fbpx

วันนี้ทีมส่องสื่อมีโอกาสเข้าไปร่วมฟังและเข้าร่วมงาน Creative Talk 2023 โดยในวันแรกนั้นจัดงานภายใต้ชื่อ Marketing Insight & Technology Conference 2023 ซึ่งร่วมจัดกับ Content Shifu และเราขอหยิบหนึ่งเวทีที่น่าสนใจ นั่นก็คือเวที “Brand as a creator : เมื่อแบรนด์ต้องรับบทบาท Creator ในการตลาดยุคใหม่” โดยได้คุณเอ็ม-ขจร เจียรนัยพานิชย์ : Managing Director at Mango Zero / RaimMaker มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในครั้งนี้ด้วย และเราสรุปมาให้แล้ว

ซึ่งคุณเอ็มได้กล่าวว่า แบรนด์ต้องทำตัวเสมือนคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่งการคิด วางแผนสร้างกลยุทธ์ และพัฒนาเนื้อหาโดยใส่ใจคนอ่าน โดยเน้นในเรื่องต่างๆ ให้คิดแบบคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ในทุกๆ กระบวนการ ลดขั้นตอน และทำให้เราตามมุมมองของผู้คนได้กว้างขึ้น รวมถึงจะทำให้แบรนด์เราไม่หายไปจากตลาดอีกด้วย โดยประกอบไปด้วย

การวางกลยุทธ์ ซึ่งแบรนด์วางแผนการตลาด แต่ครีเอเตอร์วางแผนช่อง โดยจากตัวอย่างของคุณเอ็มนั้นได้ใช้วิธีการนี้กับเอไอเอส ซึ่งเอไอเอสในตอนนั้นต้องการพัฒนาคอนเทนต์แนวอีสปอร์ตมากขึ้น แน่นอนแต่เดิมแบรนด์เน้นการลงข่าวประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนแบรนด์ เช่น การลงโปรโมชั่น และคุณเอ็มนั้นก็ให้คำแนะนำว่าให้ทางเอไอเอสเลิกคิดแบบแบรนด์ แต่คิดแบบ Pubilshing โดยเพจอีสปอร์ตนี้จะไม่ลงข่าวอื่นเลย นอกจากคอนเทนต์อีสปอร์ต และไม่ให้เอไอเอสแชร์ลงเพจหลัก ทั้งนี้เพื่อให้แฟนอีสปอร์ตเข้ามาเพราะคอนเทนต์ที่เหมาะกับเขาจริงๆ นอกจากนี้คอนเทนต์ควรใส่อารมณ์ ผ่านการลงเนื้อหา ตอบคอมเมนต์ หรือการตอบข้อความ ซึ่งทำให้คนติดตามนั้นมีปฏิสัมพันธ์ไปด้วย และมียอดการเข้าถึงได้โดยที่ไม่ต้องยิงโฆษณาเลย

การคิดสร้างสรรค์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แบรนด์ต้องปรับ เพราะแบรนด์นั้นเน้นความจริงจัง น่าเชื่อถือ มีสาระ ในขณะที่ครีเอเตอร์นั้นไร้สาระเป็นเรื่องปกติ ซึ่งคอนเทนต์ไร้สาระเป็นคอนเทนต์ที่คนชอบและมีความรู้สึกไปกับมันมากกว่า เช่น การโปรโมทละครเรื่องแค้น ทางช่อง 3HD ที่นำนักแสดงนำมาเล่นมุกกับคำว่าแค้น เช่น แอฟ ทักษอร มาล้างแค้น โดยนำคำว่าแค้นมาล้างในอ่างล้างหน้า เป็นต้น ซึ่งทำให้ได้ยอดการเข้าถึงและแชร์มากขึ้น รวมถึงทำให้คนรู้จักละครเรื่องนี้ว่าใครแสดง ออกอากาศตอนไหนด้วย แน่นอนว่าแบรนด์อาจจะต้องลดจำนวน แต่เน้นคุณภาพของคอนเทนต์ว่าเลือกอันที่ปังจริงๆ เท่านั้น จะทำให้ไม่ทำงานหนัก และไม่เป็นการทิ้งไอเดียไปโดยเสียเปล่า

อีกสิ่งหนึ่ง คือ แบรนด์มักจะทำตามโจทย์ แต่ครีเอเตอร์จะทำตามใจเจ้าของ โดยแบรนด์อาจจะคิดจากการเข้าถึง ยอดต้องได้ตามเป้าหมาย แต่ถ้าเราหลุดไปคิดว่าต้องสร้างสรรค์เนื้อหาตามที่เราต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องตีโจทย์ก็จะทำให้เกิดความแตกต่างของคอนเทนต์

และในขณะที่แบรนด์แคร์ยอดขาย แต่ครีเอเตอร์แคร์ผู้ติดตาม เพราะครีเอเตอร์นั้นจะเข้าใจผู้ติดตาม และไม่ทำเนื้อหาที่ทำให้ผู้ติดตามผิดหวัง เช่น คอนเทนต์ของ 7-eleven Thailand ที่ทำทายผลฟุตบอลโลกพ่วงโปรโมชั่น และทีมนั้นก็แพ้ในที่สุด จนคนมาคอมเมนต์ต่อว่าอย่าทายเลย หรือแบรนด์นันยางที่ทำเป้าหมายว่าถ้ายอดการรับชมเพลงใหม่ Blackpink เกิน 80 ล้านวิวส์ จะผลิตช้างดาวสีชมพู จนยอดเกินสถิติและต้องผลิตช้างดาวสีชมพูจริงๆ และมียอดการเข้าถึงสูงมากๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากความสนุกและอยากเล่นกับผู้ติดตามนั่นเอง

และสุดท้ายคือแนวคิด คือแบรนด์จะใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ แต่ครีเอเตอร์มักจะเล่นสื่อสังคมออนไลน์ เช่น พรรคก้าวไกลที่สร้างสรรค์คอนเทนต์บน TikTok ให้สนุก ทำให้ผู้ติดตามสูงถึง 2.6 ล้านผู้ติดตาม ห่างจากพรรคเพื่อไทยถึง 10 เท่า! ซึ่งพรรคก้าวไกลใช้วิธีการคิดเนื้อหาแบบครีเอเตอร์จริงๆ ใช้อารมณ์และความรู้สึก ความใกล้ชิดของเรื่องนั้นๆ ในการผลิตเนื้อหา และคว้ายอด 5,000 ล้านวิวส์ในรอบ 3 เดือน (มีนาคม – พฤษภาคม 2566) ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งก่อนหน้านี้นำเสนอคอนเทนต์แบบแบรนด์ชัดเจน หลังผลการเลือกตั้งออกมา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคจึงเรียนรู้การทำงานแบบครีเอเตอร์มากขึ้น ซี่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จริงจัง ก็ต้องมาจากแนวคิดของผู้บริหารที่เข้าใจครีเอเตอร์จริงๆ ถ้าแนวคิดของผู้บริหารไม่เปลี่ยนก็ยากที่แบรนด์จะประสบความสำเร็จได้นั่นเอง


Media Partner with CTC2023