fbpx

กลายเป็นเรื่องอลหม่านจานเด็ดกันเลยทีเดียว สำหรับปัญหาการระดมเงินสนับสนุนทีมฟุตบอลในไทยลีก ผ่านการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีกในฤดูกาลปี 2023-2024 โดยสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดการประชุมร่วมกับสโมสรฟุตบอลไทยลีก 16 ทีมไปเมื่อช่วงสายของวันนี้ (27 มิถุนายน 2566) เนื่องจากมีผู้เสนอราคายื่นมาในราคาที่ไม่สามารถแบ่งรายได้สนับสนุนทีมฟุตบอล 16 ทีมได้ ซึ่งบางแหล่งข่าวบอกมาว่าปีนี้เสนอราคาเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งนั่นส่งผลให้สโมสรฟุตบอลไทยลีก 16 ทีมตัดสินใจแยกลีกจัดแข่งขันด้วยตัวเองแทน

วันนี้ส่องสื่อจึงขอนำเสนอข้อมูลว่าด้วยค่าลิขสิทธิ์ของฟุตบอลไทยลีกในช่วงตั้งแต่ปี 2011-2022 โดยพบว่าในช่วงปี 2011-2017 นั้นใช้วิธีจัดสรรซื้อลิขสิทธิ์แบบเหมาทีละ 3 ปี และในช่วงปี 2021-2023 นั้นแบ่งคราวละ 2 ปีแทน ซึ่งปีที่ราคาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดแพงที่สุด คือปี 2017-2020 ที่ตกเฉลี่ยปีละ 1,050 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อเหมารวม 4 ปี ทำให้มูลค่ารวมอยู่ที่ 4,200 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2022-2023 นั้นราคาลงฮวบมาที่ปีละ 150 ล้านบาท รวมกันเป็น 300 ล้านบาทเท่านั้น

ในขณะที่รายได้ของบริษัท ไทย ลีก จำกัด ที่มีกรรมการคือ นายสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง, นางลัขณานันท์ ลักษมีธนานันต์ และนายยงยศ พึ่งธรรม นั้นพบว่าในปี 2565 มีรายได้รวมสุทธิที่ 487,164,103.31 บาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 49,915,382.32 บาท พลิกจากขาดทุนในปี 2564 ชนิดที่เรียกได้ว่าจากหลังมือเป็นหน้ามือเลยทีเดียว

แน่นอนว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลไทยลีกนั้นค่าลิขสิทธิ์ลดน้อยถอยลง อาจจะด้วยเพราะการมีผู้ประมูลจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ ประกอบกับกระแสของฟุตบอลไทยลีกนั้นอาจจะไม่ได้ดึงดูดฐานคนดูหน้าใหม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว รวมถึงการบริหารจัดการของไทยลีกที่เป็นปัญหา และการละเมิดลิขสิทธิ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการถ่ายทอดคู่ขนานกับช่องทางที่ถูกลิขสิทธิ์ผ่านการดึงสัญญาณมา และการนำไปถ่ายทอดสดลงสื่อสังคมออนไลน์ จึงทำให้สุดท้ายก็ไม่มีผู้ร่วมประมูลบริษัทใดสนใจและให้มูลค่ามากกว่าแต่ก่อนแล้ว