเป็นแบบนี้ พี่ไม่คิดว่ามันเป็นกรอบของการทำงาน”

ความจริงเป็นสิ่งสำคัญในการทำซีรีส์และรายการโทรทัศน์

“พี่ว่ามันเป็นเทรนด์ของ Reality นะ ไม่ใช่รายการ Reality แต่เป็นความเรียล มันจึงเห็นว่ารายการที่สุดท้ายมันอยู่ในกระแสนิยมและคนดูคนเสพ มันคือรายการเป็นสัมภาษณ์ ทอล์ค โหนกระแส หรืออะไรก็ตาม ความจริงของคนที่มานั่งแล้วพูด ข้อมูลที่เขาพูดคืออะไรไม่รู้ แต่เขามานั่งพูดมันและจริง แม้กระทั่งรายการที่เป็นการแข่งขันก็ต้องมุ่งเน้นไปที่ความจริง อันนี้พี่ว่าในแง่ตัวคอนเทนต์ที่มันต้องเรียล แต่ในแง่ Production เม็ดเงินในการโฆษณามันก็หายไปเยอะ ก็เลยลุ้นกันอยู่ว่าเราจะมีโอกาสได้เห็นรายการที่เป็น XL Size แบบในยุคทองที่เรามี Thailand’s Got Talent รึเปล่า ไซส์มันเลยถูกลดลงมาประมาณนึง พวกรายการโครงสร้างเยอะ ๆ สับสน ๆ อาจจะยังไม่ได้เห็นในช่วงนี้ จะได้เสพอะไรที่มันง่ายขึ้น”

“ส่วนของซีรีส์ พี่เชื่อว่าคนทำซีรีส์ทุกคนก็มีเป้าเหมายในการทำซีรีส์เหมือนกัน คือให้คนดูเข้าถึงได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าซีรีส์จะไปยังไงได้ต่อ มันต้องกลับไปที่บทกับเรื่อง พี่พูดเสมอว่าซีรีส์มันมี 4 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ Story Value การเขียนเรื่องที่มันมีคุณค่า Production Value ซึ่งมันก็ต้องลงทุน ถ้าขาดอันใดอันนึงมันอาจจะไม่สมบูรณ์นัก Casts Value และสุดท้ายก็คือ Marketing Value ซึ่งทั้งหมดนี้พอรวมกันออกมาแล้ว มันต้องตอบกลับว่าคนดูได้อะไร และมันก็จะนำไปสู่ Social Value ว่าเขาจะได้อะไร”

“อย่างหน้าฮ่าน คือเราทำให้คนได้เห็นความเป็นอีสานในวิถีชีวิต วิวบ้านเรือน ริมแม่น้ำโขง ผาโศก จากุซซี่ตามธรรมชาติแบบนี้ เห็นพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก พี่ว่ามันเป็น Production Value ที่สำคัญ เราอยู่ในกรุงเทพเราก็จะได้เห็นแต่บ้าน เรารู้หมดแล้ว บางครั้งเราเปิดทีวีสองช่อง ใช้สถานที่เดียวกัน แต่ว่าพอเราไปทำที่นู่นมันคือบริบทที่เราไม่ต้องปั้นแต่งเลย ตัวละครมันขี่มอเตอร์ไซต์เข้าไปในชุมชนน่ะ ตากฟูก ตากผ้า หน่อไม้แขวนพวงไว้ มันจริงไปหมดเลย กล้องจับไปตรงไหนมันก็จริงหมดเลย ทุกอย่างมันใช่หมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ซีรีส์ควรมีคือทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่นักแสดงเท่านั้น มันต้องไปด้วยกันจริง ๆ Marketing Value ก็สำคัญเช่นกัน การทำสื่อสังคมออนไลน์ การทำ Content Marketing ทั้งหมด ในแง่นายทุนเขาก็ต้องเห็นเรื่องมันมีคุณค่าทางการตลาดอะไร ขายต่อต่างประเทศได้มั้ย”

งานง่ายอย่าไปทำ งานไม่มีอุปสรรคอย่าไปทำ มันไร้ค่า

“ก่อนหน้านี้เพิ่งดู Facebook ที่พี่ลงไว้เมื่อตอนไปสัมภาษณ์พี่เอก – สรพงศ์ ชาตรี ในรายการสะบัดช่อ ตอนนั้นพี่เอกเพิ่งเริ่มสร้างวัดที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ แล้วในนั้นพี่ก็ให้พี่โอถามว่า ‘ทำไมต้องทำใหญ่ขนาดนั้น กลาง ๆ ก็ได้’ พี่เอกบอกว่า ‘งานง่ายอย่าไปทำ งานไม่มีอุปสรรคอย่าไปทำ มันไร้ค่า’ แต่แกไม่ได้โทษงานอื่น ๆ หรอกนะ สิ่งที่พี่ได้เรียนรู้จนถึงตอนนี้ก็คือ พี่ชอบทำงานยาก เราก็ไม่ได้มีความรู้เลยนะ พี่พูดกับน้อง ๆ หลายคนที่เป็นสายนิเทศศาสตร์ บอกว่าอิจฉามาก เพราะคุณเรียนมาโดยตรง คุณเป็นเด็กเจนใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีได้ทุกอย่างแล้ว ใช้เครื่องมือเองได้ คุณทำอะไรได้อีกมากมาย ไม่ต้องรอพี่ตายนะ สามารถขึ้นมาแทนพี่กันได้เลย”

“พี่ถึงยังเชื่อในเรื่องของการผ่านงานยากและการต่อสู้ พี่ทำ Dance Dance Dance Thailand ก็ยากชิบโป๋งเลย เครื่องไม้เครื่องมือมันยากไปหมดเลย แต่พอทำเสร็จแล้วมันดีว่ะ แล้วมันก็จะยากทั้งในแง่การใช้ชีวิต และถ้าเราจะเป็นผู้นำ เราก็ต้องทำให้คนที่ตามเราเห็นว่าเราไม่ได้กลัว เราแก้ปัญหาได้ สิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็ต้องบอกว่าบริษัทให้โอกาสมาก เจ้านายให้โอกาสมาก ไม่งั้นอยู่ ๆ เราจะอยากทำซีรีส์ ทั้งที่ Core Business เป็นอย่างอื่นไม่ได้หรอก เราจะทำซีรีส์วายขนาดที่เจ้านายยังไม่รู้จักเลย เราจะทำซีรีส์ที่พูดเรื่องสังคม เราจะทำซีรีส์ที่มีตัวละครที่มีบทบาททางสังคมครบ ทั้งอัยการ ผู้พิพากษา ตำรวจ หมอนิติเวช และพูดเรื่องเหล่านี้ ซึ่งถ้าเจ้านายไม่เชื่อมั่นและไม่ได้เปิดกว้างเราก็ลำบาก ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่ตัวเราคนเดียว มันก็เป็นหัวโขนที่เราสวม และเงินก็เงินบริษัท โอกาสก็เป็นโอกาสของบริษัท สิ่งที่เรียนรู้มันก็คือ เรา Explore ได้นะ อย่าไปกลัวการค้นหาอะไรใหม่ ๆ ถ้าเราไม่กล้าวันนั้นก็ไม่มีพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าเราคิดว่า ‘หนังอีสานที่พูดอีสานทั้งเรื่อง นักแสดงก็หน้าใหม่ จะขายได้เหรอวะ’ ก็จะไม่มีหน่าฮ้าน

สร้างคนให้ทรงคุณค่า คือนิยามเป้าหมายในอนาคต

“(คิด) พี่ก็อยากทำให้คอนเทนต์มันไปปักธงบนตลาดโลกได้จริง ๆ เป้าหมายจริง ๆ พี่อยากสร้างคน ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง คือความที่เราอยู่ตรงนี้ เราเห็นเยอะจริง ๆ เห็นคนที่เข้ามาเพื่อชื่อเสียงเงินทอง เพื่ออะไรก็ตาม พี่พูดเสมอว่าชื่อเสียงเงินทองที่คุณได้มา กระทั่งกับแม็กซ์และตุลย์ พี่บอกเลยว่ามันได้เยอะมากนะ แล้วคิดด้วยว่าคุณค่าที่เรามีในตัวจริง ๆ มันคุ้มค่ากับที่คนอื่นให้การยอมรับเราขนาดนี้รึเปล่า เราได้สร้างคุณค่าเท่ากับมูลค่าที่นับเป็นเงินที่แฟนคลับให้เราได้จริงรึเปล่า”

“เพราะฉะนั้นเวลาสร้างคนมันจึงต้องสร้างเขาทั้งหมด ไม่ใช่สร้างเพียงให้เขาเป็น Influencer ให้เราได้ ทำเงินให้เราได้ พี่ว่ามันสำคัญมาก ทำยังไงให้คนข้างหน้ามันทรงคุณค่าและเป็นนักแสดงจริง ๆ ยอมทำงานหนัก ทำไมนักแสดงเราต้องถ่ายจันทร์อังคารพุธเรื่องนึง พฤหัสศุกร์เสาร์อาทิตย์เรื่องนึงวะ พี่ว่ามันไม่โฟกัสเลย การที่พี่เอานักแสดงไปอยู่โขงเจียมเดือนนึง นักแสดงไม่รับเรื่องอื่นเลย ทำงานเรื่องเดียว มันโฟกัส ก็ถ่ายตามคิวเหมือนหนัง สามคิวหยุดที สี่วันพัก พี่เอานักแสดงไปอยู่เชียงใหม่ เขาเล่นเป็นหมอ เขาต้องโฟกัสไม่ใช่แบบสามวันเรื่องนี้ อีกวันเรื่องนึง เก่งมาจากไหนเหรอถึงจะสามวันเรื่อง มันไม่ได้นะ (หัวเราะ) ถ้านักแสดงประสบการณ์ยังไม่มากพอ เป้าหมายพี่ก็คือการสร้างคนทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังให้อุตสาหกรรมมันโต”


บทสัมภาษณ์โดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
ถ่ายภาพโดย รัตนพล ไวทยการ