fbpx

**บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ The Modernist เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2565**

“From your fucking friends”

เสียงแรกอันใหญ่เบ้อเริ่มที่บ่งบอกถึงตัวตน ผ่านปกเฟสบุ๊คแรกของ echo สื่อออนไลน์น้องใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงมีนาคม 2561 ดังขึ้น ท่ามกลางสมรภูมิสื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในช่วงเวลานั้น และอาจจะหมายถึงช่วงเวลาปัจจุบันนี้ด้วย เพราะเอาจริงๆ ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้

แต่กว่าจะมาเป็น echo ได้ พวกเขาไม่ได้คิดกันง่ายๆ แบบนั้นหน่ะสิ

วันนี้เราจึงขอมาไถ่ถามความเป็นไปตั้งแต่ต้น จนถึงปัจจุบัน ยันอนาคตข้างหน้า กับ 2 สมาชิกรุ่นบุกเบิกของ echo อย่าง ธันว์-ธนชัย วรอาจ Content Creator และ คิว-มงคลชัย จันทนาโกเมษ Content Creator ฝ่าย production / editor ที่จะทำให้เราเห็นรายละเอียดของเสียงสะท้อนจอมกวนนี้ ที่ส่งผลต่อสังคมไทยได้ชัดเจนมากขึ้น

Who is it ECHO?

เล่าที่มาที่ไปของ echo ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ จนถึงเริ่มเปิด Facebook Page ให้ฟังหน่อย

ธันว์: เราเริ่มกันตั้งแต่ปี 2017 ครับ กลุ่ม co-founder ตั้งต้นมาจากการเป็นคนทำงานด้านสื่อกันหมด ทำข่าว ทำสารคดี แล้วก็รู้จักกับ investor ที่พอจะหาแหล่งทุนได้ เขาไปเจอกัน และมองว่าในช่วงนั้น 2017 – 2018 มันมีความเป็นไปได้มากในการจะสื่อมีรูปแบบใหม่เกิดขึ้น

เราตั้งต้นว่าสื่อรูปแบบนี้จะเป็นสื่อที่คาบเกี่ยวระหว่างสื่อบันเทิงกับสื่อสาระ ที่ส่วนใหญ่มันจะเป็นข่าว ซึ่งในประเทศไทย ข่าวก็มีทางตันของมัน มีกรอบที่มันไปสุดกว่านั้นไม่ได้ อาจจะเป็นเรื่องจริยธรรม หรือเรื่องต้องเสนออะไรให้รอบด้าน คนไม่ได้ต้องการเสพพวกนั้นแค่อย่างเดียวแล้ว พวกนั้นมัน traditional แต่สิ่งที่คนต้องการคือความสดใหม่ มีสาระได้ มีความเป็นข่าวได้แต่มันต้อง relate กับคนในชีวิตจริงมากขึ้น

แล้วอีกอย่างในไทยยังไม่มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้น อย่างในต่างประเทศก็พอเริ่มมีบ้าง อย่างยุคนั้นก็จะมี Great Big Story เป็นแบรนด์ลูกของ CNN ก็ใช้วิธีแบบ journalism มีการเกิดขึ้นของ Vice ที่เริ่มจากกลุ่มคนที่ทำ investigative journalism สายดาร์กหน่อย เพราะมันเล่าเรื่องที่สุดโต่งมากๆ เล่าอะไรที่ข่าวทั่วไปไม่อยากลงไปเล่น มันก็เกิด movement แบบนี้ในบางพื้นที่ของโลก แล้วเหล่า co-founder ก็เห็นว่าจริงๆ ไทยโคตรมีศักยภาพที่จะทำอะไรแบบนี้ คือมีทั้งศักยภาพของคนทำงาน มี story ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในไทยและภูมิภาค south east asia ทำไมเราไม่ไปสู่ตรงนั้น

เราพยายามจะเป็น movement แบบนี้ตั้งแต่แรก ถึงแม้ว่าหน้าตาจะเหมือนสื่อออนไลน์ทั่วไป แต่จริงๆ แล้วมันพยายามจะเคลื่อนประเด็นหลายๆ ประเด็น ที่อาจเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ความกินดีอยู่ดี well being อะไรเหล่านี้ แต่ทีม co-founder ก็มานั่งคุยกันว่า well being ของประเทศไทยมันติดอะไรที่ทำให้เรามีสิ่งนั้นจริงๆ ไม่ได้ มันก็ไปติดเรื่องโครงสร้าง เราก็เลยดันเรื่องพื้นฐานอย่างสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม การกินดีอยู่ดี ผ่านงานวิดีโอที่ก้ำกึ่งระหว่างความสนุกบนอินเทอร์เน็ตกับเนื้อหาที่แน่นแบบ journalism อันนี้คือ idea แต่หน้าตามันจะออกมาเป็นยังไงก็ต้องสร้างสรรค์กันต่อ ช่วงปี 2017 เป็นช่วงที่พยายามคิดว่าหน้าตาของมันควรออกมาเป็นยังไง แล้วก็มาดูกันว่ามันทำยังไงต่อได้บ้าง ทีมงานเบื้องหลังกลุ่มแรกก็จะทำงานกันก่อนสักประมาณ 60% แล้วพี่คิวก็จะเข้ามาช่วงท้ายๆ ส่วนผมเข้ามาช่วงกลางๆ ของการเริ่มต้นสร้างสรรค์สิ่งนี้ จนกระทั่ง launch ให้คนดูประมาณช่วงต้นปี 2018 ประมาณเดือนมีนาคม

คิว: ใช่ คือจริงๆ วันเกิด echo กับวันเกิดผมมันตรงกันผมก็เลยจำได้ (หัวเราะ) น่าจะเป็นช่วงที่คลิปแรกออนแอร์ แต่ผมเข้ามาที่ echo ช่วงเดือนเมษายน จำได้ว่าเข้ามาหลังหยุดยาวสงกรานต์นิดนึง แต่คือไม่ได้เข้ามาด้วยงานชิ้นแรกเป็นตัวอย่าง แต่เป็นตัวที่สองที่มันเป็นเรื่อง ความรักทำไมต้องภักดี ตัวนั้นมันเป็นตัวที่พูดถึงความสัมพันธ์หลายคู่ ตอนนั้นก็เลยรู้สึกว่าเพจนี้เขากล้าเล่าดี ก็เลยสนใจอยากทำงานด้วย แล้วก็ได้เข้ามาทำหลังช่วงเปิดตัวได้ไม่นานมาก

ทำไมถึงตั้งชื่อสื่อออนไลน์นี้ว่า echo

ธันว์: จริงๆ ชื่อนี้ผมไมได้เป็นคนคิด co-founder เขาเสนอๆ กัน เอาง่ายๆ เรามีฝั่งที่เชี่ยวชาญด้านการทำสื่อเพื่อสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ขาหนึ่งอยู่แล้ว มันชื่อว่า Voice ทีนี้ความเป็น Voice มันแข็งมาก มันข๊าว ข่าว แต่ co-founder เขาอยากได้ชื่อเกี่ยวกับ “เสียง” ผมก็เลยคิดว่า ไอเสียงที่มันชิ่งไปมาได้ มีการกระทบแล้วตอบกลับมาคือเสียงอะไรวะ ก็มาจบที่ชื่อ “echo”

แล้วพอทีมงานที่เข้ามาใหม่ช่วงเริ่มต้นมาช่วยสร้างสรรค์กันมากขึ้น ก็คิดกันเรื่อง branding หรือการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น เราคิดว่าชื่อ echo เฉยๆ ยังดูโหลไป เลยพยายามสร้าง character ให้มัน ซึ่งสุดท้ายแล้ว character ของ echo ก็คือ character ของคนที่ทำมันขึ้นมานั่นแหละ เรามีความเป็นเด็กหลังห้อง เอาจริงเอาจังอยู่ แต่แค่ไม่ได้อยู่ในกรอบของเด็กหน้าห้อง เรื่องที่คุยกันก็จะเป็นมุมเสียดสี กวนตีน มีความเหี้ย ความเชี่ยเข้ามาผสม ก็เลยได้ tagline เพิ่มขึ้นที่ทำให้ตัวตนชัดขึ้นอย่าง “echo, from your fucking friend” แล้วก็ภาษาไทยเป็น “เสียงสะท้อนจากเพื่อนเชี่ย”

ในยุคที่คอนเทนต์ออนไลน์หลากหลายมาก ทำไม echo ถึงเน้นไปทางคอนเทนต์วิดีโอเป็นหลัก

ธันว์: ในทางหนึ่ง co-founder เขาก็มาจากสายกึ่งเขียน กึ่งวิดีโอกันอยู่แล้ว ซึ่งเข็มมันเอียงไปทางวิดีโอด้วยซ้ำ ส่วนอีกทางในเรื่องข้อมูลที่เรา research มามันบอกแบบนั้นครับ ว่า video บนอินเทอร์เน็ตจะถูกดันให้เข้าถงคนได้มากกว่าคอนเทนต์แบบอื่น network provider หรือ network service ในไทยก็ชัดเจนมากขึ้น พูดง่ายๆ คือเน็ตมันเร็วขึ้นแต่ราคาเท่าเดิม คุณดูวิดีโอได้เร็วขึ้น มือถือราคาถูกลงคนก็มีแนวโน้มมากขึ้น มันเห็นจากข้อมูลครับว่าวิดีโอกำลังมาในปีนั้น ณ วันนั้นเลยเป็นการคิดกันว่าสกิลเรามี แนวโน้มเรามี แล้วเราจะไปลงแรงกับอย่างอื่นที่เราไม่เห็นแนวโน้มทำไม เพื่อที่จะเข้าถึงคนให้เยอะๆ ใช่ไหมก็เลยเลือกวิดีโอ 100%

คิว: สำหรับผมนะ ผมรู้สึกว่าพฤติกรรมของเพื่อนที่ไม่ได้ทำงานสาย production อาจจะทำงานออฟฟิศหรือทำธุรกิจ เขาไม่อ่านบทความ แต่เขาอ่าน sub ที่ฝังในวิดีโอ ไม่เปิดเสียงวิดีโอด้วยซ้ำ ถ้าถามผมในฐานะคนทำงาน production ผมก็ไม่พอใจหรอก เพราะรู้สึกว่าทำงานวิดีโอชิ้นนึงมันมีเรื่องของการ design เพลง เสียง เก็บงาน cutting แต่มันก็เห็นว่าคนดูเขาอยากให้มีภาพอะไรที่ละสายตาไปดูได้บ้าง แต่เขาก็ยังอยากอ่าน text เหมือนเขาเลือกที่จะอ่าน text จาก subtitle มากกว่าบทความ อันนี้คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เราเห็น

ความเชื่อของ echo ในช่วงแรกๆ คืออะไร

คิว: ถ้าเป็นตัวผมเองก็ต้อง base จากสิ่งที่เราอยากเล่า เพราะประเด็นที่ echo ต้องการเล่ามีความหลากหลายจากความสนใจของตัว content creator คนนั้นๆ ด้วย อย่างน้องๆ ในทีมเขาสนใจเรื่องความหลากหลายทางเพศมาก เขาก็จะทำคอนเทนต์ออกมาเยอะแล้วก็ทำได้ดี อย่างผมก็จะสนใจเรื่องใหญ่ เรื่อง legalize หรืออะไรสักอย่าง โสเภณี ทำแท้ง การุณยฆาต ก็จะชัดไปเลย

อีกอย่างที่คิดว่า echo ตรงกับจริตของเราคือตอนที่สัมภาษณ์กัน เขาถามว่าเราอยากเล่าเรื่องนี้แบบไหน ผมก็บอกเลยนะว่าอยากเล่าแบบ take side แล้วก็บอกเลยว่าเราโปร ชุดข้อมูลนี้เราไม่เห็นด้วย แล้วก็เสริมให้คนดูไปชั่งน้ำหนักเอาเองเลยว่าเขาเชื่อหรือไม่เชื่อ ให้เห็นว่าชุดข้อมูลนี้มันโน้มน้าวเขาได้ไหม ก่อนหน้านี้ผมมีความคิดที่อยากทำประเด็นอะไรแบบนี้อยู่แล้ว แต่พอจะไปขายไอเดียใครเขาก็จะบอกว่าอันนี้มันไม่เป็นกลางนะ เรารู้สึกว่าวิธีคิดแบบนี้มันเก่าไปสำหรับเรา มันเหมือนดูถูกคนดู เหมือนเราคิดว่าถ้าคนดูไม่ได้ฟังข้อมูล 2 อันแล้วจะคิดต่อไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเราสามารถเสริมด้านเดียวแล้วให้เขาไปคิดต่อก็ได้

ธันว์: ส่วนมุมมองผมที่ทำงานมาตั้งแต่เริ่ม echo พูดด้วยตัวเองไม่ได้แล้ว มันมีความเคลื่อนไหวของมันตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ผมคิดว่า echo มันมีฐานที่สำคัญมากๆ คือมันไม่ดูถูกคนดู ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นดูถูกนะ คือมันแสดงออกชัดเจนว่ามันเชื่อในวิจารณญาณของคน มันเชื่อว่าคนดูหรือคนผลิต ใครก็ตาม มันคิดได้ รับรู้ได้ จัดการข้อมูลที่ตัวเองรับมาได้ นั่นก็เลยทำให้เราสามารถ take side ได้ แล้วก็ทำให้คนพูดคุยกันได้ สิ่งที่สำคัญพอมัน take side ได้มันทำให้มี reflection แลกเปลี่ยนกันได้อย่างชัดเจน เรื่องนี้มันเล่าจากจุดนี้ ฉันอยู่อีกจุดยืนนึงเราจะคุยอะไร ผมว่าสำคัญสุดคือมันเชื่อว่าคนเท่ากัน คนดู ผู้ผลิต นายทุน มันเท่ากัน มีความคิดเห็น หาข้อมูลเพิ่มเติมมาเถียงกันได้

ตั้งใจสร้างสรรค์คลิปแรกๆ ให้ออกมามีความเป็น echo อย่างไร

ธันว์: อาจจะต้องใช้คำว่า “เช็ตแรก” ครับ เราะเราทำ A/B testing กันมาเยอะมาก ว่าเราควรเล่าเรื่องแบบไหนดี อย่างในเซ็ตแรกๆ เราก็ทำมันออกมาแตกต่างกันหมดเลย ทั้้งวิธีการเล่า จังหวะจะโคนภายในคลิป จนได้ออกมาเป็นเซ็ตสุดท้ายก่อนเปิดเพจ เราก็คุยกันว่าจะปล่อยตัวแรกให้เป็นแบบไหน ในมือเรามีของหลายอย่าง เราเลยคิดว่าต้องถูกจริตชาวอินเทอร์เน็ตที่สุด มีความสนุก ความเร็ว ติดทีเล่นทีจรง ติดขำๆ บ้าง ภาษาเข้าถึงได้ง่ายไม่ต้องจริงจังมาก และที่สำคัญต้องเป็นเรื่องของทุกคน ถ้าเราต้้องการคาดหวังยอด engagement มันก็ต้องเป็นเรื่องที่คนสนใจ

ใน list แรกๆ ของคลิปที่จะปล่อย ก็มีคลิปชื่อ “ยาผิดชีวิตเปลี่ยน” คนทำคือพี่ออย (ออย – วรมน สินธุประมา หนึ่งใน content creator ของ echo) คอนเทนต์นี้ตอบโจทย์ความต้องการทั้งหมดของเราในตอนแรก สนุก อินเนอร์เน็ตจัดๆ ตัวละครที่มาเล่าเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ถูกรู้จักอยู่แล้ว เป็นแค่ตัวแทนที่เ่าเรื่องราวเรื่องการใช้ยา อีกอย่างใครๆ ก็ต้องป่วย มันเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้คนด้วย ก็เลยตัดสินใจลงคอนเทนต์นี้เป็นคอนเทนต์แรก ซึ่งในแผนคือไม่ได้กะว่าจะต้องปังในเวลานั้นหรอก แต่เรามีเซ็ตคอนเทนต์ประมาณหนึ่งแล้วที่ทำเอาไว้เพื่อให้ยังไงมันต้องปังแหละ มันจะไม่ปังไม่ได้ พอมัน grand opening จริงๆ คนกดเข้ามาดูมันจะเห็นงานมากกว่าหนึ่งงาน ถ้าคนกดเข้ามาดูแล้วแบบ เหี้ย งานนี้ดีมากๆ แต่กดเข้ามาดูแล้ว อ่าว ไม่เห็นมีงานอะไรอีกเลย มีแค่งานเดียว sense มันต่างกัน ก็เลยคิดแผนค่อยๆ ปล่อยพวกนี้ออกมา สต๊อกไว้ก่อน อย่างน้อยคนเข้ามาจะเห็นงาน 4-5 ชิ้นในวันที่เรา grand opening ปรากฏว่าไอตัวที่ลองปล่อยทิ้งไว้มันทำงานเลย ก็เลยงั้นต้องรีบทำงานมากขึ้นกว่าเดิม

คิว: ตอนนั้นผมยังเป็นคนดูอะ ในฐานะคนดูก็รู้สึกว่าน้ำเสียงของเภสัชกรเขาพูดเหมือนเพื่อนอะ คือเรารู้สึกได้ว่าเอ๊ะ ทีมงานเป็นเพื่อนเขา หรือเขามีเพื่อนเป็นเภสัชกรหรือเปล่า คือมันได้ vibe ที่ไม่ได้ formal เกินไปตอนที่เขาพูด ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ของ echo ด้วย เหมือนไม่ได้เอาข้อมูลชื่อยาที่เป็นศัพท์ยากๆ มา เขาพูดเหมือนเล่าอะไรในวงเหล้าธรรมดา มันก็เลยเป็น vibe ที่ทุกเพศทุกวัย ไม่ได้จำกัดชายหญิง

หลังจากที่คอนเทนต์แรกประสบความสำเร็จเลย ในฐานะคนทำคอนเทนต์ เรามองเห็นอะไรจากมันบ้าง นอกจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นตรงนั้น

ธันว์: อย่างแรกผมไม่รู้ว่ามันประสบความสำเร็จไหม แต่มันเป็นการกรุยทางที่ดี ผมคิดว่ามันก็บอกเราได้ว่าเรากำลังทำสิ่งที่ตอบสนองคนอยู่ ข้อดีของงานนั้นมันไม่ใช่แค่ถูกดูเยอะ แต่มันถูกคุยต่อเยอะ อันนี้ผมว่าสำคัญกว่า เวลาเขาแชร์ไปแล้วเราเห็น caption ว่าเขาพูดถึงมันเรื่องอะไร ชวนใครมาคุยบ้าง มีคนถามหลังไมค์มาหาเพจเพราะเข้าใจว่า echo เป็นเพจเภสัชไปแล้ว แต่เราเห็นว่ามันเกิดพื้นที่สำหรับการพูดคุย ตัวผมมองว่ามันมีเรื่องอีกหลายเรื่องที่เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ไม่มีพื้นที่ให้คนคุยกัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำให้เกิดสิ่งนั้น และมันเกิดขึ้นจริง มันเกิดการสะท้อนไปมาของข้อมูล ของความคิดเห็น แค่คลิปแรกก็บอกผมได้เลยว่าปลายทางควรเป็นแบบนี้ วิธีการควรเป็นแบบนี้ สิ่งที่เราคิดมาก็เลยแข็งแรงขึ้น มั่นใจมากขึ้น มันตอบในตัวมันเอง จู่ๆ มันก็โพล่งขึ้นมาแล้วมีคนตอบรับด้วย มันไม่ได้มีวิธีคิดแบบ PR เริ่มแชร์จากคนในออฟฟิศแค่ 10 คน แล้วในวันเดียวมันไปขนาดนั้น มันแปลว่าสิ่งที่ทีมร่วมมือกันมามันเวิร์ค มันบอกว่าเราไม่ได้คาดการณ์ผิด เราเข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ซึ่งดีต่อทีมครับ

คิว: ถ้าพูดถึงตัวนี้ตอนนั้นที่ผมเป็นแค่คนดู ผมรู้สึกเฉยๆ

ธันว์: ฮะ เฉยๆ เหรอ (หัวเราะ)

คิว: ผมแค่รู้สึกว่าเฮ้ยทำไมงานนี้มันแมสขึ้น คือในแวดวง production แชร์กันเยอะก็ผ่านหูผ่านตา ตอนนั้นดูก็สนุกดี กวนดี แต่ยังไม่ได้สนใจอะไร แต่ตัวผมเองจะชอบประเด็นที่มันหนักๆ พอมาดูเรื่องมิติของความสัมพันธ์ที่ทำไมต้องผัวเดียว เมียเดียว มันเป็นการตั้งคำถามกับความสัมพันธ์ ซึ่งพอดูตัวนี้ก็เลยรู้สึกว่า เออ เขา take side ฝั่งนี้แล้วพูดถึงว่าทำไมมันต้องเป็นแบบเก่า ซึ่งมันตรงกับสิ่งที่เราอยากจะเล่าจริงๆ

ของผมจะโดนดึงดูดด้วยตัวที่ 2 มากกว่า (ความรักทำไมต้องภักดี) ตอนนั้นรู้สึกว่ามันแปลกใหม่มาก เป็นอาจารย์ธเนศ (ศ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา) เราก็รู้สึกว่าเป็นบุคคลที่เราชอบติดตามอ่านของเขาอยู่แล้ว มันเป็นพื้นที่ใหม่ นอกจากตัวบุคคลที่มาออกในคลิปไม่ได้เป็นบุคคลที่มีพื้นที่สื่อขนาดนั้น ตัว comment ก็เป็นสิ่งที่ทีมงานเสพติดมากกว่ายอดวิวอีก คือเราอยากเลี้ยงคอมเมนต์เป็น community มากกว่าการต้องทำให้ได้ยอด view เยอะๆ เราชอบเวลาคนดูเขามาเถียงกัน เราไม่เคย block comment คนที่มาด่างานเราด้วย page รวมถึงเราอาจจะไม่ได้ลงไปเล่นใน comment กับคนดูขนาดนั้น เราปล่อยให้คนดูเขาซัดกันเต็มที่เลย ก็จะมีฝ่ายที่เกลียด ฝ่ายที่ไป tank ให้เรา มันทำให้ทีมงานรู้สึกสนุก ต่อให้คนมาด่าแต่เราเห็น FC เราไปปกป้อง เรารู้สึกว่าเราไม่ต้องทำอะไรแล้ว การแลกเปลี่ยนทางความคิดมันกระเด้งกันไปมา เราก็เลยอยากให้ community ตรงนี้มันอยู่ไปในทุกๆ ชิ้นงานมากกว่าตัวเลข

ธันว์: แต่เรื่องตัวเลขก็ชอบๆ (หัวเราะ)

คิว: ก็ชอบๆ แต่ก่อนเราได้ 1,000,000 views เราก็ฉลองกัน แต่หลังจากนั้นก็กดดันแล้วอะว่า ไอ้เหี้ย ตัวต่อไปจะถึงล้านวิวไหม ก็จะมีความรู้สึกนี้อยู่เหมือนกัน คอมมูนิตี้แหละเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ถึงยอดก็ไม่ได้ล้มเหลวอะ เพราะว่า engagement ในคลิปมันดี

factors of echo

พอเราตั้งใจเป็นสื่อออนไลน์ที่ทำแต่ Video Content เราใส่รายละเอียดกับงานวิดีโอของเราอย่างไรบ้าง

ธันว์: คิดกับมันมากๆ เลย เราออกแบบมันด้วยการลงรายละเอียดทุกอย่าง เหตุผลใหญ่เลยคือเรามองดูเทรนด์ของคอนเทนต์วิดีโอในช่วงนั้น และเอามาปรับใช้กับตัวเองเยอะ อย่างเช่นจากข้อมูลที่ research มาในปี 2017 คนดูวิดีโอกันมากที่สุด, มักจะดูผ่านสมาร์ทโฟน ไม่ใช้ laptop หรือ PC, ส่วนใหญ่คนที่ดูจะไม่เปิดเสียง และเขาจะเข้าถึงวิดีโอพวกนี้ได้มากที่สุดจาก social media ซึ่งเป็นคนละพื้นที่กับจำพวก Netflix

พอเราเห็นแบบนี้โจทย์ของเราก็คือ “ทำยังไงให้คนที่อยู่บน social media ที่ปัดนิดเดียวก็ไปหาคอนเทนต์อื่นแล้ว เขาอยู่กับเราได้มากที่สุด” เราก็เลยต้องชวนคนเข้ามาอยู่ในเรื่องผ่านการตัดต่อที่น่าสนใจ ชวนให้คนสงสัยเราให้ได้มากที่สุด เรื่องภาพเราก็ต้องทำให้เขาอยู่กับเราได้มากที่สุด และอยากอยู่กับเราไปเรื่อยๆ อย่างในยุคแรกๆ ของ Facebook มีส่งที่เรียกว่า auto play คือถ้าขนาดวิดีโอเป็นสัดส่วน 1:1 แค่เลื่อนเจอคลิปนั้นมันจะเล่นทันทีโดยไม่ต้องกดเล่น อีกอย่างข้อดีของวิดีโอสัดส่วน 1:1 คือคุณไม่ต้องพลิกจอ เพราะจะดูแนวตั้งหรือแนวนอน ขนาดภาพก็เท่ากัน รวมถึงเราตั้งใจจะลงคอนเทนต์ใน social media เป็นพื้นที่หลักใน Facebook ที่เข้าถึงคนได้มากกว่า และ YouTube ที่เราเลือกเพื่อ support เนื้อหาที่มันสะเปะสะปะ หรืออย่างเวลาเราถ่าย เราก็สามารถคิดภาพได้ง่ายเลยเรื่องของ compose เรากำหนดให้มันอยู่ตรงกลางทั้งหมด อะไรก็ตามในคลิปเราพยายามให้มันสมมาตรทั้งซ้าย – ขวา เพื่อให้วิดีโอที่ต้องตัดต่อเป็นขนาด 1:1 แล้วรายละเอียดในภาพไม่หายไปไหน

ถัดมาเรื่องของการทำให้เขาไม่เบื่อ เราก็ต้องทำเรื่องภาพให้มันสุนทรีย์ หรือเล่าเรื่องได้ ถ้าไม่ใช่คอนเทนต์สารคดีหรือเหตุการณ์จริงเราก้จะคิดภาพกันหนักหน่อย แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์จริงก็เก็บ footage กันเยอะเพราะต้องมาเลือกใช้ ช่างภาพเราจำนวนหนึ่งทำงานเชิงรายการทีวีมาก่อน ทำโฆษณาด้วย มันมีความก้ำกึ่งระหว่าง advertising กับ cinematic บางอย่าง ถ้ามีเวลาพี่ๆ ช่างภาพเขาก็จะปั้นกันกับ producer กับ content creator ว่าจะทำยังไงให้ภาพมันสื่อเนื้อหามากที่สุด ดูแล้วสวย สุนทรีย์ ไม่ใช่แค่สวยแบบเดียว บางงานต้องการความหยาบ ต้องการกล้องสั่น มันก็ต้องสั่น อันนี้ก็แล้วแต่งานก็ดีไซน์กันไป ไม่มีข้อจำกัดไปมากกว่านี้ อีกอันที่เป็นภาพคือ subtitle และ graphic เราจะเล่นตัวหนังสือเยอะ คนดูวิดีโอเยอะที่สุดบนอินเทอร์เน็ต ต่อมาคือดูบน โทรศัพท์แล้วจะไม่เปิดเสียง แต่งานเราเล่าด้วยเนื้อหาผ่านภาพและเสียงไปพร้อมๆ กันทำยังไงถ้าเขาไม่เปิดเสียงแล้วเขาจะอยู่กับเรา ก็ต้องให้เขาอ่านให้ชัด เห็นให้ชัด เพราะฉะนั้น Super graphic หรือแม้กระทั่ง subtitle ของเราก็ต้อง support จุดนั้น ยุคแรกๆ คนจะงงว่าทำไม sub ต้องตัวหนังสือใหญ่ขนาดนั้นวะ คนดูในจอแค่นั้นจะทำยังไงให้เขาเห็นโดยที่ไม่ต้องดูใกล้ๆ ก็ต้องยอมให้มันใหญ่ถึงมันจะดูไม่สวย เพื่อที่จะให้เนื้อหามันไปต่อได้

คิว: ส่วนตัวผมที่มาจาก production ก็จะมีความที่เราอยากจะทำงาน production ให้มันดีขึ้น ใหญ่ขึ้น สวยขึ้น เป็นธรรมชาติโดยเนื้องาน ถ้าปัจจัยของตัวงานมันเอื้อ แล้วตัวทีมของเราเป็นทีมที่มาจากสายงานเขียน และมาจากสายงาน production จริงๆ จังๆ ก็เป็นเรื่องของการ balance กัน แล้วอีกเรื่องคือปัจจัยของลูกค้า อย่างงานเรื่องเพศก็จะมีลูกค้ามีงบประมาณพอสมควร เขาอยากได้ความฉูดฉาด เพราะกลุ่มลูกค้าเขาคือ LGBTQ+ งานนี้ก็จะเป็นงานที่ production มันจะสูงหน่อย

แต่พอทำงานที่ echo ไปเรื่อยๆ คอนเทนต์ ลอกการบ้าน ของพี่ออยก็เป็นคอนเทนต์ที่รู้สึกว่ามันไม่ได้หวือหวาขนาดนั้น เพราะกล้องมันจะถูกตั้งอยู่กับที่ มีเปลี่ยนบ้างนิดหน่อย วิธีคิดมันก็ถูกออกแบบมาสวยงามเหมือนกันเพื่อให้ตากล้องทำงานง่ายที่สุด อันนี้ผมว่ามันก็ใช้เวลาออกแบบไม่ต่างกับการออกแบบภาพเหมือนกัน ในการที่จะออกแบบ graphic ทำมือขึ้นมา งาน production มันก็สวยเหมือนกันในการที่จะออกแบบ คุมทุกอย่างอยู่ในเซ็ตเดียว อาจจะไปหนักช่วง pre-production หน่อย แต่ผลลัพธ์ออกมาเราก็รู้สึกว่ามันมีความสวยงามเชิง production จริงๆ เหมือนกัน โดยไม่ต้องถ่ายแบบหวือหวามาก

จากการปล่อยคอนเทนต์แรกแล้วประสบความสำเร็จ มันก็เหมือนนาย echo ได้โผล่หน้าออกไปให้ผู้ชมหน้าเวทีเห็นหน้าค่าตาของเขาบ้างแล้ว คิดว่าในคอนเทนต์ถัดมาๆ น่าจะทำให้ผู้ชมเห็นนาย echo ที่ค่อยๆเดินออกมาเป็นอย่างไร

ธันว์: เอาความรู้สึกแบบบุคลิกก่อนเลย มันเป็นคนที่ไม่อยู่สูงหรืออยู่ต่ำกว่าใคร คนที่เห็นจะรู้สึกว่ามันเป็นเพื่อน คุยในระดับที่นั่งกินกาแฟกันได้โดยที่ไม่ต้องเกรงใจ บุคลิกภาพมันเป็นคนแบบนี้ มันอาจจะเป็นคนสมส่วนแต่ไม่รู้ว่าเป็นเพศอะไร แต่ masculine หมายถึงว่ากระด้างๆ แข็งๆ กวนตีนหน่อย อาจจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ+ ก็ได้ เรื่องการแต่งตัวผมคิดว่าน่าจะอยู่ไทยพร้อมออกไปเดินข้างนอก กางเกงห้าส่วนเผื่อลุยน้ำได้นิดหน่อย ไม่ผ้ายีนส์ก็ผ้าฝ้าย (คิว: เฮ้ย ลึกไปแล้ว) เสื้อยืดแน่นอนอยู่แล้ว ใส่แจ็คเก็ตบ้างไม่ใส่บ้างเผื่อเดินเข้าสถานที่ทางการก็จะได้หยิบมาใส่ ใส่แว่นสายตาครับ อาจจะเหน็บไว้ก็ได้ คือผมรู้สึกว่าไอนี่มันน่าจะอยู่หน้าคอมเยอะ มันเลยต้องใส่แว่น ประมาณนี้ครับ

คิว: ของผมคล้ายๆ กันแต่อาจจะไม่ลึกเท่า คือมองเป็นคนเหี้ยๆ หยาบกระด้างเหมือนกันแต่ในมุมของผมลึกๆ มันเหมือนมีมุมอ่อนโยนอยู่ หมายถึงว่าเวลาเล่าอะไรเราใช้ภาษาที่หนัก ประเด็นที่แรง แต่สุดท้ายมันมีความเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์อยู่ คือเรามีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ condition ของคนที่มันต่างกัน อันนี้ผมมองว่าเออ มันเหี้ยแต่มันมีความอ่อนโยนอยู่บางๆ ส่วนชุดเนี่ยผมคิดไม่ออกจริงๆ คิดถึงแค่บริบทของคนที่มาทำงาน echo คืออย่างงี้แหละ ก็จะมี culture ที่ใส่ขาสั้น รองเท้าแตะ เป็นคนที่มาทำตึกออฟฟิศทางการแต่แต่งตัวแบบนี้มา ซึ่งก็ไม่ได้บอกว่าไม่มีปัญหานะ (หัวเราะ) มันอาจจะมีปัญหากับสายตาคนอื่นแหละว่าทำไมถึงแต่งแบบนี้มา แต่บางคนเขาก็กำลังเตรียมไปออกกองต่อ เขาก็อยากใส่อะไรที่มัน function แต่ก็ไม่ได้ไม่ดูกาลเทศะ ถ้าเข้าประชุมเราก็แต่งอีกแบบมา ถ้าเข้าออฟฟิศเราก็ขาสั้น รองเท้าแตะ ไม่ได้ซีเรียส

ธันว์: อ้อ อีกอย่างครับ อันนี้สำคัญมาก เวลาม่านเปิดออก echo มันจะไม่ใช่แค่คนๆ เดียว ถ้ามันมีสิ่งที่เรียกว่า echo เป็นคนขึ้นมา โอเค มันเปิดหน้าแรกเป็นคน แต่ถ้ามากขึ้นมันจะเป็นกลุ่ม

ถ้าสมมติให้พวก echo มานั่งหาอะไรทำกัน (เราเหลือบไปเห็นกองบอร์ดเกมข้างโต๊ะสัมภาษณ์พอดี) พวกเขาน่าจะเป็นคนเล่นบอร์ดเกมแบบไหนกัน (เราหยิบบอร์ดเกม Avalon มาวางตรงหน้าพวกเขา)

คิว: Bang ไหมถ้าคิดจะเล่น

ธันว์: ทำไมไม่เล่น Avalon ล่ะ

คิว: อันนี้มันต้องสวมบทบาท ไม่อยากสวมบทบาท อยากยิงเลย มันก็จะมีหลายเกม Bang อันนี้เล่นบ่อย แต่ผมเบื่อแล้วเพราะผมชนะบ่อย อย่าง agenda ในการเล่นเกมแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน คือบางคนก็เล่นเพื่อชนะ ไอนี่ (ธันว์) เล่นแบบกวนส้นตีน คือเหมือนอยากเห็นคนที่อยากชนะไปไม่ถึงชัยชนะ ธันว์เป็นคนแบบนั้น เพราะเขาเล่นบอร์ดเกมมาเยอะมาก เขาไม่สนชัยชนะแล้วเขาอยากเห็นคนอื่นไม่ได้ดั่งใจ นี่อาจเป็นนิยามของเพื่อนเหี้ยที่มันปั่น ที่มันกวนส้นตีนเรา มันก็มีความเหี้ยในแบบของมัน

ธันว์: ผมว่าถ้าเกมมันถูกออกแบบมาให้สามารถขัดแข้งขัดขาคนอื่นได้ ผมก็มักจะเป็นคนนั้น แต่ถ้าเกมที่มันเล่นเพื่อให้ตัวเองชนะ ขัดแข้งขัดขาคนอื่นยากก็จะพยายามเล่นไม่ให้ตัวเองเป็นที่โหล่แต่ก็ชนะไม่ค่อยได้ เพราะไม่มี mindset กับการจะเป็นที่ 1

ความสนุกผมมันอยู่ที่การทำให้คนอื่นมันลำบาก ไม่ได้อย่างใจ ความสนุกมันเกิดแหละ แต่คนอื่น enjoy กับมันไหมอันนี้แล้วแต่คน ผมรู้สึกว่าในวงเล่นเกมมันทำให้บรรยากาศนี้เกิดขึ้น กูเองสนุกๆ แน่โดยที่กูไม่ต้องคาดหวังว่าจะชนะหรือแพ้ ผมว่าอันนี้สำคัญสำหรับการเล่นเกมเป็นวง แล้วก็มันสร้างบทสนทนา มันสร้าง scenario ใหม่ๆ สมมตินะ มีเกมที่ต้องเก็บทรัพยากรสีฟ้ากับสีแดง สีฟ้าต้องมี 5 อัน สีแดงห้ามมีเกิน 5 อัน ผมสามารถพยายามเก็บสีฟ้าไปเลยให้ครบ 5 อันก็ได้ แต่ผมจะเลือกเก็บสีแดงก่อน ให้คนสงสัยว่าทำไมวะ พอคนอื่นสงสัยมันจะคุยกันแล้วมันจะเกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ผมคิดว่าการกวนตีน การปั่นในเกม มันทำให้เห็น scenario ใหม่ๆ ทั้งๆ ที่กติกามันเป็นเหมือนเดิม แล้วมันทำให้เราได้คุยกัน ได้หยอกกัน

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ tagline หลักที่สื่อออนไลน์เราเลือกใช้ มันใช้คำว่า fucking ไปเลยใน tagline “from your fucking friends” ทำไมถึงเลือกใช้คำนี้

คิว: ผมมองว่ามันเป็นเรื่องแบบ WTF ด้วย ถ้าดูจากคำย่อมันจะเหมือน What the Fuck แต่ถ้าไปดูแต่ละคำจริงๆ ที่เราใช้เป็น Core อย่าง W จะมาจาก worth sharing ก็คือเรื่องที่เราอยากแชร์ให้คนอื่นรู้ ตัว T ก็มาจากตัวอักษรสุดท้ายของคำว่า edgy content เรื่องที่มันหมิ่นเหม่หน่อย ส่วนตัว F ก็คือ friend ผมว่าคำว่า friend กับคำว่า fuck ก็เป็น F เหมือนกัน สำหรับผมมันสามารถใช้ได้ทั้ง positive และ negative มันเหมือนคำว่า เหี้ย ที่เรารู้สึกว่า ดีเหี้ยๆ ที่เราใช้แทนความรู้สึก feel good มันก็เหมือนมิติของตัวเพจที่ไม่จำเป็นต้องขาวหรือดำอย่างเดียว แต่มันก็มีความเทาๆ คำๆ นี้มันสะท้อนเราได้ดี 

ธันว์: คล้ายๆ กับที่คิวบอก ผมคิดว่ามันทำให้เห็นความสุดโต่งอะ แบบไอพวกนี้แม่งเชี่ยว่ะ เชี่ยในที่นี้คือไม่ต้องเป็นคนเลวร้ายก็ได้นะ แต่แม่งไปสุดว่ะ เวลาเราใช้คำว่า fucking something มันแปลว่าสิ่งนั้นมัน very very จน very มันไม่พอ แล้วมันมีความดุดัน ความกวนตีนแทรกเข้ามาได้เสมอ มันไม่กำหนดอยู่ที่อารมณ์ ก็เลยเลือกใช้คำนี้ ก็คือบอก character เราไม่ได้เป็นคน formal ไม่ได้แปลว่าเราสุภาพไม่ได้นะครับ เวลาปกติถ้าเราจะใช้คำว่า fuck, เหี้ย ก็ควรจะใช้ได้ เพื่อสื่อสารว่าเราพร้อมจะใช้คำนี้ ทั้งเชิงความหมาย อารมณ์ บุคลิก หรือ character

ประวัติคอนเทนต์ซีรีส์ ของ echo ที่เพิ่งแซ่บ

มีคอนเทนต์ชุดหนึ่งของ echo ที่น่าสนใจ คือเรื่องของการศึกษา ที่สามารถต่อยอดคอนเทนต์จากการสัมภาษณ์คนทั่วไป ครู อาจารย์ ไปยันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เลย เล่าถึงการทำงานของคอนเทนต์ชุดนี้หน่อย

ธันว์: จริงๆ ตัวนี้ก็เป็นตัวที่เราใช้เป็นโมเดลในการทำงานมาโดยตลอด จุดเริ่มต้นของมันตอนนั้นมีแค่ first team เองมั้ง เกือบทุกวันเราไปนั่งกินข้าว ได้คุยกัน แล้วก็ได้รู้จักกันมากขึ้น ก็คุยกันว่าเราโตมายังไงวะ ทำให้รู้ว่าหลายๆ เรื่องมันเกิดขึ้นในวัยเรียน เลยมาคุยกันว่าโรงเรียนมันบ่มเพาะให้เราเยอะเหมือนกัน ใครเป็นคนเหี้ย ใครเป็นคนดี ใครขยัน แต่ที่มีร่วมกันคือความเจ็บปวดเรื่องแตกต่างกันไปมากๆ

ในเมื่อโรงเรียนมันควรจะบ่มเพาะคน มันกลับเป็นที่ที่สร้างประสบการณ์แย่ๆ ได้หลากหลายขนาดนี้เลยหรอวะ แค่นี้เลย แบบเหี้ย มันทำร้ายเราได้ขนาดนี้เลยหรอวะ หลายมิติมากๆ ทุกคนรู้สึกว่าโดนโรงเรียนทำร้ายในมิติใดมิติหนึ่งเสมอ แปลว่ามันมี potential มากๆ ถ้าเราเล่าเรื่องนี้แล้วทำให้คนอื่นมาแชร์เรื่องนี้ได้ มาเล่ามิติที่เขาถูกกระทำ หรือรู้สึกโดนทำร้าย การมาคุยกันอาจจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ด้วย คนในทีมก็ไปทำการบ้านกัน สำรวจเบื้องต้นว่ามันมีแค่พวกเราไหมที่เจอแบบนี้ ก็พบว่าจริงๆ แล้วคนอื่นก็เจอเรื่องแบบนี้ด้วยเต็มไปหมดเลย ไม่เคยคุยกับใครแล้วเขาไม่มีประสบการณ์นี้ ยกเว้นเขาไม่เคยเข้าโรงเรียน อย่างการ research ของผมนี่อาจจะหนักหน่อย ผมลองตั้ง status บน Facebook ไม่เปิดเป็นสาธารณะด้วย ให้เพื่อนมาช่วยเล่าเรื่องพวกนี้กัน แค่ในเวลา 2-3 วัน มี comment 200 กว่า comment ผมไม่เคยได้ comment เยอะขนาดนั้นมาก่อน เชี่ย นี่มันไม่ใช่เรื่องของคนบางกลุ่มแล้ว นี่มันเรื่องของทุกคน 

เลยลองให้คนในทีม select เรื่องที่มันแตกต่างหลายๆ มิติ ให้เขามาเล่าให้ฟัง พอมันจบไปปุ๊ป ออกอากาศไป ก็ได้อย่างที่เห็น ผลตอบรับดีมาก ทุกคนในไทยมันผ่านประสบการณ์แบบนี้กัน ก็มาแชร์กันว่าเจออะไร แท็กเพื่อนมาคุยตามที่เราคิด ที่น่าสนใจคือมีอีกกลุ่มที่เป็นครูมาด่าหรือแก้ต่าง ถ้าด่าก็จะแบบทำไมไม่เล่าเรื่องที่มันดีๆ บ้าง แต่เรา take side ว่าตอนนี้เราจะเล่าเรื่อง negative ก็โอเคให้เขาคุยกันไป ฝั่งของครูเขารู้สึกว่าเขาโดนด่าในเรื่องนี้ เขามองว่าถ้าคุณไม่เป็นครู คุณไม่รู้หรอกว่าพวกเราเจออะไรมาบ้าง

แต่ถ้าดูจริงๆ มันไม่เกี่ยวกับครูแล้ว มันเป็นเรื่องโครงสร้าง เรื่องสาธารณะ เราก็พบว่า เรื่องเราเล่าด้านเดียวอันนี้เรารู้ตัวอยู่แล้ว มันไม่ perfect หรอกในฐานะการสื่อสาร แต่ในฐานะที่มันเป็นสิ่งที่ใช้ชวนคุย มันทำงานเต็มที่ เราเห็นได้ชัดเจน คนดูก็บอกว่ามันขาดเรื่องราวอีกฝั่ง เราก็เลยไปทำต่อ ใช้วิธีเดียวกัน ไปเล่าเรื่องอีกมุมว่าครูมันถูกทำร้ายด้วยระบบการศึกษายังไงบ้าง ก็มี feedback คล้ายๆ เดิม มีคนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่โหดคือ ถ้าผมจำไม่ผิดมันเปิดมาได้ไม่ถึงครึ่งปีมั้ง echo ยังไม่จดบริษัทเลย มีคนหลังไมค์มาทาง inbox Facebook ของเพจบอกว่า “สวัสดีค่ะ (เป็นคนหน้าห้องของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ขณะนั้น) รัฐมนตรีได้ดูงานชิ้นนี้แล้ว” ชิ้นนั้นคือครูนะ เพราะมันวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างของครู “ดูแล้วก็รู้สึกสนใจมาก” แล้วก็พยายามถามว่าเราเป็นใคร ขอนัดมาเจอได้ไหม รัฐมนตรีอยากขอคำปรึกษา อยากแลกเปลี่ยน ที่ออฟฟิศวันนั้นน่าจะคนอยู่มีไม่ถึง 10 คน ทุกคนเห็นตอนข้อความเด้งมา เราประชุมด่วนทันที หน้าซีดเลยนะ ณ วันนั้นมันยังไม่เลือกตั้ง มันมีสิ่งที่เรียกว่า “ปรับทัศนคติ” คือเอาคุณไปอยู่ที่ที่หนึ่งได้นานมากเลยด้วยอำนาจรัฐที่มี เราก็ เอาไงดีวะ คือควรตอบไปว่ายังไง ขัดขืนไม่ไปจะโดนเพ่งเล็งไหม แล้วนี่คือหน่วยงานรัฐที่ใหญ่ที่สุดในเรื่องการศึกษาแล้ว เราจะทำอันนี้ต่อได้ไหมวะ

ก็เลยลองคุยๆ กัน เช็คว่าตัวตนของคนที่ทักมามีจริงไหม ก็มีจริง แสดงว่าไม่ได้มีคนมาแกล้งเรา อธิบายตัวเองก่อนว่าเราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเลย ยินดีไปแลกเปลี่ยนถ้ามีประโยชน์ แล้วก็มีเงื่อนไขคือเราขอสัมภาษณ์รัฐมนตรีในประเด็นเดียวกันได้ไหมว่ามันทำร้ายเขายังไง สุดท้ายเขาตอบว่าได้ ก็ยกกองกันไปคุยกับรัฐมนตรี ก็ได้เป็นชิ้นที่ 3 ออกมา อันนี้ก็ปัง ในนั้นรัฐมนตรีก็รับปากไว้หลายอย่างว่าจะแก้ปัญหานี้ เลยเอาอันนี้ไปให้กลุ่มครูที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาอยู่ได้ดู เอ้า มี reaction ว่ะ เลยขอถ่ายเก็บไว้ กลายเป็นตัวที่ 4 จบครบ loop ซึ่งหลายๆ ตัวก็มีวิธีคิดแบบนี้ แต่มันอาจจะไม่จบ หรือถ้ามันจบแล้วก็ไม่ต้องทำต่อ อันนี้ก็กลายเป็นโมเดล

สุดท้ายแล้วมันก็ไปยืนยันว่าการ take side ไม่ได้เลวร้าย มันดียังไง คือถ้ามันเป็นข่าวคือผิดเลยนะ คุณไม่สามารถเล่าเรื่องได้ถ้าไม่ให้น้ำหนักอย่างอื่น แต่พอมันไม่ใช่ข่าวเราก็ทำได้ต่อไป เห็นความเป็นได้ต่อไปจากคนดูด้วย แล้วมันก็ตอบทั้งคนดูทั้งความคิดเห็นของคน ที่สำคัญที่สุดที่ผมชอบคือมันทำให้เห็นว่าคนมีพลัง คนที่สื่อสารมาอย่างดีมันมีพลัง เพราะนี่มันเริ่มมาจากคนแค่ 10 คนที่กินข้าวแล้วคุยกัน แต่สุดท้ายมันไปถึงเรื่องนโยบาย ถึงคนที่กำหนดนโยบายนี้ในเวลาที่ไม่ถึงปี คน 10 คน ต้นทุนนิดหน่อยพาไปถึงตรงนั้น เวลาผมไปจัด workshop หรือบรรยายผมก็จะชอบพูดว่า เชื่อเถอะว่าคุณมีพลัง

ทำไมในช่วงเวลาถัดๆ มาของ echo ถึงเลือกทำคอนเทนต์ในรูปแบบ “ซีรีส์”

ธันว์: เผลอๆ พวกที่เป็นคอนเทนต์ชุดแรกๆ มาจากลูกค้า Level 99 เป็นของลูกค้า การที่เป็นคอนเทนต์ชุดได้มันใช้พลังงานในการทำสูง คือเรารู้แหละว่าทุกประเด็นมันมีศักยภาพที่จะเล่าได้มากกว่า 1 ตอน ซึ่งแต่ละตอนมันใช้เวลาและเงิน คอนเทนต์ซีรีส์แรกๆ จะถูกออกแบบมาเลยว่ามี 6 ตอนหรือ 8 ตอน มันจะต่างกับงานที่มันต่อยอดมาเรื่อยๆ

ในช่วงปีแรกๆ เราแทบจะไม่สามารถทำได้ เพราะว่ามันเป็นช่วงที่เราก็ explore เหมือนกันว่าเราต้องทำอะไร แค่ไหน เพื่อให้รักษา community ของคนดูไว้ให้ได้ เพราะฉะนั้นงานมันก็จะไม่ถูกดีไซน์ไว้ แต่มันก็จะมาโดยที่ลูกค้าบางเจ้าเชื่อในศักยภาพของเรา เราก็จะบอกว่าเรื่องที่คุณจะเอามันเป็นซีรีส์ได้ ในแต่ละตอนมันมีประเด็นอะไรบ้าง ก็เสนอเขาไป แล้วถ้าเขาเชื่อในเราก็ตอบตกลง เราก็จะได้ทำงานชุดนั้นโดยที่มีเงินสนับสนุนจากลูกค้า แต่ว่าจริงๆ เราก็อยากทำเองหลายอันนะ เพราะผมเชื่อว่างานเรามันไม่เหมือนยุคทีวี งานเราก็ไม่ได้จะ entertainment ขนาดนั้นที่จะเขียนให้จบตอนนึงแล้วมี trigger ให้อยากดูตอนต่อไป คือต่อให้ทำมันเป็นซีรีส์มันต้อง stand alone ได้ด้วย แต่ละตอนมันถูกแยกดูแล้วเขารู้สึกว่ามันเพียงพอ แต่ถ้าอยากดูประเด็นอื่นก็ค่อยไปดูอีก นั่นก็แปลว่างั้นเราก็ไม่ต้องทำงานโดยที่ออกแบบให้มันเป็นซีรีส์ก็ได้ แต่สุดท้ายมันถูกจัดเป็น playlist ก็คือใกล้เคียงกัน บางทีเราวางแผนว่าจะพูดเรื่องการศึกษาแล้วมี 5 เรื่องที่น่าเล่า แต่เราทำ 5 เรื่องพร้อมกันแล้วปล่อยในคราวเดียวกันไม่ได้ 5 เรื่องปล่อยพร้อมกันอาจจะแป๊กก็ได้ เพราะเราควบคุมปัจจัยอื่นไม่ได้ แต่ถ้าเราทำ 5 ตัวภายใต้กรอบบางอย่างร่วมกัน ค่อยๆ ทำทีละตัว ทำตัวแรก อีก 2 เดือนถึงมีเวลาทำตัวที่ 2 จะต้องเปลี่ยนประเด็นหรืออัปเดตข้อมูลนิดหน่อย มันน่าจะดีกว่า ไม่งั้นมันจะกลายเป็นว่า 2 ตัวนี้ทำในเดือนเดียวกัน จบปุ๊ป อีก 2 เดือนมีอัปเดตใหม่ มันก็ไม่สามารถทำได้แล้ว ในมุมหนึ่งก็มีข้อดีของมัน เราเชียร์คนในทีมว่า คุณมองมันเป็นกึ่งๆ ซีรีส์ก็ได้แต่เดี๋ยวเราเอามันมาเป็น playlist ทีหลัง

อย่างคอนเทนต์ซีรีส์ชุดใหญ่เมื่อช่วงที่ผ่านมากับ “DARK : Thailand In Shade” เป็นซีรีส์ที่ใหญ่มาก เนื้อหาลึกมาก เลยอยากถามว่าทำไมถึงลงทุนลงแรงทำคอนเทนต์ซีรีส์ใหญ่ขนาดนี้ได้

ธันว์: จริงๆ ซีรีส์ ‘Dark’ ถูกทำไว้เพื่อจะขายและมีแนวโน้มด้วยว่ามีคนซื้อ เราก็คิดว่าดีลมันอาจจะไม่ได้มีกำไรอะไรขนาดนั้น แต่งานนี้มันจะถูกกระจายออกไปให้คนอื่นเห็นมากยิ่งขึ้น แล้วก็คุยกันทีมว่าศักยภาพเรามันพอจะทำอะไรได้บ้าง ผมไม่รู้ว่ามันต้องเรียกว่าอะไรนะ มันอาจจะต้องเรียกว่าเป็นรายการสารคดี ที่อาจจะไม่ใช่สารคดีตามติดชีวิตคน แต่อย่างน้อยมันมีการ research ที่แน่นหนา มีการออกแบบเรื่องมา คุยกับคนหลากหลาย ออกแบบภาพ ออกแบบการเล่าเรื่อง

ถ้าจะเทียบเคียงกัน ค่ายฝรั่ง อเมริกัน อาจจะนึกถึงงานของ Vox มั้ง ด้วยบรรยากาศ ถ้าบน Netflix ก็นึกถึง Explainer คือมันไม่ใช่งานสารคดีตามติดคน หรือประเด็นนึงเป็นปี แต่ว่ามันเป็นการ well research มาก่อนแล้วก็ออกแบบว่าจะเล่ายังไงเพื่อให้คนดูได้รู้เรื่องบางเรื่อง เราคิดบนฐานนั้นแล้วเช็คกับทีมว่าเรามีศักยภาพที่จะทำได้ ในขณะที่เรากำลังทำงานชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เราทำตามปกติก็ต้องทำไปด้วย เลยเข็นมันออกมา ใช้เวลาจริงๆ ตั้งแต่เริ่มต้น project จนออกอากาศเกือบ 2 ปี กับความยาว 8 ตอน

ซึ่ง 2 ปีก็ไม่ใช่การทำงานชิ้นนี้ทุกวัน เราทำสิ่งนี้ด้วยเวลาที่มี ตอนแรกแผนเราคิดว่าเราทยอยปล่อยเดือนละตัวให้คนได้มีของใหม่ดูทุกเดือน ไปๆ มาๆ ก็คิดใหม่ว่าเดือนละตัวคนอาจจะไม่ดูเราเลยก็ได้ คนมันจะไม่รู้สึก ก็ไม่รู้คนจะมาเห็นเราเมื่อไหร่เพราะเราไม่มีวาระพิเศษ ตอนนั้นเลข follower สวยอยู่ซึ่งจำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ประกอบกับตอนนั้นปีใหม่พอดีก็เลยปล่อยเลยตู้มเดียวเป็น playlist ไป แล้วช่วงนั้นคนก็ว่างดูพอดี มันก็ไม่ได้หวือหวาเท่ากับพวก Sex เท่ากับ การศึกษา มีเรื่องพวกนี้ที่ไม่ค่อยถูกเห็นก็ไม่มีใครเล่าซะทีแต่เรารู้ว่าเราเล่าได้โดยที่ไม่ติดเงื่อนไขอะไรเลย และปลอดภัยด้วยว่าไม่ได้ทำให้ใครเจ็บ โอเค สุดท้ายมันก็มีคนเจ็บซึ่งเจ็บในทีนี้คือรู้สึกไม่ดีต่อมัน ก็ทำต่อไป ซึ่งก็เจ็บ คนทำงานก็เจ็บ เราก็ต้องรักษา balance รักษาความปลอดภัยโดยเฉพาะกับแหล่งข่าวครับ

คิว: ถ้าพูดถึงบรรยากาศการทำงานช่วงนั้น เอาจริงๆ ตอนนั้นทีมเราถูกแบ่งเป็นทีมย่อยๆด้วย แล้วก็มีอีกทีมหนึ่งคือทีมการศึกษาเลย ตอนนั้นเราจะถูก split กันอยู่เป็น 3 ทีม ซึ่งถ้าพูดกันจริงๆ ตอนแรกผมเองก็ไม่ได้อยู่ใน Dark แต่ได้เห็นความเคลื่อนไหวตลอด อย่าง Dark เราไม่ได้ถูกออกแบบมาเป็นสารคดีขนาดยาวตั้งแต่แรกเราแค่อาจจะทำเป็นคลิปยาวเฉยๆ เราลองยาวขึ้นจากแต่ก่อนเราพยายามไม่ให้เกิน 3-4 นาที เราไม่ได้ไปขนาด 7 นาทีอะไรอย่างนี้เลยเพราะเรารู้สึกว่าคนดูดูไม่จบ แต่พอตอนหลังอย่างที่ธันว์บอกว่าด้วยความที่เรา explore ไปเองเรื่อยๆ ด้วย ตัว Dark มันก็เลยถูกพัฒนามาเป็นซีรีส์ขนาดยาว

อย่างตัวผมเองมองว่ามันก็ยาวมากจริงๆ ในกระบวนการทำงานของมัน ตอนนั้นผมเป็นคนดูงานชุดซีรีส์ Sex (echo PULSE-X Series) ซึ่งก็จะมี 7 ตอนก็จะพอๆ กับ Dark แต่ว่าจำนวนความยาวต่อตอนมันสั้นกว่า ของ Dark ตอนนั้นมันยังมี pilot ออกมาแค่เทปเดียวเองมั้งที่ให้คนอื่นดูนะ เพราะตอนนี้เขาก็จะซุ่มทำงานกันในทีมเขา คือ echo จะมีทัศนคติช่วงแรกที่ถ้างานยังไม่ดีเราไม่ให้คนอื่นดู คนอื่นในที่นี้คือคนอื่นในทีมนะ ออกมาให้ดูก็โดนใส่กันเองในทีมให้มันเสียกำลังใจเปล่าๆ ก็จะเก็บไว้ก่อน ตอนนั้นซีรีส์ Sex จบไป ประมาณ 6-8 เดือน Dark เพิ่งลากออกมาประมาณปีครึ่ง คือเสร็จไปครึ่งทาง จนพนักงานคนนึงที่เขาสังกัดอยู่ทีม Dark เป็นตัวยืนเขาไปที่อื่นแล้ว มันนานมาก ผมเลยต้องลุยงานชุด Dark ที่เหลือให้

เอาจริงๆ ก็รู้สึกโชคดีเพราะตัวที่ได้ทำ ก็เป็นตัวโปรโมต (ตอนที่ชื่อว่า แรงงานประมง – ผู้เขียน) ซึ่งธันว์ก็เป็นคนไปลงเรือเองกับตากล้องอีกคน ผมได้เป็นคนทำตอนนี้ด้วย รู้สึกว่าตอนนี้ material ที่เราถ่ายทำมาก็ใกล้เคียงสารคดีที่สุดล่ะ ตัวอื่นๆ เราไปถ่ายกันแค่คิวเดียว เราไปเจอ subject 2 ชั่วโมง เราก็กลับ หรือเราไปเจอ subject 2 วัน แต่เราไม่ได้ไปปักหลักอยู่ที่นั่นกับเขาทั้งวันทั้งคืน รูปแบบมันไม่ได้เป็นกระบวนการการทำงานแบบสารคดีขนาดนั้น เราแค่พยายามจะทำมันขึ้นมาจาก material ที่เรามีดีกว่า แต่อย่างตัวแรงงานประมงนี่ ธันว์ไปลงเรืออยู่ประมาณ 6-7 วันโดยที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไปตามรอบเรือโดยไม่ได้เข้าฝั่ง ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็น material ที่มันมีใกล้เคียงที่สุดในการทำสารคดี

เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้ว echo มีเอกลักษณ์ด้านคอนเทนต์วิดีโอ ทีนี้พอเป็น echo podcast มันจะเหลือแค่คอนเทนต์รูปแบบเสียง เราทำงานยังไงกับสิ่งนี้บ้าง

ธันว์: มันมีการคุยกันในทีมว่างานหลักๆ เราคือวิดีโอสั้น และมันจะมีคนจำนวนหนึ่งที่อยู่กับเนื้อหายาวๆ ได้ podcast ก็ดูมีศักยภาพในเวลานั้น ทุกครั้งที่เราทำงานเราต้องค้นคว้า เราเจอคน เราเจอเรื่องเยอะมาก แต่พวกนี้มันไม่สามารถเล่าได้ทั้งหมดในวิดีโอสั้น เลยคุยกันว่าควรมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งเชิงการเผยแพร่ และการหากลุ่มคนใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยรู้จักเราด้วย อุปกรณ์เบื้องต้นเราก็มีอยู่แล้ว มันสามารถทำได้แต่ขาดคนทำ เราก็เลยหาคนมาช่วยก็คือ narrator podcast ประเด็นก็เหมือนวิดีโอที่เราทำกัน ก็เป็นประเด็น edgy เรื่องที่คนเข้าถึงข้อมูลชุดนั้นยากแต่เรารู้ว่าเราเข้าถึงข้อมูลนั้นได้จากไหนก็หาคนนั้นมาเล่าแต่เราก็ทำเป็นเรื่องยาวๆ เปิดเพลินๆ ได้โดยที่ไม่ต้องดูภาพ บางกรณีก็เกี่ยวเนื่องกันกับวิดีโอแต่เราจะไม่ได้บอกอย่างตรงไปตรงมาว่ามันเกี่ยวเนื่องกัน

คิว: มีการคุยกับพี่ในทีมนิดหน่อยเกี่ยวกับ echo podcast เขาเล่าว่าแนวทางการจัดรายการของเรา เป็นความรู้สึกที่เหมือนการคุยกันบนโต๊ะกินข้าวหรือในวงเหล้า เพราะบางครั้งประเด็นของ echo ก็มาจากการที่เราคุยกันในวงเหล้าจริงๆ เลยอยากให้ vibe แบบนั้น  character ในแต่ละรายการเป็นแบบไหนก็สบายๆ เหมือนคุยกันในวงเหล้า สนุกๆ ติดเล่นหน่อยประมาณนี้ครับ

ธันว์: จะบอกว่ามันมีความเป็น structive conversation หมายถึงว่าถ้าให้อธิบายประเด็นมันอาจจะจริงจังก็ได้แต่มันก็ไม่ต้องเครียดขนาดนั้น ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราทำออกมาได้ดี

POWERเอคโค่

มาถึงตอนนี้บ้าง เราอยากรู้ว่าจริงๆ คิดว่า echo ส่งเสียงสะท้อนสู่ผู้คนในสังคมไทยได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว

คิว: ส่วนตัวคิดว่าเสียงยังไม่ดังเท่าที่เคยทำได้ ถ้าให้พูดถึงปัจจุบันก็ยังไม่ดีอย่างเก่าแต่ผมเชื่อว่ามันต้องดีกว่าเดิม คาดหวังให้มันดีกว่าเดิมด้วย

ธันว์: ถ้ามุมของ echo ผมคิดแบบเดียวกับคิว แต่ถ้ามองในภาพสังคม พอผมทำงานนี้มันก็ต้องดูเพื่อนๆ ใน league เดียวกันว่าเขาสร้างแรงกระเพื่อมได้เยอะ ซึ่งมันก็ดีมากๆ มันอาจจะเป็นเรื่องของ algorithm ของ platform ที่เราใช้ด้วย การที่คนดูเราน้อยลงมีหลายเงื่อนไข เงื่อนไขแรกคือตัวงานเราเองด้วย เราก็ทำงานที่เป็น origianl story น้อยลงเพื่อหาเงิน ซึ่ง echo ก็ทำธุรกิจด้วยเพื่อเอาเงินฝั่งธุรกิจมาให้ฝั่ง origianl content เราไม่ได้เป็นคนรวยมาจากไหน investor เขาต้องลงทุนกับเรา เราก็ต้องคืนเขาด้วย อันนี้ทุกบริษัทน่าจะคล้ายๆ กัน ใน 2 ปีแรกเราทำงานเต็มที่ให้แบรนด์แข็งแรง พอแข็งแรงก็ถึงเวลาที่ต้องคืนให้เขาบ้าง เงื่อนไขแรกคือเราแบ่งสัดส่วนการทำงานเราเปลี่ยนไปในช่วง 1 – 2 ปีหลังตามเงื่อนไขเศรษฐกิจและ COVID-19 เงื่ือนไขที่สองคือเราควบคุมอะไรไม่ได้เลย เราควบคุมสิ่งที่เราจะสนใจได้ เราคาดเดาได้ตามที่เราทำตลอด แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะต้องสนใจสิ่งนั้นตามที่เราคาดเดาไว้ เงื่อนไขที่สามเป็นสิ่งที่ดีนะครับคือมันไม่ได้มีแค่เราทำสิ่งนี้แล้ว มันมีคนจำนวนมากที่สนใจเรื่องแบบที่เราเล่าอยู่ โอเค เล่าแบบมี character ของตัวเองแตกต่างกันออกไป สำหรับคนดูที่มีจำนวนเท่าเดิมมันมีที่ทางให้เขาได้ไปดู ผมไม่ได้บอกว่าเขาต้องเลือกดูที่ใดที่หนึ่งด้วย ในฐานะเป็นผู้ผลิตผมก็เป็นคนดู ซึ่งผมไม่ได้ดูแค่ echo ผมก็ดูทั้งหมดแหละ ข้อดีของมันคืออาจจะหลุดหายไปจากวงโคจรของเราบ้างในสัดส่วนเท่าไหร่เราไม่สามารถดูได้ แต่ที่ชัดเจนคือประเด็นที่เราอยาก หรือเคยเล่น มันถูกเล่นโดยคนอื่นเป็นคนเริ่มต้น หรือเป็นคนสานต่อ คนดูก็ฉีกไปดูที่อื่นด้วย ฝั่งเราก็ไม่ผลิตงานออกมาเสียทีเพราะ original content เราน้อย algorithm มันก็ผลักไปที่ความเคยชิน เขาก็จะเข้าถึงช่องอื่นได้ง่ายกว่าช่องเราโดยปริยาย แต่มันดีที่มีพื้นที่อื่นสื่อกลุ่มอื่นที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นคล้ายคลึงกับสิ่งที่เราสนใจเต็มไปหมดเลย

อีกอย่างในมุมของอุตสาหกรรมสื่อเองมันยังไม่เกิดขึ้นแบบเป็นรูปธรรมนัก มันไม่เห็นว่ามาตรฐานมันต้องอยู่ตรงไหน ใครถนัดเรื่องอะไรกันแน่ การจะจ้างงานแต่ละครั้ง หรือความเข้าใจว่าคนเหล่านี้มันทำงานยังไงกันแน่โดยพื้นฐานมันนึกไม่ออก โคตรสร้างมันไม่ชัดเจน เราพูดให้ทุกคนเข้าใจไม่ได้เพราะอย่างที่บอกว่าอุตสาหกรรมมันยังไม่เกิด ราคากลางก็ไม่รู้อยู่ตรงไหน คนแบบไหนที่มีศักยภาพในการทำงานแบบนี้ก็ไม่แน่ใจ เพราะมันมาจากหลายสายมากเลย แต่พอมันเกิดขึ้นหลายๆ เจ้าอันนี้เป็นสิ่งที่น่ายินดี โอเค ผลที่ตามมาคือทุกเจ้าก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น echo ก็ด้วยเพราะว่าเราก็ต้องแข่งขันการ perform นิดนึง ถึงแม้ว่าเราจะเชียร์เรื่องเดียวกันก็ตาม

ในฐานะ producer ของโชว์กลุ่ม echo ตอนนี้เขากำลังโลดแล่นอยู่บนเวที แสงสีกำลังฉายมาที่เขา และคนดูกำลังรับชมสิ่งนี้อยู่ไม่มากก็น้อย ในฐานะคนอยู่หลังเวทีโชว์ ลองให้คะแนนสิ่งที่คนเหล่านี้โชว์ออกไปหน่อยว่าจาก 10 คะแนน ควรให้เขาเท่าไหร่ดี

คิว: ผมว่าผมให้คะแนนที่ 6.5 คะแนน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของช่วงหลังๆ ที่ดรอปลงไปด้วย condition อย่างที่ธันว์บอกนี่แหละ ผมก็รู้สึกว่าเราขาดความต่อเนื่องกับคนดู ผมก็อาจจะตัดคะแนนความต่อเนื่องความสม่ำเสมอไป ผมว่าการตัดคะแนนตัวเองมันดีกว่าให้คนอื่นเขามาตัดให้เรา (หัวเราะ)

ธันว์: ผมให้สัก 6 ผมคิดว่ามันมีความเป็นไปได้อีกเยอะมากที่มันไปได้ แต่ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่เงื่อนไข มันคือเรื่อง spirit เรื่องที่เราเชื่อว่าเรากำลังขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้อยู่ สมาชิกทุกคนที่เรา recruit มาแข็งแรงมากๆ อันที่มันยังพาไปจนเต็ม 10 ไม่ได้ เราต้องพยายามสร้างโมเดลในการทำงานและการสื่อสารใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา หนึ่งคือให้ธุรกิจมันรอดซึ่งเราทำอยู่แต่ 2 ปีนี้มันโหดสำหรับทุกคน สุดท้ายต่อให้มันไม่มี COVID-19 ไม่มีอะไรเลย มันก็อยู่ในโลกที่เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้อยู่ดี จะใช้ตรงนี้เป็นเงื่อนไขว่าเราทำได้ไม่ดีเพราะวิกฤตนั้นก็ได้ แต่มันไม่ใช่ข้ออ้างขนาดนั้น ผมคิดว่าอีกสิ่งที่จะไปต่อได้ก็คือจัดการเรื่องการเงินให้เรียบร้อย ผมคิดว่าหลายๆ เจ้าก็ต้องจัดการเพื่อให้ตัวเองมีทรัพยากรเพียงพอในการทำ original content ซึ่งมันจะแสดง character ของทีมงานนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ถ้าไม่หยุดขยัน ไม่หยุดใฝ่รู้เหมือนที่เป็นมา ก็น่าจะขยับไปได้สัก 9 ผมว่าน่าจะไม่มีทางได้ 10 คะแนน เพราะว่าคะแนนที่ 10 มันไม่ได้เกิดจากเรา ผมว่าอันนี้ต้องเป็นเรื่องที่ว่าไปต่อยังไงต่างหากด้วย

ถามต่อเลยว่าจากคะแนนที่ให้ในตอนนี้ ถ้ามันผ่านเวลาไปที่อนาคตสัก 2-3 ปีก็ได้ เราคิดว่าสามารถเพิ่มได้อีกกี่คะแนนที่มันขาดหายไป และเพิ่มได้อย่างไรบ้าง

คิว: ผมเล็งไว้ที่ 8 ก่อนเลย แต่ในจริงๆ ใจเราเล็งที่ 8.5 หมายถึงเราตั้งไว้ก่อน แต่เราต้องการมากกว่านั้นอยู่แล้วแหละ ถ้าถามผม ผมคิดเหมือนธันว์ ก่อนหน้านี้มันมี COVID-19 มีอะไร เราก็ไม่อยากโทษหรอก เพราะทุกๆ คนเจอเหมือนกัน แต่ว่าถ้าถามตอนนั้นผมอาจจะให้ 9 เลยก็ได้ ส่วนถ้าให้บอกตอนนี้ก็ต้องบอกตามความเป็นจริงที่เราประเมินตัวเรา หากถามผมมันก็ดีแล้วที่เราได้กลับมาทบทวนตัวเองด้วยทั้งทีมเราและ co-founder เขาก็ได้ทบทวนสิ่งที่ได้เกิดขึ้น ในมุมนั้นมันก็ไม่ได้เสียเปล่านะ มันก็ทำให้เราเกิดไอเดียใหม่ๆ เช่น เราอยากจะโฟกัสในแต่ละพื้นที่ให้มากขึ้น เป็นจังหวัด เป็นภูมิภาค นอกจากคอนเทนต์ที่เสิร์ฟคนเมืองหรือเมืองใหญ่ๆ 

หรือการที่จะออกไปแตะคอนเทนต์กับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่เราสนใจอยาก collab กับเจ้าอื่นๆ เพื่อทำงานร่วมกันมากขึ้น ผมก็คิดว่าถ้ามองไปอีก 5 ปีก็ยังมองเห็นไม่ชัดว่าจะไปอยู่ตรงไหน แต่ผมเห็นความเป็นไปได้เต็มไปหมดเลย

ธันว์: ผมคิดแบบนี้ เป็นคำตอบที่ทำเท่แน่ๆ ผมคิดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้ามันอาจไม่ใช่ scale นี้ scale ในที่นี้คือมันอาจไม่ใช่มาตรวัดเลขเท่าไหร่เต็ม 10 มาตรวัดมันอาจจะเป็น A B C D ถ้าเราอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต มาตรวัดบนโลกอินเทอร์เน็ตมันเป็นแบบนี้ ผมคิดว่าอันนี้มันสำคัญคือเราไม่รู้หรอกว่ามาตรวัดจะเปลี่ยนเป็นที่อะไร คนจะให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ในวันหนึ่งเรื่องไร้สาระมันอาจกลายเป็นเรื่องนึงที่คนสนใจร่วมกันก็ได้ แต่คุณจะปฏิเสธว่านั่นไม่ใช่ความจริงก็ไม่ได้ สมมติมี clip ตลกบนอินเทอร์เน็ตแล้วทุกคนให้ความสนใจมัน คุณจะบอกเรื่องนี้ไร้สาระไม่ได้ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามคุณบอกว่าสิ่งไหนก็ตามมันมีสาระหรือมันไร้สาระอย่างมีนัยยะสำคัญ แล้วบอกต่อว่ามันดีหรือไม่ดียังไง โดยที่ไม่มีกรอบอะไรอ้างอิง ไม่ได้บอกว่าคุณวิพากษ์วิจารณ์มันด้วยอะไร จะทำให้คุณกลายเป็นคนที่ดูถูกคนอื่นไปโดยปริยาย อันนี้ผมว่าสำคัญ ซึ่งโชคดีตรงที่คนที่ทำงานบนโลกอินเทอร์เน็ตมาจากทางที่เชื่อว่าคนเท่ากันไปแล้ว เพราะว่าถ้าคุณโตมากับโลกอินเทอร์เน็ต เป็นใคร มาจากไหน เวลาคุณ take action ก็ 1 account เท่าๆ กัน สุดท้ายคุณก็รู้ว่าคนๆ นั้นเป็นใคร ผมก็เลยรู้สึกว่าถ้ามันเป็นมาตรวัดเดิม ผมก็คิดว่า echo คงได้ 9 ด้วยอะไรหลายอย่าง แต่ไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะไม่ได้ 9 ด้วยนะ อันนี้มันคือการประเมินตนเอง แต่ถ้ามาตรวัดใหม่ก็ต้องวิ่งกันไป

คิว: อีกอย่างคือเรารู้สึกว่า attitude ของเรามันไม่ได้แข็งเหมือนที่อื่น เราก็ตั้งเป้าว่าเราแข่งกับตัวเอง เราได้ 9 คนอื่นจะ 9.5 จะ 10 หรืออะไร เราไม่แคร์เราต้องการจะไปแค่ 9 เราพร้อมจะ collab กับคนอื่น เจ้าอื่นไม่ใช่ คู่แข่ง หรือศัตรูเรา อยากใช้คำว่าเพื่อนร่วม league มากกว่า เราอยู่ใน platform เดียวกัน มันเป็นเพื่อนกันจริงๆ ไม่ได้แข่งกับคนอื่น เราก็ตั้งเป้าของเรา

ธันว์: มันก็ต้องมีขิงกันบ้างล่ะในความเป็นจริง เช่น งานนี้ฉันทำได้ดี มันก็ไม่ได้แข่งโดยตรงแต่ความจริงมันก็แข่งในบางเรื่อง เพื่อจะได้มีตัววัดว่าตัวเองอยู่ตรงไหน มีการเปรียบเทียบกัน แต่ถ้าอยู่ใน league เดียวกัน สื่อสารสิ่งเดียวกัน ประเด็นใกล้เคียงกัน เป้าหมายก็ไม่ได้กันมาก ในเชิง performance มันแข่งกันได้ มันวัดผลได้ด้วยบางเงื่อนไข แต่ว่ามันต้องพุ่งไปข้างหน้า มันก็ต้องเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรม เคลื่อนทั้งวงการ วงการนี้มันไม่ได้เคลื่อนด้วยตัวมันเอง คุณไปคุยกับใครก็ได้ตำแหน่งประมาณนี้ หน้าที่ประมาณนี้ มันก็จะพูดเกินกว่าสิ่งที่มันทำอยู่ มันไม่ได้ทำวิดิโอให้วิดิโอเซ็ตมันในตัว มันไม่ได้ทำบทความให้บทความเซ็ตตัวมันเอง มันเชื่อว่าเรื่องนี้กำลังสื่อสารอะไรบางอย่าง และมันไปมีผลต่ออย่างอื่น ผมก็คิดว่าควร collab กันให้มากที่สุด 

คิว: ก็ระบบนิเวศเดียวกันอ่ะ ต้องช่วยเหลือกัน และต้องมีความแตกต่างหลากหลายต่อกัน


ถ่ายภาพโดย ธเนศ แสงทองศรีกมล