fbpx

หากพูดถึงอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงเกาหลีใต้ คงหนีไม่พ้น BIG3 (SM, YG และ JYP Entertainment) ซึ่งแน่นอนว่า 3 ค่ายนี้คือบริษัทใหญ่อันดับต้น ๆ ในด้านธุรกิจเพลงและการบันเทิงที่แฟนเพลงหรือแม้แต่คนทั่วไปก็น่าจะรู้กันกันดี แต่หากพูดถึงบริษัทอย่าง CJ E&M แล้ว หลาย ๆ คนอาจไม่รู้จัก หรือเคยได้ยินแต่ไม่รู้ว่าบริษัทนี้ทำอะไร เป็นยังไง วันนี้ผู้เขียนจะมาแนะนำ CJ E&M ให้ผู้อ่านได้ทราบเป็นความรู้กัน ซึ่งบริษัทนี้ที่ไม่ได้ทำธุรกิจแค่เรื่องเพลงอย่างเดียว แต่เรียกได้ว่าทำธุรกิจ “ครอบคลุม” ทุกด้านของสื่อบันเทิงในเกาหลีใต้ครับ

ความเป็นมา

CJ E&M เป็นบริษัทในเครือของ CJ Group ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มแชโบล หรือกลุ่มธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ ที่มีรายได้รวมกันแล้วมีจำนวนเท่ากับจีดีพีส่วนมากของประเทศ โดยบริษัทนี้ทำธุรกิจหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, การบริการอาหาร เภสัชกรรมและเทคโนโลยี, ชีวภาพ หรือแม้กระทั่งโลจิสติก (ถ้าเทียบกับบ้านเราก็เหมือนกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์) ซึ่ง CJ Group เองก็ครอบคลุมธุรกิจไปถึงเรื่องสื่อบันเทิงด้วย จึงก่อตั้ง CJ E&M ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการธุรกิจด้านนี้

ปัจจุบัน CJ E&M กลายมาเป็นแผนกหนึ่งของ CJ ENM ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2561 โดยการควบกิจการระหว่าง CJ E&M และ CJ O Shopping ที่ดำเนินธุรกิจด้านโฮมช็อปปิง

CJ E&M เป็นเจ้าของธุรกิจอะไรบ้าง?

สื่อและช่องโทรทัศน์

Produce X 101 จากช่อง Mnet
Prison Life of Fools จากช่อง tvN

CJ E&M มีช่องโทรทัศน์กว่า 19 ช่อง โดยมี 2 ช่องหลักใหญ่ ๆ คือ Mnet และ tvN เชื่อว่าใครที่เป็นติ่ง K-POP น่าจะรู้จักช่อง Mnet เป็นอย่างดี เพราะ Mnet คือผู้ผลิตรายการ Survival ชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็น Produce 101 ซีซั่น 1 และ 2, Produce 48, Produce X 101 รายการเพลงประจำสัปดาห์อย่าง M! Countdown รวมไปถึงต้นตำรับรายการแร็ป Show Me The Money อีกด้วย ต่อมาคือช่อง tvN ที่ปัจจุบันนี้มีรายการวาไรตียอดนิยมอย่าง Prison Life of Fools ที่นำเกมมาเฟียมาใช้เป็นธีมหลัก โดยจำลองเหตุการณ์ในเรือนจำ และสวมบทบาทเป็นนักโทษ นอกจากนั้นยังมีซีรีส์ในอดีตที่โด่งดัง เช่น Guardian: The Lonely and Great God, Reply 1998 หรือ What’s Wrong With Secretary Kim? (รักมั้ยนะ เลขาคิม?)

ค่ายเพลง

Debut Stage Performance “La Vie En Rose” ของ IZ*ONE จากรายการ M! Countdown ช่อง Mnet

จุดแข็งอีกอย่างนึงของ CJ E&M ที่นอกจากมีช่อง Mnet และ tvN แล้ว คือยังมีค่ายเพลงที่เป็นทั้งเจ้าของเองและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เอง รวมแล้วทั้งหมดมากกว่า 10 ค่ายอีกด้วย โดยค่ายเพลงหลักคือ Stone Music Entertainment (เดิมชื่อ CJ E&M Music) ซึ่งดำเนินธุรกิจเป็นทั้งค่ายเพลง, เอเจนซีศิลปิน, ผลิตเพลง, จัดคอนเสิร์ต โปรโมตเพลง รวมไปถึงการลงทุน โดยมีศิลปินในสังกัด เช่น Fromis_9, IZ*ONE, IN2IT, Roy Kim, Eric Num และ Jo Yuri สมาชิกจาก IZ*ONE

ส่วนค่ายเพลงอื่น ๆ ที่ทุกคนน่าจะรู้จักและเคยเห็น เช่น

  • MMO Entertainment – มีศิลปินในสังกัด เช่น IN2IT โดยดูแลจัดการวงร่วมกับ Stone Music
  • Jellyfish Entertainment – มีศิลปินในสังกัด เช่น VIXX, Gugudan และ Verivery
  • Off The Record – มีศิลปินในสังกัดคือ Fromis_9 และ IZ*ONE โดยดูแลจัดการวงร่วมกับ Stone Music เช่นเดียวกัน

และอีกหลายค่ายอย่าง Hi-Lite Records, AOMG, HIGHUP Entertainment, Amoeba Culture, SWING Entertainment, LM Entertainment และ The Music Works

สื่ออื่น

นอกจากช่องโทรทัศน์และค่ายเพลงแล้ว ยังมี CJ Entertainment ที่เป็นดำเนินธุรกิจด้านการผลิตภาพยนตร์และจัดจำหน่าย รวมไปถึง CJ E&M เอง ยังเป็นผู้จัด Mnet Asian Music Awards (MAMA) งานประกาศผลรางวัลเพลงประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ (สเกลงานที่เทียบเท่ากันกับ Melon Music Awards หรือ Golden Disk Awards) และ KCON ซึ่งเป็นเทศกาลวัฒนธรรมและดนตรีเกาหลี หรือ Korean Wave ที่จัดขึ้นทุกปี หลายประเทศทั่วโลก โดยหนึ่งในนั้นมีไทยด้วย นั่นก็คือ KCON Thailand ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน

ความร่วมมือในไทย

นอกจากนี้บริษัทแม่ของ CJ E&M นั่นก็คือ CJ ENM ได้ร่วมมือกับกลุ่มทรูในการตั้ง “True CJ Creations” เพื่อทำธุรกิจผลิตคอนเทนต์ทั้ง ซีรีส์ วาไรตีโชว์ เพื่อป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี True CJ Creations จะเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตคอนเทนต์ในอาเซียนอีกด้วย โดยทรูเองก็ได้นำรายการแร็ปชื่อดังอย่าง Show Me The Money จากช่อง Mnet และ Grandpas Over Flowers จากช่อง tvN มาสร้างในฉบับของไทยอีกด้วย

และอีกความร่วมมือระหว่าง GMM Grammy และ CJ O Shopping (ในเครือ CJ ENM) ในการผลักดันแบรนด์ O Shopping ขึ้น ซึ่งดำเนินธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิง โดยเป็นช่องแนะนำรายการสินค้าคัดสรร รูปแบบรายการเน้นให้ข้อมูลรายละเอียดของสินค้า หรือเรียกว่า Shopfotainment (Shopping + Informative + Entertainment) ซึ่งนอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มในการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ได้อีกด้วย (ปัจจุบันจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ซื้อหุ้นจาก CJ O Shopping ทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โอ ช็อปปิ้ง จำกัด แทน)

ล่าสุดในปีนี้ (2562) Major Group ผู้ให้บริการโรงภาพยนตร์ของไทย ยังได้ร่วมมือกับ CJ ENM ในการตั้ง CJ MAJOR Entertainment เพื่อผลิตภาพยนตร์ไทย โดยลงทุนไปมากกว่า 100 ล้านบาท ซึงเตรียมนำภาพยนตร์ไทยเข้าฉาย 3 เรื่องในปีเดียวกันคือ Love Battle รัก 2 ปียินดีคืนเงิน, That March และ Classic Again

ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงส่วนนึงเท่านั้น แต่เมื่อนับรวมๆกันแล้ว CJ E&M เป็นเจ้าของบริษัทแทบจะทุกประเภทของสื่อเลยก็ว่าได้ ที่เห็นมีหลายบริษัทขนาดนี้ ส่วนนึงก็มาจากการที่ CJ E&M นั้นเข้าซื้อและถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอื่นอีกด้วย และยังมีแนวโน้มว่าจะขยายธุรกิจมากขึ้นไปอีก ก็ต้องรอดูกันต่อไปครับว่าทิศทางในอนาคตของ CJ E&M จะเป็นอย่างไร และจะมีการขยายไปทำสื่อประเภทอื่นอีกไหม รวมไปถึงบริษัทร่วมทุนของไทยอย่าง CJ True Creations, O Shopping หรือ CJ MAJOR อีกด้วยว่าจะสามารถบรรลุถึงเป้าหมายและประสบความสำเร็จได้หรือไม่

อ้างอิง
http://www.cj.net/cj_now/view.asp?bs_seq=13885&schBsTp=1
http://www.bloter.net/archives/300477
https://www.theeleader.com/news-enterprise/true-joins-hands-with-cj-to-create-true-cj-creations-for-asean-content-%E0%B8%BAbusiness/
https://oshoppingtvblog.com/gmm-cj-o-shopping/
https://techsauce.co/pr-news/cj-major-entertainment/