fbpx

จากบทความครั้งก่อนที่เรานำตัวเลขผลประกอบการของแต่ละสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลมารายงานให้คุณผู้อ่านได้อ่านกัน (ติดตามบทความครั้งที่แล้วได้ ที่นี่) ครั้งนี้ ส่องสื่อจึงขอลงลึกไปยังสถานีโทรทัศน์อันดับ 2 ของประเทศไทยอย่าง “สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3” กันบ้าง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการออกอากาศทั้งหมด 4 ช่องด้วยกัน ได้แก่ช่อง 3 ในระบบแอนะล็อก และช่อง 13 28 และ 33 ในระบบดิจิทัลนั่นเอง

แต่จริงๆ แล้วนอกจากการดำเนินการออกอากาศทั้ง 4 ช่องแล้ว กลุ่มช่อง 3 ยังทำธุรกิจเป็นต้นน้ำ-ปลายน้ำให้กับสถานีโทรทัศน์แบบครบวงจรอีกด้วย ซึ่งในวันนี้เราจะมาแกะดูผลประกอบการและเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทในเครือช่อง 3 แบบบางส่วนกัน ซึ่งติดตามได้จากรายงานชิ้นนี้กันเลย…

บริษัทแม่กำไรน้อยลง – ทีวีแอนะล็อกขาดทุนยับ!

เริ่มจากบริษัทแม่ที่ดูแลธุรกิจในเครือบีอีซีทั้งหมดอย่าง “บมจ.บีอีซี เวิลด์” กันก่อนเลย บริษัทหลักที่เน้นเป็น Hoding Company ที่ถือหุ้นในบริษัทลูกเพื่อบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งผลประกอบการโดยรวมในปีที่แล้วมีรายได้เข้ามามากถึง 7,922 ล้านบาท แต่กำไรกลับน้อยกว่าปี 2560 กว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นหัวใจหลักของเครือบีอีซีก็มีทั้งทำกำไรและขาดทุนแบบ 9 หลักกันเลยทีเดียว เริ่มจากผู้ได้รับสัมปทานทีวีระบบแอนะล็อกอย่าง “บจก.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์” ที่รายได้ในปี 2561 ได้ไปทั้งสิ้น 5,994 ล้านบาท น้อยกว่าปี 2560 ประมาณ 400 ล้านบาท และมีตัวเลขขาดทุนอยู่ที่ 969 ล้านบาทเลยทีเดียว

FYI : บจก.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ มี “ชาตรี โสภณพนิช” อดีตประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของบริษัทอีกด้วย

ผิดกันกับผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลอย่าง “บจก.บีอีซี-มัลติมีเดีย” ที่ปี 2561 พลิกกลับมาทำกำไรอยู่ที่ 111 ล้านบาทเลยทีเดียว และรายได้ก็มากกว่าปี 2560 เลยเช่นกัน

และถ้าจะไม่กล่าวถึงบริษัทนี้ก็คงไม่ได้ นั่นก็คือ “บมจ.บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” นั่นเอง ที่เป็นตัวหลักในการจัดคอนเสิร์ตต่างๆ รวมไปถึงเป็นเอเย่นขายบัตรชมมหรสพอย่าง “ไทยทิคเก็ตเมเจอร์” ซึ่งนอกจากนั้นยังมีค่ายเพลง สถานีวิทยุ ดูแลสโมสรกีฬา และผลิตรายการโทรทัศน์ป้อนลงช่อง 3 ทั้งรายการข่าวอย่าง “ข่าววันใหม่” และ “เรื่องเล่าเช้านี้” รวมไปถึงรายการการประกวดนางงามอย่าง “Miss Thailand World” อีกด้วย ซึ่งผลประกอบการในปี 2561 นั้นขาดทุนอยู่ที่ 41 ล้านบาท และรายได้ในปีเดียวกันก็ลดลงจากปี 2560 ประมาณ 300 ล้านบาท

ผิดกับธุรกิจจัดหารายการป้อนลงช่อง 3?

ในขณะเดียวกัน นอกจากกลุ่มบีอีซีจะถือสถานีโทรทัศน์ จัดกิจกรรม มีสโมสรกีฬา และเป็นเอเย่นขายบัตรชมมหรสพแล้ว ยังดำเนินธุรกิจจัดหารายการบันเทิง ละคร และสารคดีจากต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งในเครือของบีอีซีเองมีหลากหลายบริษัทมากๆ แต่โดยการดำเนินการแล้วหลักๆ จะมีอยู่ทั้งหมด 4 บริษัทด้วยกัน

เริ่มต้นกันด้วย “บจก.รังสิโรตม์วนิช” บริษัทที่เน้นจัดหารายการต่างๆ ลงสถานีฯ โดยในปี 2561 นั้นมีรายได้ลดลง ส่งผลให้ตัวบริษัทขาดทุนอยู่ที่ 477 ล้านบาทนั่นเอง

ตามมาด้วย “บจก.นิวเวิลด์ โปรดั๊กชั่น” ที่ในปี 2561 นั้นมีรายได้ลดฮวบ อาจจะด้วยเพราะนำเข้าหรือจัดหารายการได้น้อยลงตามสถานการณ์ ณ ขณะนั้น แต่ทว่าในปี 2561 ก็ยังมีรายได้เข้ามากว่า 2 ล้านบาทเลยทีเดียว

ต่อกันด้วย “บจก.บางกอกเทเลวิชั่น” ที่ในปี 2561 นั้นถึงแม้รายได้จะน้อยลง แต่กลับมีกำไรมากขึ้นกว่า 274 ล้านบาท

และสุดท้ายในกลุ่มของบริษัทจัดหารายการป้อนช่อง 3 อย่าง “บจก.บีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ดิสทริบิวชั่น” ซึ่งมีบริษัทลูกอย่าง “ทีวีบี ทรี เน็ตเวอร์ค” ที่นำเข้าซีรีส์จีน ฮ่องกงจากทีวีบีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งตัวเลขที่เห็นไม่ได้พิมพ์ผิดแต่อย่างใด แต่เป็นตัวเลขที่รายงานมาจริงๆ ว่าในปีล่าสุดมีรายได้อยู่ที่ 1,356 บาท ขาดทุนกว่า 262,000 บาทเลยทีเดียว

ส่งท้ายด้วยกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับช่อง 3

นอกจากกลุ่มจัดหารายการแล้ว ยังมีกลุ่มที่ต่อเนื่องกับทีวีด้วย ในรายงานนี้จะขอนำเสนอ 2 บริษัทที่เกี่ยวข้องแบบตรงๆ เลย บริษัทแรกคือ “บจก.ยู แอนด์ ไอ คอร์โปเรชั่น” ที่เป็นผู้ดูแลสถานีวิทยุของไทยทีวีสีช่อง 3 อย่าง FM 105.5 MHz ที่ได้รับสัมปทานมาพร้อมกับไทยทีวีสีช่อง 3 ด้วย ปัจจุบันยูแอนด์ไอจะเป็นผู้บริหารตัวสถานีวิทยุโดยเฉพาะ และมอบช่วงเวลาการขายโฆษณาให้แก่ บจก.บีอีซี-เทโร เรดิโอ ให้เป็นผู้จัดการต่อนั่นเอง ส่วนผลประกอบการในปี 2561 นั้นขาดทุน 2 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าปี 2560 กว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

อีกส่วนที่เกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ “บจก.สำนักข่าว บีอีซี” หรือฝ่ายข่าวของไทยทีวีสีช่อง 3 เดิมนั่นเอง (ครอบครัวข่าว 3) ที่ปัจจุบันไม่ได้เน้นแค่ผลิตเพื่อออกอากาศในช่องตนเองเท่านั้น ยังจัดจำหน่ายข่าวให้แก่สำนักข่าวต่างๆ รวมไปถึงสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ที่ไม่สามารถผลิตข่าวได้เองหรือมีผู้สื่อข่าวไม่ครอบคลุมอีกด้วย ผลประกอบการในปี 2561 มีรายได้ที่ลดลงแต่ก็ยังมีกำไรอยู่ที่ 58 ล้านบาท

อันที่จริงแล้วที่เราพยายามรายงานตัวเลขผลประกอบการของสื่อแต่ละเจ้า ก็เพื่อที่จะสะท้อนธุรกิจสื่อในปัจจุบันว่าไปรอดอยู่หรือไม่ในสถานการณ์ที่โลกดิจิทัลเข้ามาทดแทนสื่อเก่ากันหมดแล้วนั่นเอง สุดท้ายแล้วบริษัทไหนที่ปรับตัวได้เก่งมากที่สุด บริษัทนั้นจะเป็นบริษัทที่ทำกำไรอย่างยั่งยืนต่อไป

และจริงๆ แล้ว ตัวเลขเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงธุรกิจในเครือกันเองว่าจริงๆ แล้วกลุ่มบีอีซี ได้กำไรจากส่วนไหนมากกว่ากันในปี 2561 ยังไงคราวหน้าถ้ามีตัวเลขอะไรดีๆ ส่องสื่อจะนำมาฝากในรายงานชิ้นต่อไป คอยติดตามกันทางเพจส่องสื่อได้เลย

ข้อมูลอ้างอิงจาก กรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์