fbpx

จับเข่าคุยเรื่องสื่อและสังคม กับ “บอล-ยอด หนังพาไป”

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562

เมื่อวันเอดส์โลกของปี 2561 (1 ธันวาคม 2561) ผมได้มีโอกาสไปร่วมการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวีกับทางมูลนิธิ Aids Access ร่วมกับ บอล-ทายาท เดชเสถียร และ ยอด-พิศาล แสงจันทร์ สองพิธีกรและผู้สร้างรายการ “หนังพาไป” รายการสารคดีเชิงท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมและถูกผลิตมามากถึง 4 ซีซั่นเลยทีเดียว

หลังจากเราจบรายการถ่ายทอดสดเนื่องในวันเอดส์โลกกันแล้ว ผมในฐานะทีมงานของ “ส่องสื่อ” เลยไม่รอช้า จึงขอดึงตัวพี่ทั้งสองคนมาร่วมสนทนาประสาคนกันเอง ทั้งคุยเรื่องที่มากว่าจะเป็น “หนังพาไป” มิติเรื่องสื่อในสไตล์ของพี่ทั้งสองคน รวมไปถึงเรื่องซีซั่นต่อไปที่มีแววว่าจะลงจอทีวีเร็วๆ นี้ด้วย ผมอาจจะบอกได้เลยว่าบทความที่กำลังจะได้อ่านต่อจากนี้ เป็นบทความที่ถอดมาจากเทปสัมภาษณ์ความยาวกว่า 30 นาที แบบไม่ตัดตอน เพื่อให้ได้ใจความสำคัญแบบครบถ้วนที่สุด ถ้าพร้อมกันแล้ว มาติดตามเรื่องราวในวันนั้นไปพร้อมๆ กันเลยครับ

ที่มาที่ไปของรายการหนังพาไป

พี่บอล : มีเวลาสัก 3 วันไหม? (หัวเราะ) ถ้า 3 วันจะเล่าหมด แต่ถ้าจะเล่าสั้นๆต้องพี่ยอดเลย

คือมันเกิดจากการทำหนังสั้นแล้วก็ส่งประกวดตามเทศกาลหนัง แล้วเราก็ไปถ่ายการเดินทางไปเทศกาลหนังด้วย เราก็คิดว่าจะทำเป็นสารคดียาวสักเรื่องหนึ่ง แต่คิดว่าพอมันยาวมากเกินไปเนี่ยมันก็เกิด ThaiPBS ขึ้นมา เราก็เลยลองตัดสั้นๆเป็นรายการส่งเลย มันก็เลยทำให้เกิดรายการนี้

มหากาพย์ที่ยาว 3 วัน เล่าให้เหลือแค่ 3 นาทีได้ (ภูมิใจ)

พี่ยอด : ชื่อรายการก็คือหนังพาไป เพราะว่าช่วงแรกๆ เราไปเพราะว่าเราเอาหนังสั้นไปประกวดแล้วก็ถ่ายบันทึกการเดินทางของพวกพี่ๆ ล่ะครับ แต่ว่าพอระยะหลังพี่ก็ไม่ได้มีโอกาสทำหนังสั้นแล้ว หนังพาไปก็กลายเป็นสารคดีการเดินทางที่หนังอาจจะไม่ค่อยได้ปรากฏ แต่ก็จะมีตามรอยหนังที่เราสนใจในประเทศที่เราได้ไป

หัวข้อที่นำมาเล่าในรายการเป็นเรื่องอะไรบ้างครับ?

พี่ยอด : จริงๆ หนังพาไปโชคดีมากที่มันแทบจะเล่าอะไรก็ได้เลยนะ คือกรอบมันกว้างมากครับ ตอนทำเนี่ยเราทำเรื่องอะไรก็ได้ เช่น เรื่องสงคราม ดารา วงการบันเทิง ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อะไรได้หมดเลยอ่ะครับ มันก็เลยกลายเป็นว่าเป็นเรื่องที่เราพบเจอระหว่างการเดินทางไปในที่ต่างๆ ทั้งที่คาดคิดและไม่คาดคิด โจทย์ของหนังพาไปมันก็เลยเล่าได้ทุกเรื่องแหละตามที่พวกพี่สองคนสนใจ เพราะเชื่อว่าถ้าพวกเราสนใจเรื่องไหน เราจะเล่าเรื่องนั้นออกมาได้ดี แต่ถ้าเรื่องไหนที่สำคัญแต่เราไม่ได้สนใจมันก็จะเล่าออกมาได้ไม่ดี มันเป็นเรื่องความสนใจส่วนตัวพอสมควร

อะไรที่ทำให้คนดูชอบและติดตามมาทุก Season เลย?

พี่ยอด : ช่วงแรกๆ คือเราถ่ายทำกันสองคนมั้ง ถ่ายทำแล้วก็ตัดต่อ วิธีการลดกำแพงคนดูคือการเล่าแบบเพื่อนคุยกับเพื่อน เหมือนพี่ถือกล้อง พี่บอลก็พูดแล้วก็เล่าคุยกัน ดังนั้นการใช้ภาษาหรือลักษณะการถ่ายทำและการตัดต่อมันจึงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เขาอยากดู เหมือนเขาได้เดินทางไปกับเราด้วย แล้วเขาก็เหมือนได้คุยกับเรา เคยได้ยินนะ คนเขาบอกว่าเป็นคำที่อยากคุยกับเพื่อนเวลาไปเที่ยวนะ ลักษณะการถ่ายทำซึ่งไม่ได้เกิดจากความตั้งใจนะ มันเกิดจากการแก้ไขปัญหา และที่ถ่ายเราทำกันสองคนเพราะในช่วงแรกๆ เราไม่มีตังค์จ้าง เราไม่สามารถจ้างพิธีกรได้ ตากล้องก็จ้างไม่ได้ ก็เลยต้องทำกันเองทั้งหมด รวมถึงต้องตัดต่อเองด้วย เพราะฉะนั้นประเด็นหรือคำพูดต่างๆ ก็เลยเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวเราแล้วมันตกตะกอนประมาณหนึ่ง ก็เลยออกมาเล่าได้ อีกอย่างคือความประหยัดที่เวลาคนไทยไปต่างประเทศก็ชอบไปแบบประหยัดอยู่แล้ว

พี่บอล : พี่ว่าอีกอย่างคือด้วยความที่รายการเราทำกันสองคนในช่วงแรก ๆ เราเลยอยากเล่าเฉพาะประเด็นที่น่าสนใจ พอคนเล่าเรื่องสิ่งที่เขาตื่นเต้นกับมัน มันจะสนุก ไม่ต้องเป็นพวกพี่ด้วยนะ คือทุก ๆ คนเล่าเรื่องสิ่งที่ตัวเองรู้จริง ต่อให้เป็นรายการท่องเที่ยวไป Shopping กระเป๋าแบรนด์เนม ต่อให้เป็นเรื่องที่เขาสนใจ ทำให้คนดูสนุกไปได้ ยังไงรายการก็ดูสนุก พี่ก็จะเลือกใช้วิธีแบบนี้ เพราะว่าถ้ารายการโทรทัศน์ทั่วไปที่มีโจทย์ต้องไปดูเมืองนี้ วังนี้ แต่ถ้าเราไม่ได้สนใจจริง ๆ คนดูจะรู้สึกได้เลยจากตัวงาน ดูแล้วมันแบน ดูแล้วรู้สึกมันจะทำเพราะว่าต้องทำ แต่ว่าพอเป็นพวกพี่ไปวัง พี่อาจจะไม่ได้เข้าวังหรือไม่ได้เล่าประวัติวังไปก็ได้ อาจจะไปสนใจอะไรรอบๆ ซึ่งถ้าเราตื่นเต้นกับมัน เราเชื่อว่าคนดูจะสนุกไปด้วย เราคิดว่าเพราะเหตุผลนี้แหละเลยทำให้คนดูส่วนหนึ่งรับความสนุก ความตื่นเต้นไปกับเราด้วย

พี่ยอด : อีกอย่างก็เป็นพวกหน้าตาดี คนก็แบบเขิน ก็เป็นธรรมดาของพวกเรา
พี่บอล : หมายถึงว่ารายการอื่นๆ ดูแล้วพวกเขาหน้าตาดี เลยจะมาดูรายการทางเลือกงี้? เราเป็นรายการทางเลือกไง (หัวเราะ)
พี่ยอด : หน้าตามาเป็นอันดับหนึ่ง วิธีการเล่าอันดับสอง
พี่บอล : โลกเราก็มีคนชอบของแปลกเยอะไง พี่ก็เชื่ออย่างนั้น (หัวเราะ)

พี่บอล – พี่ยอด หนังพาไป (ภาพจาก TCDC)

เวลาที่ทำรายการ พี่ๆ สนุกไหม?

พี่ยอด : หืม เวลาลงมือทำจริงๆ สนุกมันต้องสนุกอยู่แล้วล่ะ แต่มันทุกอารมณ์เลย ทำงานมันก็เหมือนเราไปเที่ยว ถ้ามันมีสนุกอย่างเดียวมันก็ไม่ไหวมั๊ง ต้องมีช่วงพักบ้าง ช่วงที่ตลกฝืด ช่วงที่ทะเลาะ เครียด หรือกลัว พี่ว่า คำว่าสนุกอาจจะหมายถึงสนุกในทุกอารมณ์มากกว่า สนุกก็สนุกจริงๆ เศร้าก็เศร้าจริงๆ สนุกแบบเศร้า คือมันถึงไปในความเศร้าจริงๆ หรือความกลัวอะไรแบบนั้น

พี่บอล : ถ้าพูดถึงขั้นตอนการทำงาน มันก็จะมีทั้งขั้นตอนที่สนุก และไม่สนุกเอาเสียเลย อย่างจะเดินทาง เราก็จะตื่นเต้นกับการเตรียมข้อมูล หรือค้นหาวิธีเดินทางที่ถูกที่สุด อะไรแบบนี้ อันนี้เป็นนิสัยไง เราเลยสนุก เช่นขึ้นรถแบบไหนถูกที่สุด มีกี่ออปชั่น อันนี้สนุกมากเลยในการเตรียม

แต่ว่าขั้นตอนที่จะหนัก คือหลังจากไปถ่ายทำการเดินทางมาแล้ว อย่างการตัดต่อ เป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างหิน และใช้พลังงานเยอะ สำหรับพี่ การใช้ชีวิตในช่วงเวลานี้ไม่สนุกเอาเสียเลย แต่โดยงานมันสนุกนะ มันจะสนุกอีกทีตอนที่เราเห็นงานในแต่ละตอน แล้วเราพบว่า บางอารมณ์ที่เราต้องการส่งไป เราดูแล้วเรารู้สึกแฮะ งานมันออกมาดี

มันก็เลยออกมาเป็นเชิงที่ว่า มันก็สนุก แต่สิ่งที่เรารักมันไม่ได้มีแต่เรื่องสนุกไง ก่อนหน้านี้ในช่วง 2-3 ซีซั่นแรกๆ พี่ก็จะสับสนว่า บางครั้งเราก็กลัวการเข้าไปอยู่ในห้องตัดต่อ เพราะมันต้องขังตัวเองอยู่ในนั้น แต่ว่ามันเป็นหนึ่งในขั้นตอนของงานน่ะครับ หรือว่าจริงๆเราเลิกสนุกไปกับมันแล้ว แต่พอมานั่งทบทวนดีๆ เคยไปอ่านหนังสือ มีคนบอกว่า งานทุกงานมันมีความน่าเบื่อ มีความดีและไม่ดีในตัวของมัน แต่ถ้าเราต้องเครียด หรือเบื่อ ท้อกับอะไร ให้เรามาเหนื่อยกับงานที่สนุกดีกว่า ดีกว่าเหนื่อยกับงานที่เราไม่สนุก

พี่ก็เลยรู้สึกว่า ต่อให้มันมีความไม่สนุก แต่ก็ยังอยากทำต่อ

แล้วหนังสั้นที่พี่ส่งเข้าประกวด ส่วนใหญ่พี่หยิบประเด็นด้านไหนมาทำ?

พี่ยอด : หืม หลากหลายแนวมั๊ง มันมีหนังสารคดีที่เคยทำนะ ส่วนใหญ่ก็หนังตลกมากกว่า หนังตลก หนังผี แต่พี่ก็ส่งประกวดได้หลายรอบนะ หากินจากหนังเรื่องเดียว (หัวเราะ) เออ ก็ต้องรู้จักทำ ซึ่งส่วนใหญ่ พี่จะถนัดหนังสารคดีมากกว่า เพราะว่ารายการมันก็เป็นแนวหนังสารคดี สารคดีมันน่าสนุก

อะไรที่เป็นจุดหลัก ที่ทำให้พี่มาทำหนังสารคดี?

พี่ยอด : เป็นหนังเรื่องนึง ชื่อเรื่องว่า มอแกนป่ะ? พี่เคยทำหนังสารคดี ที่เกี่ยวกับชาวมอแกน แล้วก็ได้ทุนเค้าไปไง ตอนนั้นก็รู้สึกว่าปวดหัวมากในการทำหนังสารคดี ตอนลองพื้นที่อ่ะ เราพยายามจะเล่าเป็นเรื่องหนัง เขียนบทเป็นหนังเลยนะ แบบ โอ้โหมีความโรแมนติกสุดๆ แต่พอลงพื้นที่ไปจริงๆแล้วกลับพบว่า ชาวบ้านเค้าไม่ได้ต้อนรับเราเลย มันเหมือนมีกำแพงอะไรอยู่

จนเรามาหาทางแก้ ปรับบทใหม่ เอาเพื่อนที่เป็นกะเทยเข้าไป แล้วก็เหมือนเข้าไปทำความรู้จัก ไปเฮฮา สนุกสนาน แล้วตอนนั้นก็ถ่ายออกมาเป็นฟุตเทจ ตอนนั้นนึกว่ามันจะเป็นขยะแล้ว เป็นหนังที่ไม่ได้เรื่องแน่ๆ แต่พอเอามาตัดแล้วเนี่ย มันเห็นเส้นเรื่องบางอย่างไง มันมีความสนุกอยู่ ชาวบ้านเค้าเริ่มเปิดใจนะ นั่นแหละ จุดเปลี่ยนที่รู้สึกว่า หนังสารคดีมันก็เล่าแบบนี้ได้ว่ะ มันก็เล่าแบบสนุกได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเก่าๆ

เทศกาลหนังต่างประเทศ กับเทศกาลหนังสั้นของไทยเนี่ย มีจุดแตกต่างกันไหม?

พี่บอล : โห จริงๆต้องบอกว่า สำหรับพี่นะ ในยุคนี้เราอาจจะต้องการเทศกาลหนังน้อยลงแล้ว เพราะว่าตอนนี้ เราสามารถดูหนังแปลกๆทั่วโลกได้ ผ่านอินเตอร์เน็ต Netflix YouTube มันมีซับหมดแล้ว ในยุคเมื่อสิบปีที่แล้ว จะไปดูหนังดีๆหรือหนังแปลกๆ จะต้องไปดูที่ต่างประเทศ หรือตามเทศกาลที่เค้าเอามารวมกันถูกไหม ถ้าถามว่าตอนนั้น ระหว่างไทยกับเทศต่างไหม ก็ต้องบอกว่าต่าง เพราะตอนนั้นไทยมีเทศกาลหนังไม่เยอะ แล้วกำลังทรัพย์ของเราในการจะจัดงาน มันน้อยกว่าต่างประเทศอยู่แล้ว ต่างประเทศเค้าเริ่มก่อนเรา เค้าไปไกลกว่าเรา แต่ก็โชคดีที่อินเตอร์เน็ตมันเข้ามาในยุคนี้ ทำให้รู้สึกว่าเราทันเค้าแล้วอ่ะ โดยไม่ต้องพึ่งพาการจัดงาน ความต่างมันก็ยังคงต่างแหละ แต่ในยุคนี้มันจำเป็นน้อยลง

พี่คิดว่าในยุคนี้ คนเสพสื่อภาพยนตร์เค้าต้องการเสพแนวไหนมากที่สุด?

พี่ยอด : คนยุคไหนเหรอ คนยุคนี้ คนยุคใหม่ คนยุคเก่าที่ยังอยู่ในยุคนี้ (หัวเราะ)

คนรุ่นใหม่แล้วกัน

พี่ยอด : เดาไม่ถูกเลย มันเป็นโลกที่กำลังปรับเปลี่ยนมาก ใครก็รับมือไม่ถูกเลย แม้แต่การเมืองยังรับมือไม่ถูกเลย ถูกไหม โซเชี่ยลมันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก ทุกคนสามารถคุยกันอย่างเท่าเทียม มีเวลาเท่ากันในการถกเถียงกัน ใครโมโหมากจัด รีบพิมพ์ก็พลาดไป แต่ทุกคนก็มีเวลาคิดเท่ากันหมด ก็เลยรู้สึกว่า โลกยุคนี้อาจจะต้องการอะไรที่แบบ ห้านาที คุณมีเวลาแค่สามนาที ห้านาทีพอ เพราะว่ามันมีสื่ออีกมากที่ฉันต้องการดู ใช่มั๊ย? อะไรแบบนี้ คนอาจจะเป็นแบบนั้นมั้ง อาจจะต้องไวขึ้นในการผลิตให้มันปัง หรือดึงคนเข้ามาด้วยเทคนิคใหม่ๆ มั้ง

พี่บอล : สำหรับพี่ พี่คิดว่าตอนนี้มันอยู่ในยุคที่ ความสนใจของคนมันอลหม่านไปหมดน่ะครับ เราจะสังเกตว่า เรามาอยู่ในยุคที่ มันไม่มีนักร้องคนไหน หรือเพลงไหนที่ดังเปรี้ยง ชนิดที่คนรู้จักทั้งประเทศอีกต่อไปแล้ว เพราะว่าคนเราจะไปสนใจเฉพาะสิ่งที่สนใจ แล้วมันมีช่องทางสำหรับคนที่คิดเหมือนกันอยู่แล้ว

ดังนั้นก็เลยคิดว่า ตอนนี้มันจับความต้องการยากมากครับ จะสังเกตว่าใน YouTube ก็จะมีพวก YouTuber เกิดขึ้นเยอะมาก บางคนนี่แบบดังมาก ดัง โคตรดัง ในขณะที่ เราไปถามเพื่อนเราเค้าอาจจะไม่รู้จักคน ๆ นี้เลยก็ได้ เลยรู้สึกว่ามันหลากหลาย แล้วจับความต้องการตรงกลางไม่ได้แล้ว มันแตกเป็นตลาด niche market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) ไปหมดแล้วอ่ะ แล้วแต่ละตลาดมันมีโลกของเค้าเอง ซึ่งแต่ละโลก อีกคนอาจจะไม่รับรู้โลกที่อยู่ข้างๆ และซ้อนกับเค้าอยู่ด้วยซ้ำไป

พี่ยอด : สรุปว่ารับมือไม่ถูกนั่นเอง กำลังงงที่ตอบมาทั้งหมด
พี่บอล : ก็คือไม่รู้แหละครับ (หัวเราะ) พี่ก็ไม่รู้อ่ะ

อยากให้นึกแบบเร็วๆ แล้วยกตัวอย่างหนึ่งสื่อ เป็นอะไรก็ได้ ละครที่ชอบ หนังที่ชอบ หนังสือที่ชอบ หนึ่งอย่างที่ทำให้ตัวเองเติบโตมาได้ จนถึงทุกวันนี้?

พี่บอล : คำถามไม่ยาก แต่พี่ขอคิดแปปนึง พี่ยอดคิดออกมั๊ย?

พี่ยอด : หนังสือ คงจะเป็นหนังสือมากกว่า ชอบอ่านหนังสือมั๊ง หลากหลายแนว หนังสือที่ทำให้เติบโตมาได้ก็มีหลายเล่มนะ แต่ที่รู้สึกสะใจ อ่านแล้วชอบมากก็คือเรื่อง “ข้างหลังโปสการ์ด” เป็นหนังสือที่มันส์มากในการเขียน ด่าประชดประชัน มันเกี่ยวกับประสบการณ์ท่องเที่ยวนะ เป็นหนังสือในยุคเก่าแล้ว เค้าก็เหมือนไปท่องเที่ยวอินเดีย แล้วก็กลับมาเที่ยวที่ไทย แล้วเค้าก็ผจญกับอะไรหนักหนาก็ไม่รู้ แล้วเค้าก็เขียนเหน็บเขียนด่า มันก็คล้ายๆสไตล์เรานั่นแหละ สรุปคือการอ่านหนังสือครับ สำหรับพี่นะ

พี่บอล : ของพี่เหรอ ก็หนังสือด้วย แล้วก็น่าจะเป็นหนังบางเรื่อง อย่างถ้านึกย้อนไปในความทรงจำ ก็เป็นเรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11” มันก็มีหนังที่ชอบอยู่หลายเรื่องนะ แต่หนังเรื่องนี้ พี่จำได้ว่า เป็นครั้งแรกที่พอดูหนังจบแล้ว ขอออกเป็นคนสุดท้าย จำได้ว่า ตอนนั้นก็เดินไปจับจอหนังในโรงหนังอ่ะ เดินไปแตะ ๆ มันเป็นครั้งแรกที่ทำให้รู้สึกว่า วันนึงเราให้งานของเรา หรือภาพที่เราเห็น มันขึ้นมาอยู่บนจอเหมือนหนังเรื่องนี้อ่ะ มันทรงพลังมาก เหมือนเป็นตัวเปลี่ยนชีวิต ที่ทำให้พี่สนใจหนัง แล้วก็หลงไหลมัน แต่สุดท้ายวันนี้ก็ยังไม่เคยทำหนังที่เข้าฉายโรงได้นะ (หัวเราะ) มันเปลี่ยนไปตามยุค แต่นั่นแหละ จงทำต่อไป ชีวิตยังมีภารกิจ

ภาพยนตร์เรื่อง “15 ค่ำ เดือน 11”

เช่าเฮาส์ไหมครับ แล้วฉายเองเลย?

พี่บอล : ฉายหนังตัวเองอย่างงี้เหรอ แล้วก็บังคับคนรู้จักมาดู (หัวเราะ)

ถามว่ายุคนี้พี่อยากทำหนังไหม ความอยากทำหนังมันก็ลดลงไปแล้วแหละ เพราะด้วยความสนใจของสังคม ด้วยรูปแบบการเสพสื่อมันเปลี่ยนไป แต่ยุคนั้น หนังเรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนของพี่

แล้วในฐานะที่เป็นคนดูสื่อ ขยับมาเป็นคนผลิตสื่อ พี่เห็นอะไรในสื่อที่คิดว่า มันไม่โอเค แล้วควรจะต้องเปลี่ยน?

พี่ยอด : ก่อนจะทำสื่อ จะคิดว่าสื่อมีพลังมากเลย เนี่ย ทำไมนักข่าวไม่พูดเรื่องนี้วะ ทำไมรายการโทรทัศน์ไม่มาทำรายการนี้ เพราะนี่ ปัญหา ปัญหา ทำสิ แต่พอเป็นสื่อเองเราก็รู้สึกได้เลยว่า ข้อจำกัด สื่อไม่ใช่พระเจ้าที่บอกแล้วมันจะเปลี่ยนอ่ะ หน่วยงานมันไม่เปลี่ยนมันก็ไม่เปลี่ยน พี่ด่าการรถไฟฯมาทุกซีซั่นอ่ะ ไม่เปลี่ยนก็จะไม่เปลี่ยนอ่ะ จะให้ทำยังไง ก็ได้มีโอกาสไปบรรยายให้คนการรถไฟฯฟัง เค้าก็แบบ โอ้ย ชอบมากเลย แล้วก็ฉายไอ้ที่เราด่าเค้านะ (หัวเราะ) เค้าก็ชอบ เข้ามาคุย บอกว่าเนี่ย มันเป็นปัญหาแบบนี้จริงๆ ก็ขนาดนั้นคุณยังพูดอย่างงี้ มันเป็นปัญหา แล้วผมจะไปหาใครมาแก้ปัญหาวะ

พอทำสื่อเอง ก็ทำให้รู้จักข้อจำกัดของมัน แล้วก็รู้ว่ามันต้องช่วยกันมั๊ง ถ้าเราอยากเปลี่ยนจริง ๆ เหมือนกับคนต้องไม่หวังพึ่งพระเจ้าหรือผู้นำเท่านั้น ผู้นำไม่ได้ช่วยอะไรมากหรอก เราต้องช่วยตัวของเราเอง รวมกลุ่มของเราเอง สร้างข้อต่อรอง โตขึ้นไม่มีฮีโร่หรอก ฮีโร่ก็ทำผิดได้ ถ้าเราไปฝากความหวังไว้กับใคร เดี๋ยวมันเกิด ฆ่าคนตายขึ้นมา แล้วก็ผิดหวัง ต้องซวยว่าเคยไปนับถือมันอีก

พี่บอล : นั่นแหละ
พี่ยอด : เอ้า (หัวเราะ)
พี่บอล : มันเป็นอย่างนั้นแหละ
พี่ยอด : เออ นั่นแหละข้อเรียนรู้ที่ได้หลังจากมาทำสื่อ

คิดว่าสื่อทุกวันนี้ดีพอไหม พอใจไหม?

พี่ยอด : เดี๋ยวนี้ก็เห็นพัฒนาการนะ แล้วแต่คุณเลือก ว่าดูสื่อแบบไหน (หัวเราะ) ถ้าพี่ดูข่าว เคยดูของไทยพีบีเอส ก็เริ่มถามคำถามตรงขึ้น ก็เริ่มรอบด้านมากขึ้น รู้ว่าจะประเด็นไหนเพื่อนดักทาง เหมือนจะรู้ว่ามันมีอะไรไม่ชอบมาพากลขึ้น แบบนี้มั๊ง อาจจะไม่ได้หวัง แต่เห็นพัฒนาการ ว่ามันมีการถามมากขึ้น ที่ชอบมากก็คือ ทุกคนเป็นสื่อได้หมดเลย ทำ Youtube เองก็ได้ แล้วก็ต้องคำถามเอง บางคนฟ้องใน Facebook แล้วมันถูกแชร์ออกไป มันสะใจมากเลย ต่อไปนี้ใครจะมาทำอะไรที่ไม่โอเค อยู่ ๆ จะมาเขกหัวลูกน้อง แล้วไม่รับผิดชอบต่อการทำร้ายคนไม่ได้อีกแล้ว

พี่บอล : พี่ว่า พอพูดถึงสื่อในทุกวันนี้ พี่นิยมคำว่าสื่อไม่ถูกเลยนะ เมื่อก่อนมันก็จะมีทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ใช่ไหม เดี๋ยวนี้ทุกคนเป็นสื่อหมดเลย จะพูดว่าพอใจหรือไม่พอใจ ก็ต้องตอบว่า มันมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะทุกคนสามารถแสดงสิ่งที่ตัวเองคิด หรือฟ้องสังคมได้ หรือตั้งคำถามแย้งกันไปมาได้ ถามว่าดีไหม มันน่าสนุกขึ้น ที่เราได้ฟังจากคนเล็กคนน้อย ไม่ต้องรอสื่อใหญ่สนใจ ก็น่าตื่นเต้นขึ้น และคิดว่าจะเฝ้าดูมัน เพราะว่าพอทุกคนพูดแล้วคนอื่นได้ยินมากขึ้น สังคมก็น่าจะขยับไปสู่อะไรที่เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ประมาณนี้ครับ

ถ้ามีพรวิเศษหนึ่งอย่าง ขออะไรก็ได้ อยากขออะไร คนละอย่างหนึ่งข้อ?

พี่บอล : ก็ขอให้เราได้ผู้นำรัฐบาล ที่เป็นความหวังให้เราได้จริงๆมากกว่า เพราะคิดว่าในช่วงหลายปีมานี้ เราค่อนข้างมีปัญหาเรื่องนี้ หลายๆ อย่าง ความคิดสร้างสรรค์มันถูกจำกัด แล้วประเทศเรา เหมือนเราไม่รู้ว่าจะอยู่ไปแล้วมีความหวังอะไรในอนาคตอ่ะ

เออๆ พูดเรื่องนี้ดีกว่า อยากมีผู้นำที่ทำให้รู้สึกว่าประเทศเรามีหวัง อย่างพี่ไปจีนมา เรื่องผังเมือง พี่ไปดูพิพิธภัณฑ์ผังเมืองในเซี่ยงไฮ้น่ะครับ เค้ามีแบบจำลองขนาดใหญ่ที่บอกว่า อีก 20 ปีเมืองเซี่ยงไฮ้จะเป็นยังไง แล้วเราสามารถเดินไปดูได้เลยว่า บ้านที่เราอยู่ตรงนี้ อีก 20 ปี อ๋อมันจะกลายเป็นตึกเหรอ กลายเป็นสถานที่ราชการ หรือส่วนเศรษฐกิจใจกลางเมืองแบบนี้ แต่สำหรับเรา ถามว่าเรารู้ไหม ว่าแถวบ้านเรา แค่อีก 2 ปี มันจะถูกพัฒนาเป็นพื้นที่อะไร เราไม่เคยรู้แผนไง แล้วพี่รู้สึกว่า คนจีนเค้ามีความหวัง เค้าจะรู้ว่าอีก 20 ปี ชีวิตเค้าจะดีขึ้นในแบบนี้

พี่ยอด : เหมือนเหมาป่ะ เป็นเผด็จการ (หัวเราะ)
พี่บอล : แต่เรารู้ว่ามันจะเป็นยังไง เราจะค้านเราก็ค่อยๆ ค้าน แต่เราอยู่โดยที่ไม่รู้อะไรเลย ถ้าขอพรได้ ก็ขอผู้นำดีๆ ซักที คนที่ไม่ได้สนใจแต่การเมือง ให้เรารู้สึกว่าเราเชื่อเค้าได้อ่ะ แต่เอาเข้าจริงแล้ว การฝากความหวังที่ผู้นำอย่างเดียวก็เป็นอันตรายเหมือนกันเนอะ (หัวเราะ)

ขออะไรดี
พี่ยอด : ขอให้โลกสงบสุข (หัวเราะ) รักเด็ก

พูดถึงเรื่องผู้นำ มีเรื่องกฏหมายที่ออกมาเซนเซอร์สื่อภาพยนตร์ พี่คิดว่ายังไงบ้าง?

พี่บอล : โห พี่ว่ามันโบราณมากนะ เค้าพูดกันชัดมากนะ ที่พยายามค้านกัน ก็คือมีเรตติ้งแล้ว แต่ก็ยังมาเซนเซอร์อีก ซึ่งพูดกันมาอย่างน้อยเกือบเจ็ดปีแล้ว แต่พี่คิดว่ามันอยู่ได้ไม่นานหรอก เพราะสังคมตั้งคำถามกับมันมากขึ้น และคนเราตื่นตัวขึ้น คนที่ยังคิดแบบนี้ หรือใช้อำนาจแบบนี้ ก็ต้องปรับตัวแล้วล่ะ ก็คงอีกไม่นาน
พี่ยอด : คิดว่าสะใจดีที่มันออกกฎหมายนี้ เพราะว่ามันกลัว เห็นจุดอ่อนรู้ว่ากลัวมาก ถึงขนาดออกกฎหมายควบคุมสื่อออนไลน์ใช่มั๊ย คือยังไงมันก็คุมไม่ได้หรอก มันก็ปิดไม่มิด มันกลั้นไม่อยู่หรอก น้ำมันมาขนาดนี้

คิดว่าสื่อควรดูแลกันเอง หรือให้รัฐบาลกำกับ?

พี่บอล : พี่คิดว่าควรมีกติกาบ้าง แต่ให้มันหลวมๆ อ่ะ จริงๆ รัฐบาลแทนที่จะไปจำกัด อาจจะใช้วิธีส่งเสริมในทิศทางที่ตัวเองโอเคก็ได้ แต่ว่าอย่าไปแทรกแซงเยอะ เพราะคำว่าสื่อมันไม่ใช่แค่สื่ออย่างที่บอกแล้ว ทุกคนเป็นสื่อ มันจะมีการจับตาและตรวจสอบกันมากขึ้น เหมือนเราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี่แหละ ถ้าเราทำไม่ดีอย่างน้อยคนรอบข้างก็จะต้องมีการลงโทษทางสังคม นู่นนี่ ตอนนี้ทุกคนที่พูดผ่านสื่อ ก็ต้องโดนอย่างนั้นเหมือนกัน รัฐบาลก็ไม่ต้องกลัวอะไรนักหรอก พี่คิดว่าเราตรวจสอบกันได้

แต่ก็ต้องมีช่องทางให้ร้องเรียน และรับฟัง อันนี้สำคัญ

พี่ยอด : ไม่ต้องมีใครดูแลเลย รัฐบาลก็ไม่ต้องควบคุม พี่คิดว่านะ อันนี้แบบสุดๆเลย ต่อไปนี้อย่างที่พี่บอลบอก ทุกคนเป็นสื่อหมดแล้ว แล้วมันก็จะมีการตรวจสอบกันเอง ด่ากันเอง คัดค้านกันเอง มีการเอาข้อมูลมาเผย ถ้าคนนี้ลงข่าวผิด มีโต้ตอบแน่ มันไม่ใช่แบบ One-way อย่างเดียวแล้ว มัน Two-way อ่ะ แล้วคนที่มีข้อมูล ข้อมูลมันก็จะมาๆๆ มันก็เป็นอย่างนี้ คำว่าสื่อกลายเป็นทุกคนเป็นสื่อหมดแล้ว พี่ว่าไม่ต้องควบคุมอะไรหรอก มันจะเห็นพัฒนาการของมันเอง เป็นอย่างงี้เนอะ

ภาพจากรายการ “หนังพาไป”

กลับมาที่หนังพาไปบ้างครับ ตลอดหลายซีซั่นที่ผ่านมา หนังพาไป สอดแทรกอะไรให้กับคนดูบ้าง? เท่าที่เรารู้สึก

พี่ยอด : ความรู้ สาระ แล้วก็คุณธรรม ศีลธรรม (หัวเราะ) ตอนแรกตั้งใจว่า อยากให้เห็นว่าการไม่ต้องมีเงินมาก ก็ไปเที่ยวเมืองนอกได้ ไปดูงานเมืองนอกได้ แล้วก็เอากลับมา ไม่จำเป็นต้องสมัคร สส. หรือมีตำแหน่งใหญ่โต ถึงจะมีเงินไปดูงาน ด้วยตั๋วเครื่องบินฟรีด้วยอะไร ซึ่งตอนนี้ก็ทำกันหมดแล้วอ่ะ (หัวเราะ) มี Youtuber เกิดขึ้นมาหมดแล้ว

ส่วนตอนนี้ก็ อยากเล่าในประเด็นที่ลึกขึ้น อยากสื่อออกมาในประเด็นที่ชอบ สมมุติว่าชอบประวัติศาสตร์ ก็อยากเล่าออกมาแล้วก็ตั้งคำถาม ไปถึงช่วงยุคเวลานี้ มันคล้องกับประวัติศาสตร์ช่วงนั้นหรือเปล่า ตอนนี้อาจจะลงลึกมาขึ้นกว่าเมื่อก่อน

พี่บอล : ที่สอดแทรกไป ก็จะเป็นสิ่งที่เราสนใจ และคำถามที่เราสงสัย ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แนวคิด ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ได้ใส่ลงไปตามที่เราสนใจแล้ว เอาจริงๆ ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงมากของคนทำรายการทีวี อย่างพวกพี่เอง เวลาพูดอะไรออกไป มันจะรู้สึกว่าเป็นตัวตนมาก เราสนใจเรื่องพวกนี้ ซึ่งถ้าเราเสนออะไรไปกลางวง จริงๆก็ต้องยอมรับแรงกระแทกที่มันสะท้อนกลับมา ซึ่งก็มี แต่ก็คิดว่า ดีกว่าเราไม่พูดอะไรเลย พอไม่พูดหรือไม่แสดงความเชื่ออะไรออกไป มันก็จะกลายเป็น ไม่ต้องพูดไม่ต้องมีรายการก็ได้ แต่เราก็ยอมเสี่ยง

แต่พอมามันมายุคนี้ พี่รู้สึกว่า ซีซั่นแรกๆ ที่เราตั้งคำถามไป สื่อโซเชี่ยลมันยังไม่มาขนาดนี้ไง ตอนนี้เราก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่เหล่านี้ หนักเท่าเมื่อก่อน เพราะว่าสังคมเค้าตั้งคำถามกันได้อยู่แล้ว

สิ่งที่สอดแทรกตอนนี้ก็คงเป็น ความสวยความงาม หน้าตาลงไปแทน

พี่ยอด : หาสปอนเซอร์อยู่นะ มีมั๊ย พวกครีม อะไรแบบงี้
พี่บอล : ลงไทยพีบีเอสมันมีสปอนเซอร์ได้เหรอ (หัวเราะ)
พี่ยอด : ลงเพจไง (หัวเราะ) ให้พี่รีวิวครีม Before เนี่ย เอามาเลย ถนัด After เอาไว้ที่อื่น (หัวเราะ)

เวลารายการลงสถานีไทยพีบีเอส มีข้อจำกัดอะไรไหมพี่?

พี่ยอด : มี ก็ต้องผ่านเซนเซอร์แหละ คือเราก็ต้องเรียนรู้กันไป ตอนแรกๆพี่ก็ยังไม่เข้าใจคำว่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เนอะ ก็โดนเซนเซอร์ทุกครั้งเลย แต่หลังๆ มาก็ได้เรียนรู้ว่า เออ แบบนี้ พูดไอ้แบบนี้ มันเป็นการไปเหยียดเค้า มันไปทำร้ายความรู้สึกเค้า ก็เรียนรู้กันกับเซนเซอร์ ถามว่าทำงานง่ายไหม ก็ไม่ง่ายนะ แก้ทุกเทป ผิดนู่นผิดนี่อย่างงี้

พี่บอล : จริงๆ ข้อจำกัดนี้ก็เป็นทั้งข้อจำที่ทำให้เราอึดอัด แต่ก็เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เรามั่นใจอีกทาง ว่าเค้าลงมาช่วยเราดู อย่างบางเรื่อง ถ้าข้อมูลเรารั่วหรือไม่หนักแน่นพอ เค้าก็จะติงมา เราอาจจะต้อง เออ โอเค ในมุมมองของคนดู ตรงนี้มันยังอ่อนไป เราเหมือนพูดมาลอยๆ เราก็ต้องกลับไปทำ เหมือนมีคนช่วยดูอีกชั้นหนึ่ง

แต่ถามว่าอึดอัดไหม มันก็อึดอัด มันจะมีกรอบความคิดบางอย่าง แต่โชคดีตรงที่ พวกพี่ดื้อด้วยมั๊ง แล้วเซนเซอร์ที่เค้าดูแลรายการก็ค่อนข้างใจกว้าง ถ้าพวกพี่ไม่ยอม ก็ต้องกางข้อมูลมาเถียงกัน ว่าเพราะอะไร ถ้าเกิดเหตุผลเราดีเค้าก็รับฟัง แต่ถ้าเรายังอ่อนอยู่ เราก็ต้องรับฟัง เออต้องแก้กันไป อย่างงี้ครับ

คิดว่าทีวีสาธารณะยังจะอยู่เมืองไทยได้กี่ปี เพราะอะไร?

พี่ยอด : ถ้ามีเงินก็ยังอยู่ได้นะ (หัวเราะ) เอาจริงๆถ้ามีกฎหมายนี้ก็ยังอยู่ได้ อยู่ได้ตลอดเลยแหละ ถ้าคนคิดว่ายังมีเงินสนับสนุน แล้วก็มีฝ่ายที่ยังด้วยกับการมีทีวีสาธารณะ มันก็ยังอยู่ได้แหละ แต่เอาจริงๆ ทีวีสาธารณะจริงๆ พี่ว่าน่าจะเป็นสื่อออนไลน์มากกว่า สื่อสาธารณะจริงๆเค้าก็ยังตีความว่า มันยังคือของที่ต้องมีศีลธรรม จริยธรรม มีอะไรพวกนี้ มันมีข้อจำกัดหลายอย่างในด้านของเค้า แต่ถ้าให้พี่มองอีกด้าน สื่อสาธารณะจริงมันคือการลงอะไรก็ได้ ฉันอยากเผยแพร่อะไรก็เผยแพร่ ทำได้ทุกอย่าง นั่นก็สาธารณะ ให้คนดูไปเรียนรู้ของคุณเอง คุณไม่พอใจที่ทำอย่างนี้ ก็ไม่ดู น่าจะสื่อออนไลน์มากกว่า ที่สาธารณะจริง

พี่บอล : สำหรับพี่คิดว่า สื่อสาธารณะก็ยังอยู่ได้แหละ แล้วก็ในความเป็นจริง อย่างประเทศไทย มันควรมีสื่อสาธารณะมากกว่าหนึ่งสถานีด้วยซ้ำ อย่างไทยพีบีเอสเองก็เป็นสื่อสาธารณะใช่ไหม แต่ว่ามันก็มีกรอบบางอย่างที่เรา เอ๊ะๆ มันจะดีกว่านี้ได้ไหม มันจะแหวกกรอบได้ไหม ภาพลักษณ์มันก็จะเป็นแบบเดียว ถ้าเรามีอีกสองสามช่องที่มาแข่งขันกัน ภายใต้จุดประสงค์ที่ดี แต่ว่า ทุกคนก็ใช้กลยุทธ์หรือมีวิธีมองโลกต่างกันไป พี่ว่ามันก็จะดีขึ้น

ตอนนี้มันก็เหมือนถูกผูกขาดอยู่ช่องเดียวเหมือนกัน ดังนั้น mind set มันเป็นแบบไหน มันก็จะถูก set อย่างเดียว เราไม่มีสื่อสาธารณะทางเลือกอื่นๆอีก แต่มันโชคดีที่มีสื่อออนไลน์ มี YouTube ที่ใครๆก็เป็นสื่อได้แล้ว

หนังพาไปซีซั่นต่อไป จะมีการปรับเปลี่ยน หรือทำอะไรที่มันว้าวขึ้นไหมครับ?

พี่บอล : เปลี่ยนพิธีกรครับ พี่ก็เบื่อเต็มที (หัวเราะ)
พี่ยอด : กูไม่ทำงานกับมึงแล้ว (หัวเราะ)

สุดท้ายครับ อยากฝากอะไรให้คนที่อ่านบทความนี้อยู่?

พี่ยอด : ฟังหูไว้หูนะครับ แล้วเราจะไม่รับผิดชอบข้อมูลอะไรทั้งนั้น (หัวเราะ) คุณต้องรับผิดชอบชีวิตคุณเอง ไม่ใช่ว่าเชื่อเราแล้วแบบ พี่บอลพี่ยอดพูด ชอบอย่างนี้แล้วทำตาม ทำไมชีวิตล้มเหลว อันนี้ไม่ได้นะ ต้องสู้ด้วยตัวเอง
พี่บอล : ก็อย่ายึดเรามากครับ เพราะความคิดคนเรา วันนี้พี่พูดแบบนี้ พรุ่งนี้พี่อาจจะพูดอีกแบบ
พี่ยอด : อารมณ์มันแรงนั่นแหละ
พี่บอล : (หัวเราะ) อย่าเชื่อสิ่งที่พวกพี่พูดมันจะจริงแท้

อย่าลืมติดตามรายการ “หนังพาไป” ย้อนหลังทุกตอนได้ผ่านทาง http://program.thaipbs.or.th/Moviepapai และติดตามซีซั่นใหม่ได้เร็วๆ นี้