fbpx

“ใครที่กำลังจะเปิดเพจเฟสบุ๊คเพื่อทำสื่อ หยุดอยู่ตรงนั้น”

นี่คือคำพูดที่ “ระวี ตะวันธรงค์” นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ส่งสารผ่านเราไปถึงผู้อ่านและผู้ชมทุกท่าน ถึงสงครามการผลิตสื่อออนไลน์ในยุคปัจจุบัน ว่าการแข่งขันในยุคนี้นั้นต้องต่อสู้กับ Algorithm ของแพลตฟอร์ม และนี่เป็นเพียงแค่การเกริ่นเท่านั้น เพราะในบทสัมภาษณ์ชุดนี้นั้น ยังพูดถึงเรื่องราวของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงเสือกระดาษจริงหรือไม่? และการก้าวต่อไปของสื่อออนไลน์ว่าต้องไปอย่างไรต่อบ้าง

วันนี้ ส่องสื่อได้นำบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่ได้สัมภาษณ์ “ระวี ตะวันธรงค์” มาเผยแพร่ที่นี่ เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจและสามารถนำข้อมูลที่ได้จากบทสัมภาษณ์ไปพัฒนางานตนเองต่อไปในอนาคต ตลอดจนเห็นอนาคตของการก้าวต่อไปในสงครามสื่อออนไลน์อีกด้วย

นิยามของ “สำนักข่าว” ของสมาคมฯ ต้องเป็นแบบไหน

จุดหนึ่งที่มีคนถามเยอะมากๆ รู้สึกว่าแบบทำไมอย่างนั้นทำไมอย่างนี้ บางคนบอกว่าฉันมีเพจข่าวเป็นของตนเอง มีประสบการณ์ข่าวมา 30 กว่าปี แล้วออกมาเปิดเพจข่าวของตัวเอง แล้วบอกว่าฉันเป็นสำนักข่าวแล้ว เราก็บอกว่าคุณไม่ได้ผิดที่คุณทำ แต่เนื่องจากสมาคมนั้นมีเรื่องของจริยธรรมจรรยาบรรณวิชาชีพ สิ่งที่ผมพูดเสมอคือความว่า “ความรับผิด” และ “ความรับชอบ” ทำข่าวให้คนชอบไม่ได้ยาก แต่ทำข่าวแล้วผิด คุณรับผิดอย่างไร อันนี้ยาก

ดังนั้น สมมุติว่าน้องเปิดเพจ Facebook ขึ้นมาเพจหนึ่ง แล้วก็รายงานข่าวมีคนตามเป็นแสนเป็นล้าน แต่วันหนึ่งเกิดไปละเมิดอะไรเขาเข้า แล้วเขาฟ้องกลับมา น้องก็ปิด Facebook หนี ไม่มีองค์กรใดรับผิดชอบทางกฎหมายให้กับเขาได้เลย ซึ่งก็รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมกับประชาชน ดังนั้นเราคิดว่าการเป็นสำนักข่าวที่ดีต้องมี “ความรับผิด” และ “ความรับชอบ” ดังนั้นการเป็นสมาชิกสมาคม การรับผิดและการรับชอบคุณต้องมีนิติบุคคลที่บอกชัดเจนว่าคุณจดทะเบียนเพื่อทำสื่อมวลชนนะ ไม่ใช่คุณจดทะเบียนอย่างอื่นแล้วมาทำสื่อ

แล้วคุณต้องมีเว็บไซต์ ซึ่งถ้าคุณมีเพจคุณปิดหนีเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เว็บไซต์เราตามโดเมนได้ เราถามกระทรวงดิจิทัลได้ ตามหาผู้รับผิดชอบโดเมนนั้นได้เวลามีปัญหา โดยเฉพาะประชาชนฟ้องร้องเข้ามา ดังนั้น นิยามของสมาคมมันเลยเป็นแบบนี้ ในขณะเดียวกันสังคมมันมีนิยามที่เปลี่ยนไป ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ แต่แน่นอนว่าเรายังคงใช้จรรยาบรรณ จริยธรรมสื่อ และความรับผิดชอบ จรรยาบรรณ-จริยธรรมมันเป็นนามธรรม ความรับผิดชอบมันเป็นพฤติกรรมที่ต้องทำ นี่คือสิ่งที่เรายึดโยงและให้ความสำคัญมาก

ในรอบปีที่ผ่านมาว่าบรรทัดฐานของสื่อออนไลน์แตกต่างมากน้อยแค่ไหน

ปี 2565 เรามีบรรทัดฐานที่ดีขึ้นในเชิงเนื้อหา สมาชิกจำนวนมากรวมถึงสื่อออนไลน์ที่ไม่ใช่สมาชิก ให้ความสำคัญกับ Informative Content (คอนเทนต์ที่ให้ข้อมูล) มากขึ้น มากกว่าข่าวเร็ว เมื่อก่อนเราจะต้องข่าวด่วน ข่าวเร็ว เดี๋ยวนี้เป็น Informative Content ทำยังไงก็ให้ที่จะให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนที่สุด พฤติกรรมใน 2-3 ปีก่อน ก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำเราเห็นคนเปิดสื่อออนไลน์เยอะมากเลย แต่สุดท้ายมันอยู่ได้ไม่นาน มันต้องมีความรับผิดชอบเป็นสำคัญ ดังนั้นปี 2565 เราจะเห็นได้ว่า ใครยืนอยู่ได้ใครยืนอยู่ไม่ได้ คนจำนวนไม่น้อยเลยที่สุดท้ายต้องปิดตัวเองลง แต่ก็มีคนจำนวนมากเหมือนกันที่อยู่ได้และพัฒนาต่อเนื่อง

ระบบกองบรรณาธิการมีความสำคัญในยุคนี้มั้ย

มีความสำคัญมาก แน่นอนว่าเรามีคำพูดใหม่คือ Content Creator แปลตามภาษาอังกฤษตรงตัวก็คือผู้สร้างสรรค์เนื้อหา แต่มันมาจาก Eye Ball ของคนคนเดียว ดังนั้น Eye Ball คนเดียวมันต้องมีความเชี่ยวชาญและความสามารถมากพอที่จะหาข้อมูลให้ประชาชนได้ ไม่ได้ผิดที่จะมีคนอย่างเขา แต่การมีระบบบรรณาธิการมันเหมือนกับเป็นการเพิ่ม Eye Ball อีก Eye Ball หนึ่ง อย่างน้อยสะกดผิดมีคนตรวจ อย่างน้อยละเมิดสิทธิใครมีคนตรวจ อย่างน้อยคุณทำข่าวมีปัญหาแล้วถูกฟ้องร้องมีคนช่วยรับผิดชอบ ระบบกองบรรณาธิการยังมีความสำคัญ แต่เยอะหรือน้อย จะ 2 คน หรือจะ 100 คน อันนี้แล้วแต่ที่เลย แต่ยังคงมีความสำคัญ และในอนาคตมีความสำคัญมากขึ้นอีก

แล้วปัจจุบันเราเห็น Creator เปิดหน้าขึ้น TikTok คนเดียว แล้วก็พูดสิ่งที่ตัวเองคิดในมุมมองของตัวเองออกมา บางมุมมองความคิดเป็นมุมมองที่ดีเป้นประโยชน์ต่อสังคม บางมุมมองความคิดเป็นความคิดเชิงอคติที่มีวิธีคิดในเชิงอีกด้านหนึ่ง แล้วทำให้เกิดการเลือกข้าง ซ้ายขวาหน้าหลัง แต่ปีหน้ามันจะเป็นปีที่ระบบของ Platform มันจะเริ่มคัดกรองมากขึ้น Google บอกแล้วว่าจะให้ความสำคัญกับเนื้อหามากกว่าคำพาดหัว เมื่อก่อนใครทำ ปั่น Keyword นี้เยอะมากเลย บนโลกแข่งกันๆ คนดูเยอะ แต่ Google บอกไม่อยากได้อย่างนั้นละ เราอยากได้ความเป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้นเขาจะวัดค่าว่าเว็บไซต์คุณมีค่าพอก็ต่อเมื่อคอนเทนต์คุณมีคุณภาพ ดังนั้นคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญในปีหน้า

สมรภูมิสื่อออนไลน์ในช่วงปีที่ผ่านมาดุเดือดแค่ไหน

จริงๆ มันเหมือนทุกปี เดือดไม่ได้ต่างกัน แต่แต่ละปีมันมีวิถีที่ผ่านไปเรื่อย ๆ นะครับ 3 ปีที่แล้วผมพูดเรื่องการ Transformation องค์กรให้เปลี่ยนแปลงจากสื่อเดิม ๆ ในทุกตำแหน่งงานให้เป็นดิจิทัล เช่น คนทำหนังสือพิมพ์ คนทำโทรทัศน์ ช่างภาพ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันต้องมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ ปี 2565 สิ่งที่มันเกิดขึ้นบนสมรภูมิแห่งนี้ก็คือ ทุกคนเปลี่ยนผ่านกันเสร็จแล้ว พอเปลี่ยนผ่านเสร็จแล้วแข่งกันเยอะ มันเป็นการแข่งขันกันละ หลายคนก็จะเห็นว่ามีการทำวิดีโอเป็นรายการออนไลน์ต่างหากจากโทรทัศน์ มีการทำข่าวที่มีคุณภาพมากขึ้น มีการทำเรื่องความเร็วของข่าวเยอะขึ้น มีการทำวิดีโอบนสื่อออนไลน์เยอะขึ้น สมรภูมิก็แข่งกันบนนั้น ทีนี้สมรภูมิเหล่านี้มันกำลังทำให้พื้นที่ของการแข่งขันมันมีจำนวนผู้เล่นเยอะ แต่ค่าโฆษณามันเท่าเดิม บวกกับโควิด-19 ที่ผ่านมาสองปีแล้ว และตอนนี้ผู้ที่ลงทุนในสื่อ สิ่งที่เขาตัดอย่างแรกคือค่าโฆษณาก่อนเลยครับ เพราะเขาต้องเอาตัวรอดจากสื่อจากธุรกิจเขา ดังนั้นรายได้เราดิ่งลง โฆษณาเราดิ่งลง รายได้โฆษณาดิ่งลง บางสื่ออยู่ได้ บางสื่ออยู่ไม่ได้ มันก็เลยอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2566

โควิด-19 เราเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง

สิ่งที่เราเรียนรู้ได้ก็คือ คนไทยไม่ได้สนใจแค่ข่าวดราม่าบันเทิง หรือข่าวอาชญากรรมที่เราอาจจะมีความคิดว่าอาชญากรรมเยอะ ข่าวบันเทิงเยอะ เราเรียนรู้ด้วยว่า ข่าวอันดับ 1 ในตลาดสื่อออนไลน์ที่เกี่ยวกับเขามากที่สุดคือ ข่าวสุขภาพ มันคือหนึ่งในปัจจัยสี่ สุขภาพ ที่อยู่ ยารักษาโรค เสื้อผ้าต่างๆ คนสนใจข่าวสุขภาพสูงที่สุดเท่าที่เราเคยทำข่าวกันมานะครับ เราเรียนรู้ว่า Informative Content ดีกว่าคอนเทนต์ที่เร็วและเป็นแค่บันเทิงเฉยๆ 

จุดอ่อนของสื่อออนไลน์บ้านเราคืออะไร

จุดอ่อนของสื่อออนไลน์บ้านเราคือมันเยอะไป คือเรานิยามยังไงดีกว่า ผมว่านิยามคำว่าสื่อออนไลน์เราไม่เท่ากัน ของน้อง ของพี่ ของช่างภาพ ของประชาชน รวมทั้งท่านผู้อ่าน ผมว่าสื่อออนไลน์เราไม่เท่ากัน ดังนั้น คำนิยามเหล่านี้แหละ อยู่ที่ว่าเราเชื่อใคร คนไทยเป็นคนที่ว่ามีการรับรู้ มีพฤติกรรมอย่างหนึ่งมาแต่ไหนแต่ไรละ เวลาดูละครไทยเราดูที่ดาราไม่ได้ดูพล็อตเรื่องนะ แต่เวลาเราไปดูหนังเกาหลีเราดูพล็อตเรื่องก่อนดูดาราทีหลัง วิธีการเสพสื่อไม่เหมือนกันละ ดังนั้นคำว่าสื่อออนไลน์ คนติดตามเพราะคนหรือติดตามเพราะคอนเทนต์ เราอาจจะติดตามส่องสื่อเพราะว่าเป็นน้องปอนด์ (บรรณาธิการบริหาร-ผู้สัมภาษณ์) ก็ได้ (หัวเราะ) ถ้าเป็นคนอื่นทำก็ไม่ดูแล้ว อาจจะติดตามบางเพจเพราะคนทำ ถ้าเป็นคนทำฉันไม่ดูก็เป็นได้ ดังนั้นนิยามสื่อออนไลน์มันเลยแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่นิยามของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์คือ ผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ไม่ใช่สื่อออนไลน์ เพราะสื่อออนไลน์เป็นใครก็ได้

อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้สื่อออนไลน์พัฒนาได้ต่อไป

โลกมันหมุนเร็วขึ้น เมื่อก่อนเขาใช้คำว่าเมื่อคุณหยุดเดิน คนอื่นจะเดินแซง แต่วันนี้เปลี่ยนใหม่ ถ้าคุณหยุดวิ่ง คนอื่นจะวิ่งแซง แสดงว่าเราต้องวิ่งเร็วขึ้น และที่สำคัญคือการเอา Adaptive คือการพัฒนาเอามาใช้กับความเป็นเรา ไม่ใช่เขาไปนู่นแล้วเราต้องทำบ้าง ไม่จำเป็นครับ เราต้องเลือกในสิ่งที่เป็นเรามากที่สุด เป็นปัจเจกของเรามากที่สุด ไม่ใช่ 1 คอนเทนต์ทำทุกอย่าง จริงๆ 1 คอนเทนต์มันอาจจะมีที่ดีที่เดียวก็ได้

ในความเป็นอิสระของสื่อออนไลน์ครับ อะไรคือขอบเขตของการทำงาน

เอาความอิสระก่อนเลยนะ ไม่มีใครกำกับดูแลสมาคมผมเลย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ยังไม่ได้กำกับดูแล กสทช.ก็แบบว่า เปล่า ฉันกำกับดูแลโทรทัศน์อย่างเดียว ผมก็เคยถามว่าแล้วใครกำกับผมครับ เขาก็มองหน้ากันเลิ่กลั่ก ไม่มีครับ (หัวเราะ) ดังนั้นวันนี้เราโดนกำกับโดย Platform แต่ละ Platform มีมาตรฐานชุมชนที่ไม่เหมือนกันเลย แต่มาตรฐานเขามันใกล้เคียงกับจรรยาบรรณสื่อทั่วโลกทั่วไป ดังนั้น มันเป็นการกำกับดูแลตัวเองมากกว่า กำกับดูแลใครไม่ได้หรอกครับ กำกับดูแลกันเองมากกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่า สื่อถ้าผิด ทำให้ดีร้อยชิ้น ผิดหนึ่งชิ้น เท่ากับความน่าเชื่อถือคุณลดลง สื่ออยู่ความน่าเชื่อถือ ถ้าความน่าเชื่อถือลดลง อันดับของคุณลดลง คุณจบ มันไม่ได้วัดที่ตัวเลข ยอดวิว ยอดเงิน ว่าด้วยเรื่องความน่าเชื่อถืออย่างเดียวเลย

จุดที่น่ากังวลของผู้ผลิตข่าวออนไลน์ในปีหน้าคืออะไร

ผมมีโอกาสไปงาน Google and YouTube Working Group ที่สหรัฐอเมริกา ไปที่ San Jose ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของ Google เลย แล้วก็ได้ Partner จากทั่วโลกเลย สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ปีหน้า Google อยากได้คุณภาพของเนื้อหามากกว่า Keyword สมมุติวันนี้ผมทำข่าวความเร็ว 1 ข่าว ทำเร็วที่สุดเป็นคนแรกในประเทศ แต่เว็บผมไม่น่าเชื่อถือ ผมเป็น Nobody เลย มันจะขึ้นอยู่บน Google ประมาณชั่วโมงเดียว อยู่ดีๆ ถ้ามีคนทำที่น่าเชื่อถือกว่า เขาจะแซงคุณขึ้นทันที เพราะมันน่าเชื่อถือด้วยแบรนด์ไปแล้ว ดังนั้นจุดพลิกสำคัญหลังจากนี้ก็คือเนื้อหาที่มีคุณภาพ คุณต้องทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ คุณภาพก็แตกออกไปอีก คุณภาพในเชิงเราไม่ได้พูดกันว่าข่าวลึกข่าวเจาะแล้วนะ ข่าวลึกข่าวเจาะเป็นพื้นฐานปกติของคนทำข่าวที่ต้องทำอยู่แล้ว ข่าวเชิง Data Journalist จะต้องเยอะขึ้น UX/UI เราพูดถึงบนโลกออนไลน์ ทำยังไงให้คนรู้สึกว่าอ่านข่าวเราแล้วหรือดูวิดีโอเราแล้วเขาดูได้ต่อเนื่องยันจบ อันนี้ยากมาก คุณจะไปเขียนข่าวแบบข่าวลงพื้นที่ต่างๆ แล้วเป็นพรืดๆไม่ได้แล้วนะ คุณต้องมีศิลปะ มีลูกเล่น มีพาดหัวให้มันดูน่าดูน่าอ่านมากขึ้น

แล้วคุณต้องคิดเสมอว่าสิ่งที่คุณทำมันทำให้คนถือมือถือเล็กๆ แล้วดูเรามันยากมาก นี่คือสงครามที่มันจะเกิดขึ้น สงครามต่อไปที่จะเกิดขึ้นก็คือ Platform ต่อไปทั้ง Facebook, YouTube กำลังหันเข้ามาหาคู่แข่งหน้าใหม่ที่เกิดใหม่ภายใน 3 ปี นั่นคือ TikTok ซึ่งก็กำลังทำลายสมาธิของเราไป จากเดิมเราเสพ Facebook, Twitter, Instagram แล้วเราก็สำรวจไปเรื่อย ๆ แล้ว TikTok มันตัดเร็วมากเลย อันนี้ไม่น่าสนใจดึงออกๆ แล้วทุกคนก็มองว่า การต่อสู้กับ Short Video คือเรื่องใหญ่ที่สุดของโลกที่ต้องต่อสู้ละ วันนี้ Facebook ทำ reel พยายามจะต่อสู้ แต่ AI ยังไม่ฉลาดพอ ขณะที่ YouTube ทำ Short ก็เพื่อดึงไปดูตัวยาวต่อในวิดีโอ ทั้งหมดนี้มันสั้นหมดเลย สิ่งที่ Google ให้ข้อมูลมาเป้นที่ประจักษ์ 1 อย่าง Google บอกว่าลูกค้าของเขาทั่วโลก กำลังเปลี่ยนจากดูวิดีโอที่เร็วที่สุดคือ 3 วินาที เราจะทำยังไงที่จะทำให้คนดูวิดีโอของเราภายใน 3 วินาทีแรก

คิดว่าเม็ดเงินโฆษณาของสื่อออนไลน์จะโตขึ้นแซงกับทีวีมั้ย

พูดตรงๆ มันก็แซงไปแล้วนะ คือเรายังแยกก้อนไม่ได้ แต่เมื่อตอนต้นปี 5 เดือนแรก กรมสรรพสามิตหรือภาษีสรรพากรเนี่ยเขาออกข้อมูลมามีเม็ดเงินภาษีที่เกี่ยวกับการซื้อขายออนไลน์ โดยไม่ได้แยกว่าเป็นสื่อ หรือเป็น e-commerce เม็ดเงิน 5 เดือนแรกเท่ากับซื้อโฆษณาบนสื่อโทรทัศน์ทั้งปี 2 หมื่นกว่าล้านบาท แล้วจ่ายภาษีกลับมาแล้ว ดังนั้นคำถามที่ถามว่าจะแซงมั้ย ผมว่ามันแซงไปแล้ว แต่เป็นสื่อออนไลน์เท่าไหร่เราไม่รู้ สมมุติว่าทีวีมีงบประมาณอยู่ 3 หมื่นล้านบาท มันอาจจะเป็นสื่อออนไลน์ซัก 2 หมื่นล้านบาท เราก็ยังไม่รู้ แต่ว่าเทรนด์มันไปแน่ๆ เพราะว่าหลายคนก็มองหาสื่อออนไลน์ แต่สื่อออนไลน์แบบไหนนั่นอีกเรื่องหนึ่ง 

สมาคมอาจจะโดนเล่นงานบ่อยๆว่า เป็นเสือกระดาษ คิดเห็นยังไงกับคำว่าเสือกระดาษ

มันก็เป็นเสือกระดาษจริงๆ สมาคมไม่ใช่คนๆ เดียวนะครับ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ไม่ใช่สมาคมนักข่าว ดังนั้นเราเคยเจอกรณีเยอะครับ อย่างเช่น นักข่าวโดนนู่นโดนนี่โดนนั่น นั่นคือหน้าที่ของสมาคมนักข่าวที่ต้องปกป้อง แต่ผมสมาคมผู้ผลิต จะไปปกป้องนักข่าวได้ยังไง มันคนละแนวทางกัน มันคนละความรับผิดชอบกัน ความรับผิดชอบของผมคือความรับผิดชอบของสมาชิกสมาคมผู้ผลิตข่าว จะให้ผมไปด่าว่าคนที่ไม่ใช่สมาชิกสมาคมมันก็ไม่เหมาะไม่งาม

เรามีเคสเยอะครับถูกส่งเข้ามาที่สมาชิกสมาคม บอกว่าสมาชิกคนนั้นมีปัญหาทางกฎหมายก็ส่งเข้ามาที่เราครับ เราก็ดำเนินการให้ แต่บางทีเราไม่ได้บอก ไม่ได้ป่าวประกาศ สมมุติน้องทำสื่ออย่างหนึ่งแล้วน้องทำผิด แล้วมีคนมาแจ้งสมาคม พี่ก็ยกหู มันมีปัญหานี้ ส่งเอกสารส่งกระดาษให้ ช่วยกันแก้ไขปัญหายังไงได้บ้าง แต่จะให้พี่ไปป่าวประกาศว่า น้องโดนฟ้องเรื่องนี้เข้ามา สมาคมกำลังดำเนินการอยู่ น้องก็อายเนอะ มันก็ไม่งาม มันก็เป็นได้แค่เสือกระดาษแหละครับ เพราะคำว่าจริยธรรม จรรยาบรรณ มันเป็นนามธรรมมากๆ เลยนะครับ เพราะว่ามันอยู่บนความเชื่อของคนที่ต่างกัน เหมือนคนกินข้าว ข้าวจานเดียวกัน คนกินภาคใต้กับภาคเหนือบอกอร่อยไม่เหมือนกัน จริยธรรมสื่อก็เช่นเดียวกัน

ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ การเน้นการพัฒนาองค์กร พัฒนาวิชาชีพ อย่าให้เราจมอยู่กับสิ่งเดิม ๆ แต่การปกป้องเป็นส่วนหนึ่ง อย่างหลายกรณีที่เกิดขึ้นคือบางทีความออนไลน์มันใจร้อน อย่างสมมุตินักข่าวโดนทำร้าย เราต้องรีบจัดการแก้ปัญหาเลย ในมุมมองถ้าผมเป็นนายก เราก็ต้องคุยกับสมาคมอื่นๆ อย่างสมาคมนักข่าวที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง มันไม่ใช่เดินออกไปแล้วคุณต้องยุติเรื่องนี้ มันไม่ได้จบแค่นั้นครับ ผมเคยไปมีส่วนร่วมในการไปคุยกับ ผบ.ตร. ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งในการชุมนุมต่างๆ ว่าคุณต้องไม่ทำๆ คุณต้องหยุดๆ เราไปคุยแบบปิดห้องคุยเลยครับ แต่สุดท้ายพอมันเกิดก็ห้ามไม่ได้ แต่มันไม่ใช่แค่เสือกระดาษ เราดำเนินการ เราคุย เราทำงานร่วมกับตำรวจ แต่ตำรวจที่เราคุยกับตำรวจหน้างานมันไม่เหมือนกันนะครับ เราก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรเราอยู่หรือเปล่า อันนี้เราก็พูดไม่ได้นะครับ พูดได้แค่นี้แหละ ก็พยายามไม่ทำตัวเป็นเสือกระดาษกับสิ่งที่เราทำได้คือ พัฒนาองค์กร

การกำกับดูแลตัวเองในความหมายของสมาคมคิดว่าเป็นผลดีหรือว่าเป็นผลเสียยังไง

จริงๆ มันมีทั้งผลดีผลเสีย ถ้าเรามีคนมากำกับนั่นคือปัญหา เพราะเราไม่รู้ว่าใครกำกับ คำว่าใครกำกับนี่น่ากังวล นั่นคือละเมิดสิทธิเสรีภาพในการเป็นสื่อมวลชน แต่การกำกับดูแลตัวเองโดยที่ดูแลกันเองเนี่ย เราก็ต้องมีความมั่นใจและไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกันในระดับคนที่บริหารสื่อ แน่นอนว่ามีหลาย Level ของการทำงานสื่อ แต่คนที่มีอำนาจสูงสุดอาจจะไม่ใช่เจ้าของเงินทุน บรรณาธิการบริหาร บรรณาธิการต่างๆ ก็ต้องมีการเรียนรู้และมีการเข้าใจในมาตรฐานวิชาชีพที่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน มาตรฐานเดียวกันไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่คุณคิดอาจจะแตกต่างกันไป แต่อย่างน้อยอย่าไปละเมิดคนอื่น เป็นสื่อละเมิดคนอื่นไม่ได้แน่นอน มี PDPA มา อย่างน้อยคุณต้องรับผิดชอบต่อสังคม แน่นอนตรงนี้ต้องทำ ผมว่าจริยธรรม-จรรยาบรรณมันมีแค่ความรับผิดชอบต่อสังคมและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อสังคม ผมตีความมันออกมาแค่นี้ แล้วคุณกำกับกันเองภายใน 3 แท่งนี้ได้มั้ย ถ้าคุณกำกับกันเองภายใน 3 แท่งนี้ได้ อย่าให้คนอื่นมากำกับเลยครับ ผมก็ต่อต้านถ้าคนอื่นต้องมากำกับเรา มันคือการละเมิดสิทธิเสรีภาพการเป็นสื่อมวลชน 

อนาคตสื่อไทยที่เป็นสื่อออนไลน์ในปีหน้าจะเป็นอย่างไร

ปี 2566 จะเป็นสึนามิที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยเจอมาของการผลิตสื่อออนไลน์ ใครที่กำลังจะเปิดเพจ Facebook เพื่อทำสื่อ หยุดอยู่ตรงนั้น กรุณาหยุดอยู่ตรงนั้น คุณเชื่อมั้ย เวลาเปิดเพจ Facebook เราบอกว่ามีเงิน 100,000 บาท ไม่เป็นไรเดี๋ยวซื้อไลก์เอา ไลก์ละ 10 บาท ยอมจ่ายไหม มันต้องใช้เงินเท่าไหร่ เพื่อที่จะให้เขาเชื่อใจคุณ สำคัญคือสื่อคือความเชื่อใจครับ ถ้าคุณเชื่อในสื่อๆ นี้ คุณจะเชื่อมันตลอดไป สิ่งที่สึนามิมันกำลังจะเข้ามาอย่างที่ผมเรียนไปตอนต้น Short Video คือสึนามิลูกใหญ่ที่สื่อไม่เคยทำ เราทำรายการทีวี 30 นาทีคือเหนื่อยแล้ว คือไม่รู้จะ Short ยังไงอีกนะครับ เอา Promote มาลงใน YouTube ไม่ใช่โลกของการ Promote อีกต่อไป เอาสาระสำคัญที่สุดมาใส่ใน TikTok แล้วยังไงต่อ คุณจะหารายได้ยังไง Short Video 1.5 วินาที คุณจะทำให้คนดูได้อย่างไรใน 1.5 วินาที YouTube ต้องการเนื้อหาและความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์มากกว่าความเร็ว คุณจะเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร เอา 4-5 ข้อที่ผมพูดมาเนี่ยไปนั่งทำการบ้านดีๆ ครับ สึนามิลูกใหญ่มากเลยนะครับ

Facebook ไม่ใช่คำตอบแล้วนะครับ  Facebook อีก 3 ปี เขาจะกลับมาพร้อม Metaverse เดี่ยวนี้ทุกคนไปแข่งกันบน TikTok แล้วนักธุรกิจหรือเจ้าของนักลงทุนอย่างผม คุณควรหารายได้แล้วจะถามว่า TikTok มันหารายได้ยังไง คุณก็ต้องคิดโมเดลเชิงธุรกิจ เพราะสื่ออยู่ได้ด้วยธุรกิจ ต้องพูดกันตามตรง สื่อไม่ได้อยู่ได้ด้วยเงินของรัฐบาล (หัวเราะ) มันก็ต้องมีธุรกิจที่หล่อเลี้ยงเงินเดือนพวกเราได้ นั่นคือการพลิกผันครั้งสำคัญตั้งแต่ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฝ่ายคอนเทนต์ บก. นักข่าว คุณจะทำยังไงให้คอนเทนต์ดึงดูดและเชื่อถือ และมีคุณภาพมากพอที่เขาพร้อมจะไปกับคุณ โลกเริ่มเปลี่ยนไป หลายประเทศเริ่มที่จะทำ Subscription Model หลายประเทศเริ่มทำ Login ฟังก์ชันใหม่ที่ไม่ใช่แค่ดูข่าวแล้วจากไป นั่นแหละครับ สิ่งที่มันกำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคต ซึ่งมันเปลี่ยนแล้ว จริงๆมันไม่ใช่อนาคตครับ มันเปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน วันนี้เราต้องรีบเร่งตัวเราเองขึ้นมา นี่คือสึนามิลูกใหญ่ที่เรากำลังจะเจอครับ