fbpx

กว่าโทรทัศน์ไทยจะกำเนิดขึ้นเป็น “ช่อง 4 บางขุนพรหม” ได้นั้น ถือว่าใช้เวลานานมากพอสมควรเหมือนกันครับ แต่สุดท้ายแล้วประเทศไทยก็ถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ส่งสัญญาณโทรทัศน์อีกด้วย ในบทความนี้เราจะมากล่าวถึงที่มาที่ไปของการถือกำเนิดกันครับ

อันที่จริง ความพยายามในการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์มีมาตั้งแต่ในช่วง พ.ศ. 2475 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้เตรียมการทดลองส่งโทรทัศน์ แต่ยังไม่ได้ดำเนินการเริ่มก็เกิดการปฏิวัติโดยคณะราษฎร์ขึ้น หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น และพอสงครามจบลงก็ได้มีความพยายามในการก่อตั้งโทรทัศน์ขึ้นอีกครั้งขึ้น

โดยในช่วงปี พ.ศ. 2492-2493 ได้มีการตีข่าวเกี่ยวกับปรากฎการณ์การประดิษฐ์โทรทัศน์ในทวีปยุโรปและอเมริกาขึ้น รัฐบาลไทยพอได้ทราบข่าวจึงอยากจัดตั้งโทรทัศน์ขึ้นมาบ้าง แต่มีการคัดค้านจากประชาชนในขณะนั้น เนื่องจากประเทศไทยเองยังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ จึงยังไม่พร้อมที่จะลงทุนในกิจการโทรทัศน์

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2495 รัฐบาลไทยได้มอบหมายให้อธิบดีกรมโฆษณา (ปัจจุบันคือ กรมประชาสัมพันธ์) จัดตั้งบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัดขึ้น โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นอยู่ที่ 20 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ และได้เตรียมความพร้อมโดยการส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานที่บริษัท RCA ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังเตรียมความพร้อมด้วยการเปิดประกวดราคาเครื่องรับส่งโทรทัศน์และเตรียมงานด้านเทคนิคโทรทัศน์อีกด้วย นอกจากนี้ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ทรงบัญญัติศัพท์ “วิทยุโทรทัศน์” ทดแทนคำว่า “Television” อีกด้วย

หลังจากมีการเตรียมการเพื่อให้พร้อมส่งสัญญาณโทรทัศน์มาสักระยะหนึ่ง ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งตรงกับวันชาติในสมัยนั้น จอมพล ป. พิบูลสงครามได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานและที่ทำการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม และถือเป็นฤกษ์แห่งการเริ่มต้นส่งสัญญาณโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ โดยมีชื่อเรียกขานตามอนุสัญญาสากลว่า HS1-TV ซึ่งต่อมาเปลี่ยนแปลงเป็น HST-TV นั่นเอง ส่วนพื้นที่การออกอากาศนั้นตั้งอยู่บนวังบางขุนพรหม (ปัจจุบันเป็นที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทย)

สำหรับช่อง 4 บางขุนพรหมนั้น ติดตั้งเครื่องส่งโทรทัศน์ของ RCA จากสหรัฐอเมริกา มีกำลังส่งทั้งหมด 10 กิโลวัตต์ ระบบ FCC 525 เส้น/30 ภาพ/วินาที ออกอากาศจากเสาส่งความสูง 325 ฟุต ด้วยสายอากาศแบบ Superturnstile (Batwing) 3 Bays อัตราขยายกำลัง 3 dB ซึ่งระบบ FCC 525 เส้นนั้นเป็นระบบที่เหมาะกับกระแสไฟฟ้า 110 โวลต์ 60 ไซเคิล ของกรุงเทพมหานครในตอนนั้น

หลังจากนั้นไม่นานนัก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผุ้บัญชาการทหารบก ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เพื่อดำเนินกิจการโทรทัศน์ที่เป็นประโยชน์กับกิจการทหาร และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ก็ได้ก่อสร้างอาคารสถานีโทรทัศน์ขึ้นที่บริเวณกองพลทหารม้า สนามเป้า กรุงเทพมหานคร

หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็ได้ถือฤกษ์ออกอากาศสถานีโทรทัศน์ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2501 โดยใช้ระบบการออกอากาศเป็นระบบ FCC 525 เส้น ช่อง 7 ระบบภาพขาว-ดำ กำลังส่ง 5 กิโลวัตต์ ออกอากาศจากเสาส่งความสูง 300 ฟุต ด้วยสายอากาศแบบ Panel Dipole กำลังส่งออกอากาศที่ปลายเสาอยู่ที่ 60 กิโลวัตต์ และได้ชื่อเรียกขานตามอนุสัญญาสากลว่า HSA-TV เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 2 ที่ออกอากาศในเวลาต่อมา

อ้างอิงหนังสือ “จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทย” : วิวัฒนาการเทคโนโลยีโทรทัศน์ไทย