fbpx

เมื่อพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวในโซล “ฮงแด” ชื่อเรียกสั้น ๆ ของ Hongik University (ฮงแดที่กล่าวถึงนี้คือบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย ) อาจเป็นชื่อแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง จากการสังเกตของผู้เขียนพบว่า นักท่องเที่ยวที่มาเกาหลีหลายคน แทบไม่มีคนไหนที่พลาดสถานที่นี้เลย จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า “มาเกาหลีแต่ไม่มาฮงแดก็เหมือนมาไม่ถึงเกาหลี” ยิ่งไปกว่านั้นถ้ามาฮงแดแล้วไม่มาดู Busking (การแสดงเปิดหมวก) ก็เหมือนมาไม่ถึง “ฮงแด”

จุดเริ่มต้นของถนนเส้นนี้ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมเกาหลี สถานที่ที่เต็มไปด้วยความฝันของเหล่า Busker (วณิพก) ที่เปี่ยมล้นไปด้วยความสามารถทั้งร้องเพลง เล่นดนตรี เต้น รวมไปถึงการแสดงมายากล บริเวณฮงแดนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่รัฐบาลเกาหลีภาคภูมิใจนำเสนอ วันนี้ส่องสื่อขอพาผู้อ่านทุกท่านมารู้จักกับฮงแด ถนนที่ใคร ๆ ก็ประทับใจทุกครั้งที่มาเดิน

ภาพจาก habkorea
ภาพจาก habkorea

เมื่อ 35 ปีที่แล้ว

ในปี 1984 มีเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือการตัดรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 2 ผ่านบริเวณหน้าทางเข้าของ Hongik University จึงทำให้เกิดเป็นศูนย์รวมร้านค้าขึ้น ในเวลานั้นราคาเช่าที่พักหรืออาคารไม่แพงมาก นักศึกษาชาวอเมริกาที่มาเรียนในประเทศเกาหลีและศิลปินจะเช่าสถานที่ตรงนี้เป็นที่ตั้งของการทำเวิร์คช็อป ฮงแดจึงกลายเป็นที่รู้จักกันในนามพื้นที่สำหรับวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ การพัฒนาของฮงแดได้มีมาอย่างต่อเนื่องจนขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่อินดี้ที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมเกาหลีและตะวันตกอย่างลงตัว

ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณฮงแดให้คำนิยามว่า ฮงแดเป็นพื้นที่ที่เติมเต็มประสบการณ์ของศิลปินที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ เป็นสถานที่ที่พัฒนาวัฒนธรรมอินดี้ของเกาหลี แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริเวณฮงแดถูกเปลี่ยนเป็นร้านค้าขนาดใหญ่แทนที่ร้านค้าขนาดเล็กดั้งเดิมที่นักออกแบบ นักศิลปะ ที่ได้ทดลองสร้างผลงานของตัวเองขึ้นมาเพื่อสร้างความเอกลักษณ์ความเป็นฮงแดไว้ นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ที่อาศัยบริเวณนี้ได้กล่าวว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดคลับและบาร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมสำหรับชาวต่างชาติ ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นฮงแดเริ่มหายไป

ภาพจาก habkorea
ภาพจาก habkorea

ฮงแดในวันนี้

ถึงแม้ว่าฮงแดจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากจากเดิม แต่สิ่งสำคัญที่ยังมีอยู่คือพื้นที่แสดงออกทางวัฒนธรรมของคนเกาหลี เห็นได้ชัดจากการนำกระแสเกาหลี (K-wave) มาส่งต่อจนเกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เมื่อนักท่องเที่ยวคนใดมาเกาหลีก็ต้องมาที่ฮงแด เช่น การเต้น cover ศิลปินเกาหลี ซึ่งนับว่าเป็นจุดสนใจเป็นอย่างมาก เพราะอิทธิพล K-pop ที่ดังไปทั่วโลก นอกจาก Busker เองจะได้แสดงความสามารถของตนเองแล้ว ยังได้ส่งต่อสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีคาดหวังไว้มากอย่างหนึ่งคือ การส่งออกวัฒนธรรม เพราะการส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีเป็นหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีที่ยั่งยืนร่วม 20 ปีแล้ว

นอกจากนี้กระแสเพลงเกาหลีอื่น ๆ นอกเหนือจากเพลง K-pop ก็ถูกนำเสนอในรูปแบบดนตรีสด หรือการร้องเพลงโดยเปิด backing tracks  ซึ่งการ Busking ที่ฮงแดนั้น ก็ทำให้ Busker จำนวนหนึ่งประสบความสำเร็จได้ debut ในฐานะนักร้อง นักแสดง หรือไอดอล ที่เห็นได้ชัดและมีชื่อเสียงในช่วงไม่กี่ปีนี้จนถึงปัจจุบันคือการออกรายการ Under Nineteen Produce 101 และ Produce X 101

ศิลปิน Busker ที่แนะนำ

ถึงแม้เรื่องราวของฮงแดจะมีที่น่าสนใจและน่าติดตามมากกว่านี้ ผู้เขียนขอยกยอดไว้ให้ติดตามกันในบทความหน้า ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านคงอยากรู้ว่าศิลปินในฮงแดนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง ทำไมคนถึงชื่นชอบและติดตามมากมายขนาดนี้ จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่คลุกคลีอยู่กับฮงแดมาเกือบ 1 ปี จึงขอแนะนำศิลปินในฮงแดที่ผู้เขียนคิดว่าดีที่สุด 3 อันดับ ให้ผู้อ่านได้รู้จัก และสามารถติดตามผลงานของเขาได้หากมาที่เกาหลีหรือทาง social media โดยขอแนะนำเป็นสายนักร้องก่อนในบทความนี้

อันดับ 1 วง HZ (헤르츠)

 Instagram: 93.hz
Instagram: 93.hz

วงนี้สามารถเจอได้ส่วนใหญ่ที่ริมแม่น้ำฮัน แต่ก็มีมาที่ฮงแดบ้างบางครั้ง เอกลักษณ์ของนักร้อง 3 คนนี้คือแตกต่างกันอย่างลงตัว อีกทั้งเทคนิคการร้องและการเล่นกีตาร์ที่ยอดเยี่ยม จนอดคิดไม่ได้ในไม่นานพวกเขาอาจจะได้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมาก ๆ

อันดับ 2 วง Evenif (이븐이프)

 Instagram: band_evenif
Instagram: band_evenif

เป็นวงร็อครุ่นใหม่ที่น่าติดตามเนื่องจากสมาชิกในวงมีอายุเพียง 22-23 ปี และด้วยเสียงร้องของนักร้องนำที่เป็นเอกลักษณ์และสไตล์การเล่นดนตรีที่มีชั้นเชิง ทำให้การแสดงของวงนี้ออกมาดี นอกจากนี้วงนี้ยังเล่นตามร้านอาหารอยู่บ่อยครั้งในย่านฮงแดและคังนัม

อันดับ 3 Lee Byeong Min (이병민)

 Instagram: leebyeongmin
Instagram: leebyeongmin

นักร้องที่ผู้เขียนชื่นชอบมากที่สุด ด้วยเสียงที่มีเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ พร้อมกับความสามารถในการเล่นกีตาร์ที่ดี จึงเป็นนักร้องที่ควรไปติดตามหากมีโอกาสไปฮงแด

อ้างอิง http://www.bookpot.net/news/articleView.html?idxno=1016