fbpx

เมื่อ 20 กว่าปีก่อนหลายคนอาจจะเกิดมาพร้อมๆ กับรายการหนึ่งที่สะท้อนชีวิตเรื่องราวของเด็ก ธรรมชาติ ป่าเขา และชีวิตความเป็นอยู่ แน่นอนว่าไตเติ้ลเสียงเด็กร้อง “ทุ่งแสงตะวัน” จะต้องเป็นสิ่งแรกที่ดังขึ้นมาในหัวคุณดุจกับการที่เห็นภาพแล้วได้ยินเสียงอย่างไหนอย่างนั้นเลยทีเดียว และถึงแม้ปัจจุบันนี้จะอายุปาเข้าไป 20 กว่าปีแล้ว แต่รายการก็ยังได้รับผลการตอบรับที่ดีเสมอมา

วันนี้ส่องสื่อเราเลยอยากมาลองขอเคล็ดลับในการปรับตัวของคนทำสารคดีในยุคที่อะไรๆ ก็หมุนเร็วขึ้น ท่ามกลางข่าวสารที่มากขึ้นสื่อกระแสหลักในยุคนี้ก็ต้องจำเป็นต้องทำข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น แล้วลึกยังไงจะเป็นตัวเอง? หรือทำยังไงให้รายการทันสมัยมากขึ้น? วันนี้เราได้รับเกียรติจากพี่นก นิรมล เมธีสุวกุล ผู้ดำเนินรายการทุ่งแสงตะวัน และคนทำสารคดีที่คร่ำวอดมานานในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ มาพูดคุยเกี่ยวกับสารคดีกันครับ ติดตามอ่านได้เลย…

แนะนำตัวก่อนครับ

พี่นก : สวัสดีค่ะ พี่นก นิรมล เมธีสุวกุล ทุกคนอาจจะรู้จักในนามคนทำรายการทุ่งแสงตะวัน แต่ว่าวันนี้เจอกับคุณปังปอนด์ในงานแถลงข่าวของไทยพีบีเอส ซึ่งพี่นกก็มีส่วนร่วมเล็กๆ ในการทำรายการๆ หนึ่งอยู่ ซึ่งจะออกอากาศในเดือนสิงหาคมนี้

เริ่มแรกของการทำทุ่งแสงตะวัน

พี่นก : พี่นกเริ่มต้นจากการเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แล้วพี่นกก็เริ่มต้นวิชาชีพในสายสื่อสารมวลชนจากการเป็น “ผู้สื่อข่าว” พี่นกเริ่มทำงานผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ก่อนนะคะ แล้วก็หลังจากนั้นพี่นกก็มาทำเป็นผู้สื่อข่าวที่ช่อง 9 แล้วหลังจากนั้นก็ได้มาทำรายการทุ่งแสงตะวันขึ้น สาเหตุที่ทำตอนนั้นก็เนื่องมาจากในสมัยนั้นคนให้ความสำคัญเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ถ้าจะย้อนยาวขนาดนั้น คือในช่วงที่พี่นกทำข่าวในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยใช้ทรัพยากรธรรมชาติเยอะมากๆ เป็นช่วงขยายตัวทางการค้า แล้วก็มีการพัฒนาหลายๆ อย่าง ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก แล้วหลังจากนั้นทรัพยากรธรรมชาติก็เสื่อมโทรม จนมีการปิดป่าเกิดขึ้น มีการรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ต่างๆ ซึ่งพี่นกเห็นแล้วมันก็สุดขั้วมากเลย ก็คือพอถึงบทที่จะอนุรักษ์ปุ๊ป ปิดป่าปุ๊ป ห้ามคนตัดป่าปุ๊ป คนที่อาศัยอยู่ในป่าเดือดร้อนเลย ชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตตามธรรมชาติ ผ่าฝืน หรือเอาใบไม้มาทำเป็นหลังคาบ้าน มันก็มีปัญหามากมาย พี่ก็เลยตัดสินใจทำรายการ “ทุ่งแสงตะวัน” ขึ้น เป็นรายการที่ให้เด็กเป็นคนบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ว่าเขาพึ่งพาอาศัยธรรมชาติที่ดีๆ ในวิถีชีวิตของเขาอย่างไรบ้าง? ก็เริ่มรายการนั้นมาสัก 20 กว่าปีที่แล้ว ก็จนถึงวันนี้ค่ะ

ผ่านร้อนผ่านหนาวมายังไงบ้าง? ทุ่งแสงตะวันจึงอยู่รอดมาจนถึงวันนี้

พี่นก : ทุ่งแสงตะวันเป็นรายการที่แข็งแรงในเชิง Concept แล้วก็เป็นรายการที่ได้รับการสนับสนุนเยอะมากเลยจากเพื่อนๆ สื่อมวลชน แล้วก็บรรดาสปอนเซอร์ทั้งหลาย แล้วก็รายการเกิดมาในช่วงที่มีรายการเด็กน้อยมากเลย ก็เลยมีคนรู้จักเยอะนะคะ แล้วก็พอออกอากาศไปเรื่อยๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็เป็นเหมือนสัญญาลักษณ์หรือสถาบันไปแล้วนะ บางคนเกิดมาพร้อมกับเห็นรายการทุ่งแสงตะวัน ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางรายการที่อายุยืน เราก็มีการปรับตัวเป็นเฟสๆ มาตลอด

เคล็ดลับนึงที่ทำให้เราอยู่รอดได้ ก็คือเรามีการปรับตัวเรื่อง Concept เนื้อหา หรือว่าเคลื่อนตัวไปกับปัญหาเรื่องของสังคม บางช่วงที่มีการทบทวนเรื่องของระบบการศึกษา เราก็ทำเรื่องระบบการศึกษา ในระบบ นอกระบบ เรื่องโรงเรียนขนาดเล็กกำลังจะโดนยุบจริงๆ แล้วมีคุณค่ายังไง? หรือบางครั้งก็ทำเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ บางครั้งตื่นตัวเรื่องชีวิตสัตว์ในป่าที่กำลังจะสูญหาย เราก็ไปคุยกับลูกหลานเจ้าหน้าที่ในป่าเพื่อที่จะไปส่องสัตว์ช่วงปิดเทอม ก็แล้วแต่ หรือบางครั้งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่กำลังจะสูญหายไป เราก็เดินทางไปทำ

หลักๆ แล้วที่เราอยู่ได้ก็คือ หนึ่ง ต้องมีการตลาดที่ดี อันที่สอง ทีมงานต้องดี และข้อที่สามคือเราจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ถึงแม้ว่าพิธีกรจะเป็นคนเดิมก็ตาม (หัวเราะ)

เวลาคิดประเด็นจะมาทำเป็นสารคดีจะไปหามาจากไหน?

พี่นก : หลายๆ อย่าง ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกันกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังสนใจจะมาทำสารคดีละกัน เอาจริงๆ ก็เรียกสารคดีไม่ได้แล้วในยุคนี้ เดี๋ยวนี้มันคือรายการโทรทัศน์ หรือว่าการสื่อสารสาธารณะที่จะมีประเด็นเกี่ยวข้อง ก็แล้วแต่ว่าใครชอบทำอะไรก็ทำอันนั้นให้ถูกจริตของตนเอง หมายถึงผู้ทำก็จะทำให้มีความสุข ถูกไหม? ถ้าเกิดทำอะไรที่เราทำแล้วไม่สนใจ มันฝืนตัวเองก็ทำไปไม่เท่าไหร่หรอกแล้วก็เลิก แต่ถ้าสนใจเรื่องสื่อ สนใจปัญหาประเด็นเกี่ยวกับสังคม สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราทำ เราจะรู้สึกว่า “เฮ้ย เราได้เรียนรู้สิ่งที่เราอยากจะรู้” เราได้คุยกับคนที่เราสนใจ เราได้ตั้งคำถามบางอย่างแล้วไปแสวงหาคนที่มีความรู้แล้วตอบโจทย์เราได้

พี่นกอยากจะรู้ว่า DNA เป็นยังไงเหรอ? ไอ้ไทยแท้มันมีจริงหรือเปล่า? เอ๊ย มีคนทำเรื่องพันธุศาสตร์ประชากรเว้ย นอกเหนือจากการทำเรื่อง DNA อ่อ นึกว่า DNA มันจะมีแต่แบบตรวจเพื่อสืบหาลักษณะ อัตลักษณ์พิเศษของแต่ละบุคคลว่าที่ตายแหง๋นแก๋อยู่เนี่ยเป็นใคร? เอา DNA ไปตรวจสอบเทียบกับคนที่คิดว่าจะเป็นญาติจะได้รู้ว่าเขาเป็นใคร? หรือว่าบางครั้งมีคดีความต่างๆ แล้วมี DNA คนร้ายติดตามพวงมาลัยรถ เราไปขูดๆ ๆ เอาไปตรวจดูจะได้รู้ว่าตรงกับผู้ต้องสงสัยรึเปล่า? เมื่อก่อนก็รู้สึกแค่นี้ใช่ไหม? แต่เอ๊ย อันนี้มันมีการตรวจ DNA เพื่อสืบหาบรรพชน เราเป็นใครมาจากไหน? เป็นญาติที่เคลื่อนย้ายมาจากแอฟริกาหรือมาจากอินเดีย? พอเราสนใจและได้ทำรายการ เราก็มีความรู้มากขึ้น และที่สำคัญเราจะได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในจักรวาลอื่นๆ ที่ไม่ใช่อยู่แต่ห้องสี่เหลี่ยมที่เรารู้จักแต่ตัวเอง

คราวนี้สำหรับพี่นกเอง พี่นกรู้สึกว่ารายการสารคดีเป็นรายการที่ให้ความรู้เราและให้ความรู้สาธารณะ คิดอย่างนี้นะคะ ประเด็นที่ได้มาก็ได้มาจาก หนึ่ง งานวิจัย สอง ไปพบความจริงแล้วสืบสาวเรื่องราวเพิ่มเติม หรืออันที่สามคือได้แรงบันดาลใจ เช่นได้แรงบันดาลใจจากปัญหาน้ำเน่าเยอะมากเลยที่เกิดจากอุตสาหกรรม พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วกระทบต่อชาวบ้าน พี่ก็ตรงไปที่หมู่บ้านนั้นเลย เพื่อเล่าเรื่องที่มีผลกระทบต่อเขา พี่ก็หวังว่าโรงงานจะได้เข้าใจว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ในขณะเดียวกันสาธารณะก็จะได้รู้ว่าเวลาชาวบ้านตัวเล็กๆ น้อยๆ เวลาเขาบอกปัญหาเนี่ย ใส่ใจหน่อยนะ เพราะเขาคิดว่าปัญหาขี้ปะติ๋ว แต่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเขา แล้วมันแปลกอยู่อย่างหนึ่ง ปัญหานานาชนิดนะ ถ้าไม่เจอกับตัวเรา เราไม่รู้หรอกว่ามันสำคัญ

ข้อสำคัญในการทำสารคดีในยุคสมัยนี้

พี่นก : คือพี่ก็อาจจะไม่ใช่ idol ของเด็กยุคใหม่นะ แต่พี่ก็ยืนยันว่าในบรรดาคนที่ทำสารคดีมีใครบ้าง? หนึ่งในนั้นก็ต้องมีเราอยู่แหละ ขอบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “ความจริง” ข้อมูลอย่ามั่ว เพราะว่าถ้ามั่วแล้วสมัยนี้คนก็จะเช็กกันได้อยู่แล้วนะ อันที่หนึ่งก็คือ สารคดีต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง แต่ในขณะเดียวกันวิธีการเล่าเรื่องหรือการนำเสนอเล่าเรื่องก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งมุมมองกล้อง วิธีการเล่าเรื่องด้วยภาพ วิธีการใช้เสียง เมื่อก่อนพี่นกจะพูดช้า เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว ก็ต้องกระชับขึ้น แล้วในขณะเดียวกันเราก็คิดว่ากลุ่มผู้ชมก็อาจจะมีหลายวัย เมื่อก่อนรายการเราจะเน้นเด็กเล็ก แต่เดี๋ยวนี้เน้นเป็นครอบครัวแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็จะเรื่องของการนำเสนอที่แตกต่างออกไปบ้าง ภาพ เทคนิค สติ๊กเกอร์ เขามีสติ๊กเกอร์ เราก็ต้องมีสติ๊กเกอร์ เขามีกราฟิก เราก็ต้องพัฒนาตัวเองไป

อีกอันหนึ่งที่เป็นความลับก็คือ เราก็จะมีการเปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่ในทีมงานกันเสมอ เพื่อให้มีมุมมองที่สดใหม่เสมอ คนตัวโตก็ไปทำงานอย่างอื่นที่ใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังต้องมีคนเก่าๆ เพื่อคอยบอกให้แนวทางมันได้

แนวคิดรายการใหม่กับการร่วมงานกับไทยพีบีเอส?

พี่นก : คือปกติแล้วเวลาพี่นกทำรายการ พี่นกจะไม่ทำรายการตามสั่ง ในที่นี้พี่นกจะคิดขึ้นมาเองเลยว่าตอนนี้ปัญหาของประเทศชาติคืออะไร? แล้วพี่นกก็คิดเป็นรูปแบบรายการ เนื้อหารายการ แล้วก็นำเสนอไปที่ต่างๆ แต่รายการซีรีส์นี้ของไทยพีบีเอสแปลกมากเลย มีอยู่วันหนึ่งนึกอะไรไม่รู้เข้าไปในเว็บไซต์ของไทยพีบีเอสเขามีการเปิดเสนอรายการสารคดีที่เกี่ยวกับคนไทยในประเทศไทย สร้างความเข้าใจร่วมกันไรงี้ ก็เลยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เราอยากทำมากเลย มีสารคดีที่เราอยากทำแล้วก็มีทุนให้ด้วยนะ เราก็เลยนำเสนอมาแล้วก็ชนะมาก็เลยได้ทำรายการ

สำหรับรายการ “เธอ เขา เรา ใคร : สำรวจคนไทยในแผ่นดิน” เป็นรายการที่ให้ความรู้ผู้คนให้ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ให้คนไทยได้รู้จักกันเอง ให้คนไทยรู้ว่ามีทั้งคนไทยและคนไม่ไทย ในที่นี้คือคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยของเราเต็มไปด้วยความแตกต่าง ประเทศไทยมีคนกว่า 70 ชาติพันธุ์วรรณา เขาพูดภาษาอันแตกต่างหลากหลาย มีโลกทัศน์ที่แตกต่างไป บางคนอาจจะเคารพธรรมชาติ บางคนอาจจะเชื่อเรื่องผีน้ำ ก็ทุกคนมีความแตกต่างที่น่าสนใจ แล้วเราก็รู้สึกว่าเราแสวงหาอะไรๆ เยอะแยะมากเลย แต่ว่าอยากให้ได้รู้จักตัวเอง รายการมีทั้งหมด 5 ตอนด้วยกัน มีตั้งแต่สำรวจคนไทยในอดีตประมาณหมื่นถึงแสนปีที่แล้ว สำรวจคนไทยอันเต็มไปด้วยชาติพันธุ์วรรณาต่างๆ สำรวจ DNA คนไทยแล้วก็ไปดูว่าประวัติศาสตร์คนไทยที่เริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัย แท้จริงแล้วมันเริ่มต้นก่อนนั้นมาตั้งนานมาก มีชุมชน มีอาณาจักร มีนครต่างๆ เกิดขึ้นอะไรต่างๆ เยอะแยะ จนกว่ามาเป็นไทยในปัจจุบัน จนมาถึงตอนสุดท้ายที่เราจะเล่าว่าท่ามกลางคนไทยอันหลากหลาย นโยบายรัฐ ทัศนคติของผู้คนที่แตกต่างกันนี้ มันเบียดขับให้คนที่เป็นชายขอบเขาเข้าไม่ถึงอำนาจรัฐ เขามีปัญหาอะไรบ้าง? เราก็จะไปโฟกัสประมาณนี้

พี่นกคิดว่าหน้าที่สำคัญของคนทำงานด้านสื่อแบบเราก็คือ สร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคม พี่นกคิดว่ารายการนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น มันก็ไม่ใช่ที่สุดของชีวิตนะ แต่ก็ทำอย่างดีที่สุด

ขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำสารคดีชุดนี้?

พี่นก : อ่านงานวิจัยเยอะมาก ติดต่อนักวิชาการเยอะมาก คัดสรรผู้ดำเนินเรื่องที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันการเล่าเรื่องท่ามกลางคอนเทนต์ที่มากมายจะคัดสรรอย่างไรเพื่อที่จะเล่าได้พอดี แล้วการทำสารคดี 1 ชั่วโมงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้คนอยู่กับเราได้ ก็ต้องหาวิธีการ งานไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินกำลัง ช่วยกันหลายคน ให้นักวิชาการตรวจสอบความถูกต้อง ให้ฝ่ายโปรดิวเซอร์ของทางสถานีและทางเราช่วยกันคิดสร้างสรรค์วิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ ก็ท้าทายดี ช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ลืมตาตื่นก็คิดเรื่องนี้ ก่อนหลับนอนก็คิดเรื่องนี้ตลอดเลย

อยากให้ส่องสื่อสักเรื่องหนึ่ง อยากส่องสื่อเรื่องอะไร?

พี่นก : พี่นกคิดว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้ ปัญหาเรื่องสื่อที่สำคัญมากเลยก็คือ Fake News การแชร์เรื่องที่ขาดวิจารณญาณในการพิจารณาความถูกต้องแล้วก็อาศัยการแชร์ๆ ไปโดยไม่รับผิดชอบ แล้วมันก็จะสร้างอคติที่รุนแรงโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงหรือการไตร่ตรองแล้วทำให้เกิดการเกลียดชังกันโดยไม่มีสาเหตุ คือพี่นกคิดว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในประเทศไทยและในยุคสมัยนี้ด้วย สิ่งหนึ่งที่พี่นกอยากจะสื่อสารให้กับคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อก็คือว่าหยุดคิดก่อนแชร์ แล้วก็เช็กก่อนว่านี่มันเรื่องอะไร? บางครั้งก็อยากแชร์เพียงเพราะอยากให้เพื่อนได้รู้บ้างว่าฉันรู้อะไรมา ซึ่งพี่นกว่ามันไม่ดีและในขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาเยอะมากเลย แล้วเราก็มาพบทีหลังว่า “อ้าว มันไม่ใช่” แล้วพอถึงตอนนั้นก็ไม่รู้ไปถึงไหนกันแล้ว พี่ว่าตรงนี้เป็นส่วนสำคัญมากๆ แล้วสิ่งที่ทำให้พี่นกสนใจด้านนี้ก็เป็นเพราะว่าพี่นกทำงานด้านสารคดีที่ยืนอยู่บนความจริงแหละ ไม่ว่าจะเป็นข่าวอะไรมาพี่ก็จะต้องเช็กก่อนว่าอันไหนจริง

การทำข่าวในยุคก่อนกับปัจจุบัน มีความยากง่ายในการสืบหาความจริงอย่างไรบ้าง?

พี่นก : ยุคก่อนช่องทางข่าวสารมีไม่มาก เพราะฉะนั้นเวลาเกิดอะไรขึ้นคนในสังคมก็จะรับทราบเรื่องใกล้เคียงกัน แต่สมัยนี้สื่อเยอะ ช่องทางเยอะมากเลย แล้วบางคนก็เสพแต่สื่อช่องทางเดียวที่ฉันชอบ โดยที่บางทีก็ละเลย ไม่ไปเรียนรู้โลกอื่นๆ ว่ามิติอื่นของเขาเป็นอย่างไร? ก็ทำให้โลกของเราเหมือนข่าวสารเยอะแต่แคบลง อันนี้เป็นเรื่องที่อันตราย แล้วก็ที่สำคัญที่สุดก็คือ เราเสพสื่อที่เราชอบก็ได้แต่ว่าพยายามให้มีสื่อ 2-3 สื่อที่เชื่อถือได้

บางคนจะเข้าใจผิดไง แบบว่าเห็นข่าวอะไรแปลกๆ แบบ exclusive สุดๆ ไม่มีใครรู้ ฉันรู้คนเดียว จริงๆ มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องก็ได้

ฝากถึงน้องๆ คนรุ่นใหม่ที่กำลังจะตัดสินใจว่าจะเข้ามาทำสื่อดีไหม?

พี่นก : พี่ว่าทุกวิชาชีพเราเรียนรู้จากการทำงาน เพียงแต่ว่าเราอย่าเพิ่งเร่งฟันธงด้วยความเชื่อมั่นมากในความไม่รู้นั้น คนที่ทำวิชาชีพนักข่าวหรือสื่อสารมวลชนมีข้อดีอย่างหนึ่งก็คือเป็นอาชีพที่คอยไปถามคนโน้นคนนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลมาอย่างถูกต้องตามบริบท สิทธิ หน้าที่ ในขณะเดียวกันเราได้เติบโต เราได้เรียนรู้จากผู้คนอื่นๆ แล้วคนที่เราเข้าไปถึงหรือเข้าไปหาก็เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆ ซึ่งเราจะเติบโตขึ้นแล้วมันก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้สื่อสารกับคนอื่นๆ ได้รู้เช่นเดียวกัน พี่นกคิดว่าอันนี้เป็นส่วนสำคัญ ส่วนเราจะทำได้ไม่ได้ สมัยนี้งานสื่อมันเฉพาะด้านไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็นต้องรู้หมดทุกเรื่องก็ได้ แต่ว่ารู้เรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ ไว้ เพื่อจะรู้ว่าเราอยู่ตรงไหนของปัญหาโดยรวมของประเทศชาตินี้ แต่ว่าเราก็อาจจะทำงานเฉพาะด้าน อย่างพี่นกเองทำมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ แต่สุดท้ายก็มาทำเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กและสิ่งแวดล้อม หรือในที่สุดก็มาทำเกี่ยวกับคนชาติพันธุ์ต่างๆ

เราก็ไม่ได้เก่งขึ้นภายในวันเดียวนะ แต่การทำงานมา 30-40 ปีมันก็ทำให้เรารู้ว่าถ้าเราอยากรู้ เราควรจะไปถามใคร? อันนี้สำคัญ แล้วก็การไปถามใครไม่ใช่ไปถามคนเดียว ต้องถามคนที่อยู่หลายๆ ฝ่าย เขาเรียกว่าถามรอบด้าน

ฝากรายการหน่อยครับ

พี่นก : ฝากสองรายการนะคะ รายการแรกคือทุ่งแสงตะวัน ที่ช่อง 3 ยังออกอยู่นะ ทุกวันเสาร์ตอนเช้า 06.20 น. แล้วก็รายการที่ไทยพีบีเอส “เธอ เขา เรา ใคร : สำรวจคนไทยในแผ่นดิน” อันนี้จะเริ่มออกอากาศวันที่ 4 สิงหาคม 2562 ออกแป๊บเดียวเอง 5 ตอน