fbpx

The Post : เอกสารลับที่ไม่เคยลับ…ในสื่อมวลชน

(ไม่เคยดู ห้ามอ่าน เพราะสปอยเยอะมาก)
เผยแพร่ครั้งแรก 14 กรกฎาคม 2562


วันนี้ทางส่องสื่อ ได้มีโอกาสเข้าไปชมภาพยนตร์เรื่อง “The Post : เอกสารลับเพนตากอน” มา ซึ่งเป็นเรื่องจริงของสื่อมวลชนสำนักหนึ่งในสหรัฐฯ ที่ต้องการจะเผยแพร่ความจริงที่รัฐบาลได้โกหกประชาชนไว้ โดยการนำเอกสารลับของสหรัฐฯ ออกมาเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ เนื้อเรื่องและการดำเนินเรื่องน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลย และยังมีประเด็นสื่อมวลชนให้เอากลับมาคิดต่อได้อีก เราเลยขอนำข้อคิดเหล่านั้นมาวิเคราะห์และรวบรวมกันครับ

ทุกอย่างมักมีจุดเริ่มต้นจาก “เรา”

The Post เปิดเรื่องมาด้วย “คนใกล้ชิดของรัฐมนตรี” ที่เข้าไปสังเกตการณ์ในค่ายทหารช่วงสงครามเวียดนาม และกลับมาพบเจอคำโกหกของรัฐมนตรี ทำให้เขา “อยู่เฉยไม่ได้” และจึงกระทำการขโมยเอกสารลับของทางการ หลังจากนั้นก็เริ่มส่งเอกสารไปแต่ละสำนักข่าว เพื่อให้ช่วยเผยแพร่ความจริง (ซึ่งเวลาก็ผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว)

สิ่งที่หนังเรื่องนี้แฝงไว้ตั้งแต่เริ่มต้นคือ เราทุกคนคือแหล่งข่าว และเราทุกคนคือกระบอกเสียงชั้นดีที่จะทำให้เรื่องมันกระจ่างและถูกขุดคุ้ยได้ต่อไป ไม่ว่าจะในยุคไหน สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแรกเลยก็คือ “ประชาชนเป็นคนกระจายข่าวส่งไปยังสื่อมวลชน” เพราะประชาชนเองก็มีความเชื่อว่าสื่อมวลชนเป็นเครื่องกระจายเสียงชั้นดีอีกอันที่สามารถกระจายไปได้หลายๆ คนพร้อมกัน และทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้ และสื่อมวลชนเองก็ไม่ควรละเลยประชาชน เพราะทุกๆ เรื่องเกิดจากประชาชนเป็นผู้ส่งสารไปยังสื่อมวลชนเอง ซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญ และเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนควรคำนึงเป็นอันดับแรก

การเคารพต่อแหล่งข่าวเป็นสิ่งสำคัญ

มีอยู่ในตอนหนึ่งที่ทนายประจำสำนักข่าวได้เค้นข้อมูลกับนักข่าว เรื่องที่ว่าใครเป็นคนให้ข้อมูล ซึ่งในหนังเรื่องนี้ตัวนักข่าวเองก็คำนึงถึงหลายๆ อย่าง ทั้งผลกระทบและสิ่งที่จะเกิดขึ้น จึงไม่ได้บอกชื่อไว้ให้กับทนาย และนอกจากนั้นยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อคนที่นำเอกสารมาเผยแพร่ (ถึงภายหลังนางจะออกมาให้สัมภาษณ์เองผ่านรายการทีวีก็ตาม) 

ย้อนกลับมาที่สื่อมวลชนบ้านเรา ยังมีอีกหลายๆ ครั้งที่สื่อมวลชนเองก็ละเมิดแหล่งข่าว ทั้งการบอกรูปลักษณ์ ชื่อ ที่อยู่ หรือชื่อพ่อแม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการ “ไม่ให้เกียรติและไม่เคารพแหล่งข่าว” สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างในการนำเสนอข่าวคือ “Consent” ซึ่งสื่อเองต้องคำนึงถึงความสะดวกใจ ผลกระทบที่จะเกิดกับแหล่งข่าว และประเด็นต่างๆ ว่าจะส่งผลอะไรต่อแหล่งข่าวบ้าง ซึ่งต้องคุยกับแหล่งข่าวและตกลงกันให้ชัดเจน การกระทำแบบนี้ก็เพื่อให้แหล่งข่าวมีผลกระทบน้อยที่สุด และเป็นการให้เกียรติและให้ความไว้วางใจต่อแหล่งข่าวมากขึ้นด้วย

เรตติ้งเป็นตัวกำหนดความอยู่รอดของสื่อ

สิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้พยายามสื่อเลยก็คือ “เรตติ้ง” ซึ่งมีมาทุกยุคทุกสมัยที่เรตติ้งคือตัวชี้วัดของการเป็นไปของสำนักข่าวเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหนก็ตาม โดยเฉพาะในเรื่องที่นำเสนอมุมของนักหนังสือพิมพ์ที่ต้องมีการแข่งขันและแย่งชิงพื้นที่ในการนำเสนอข่าวเป็นเจ้าแรก โดยสุดท้ายอาจจะขาดข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบและข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงก็อาจจะหลุดไปในที่สุด

ถ้ามองย้อนกลับมาที่บ้านเรา จริงๆ แล้วเรื่องเรตติ้งมันเป็นประเด็นหลักเช่นเดียวกับต่างประเทศ และมีการแข่งขันมาอย่างยาวนานแล้ว โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ข่าวสารมีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งทำให้ขาดการกลั่นกรอง และอาจจะส่งผลในแง่ลบต่อสำนักข่าวได้ อย่างในเรื่องที่นำเสนอว่าข่าวของ The New York Times จำเป็นต้องใช้เวลามากกว่า 3 เดือนในการตรวจสอบ แต่พอเป็น The Washington Post กลับใช้เวลาแค่ 1 คืน เพราะว่ามันคือการแข่งขันบนเวทีเดียวกัน แต่ทั้งสองก็ได้มีการกลั่นกรองได้ดี ส่งผลทำให้ผลงานออกมามีคุณภาพมากขึ้น และส่งผลให้ประชาชนไว้วางใจอีกด้วย

สื่อมวลชนไม่ควรสนิทกับนักการเมือง (ในเชิงผลประโยชน์)

ในหนังเรื่องนี้ยังสะท้อนปัญหา เมื่อสื่อมวลชนหรือเจ้าของสื่อเองกลับสนิทกับนักการเมืองบางท่าน จึงทำให้เวลามีข่าวสารด้านลบของนักการเมืองที่สนิทสนมก็จะเกิดการเกรงใจและไม่ลงข่าวในที่สุด แต่จุดที่ภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างก็คือ เจ้าของสื่อกลับทุ่มตัวสุดพลัง เพื่อให้ทีมข่าวสามารถนำเสนอเอกสารได้อย่างราบรื่น

มองกลับมาที่บ้านเรา ปัญหาอย่างนึงที่เจอในสื่อบ้านเราคือ “การโดนถูกครอบงำ” ซึ่งมันทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถนำเสนอประเด็นได้หลากหลายพอ และนี่คือการครอบงำสื่อทางอ้อม สุดท้ายสื่อบางสำนักก็ไม่สามารถลงข่าวของเขาได้ เพราะกลัวว่าจะมีปัญหา ซึ่งในความเป็นจริงสื่อมวลชนต้องเข้าใจในหน้าที่ให้ชัดเจน และมีระยะห่างของความสนิทให้มากขึ้นอีกนิดเดียว

ธุรกิจสื่อมวลชน ความเสี่ยงของตลาดทุน

เนื้อเรื่องส่วนหนึ่งมีการพูดถึงการนำธุรกิจหนังสือพิมพ์เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อจำหน่ายหุ้นให้แก่ประชาชนและนำเงินเข้าบริษัท เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินต่อไป แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ตามมา นั่นก็คือการตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองและนักลงทุน

ปัญหาสำคัญในเรื่องก็คือ เมื่อมีนักลงทุนเข้ามาในเรื่อง หลายๆ ครั้งก็ทำให้นักข่าวไม่สามารถนำเสนอข่าวที่มีผลกระทบได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะนำเสนอข่าวทำเนียบข่าว ที่นักลงทุนหลายคนเข้ามาค้านว่าไม่อยากให้ตีพิมพ์ แต่สุดท้ายการตัดสินใจตีพิมพ์นั่นก็ส่งผลทำให้หนังสือพิมพ์เป็นที่รู้จักในข้ามคืน

ลองมองย้อนกลับมาที่ธุรกิจสื่อในบ้านเรา หลายที่ไม่สามารถสร้างตัวตนหรือมองเห็นปัญหาและสะท้อนมันออกมาได้อย่างแท้จริง เพราะด้วยความเกรงอกเกรงใจต่อนักลงทุน สิ่งสำคัยคือการสร้างสมดุลระหว่างผลกระทบต่อสังคมและผลกระทบต่อธุรกิจสื่อเอง เพื่อทำให้สื่อสามารถนำเสนอข่าวที่มีผลกระทบต่อสังคมได้ด้วยนั่นเอง

อันที่จริงแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ในมุมมองของนักนิเทศศาสตร์ ถือว่าต้องดูและนำมาวิเคราะห์ต่อกันเลยทีเดียว เพราะถือว่าได้แง่มุมที่น่าสนใจมากๆ ทั้งด้านธุรกิจ ด้านสังคม ด้านสื่อสารมวลชน และที่สำคัญคือ “สร้างจากเรื่องจริง” ด้วยนั่นเองครับ

ท้ายที่สุด สำหรับใครที่อยากดูภาพยนตร์เรื่อง The Post สามารถเช่าหรือซื้อได้ทาง Google Play ซึ่งมีคำบรรยายภาคภาษาไทยด้วยนะครับ แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้าครับ