fbpx

ถ้าพูดถึงรายการเรื่องเล่าเช้านี้ หลายคนคงนึกถึงวิธีการเล่าข่าวอันเป็นต้นฉบับที่ทุกวันนี้หลายรายการนำไปใช้กันจนประสบความสำเร็จเป็นแถวๆ แต่ว่าอีกสิ่งที่ทุกคนนึกถึงนั่นก็คือตัวพิธีกรนั่นเอง วันนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของพิธีกรที่ไม่ใช่คุณสรยุทธ แต่เป็นอีกคนที่ตอนนี้เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำบนหน้าจอรายการแล้ว นั่นก็คือ “ไบรท์ พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ” นั่นเอง วันนี้เราขอนำเอาเรื่องราวบางส่วนจากรายการ Podcast อย่าง “Woody FM” มาเล่าต่อเนื่องกัน ขอเชื้อเชิญชวนอ่านบทความนี้กัน

ก้าวแรกในการก้าวมาสู่ “เรื่องเล่าเช้านี้”

วันแรกที่ได้จัดรายการไบรท์ยอมรับว่าตื่นเต้นมากๆ เพราะตนเองเป็นแฟนรายการอยู่แล้ว และวันหนึ่งก็มีโปรดิวเซอร์ของรายการมาชวนให้มา Test หน้ากล้อง และสนใจที่จะให้มาร่วมงานด้วย ตอนนั้นด้วยความตื่นเต้น ดีใจเพราะเป็นแฟนรายการและเป็นแฟนของสรยุทธด้วย จึงตัดสินใจทันทีว่าจะต้องไปลองดูแน่นอน ตอนนั้นดีใจจนถึงขึ้นที่ต้องโทรบอกคุณแม่ทันทีเลย

สิ่งที่ทำให้ไบรท์อึ้งไปมากกว่านั้นคือ ทีมงานมาบอกทีหลังว่าคนที่เห็นไบรท์จริงๆ ก็คือคุณสรยุทธ ด้วยความที่สมัยก่อนไบรท์อ่านข่าวอยู่ที่ NBT และจะถูกส่งไปดูประชุมคณะรัฐมนตรีในทุกๆ วันอังคาร ช่วงนั้นได้สัมภาษณ์รัฐมนตรีหลายๆ ท่านใน ครม. ชุดนั้น และคุณสรยุทธก็ได้ดูรายการ แล้วก็ถ่ายรูปตอนที่ไบรท์สัมภาษณ์ และจึงให้ทีมงานเชิญไบรท์มา Test หน้ากล้องนั่นเอง

ณ วันที่เจอกันครั้งแรกคุณสรยุทธถึงกับเอ่ยปากชมว่า “ตัวจริงสวยกว่าในทีวีนะ ในทีวีดูเหมือนเป็นบ้านๆ หน่อย” (หัวเราะ) แล้วจึงค่อยๆ สอนงานให้ ดูวิธีการทำงานตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แต่ด้วยความที่ไบรท์มาจากสายอ่านข่าวจึงทำให้การปรับตัวครั้งนี้ค่อนข้างยากพอสมควร ไบรท์จึงทำการบ้านด้วยการศึกษารูปแบบรายการว่าเป็นแบบไหนบ้าง? ดูอย่าจริงจังถึงลักษณะการดำเนินรายการ พอถึงตอนก่อน Test แล้ว คุณสรยุทธจะใช้วิธีการบอกแค่หัวข้อข่าวมา 4 หัวข้อประกอบไปด้วย ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ และข่าวทั่วไปอีก 2 ข่าว ไบรท์จึงทำการบ้านโดยที่ยังไม่ทราบว่าต่อจากนั้นเราจะไปทำอะไรกันต่อ

ในวันที่ Test จริง คุณสรยุทธจึงใช้วิธีการเล่าข่าวจริงแล้วโยนข่าวให้ไบรท์ โชคดีที่ไบรท์สามารถดำเนินรายการไปด้วยกันได้ดี พอ Test จบคุณสรยุทธตัดสินใจทันทีที่จะรับไบรท์เข้าทำงาน โดยกล่าวว่า “พี่รับน้องแล้วนะ เหลือแต่น้องแล้วแหละว่าจะรับพี่หรือเปล่า?” แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้เล่าข่าวทันที เพราะทีมงานรวมไปถึงคุณสรยุทธเองยังกังวลเรื่องของการตื่นนอน เนื่องจากต้องตื่นในช่วงเวลาที่แปลก จึงต้องมีการ “ซ้อมตื่น” ก่อน เพื่อเป็นการวอร์มร่างกายและดูระบบการทำงานในรายการไปด้วย หลังจากนั้นจึงได้เริ่มทำงานในวันที่ 3 มกราคม 2554 ถือเป็นการเริ่มต้นกับรายการเรื่องเล่าเช้านี้

นี่คือกิจวัตรประจำวันของคนอ่านข่าวเช้า

ไบรท์เริ่มต้นตอนเย็นที่ต้องเตรียมตัวอาบน้ำ กินข้าว นอน ตั้งแต่ 17.00 น.จะเริ่มทานข้าวเย็นพร้อมๆ กับเปิดทีวีอัพเดตข่าวสารประจำวันนั้นๆ และเปลี่ยนดูหลายๆ ช่องตามเวลาผังรายการของแต่ละช่องและตามสถานการณ์ข่าวสารประจำวันนั้นๆ นอกจากนั้นยังต้องเปิดเว็บไซต์ข่าวและไลน์ของกลุ่มทีมงาน หลังจากนั้นจะนอนในเวลา 20.00 น. และตื่นตอน 02.00 น. โดยใช้นาฬิกาปลุก 2 ตัว (เพื่อกันเหนียวในกรณีในกรณีที่ลืมตั้งปลุกไป 1 ตัว) ตื่นแล้วจึงหยิบโทรศัพท์เพื่ออัพเดตสถานการณ์ ระหว่างนั้นก็แปรงฟันไปด้วย โดยที่ไบรท์ไม่ได้อาบน้ำด้วย แต่ใช้วิธีการซักแห้ง (อาบน้ำโดยวิธีอื่นๆ เช่น ใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัว เป็นต้น) และเดินทางไปที่สถานีฯ

โดยที่ถึงสถานีฯ แล้วก็ต้องอัพเดตข่าวต่อ โดยส่วนหนึ่งจะอ่านหนังสือพิมพ์เพื่ออัพเดตอีกครั้ง พร้อมๆ กับการใช้สคริปต์รายการที่ทางทีมงานส่งมาให้มาอัพเดตด้วยเช่นกัน โดยสคริปต์ของรายการใช้เฉลี่ยมากกว่า 100 หน้าต่อวัน และยิ่งช่วงไหนมีประเด็นใหญ่สคริปต์รายการจะคูณสองเพิ่มไปอีก การที่จะเล่าข่าวให้ได้ทั้งหมด ไบรท์จะใช้วิธีการอ่านแล้วจับประเด็นใจความสำคัญออกมาเล่าอีกครั้ง เพราะไม่สามารถเล่าทุกตัวอักษรได้นั่นเอง และหลังจากจบรายการไบรท์ก็จะต้องอัพเดตข่าวตลอดเวลา เรียกได้ว่าใช้สมองตลอดทั้งวันเลยทีเดียว

สไตล์การเล่าข่าวที่บอกว่าไม่ซ้ำใคร!

ในช่วงแรกก่อนที่ไบรท์จะมาเป็นผู้ประกาศข่าวในเรื่องเล่าเช้านี้ ไบรท์เป็นผู้ประกาศข่าวอยู่ที่สถานีโทรทัศน์อื่นมาก่อน ซึ่งต้องอ่านข่าวตามสคริปต์เป๊ะๆ และโฟกัสแต่ข่าวที่ตนเองต้องอ่าน อ่านตามตัวอักษร แต่ปัจจุบันพอต้องมาอ่านข่าวในเรื่องเล่าเช้านี้ ไบรท์ให้นิยามในการอ่านข่าวว่าเปรียบเสมือนเป็นอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวไปสอบอัตนัย ที่ต้องอ่านหนังสือ 3 บทเพื่อที่จะไปตอบข้อสอบ 1 ข้อว่า “จงสรุปเนื้อหาที่อยู่ในทั้งหมด 3 บทนั้นออกมาใน 1 หน้ากระดาษ A4” ฉะนั้นเราต้องอ่านทั้ง 3 บทและเขียนเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ให้เข้าใจมากที่สุด

“ทุกวันนี้จิ้งเกิ้ลเข้าแล้ว (พูดเสียงจิ้งเกิ้ลรายการ) ยังต้องแบบ… ตรงนี้ยังไม่เสร็จๆ ต้องอ่านไว้ก่อน ตอนเบรคโฆษณาที่คุณผู้ชมจะได้ลุกขึ้นไปอาบน้ำ แปรงฟัน เราต้องอ่านตลอดเวลา มันเยอะ มันไม่ทันจริงๆ”

“วันหนึ่งที่ครอบครัวขาดผู้นำ ก็เหมือนลูกที่ขาดพ่อ”…

“ไบรท์มองว่านี่คือจุดเปลี่ยนในการทำงานมากๆ เลย วันแรกที่ไม่มีคุณสรยุทธคือเรารู้ตัวอยู่ก่อนแล้วว่าวันพรุ่งนี้คุณสรยุทธจะไม่มาทำงานแล้ว แล้วก็จะต้องทำงานเองโดยที่ไม่มีเขา แล้วในระยะเวลา 7-8 ปีเราทำงานโดยมีเขามาโดยตลอด วันหนึ่งที่ไม่มีมันรู้สึกว่าเราไม่อยากไปทำงาน ร้องไห้ แย่ มันไม่ใช่แค่รู้สึกว่าจะไปเจอหน้าจอแล้วเราจะควบคุมมันได้ไหม? ไม่ใช่แค่เรื่องนั้น แต่เป็นเรื่องอารมณ์ เรื่องความรู้สึก

เรามองว่ามันคือครอบครัว เรามีบ้าน แล้วเรามีหัวหน้าครอบครัว เรามีพ่อเป็นเสาหลักของบ้าน แล้ววันหนึ่งเสาหลักไม่อยู่ออกจากบ้านไป เหลือแต่เราที่เป็นลูกๆ ชีวิตมันไม่เหมือนเดิม ปกติเรามีพ่อเป็นคนจัดการทุกอย่างเลย แต่ว่าวันนี้มันไม่มีแล้วเราจะต้องจัดการเอง

ดังนั้นอารมณ์ไปทำงานก็เลยหนัก เนื้องานก็ส่วนหนึ่งนะ เราคิดว่าเราทำไม่ได้หรอก เราคิดว่าเราไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อนำตัวเองไป เราถูกฝึกมาเพื่อเป็นคนสนับสนุน วันหนึ่งเราต้องมาทำเอง อารมณ์ความรู้สึกก็ส่วนหนึ่ง มองไปทางไหนเช้าวันนั้นคือ เก้าอี้ตัวนี้พี่เขานั่งตัวนี้ มันคือ 7-8 ปีที่เราเจอกันทุกวัน แล้วพี่ยุทธสำหรับไบรท์เป็นมากกว่าเพื่อนร่วมงาน เป็นพี่ก็ได้ เป็นพ่อก็ได้ เราอยู่กันเป็นครอบครัวนะ ทั้งพี่ยุทธ ไบรท์ และทีมงานด้วย มันมากกว่านั้น มันมากกว่าที่เราเจอกันเฉพาะเรื่องงาน เราใส่ใจเรื่องอื่น ๆ สุขภาพ พ่อแม่ เพื่อน ครอบครัว มันผูกพันเหมือนคนในบ้าน

พี่ยุทธโทรศัพท์มาหาตอนเช้า มาให้กำลังใจว่าเออ เราต้องทำได้ วันนั้นทำคู่กับพี่กุ๊ก กฤติกา วันนั้นพอมาถึงช่องเราก็กอดกันกับทีมงานด้วย วันนั้นไม่ได้พูดอะไรกันมาก เราแค่รู้ว่าต้องผ่านไปใน 1 วันแรกก่อน ทำรายการเสร็จออกมาจากสตูดิโอ พี่โปรดิวเซอร์ยืนอยู่หน้าห้อง ตอนนั้นคือด้วยทั้งกดดัน เรานอนน้อยด้วยเพราะเรานอนไม่หลับ ออกมาจังหวะแรกคือกอดกับพี่โปรดิวเซอร์แล้วร้องไห้ ร้องแบบเยอะ หนักมาก แล้วเราก็คิดว่าเราแย่ เราทำไม่ได้แน่ๆ

จนกระทั่งผ่านไปวันที่ 1 วันที่ 2 วันที่ 3 ผ่านไป ทุกคนก็ส่งกำลังใจให้ตลอด ทั้งพี่ยุทธเอง ไบรท์ พี่กุ๊ก ทีมงานทุกคนเราให้กำลังใจกันและกัน หลังจากนั้นมันเป็นช่วงดวงแตก คือไบรท์เป็นไข้เลือดออกแล้วก็เข้าโรงพยาบาลไปเลย 3 วันหลังพี่ยุทธไม่อยู่เท่านั้นเอง มีบางคนบอกว่าป่วยการเมืองรึเปล่า? เพราะพี่ยุทธไม่อยู่ ไม่อยากทำงาน ตอนนั้นข่าวลือเยอะมากจนโรงพยาบาลต้องออกมาแถลงการณ์เองเลยว่าป่วยจริง

ตอนนั้นไบรท์ไม่ได้คิดว่าเป็นไข้เลือดออกเลย ไบรท์แค่คิดว่าเป็นไข้เฉยๆ เพราะนอนน้อยเป็นไข้สูง ไบรท์ไปโรงพยาบาลในเช้าวันที่ 3 โดยที่ไบรท์จัดรายการไปได้แค่ครึ่งเดียวแล้วไปโรงพยาบาลเลย เพราะทีมงานเห็นแล้วสงสาร เลยออกไปก่อน แล้วขับรถไปโรงพยาบาลเองด้วย”

ถึงตัวจะไม่ได้อยู่ข้างๆ แต่สิ่งที่เหลืออยู่คือกำลังใจและความทรงจำดีๆ

ตอนนั้นความคิดของไบรท์ก็คืออยากจะพักผ่อนเหมือนกัน เพราะผ่านการทำงานมา 7-8 ปีแล้ว ปรากฏว่าทีมงานก็พูดว่าต้องนึกถึงอะไรบ้าง? เราต้องนึกถึงคนดู ต้องนึกถึงทีมงาน มันเหมือนเป็นความรับผิดชอบ แต่ยังไม่ถึงขั้นลาออกไปหางานใหม่เลยนะ รอให้มันดีก่อนแล้วค่อยกลับมาใหม่ แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็จะคิดถึงความรับผิดชอบที่เราเหมือนจะทิ้งภาระให้คนอื่นต้องมารับผิดชอบ ทั้งๆ ที่มันเป็นส่วนของเราเอง ก็คิดหลายๆ อย่างจนสุดท้ายไบรท์ก็ตัดสินใจกลับไปทำงาน และกลับไปครั้งนี้พร้อมกับพลังสู้ เหมือนบ้านที่ไม่มีพ่ออยู่แล้วมีแต่ลูกๆ จะต้องทำยังไงให้บ้านปลอดภัย แน่นอนว่ามันคงไม่ได้ดีเหมือนตอนที่พ่ออยู่หรอก แต่ทำยังไงมันถึงจะรอด เราก็ต้องหาวิธีการให้กำลังใจด้วยกัน จับมือกัน ไปด้วยกัน อย่างน้อยบ้านของเราไม่ล่มสลาย แล้วเราก็อยู่ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งพ่อจะกลับมา

เอาจริงๆ ถึงพี่ยุทธไม่อยู่ แกก็ยังทิ้งอะไรไว้เยอะมากที่ทำให้รายการมันอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่เขาสอนทั้งตัวเนื้องาน แม้จะไม่ใช่การสอนโดยตรง แต่การที่ไบรท์นั่งข้างๆ มาตลอด 7 ปี ไบรท์ซึมซับวิธีการทำงานของเขา วิธีการเล่า วิธีการขมวดประเด็น การเล่าให้น่าสนใจ แล้วก็ในแง่คนดูพี่ยุทธจะบอกเสมอว่าเราต้องมีความรับผิดชอบต่อคุณผู้ชม สิ่งที่เรากำลังทำอยู่เราต้องรับผิดชอบต่อคุณผู้ชม เราต้องรับผิดชอบกับคนดูของเรา ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราผิด ไม่มีการไถนะ ไม่มีการแถ ยอมรับผิด ขออภัย เพราะว่ารายการเรื่องเล่าเช้านี้เราเป็นครอบครัวเดียวกับคนดูทางบ้านด้วย ดังนั้นเวลาผิด เราขออภัย คนดูพร้อมจะให้อภัยอยู่แล้ว รวมไปถึงเราต้องรับผิดชอบในการทำการบ้านด้วย แล้วเราจะพูดอะไรก็ได้โดยไม่สนใจว่าคุณผู้ชมจะได้อะไรรึเปล่า? มันไม่ใช่ นี่คือทั้งหมดที่พี่ยุทธสร้างไว้เป็นบรรทัดฐานในการทำงาน ไบรท์ก็ใช้จนถึงทุกวันนี้นะคะ

ติดตามเรื่องราวของไบรท์แบบเต็มๆ ได้ในรายการ Woody FM ผ่านทาง Podcast และ YouTube ด้านล่างนี้ได้เลย เพราะมีทั้งเรื่องราวการจัดการบริหารชีวิต การรับมือกับความลาจากในชีวิต รวมไปถึงการเรียนอีกด้วย รับฟังเต็มๆ ได้ทางด้านล่างนี้เลยครับ