fbpx

นับเป็นเวลา 5 ปีกว่าๆ ที่ทีวีดิจิทัลกำลังออกอากาศ และมีทั้งหมด 7 ช่องที่จะต้องทยอยยุติการออกอากาศไปก่อน วันนี้ส่องสื่อขอร่วม Countdown นับถอยหลังการยุติการออกอากาศของทีวีดิจิทัลช่อง 19 (สปริงนิวส์) , 20 (ไบรท์ทีวี) และ 26 (สปริง/นาว) กันครับ โดยเราขอรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ช่วงที่ประมูล การเปลี่ยนแปลงของช่อง ตลอดไปจนถึงเรตติ้ง รายได้ และสัดส่วนผังรายการมาฝากกันครับ อ่านจบมาร่วม Countdown ปิดช่องไปด้วยกันบนหน้าจอนะครับ…

สปริงนิวส์ช่อง 19 ทันเหตุการณ์ เห็นอนาคต ข่าวจริงสปริงนิวส์

สปริงนิวส์เริ่มต้นจากการออกอากาศผ่านทีวีดาวเทียมในปี 2553 ท่ามกลางยุคกลุ่มผู้ชุมนุมหลากสี และถัดมาหลังจากนั้นก็ชนะการประมูลทีวีดิจิทัลในหมวดข่าวสารและสาระ โดยเคาะราคาอยู่ที่ 1,318 ล้านบาท โดยมีบริษัทสปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด เป็นผู้ดำเนินการรับใบอนุญาตฯ ในช่วงแรกของการออกอากาศนั้นมีการจัดเต็มในส่วนของเทคนิคการออกอากาศ ทั้งนักข่าวเร็วดุจสายฟ้าที่เคลื่อนที่โดยรถจักรยานยนต์ การออกอากาศผ่าน 3G รวมไปถึงโดรนสำหรับเก็บภาพมุมสูงอีกด้วย หลังจากการเข้ามาเป็นทีวีดิจิทัลแล้วสปริงนิวส์ก็เริ่มทำผลงานได้ดี จากการขึ้นไต่อันดับเรตติ้งทีวีดิจิทัล แต่หลังจากนั้นก็ตกลงมาจากผลกระทบของการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นไปเรื่อยๆ 

หลังจากนั้นในปี 2560 สปริงนิวส์ได้มีการจัดทำความร่วมมือกับสำนักข่าว CNN ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำเสนอข่าวเชิงต่างประเทศมากขึ้น โดยมีการบรรจุรายการจากสำนักข่าว CNN ให้มากขึ้นตามลำดับ แต่เนื่องด้วยการตอบรับไม่ได้เป็นที่น่าพึงพอใจ จึงทำให้ในปี 2561 สปริงนิวส์ได้ให้บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด(มหาชน) เข้ามาเช่าช่วงเวลาของช่องเพื่อนำไปออกอากาศรายการ TV Shopping โดยในเบื้องต้นได้เช่าเวลา 12 ชั่วโมง ก่อนที่จะขยายมาเป็น 18 ชั่วโมงในเวลาต่อมา

ในช่วงปลายปี 2561 ทีวี ไดเร็คได้เจรจากับสปริงนิวส์เพื่อขยายของเขตการดำเนินธุรกิจ โดยทีวี ไดเร็คจะซื้อหุ้นที่สปริงนิวส์ขายไป แต่ดีลนี้ก็ได้ล่มไปจากการที่ กสทช. จะประกาศมาตรการความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แต่ทีวี ไดเร็คก็ยังคงเช่าเวลารายการมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับเรตติ้งของสปริงนิวส์นั่น ในช่วงปี 2557 อยู่ในอันดับที่ 16 ด้วยตัวเลข 0.018 และค่อยๆ ลดลงจนถึงปี 2561 อยู่ที่ลำดับที่ 24 ด้วยตัวเลข 0.020 โดยพีคมากที่สุดในปี 2559 ด้วยเรตติ้ง 0.049 โดยฐานคนดูส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคกลางและกรุงเทพฯเป็นหลัก และโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไปที่รับชมช่องสปริงนิวส์

สำหรับสัดส่วนรายการที่ออกอากาศโดยส่วนใหญ่เป็นรายการที่ผลิตเอง โดยในปี 2561 มีถึงร้อยละ 71.85 เลยทีเดียว ส่วนรายได้ในปี 2561 ก็อยู่ที่ 224 ล้านบาท

ไบรท์ทีวีช่อง 20 ชีวิตดี ดูไบรท์ทีวี

ไบรท์ทีวีเริ่มต้นจากการที่เป็นผู้ผลิตรายการข่าวให้กับ ททบ. 5 โดยรายการดังๆ ที่ผลิตเลยก็คือ “ข่าว 5 หน้า 1” และ “บันเทิง 5 หน้า 1” ในช่วงเช้าของวันจันทร์-ศุกร์ และหลังจากนั้นจึงเข้ามาประมูลทีวีดิจิทัลและชนะไปด้วยมูลค่า 1,298 ล้านบาท โดยบริษัท 3 เอ. มาร์เกตติ้ง จำกัด เป็นผู้ถือใบอนุญาตฯ ไบรท์ทีวีเริ่มต้นด้วยการผลิตรายการข่าวตามประเภทที่ประมูลมา แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มดึงซีรีส์อินเดียเข้ามาฉาย ส่งผลให้สัดส่วนของประเภทรายการที่ฉายเป็นการซื้อเนื้อหาของรายการมาฉายมากถึงร้อยละ 43.96 ซึ่งมากที่สุดเลยทีเดียว และในส่วนของข่าวไบรท์ทีวีก็ได้มีการขยายช่องทางไปที่ออนไลน์มากขึ้น

โดยเรตติ้งช่องไบรท์ทีวีในช่วงแรกอยู่ลำดับที่ 25 โดยได้ตัวเลข 0.006 และค่อยๆ ไต่ขึ้นมาพีคสุดในปี 2560 ได้ตัวเลขไปที่ 0.044 ก่อนที่ปี 2561 จะลดมาเหลือ 0.035 คนดูช่องไบรท์ทีวีส่วนใหญ่เป็นคนในภาคเหนือและกรุงเทพฯ และคนดูส่วนใหญ่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปในทุกเพศ

สปริง 26 LIVE TV มากกว่าทีวี มีดีให้ดู

สปริง 26 เกิดมาจากการเป็น “กรุงเทพธุรกิจทีวี” โดยทีมงานหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจที่ต้องการสร้างสถานีโทรทัศน์ข่าวเศรษฐกิจของไทยให้เกิดขึ้นจริง โดยหลังจากประมูลทีวีดิจิทัลแล้วชนะด้วยราคาเคาะที่ 2,200 ล้านบาท จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “NOW 26” โดยมอบหมายให้บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัดเป็นผู้ถือใบอนุญาตฯ ในช่วงแรกช่องนำเสนอข่าวสารเป็นหลัก แต่เนื่องจากประเภทที่ประมูลมาได้เป็นช่องวาไรตี้ความคมชัดปกติ ทำให้ในปี 2558 จึงได้ปรับเปลี่ยนโดยการนำเอาสารคดีมาฉายร่วมด้วย พร้อมๆ กับการเอามวยไทยมาลงสัปดาห์ละ 1 วัน ส่งผลทำให้เรตติ้งเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ

จึงทำให้ในปี 2559 NOW 26 เน้นลงรายการกีฬามวยมากขึ้นโดยเพิ่มเติมให้มากถึง 3 รายการในแต่ละสัปดาห์ และลดรายการข่าวลงมา ทำให้ได้เรตติ้งไปที่ 0.142 ซึ่งถือว่ามากที่สุดของช่องเลยก็ว่าได้ แต่ทว่าในปี 2560 NOW 26 ก็จำเป็นที่จะต้องยุติการผลิตรายการข่าวลงทั้งหมด พร้อมขายช่องในตอนแรก เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก 

แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการเจรจาโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้น และเปลี่ยนจาก NOW 26  เป็น SPRING 26 และเน้นเป็นช่องรายการกีฬาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ชมโดยส่วนใหญ่เป็นเพศชายอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และรับชมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจากผังรายการในปี 2561 มีสัดส่วนรายการเป็นรายการซื้อลิขสิทธิ์มาฉายมากถึงร้อยละ 63.85 เลยทีเดียว และรายได้ในปีล่าสุดอยู่ที่ 214 ล้านบาท

ขั้นตอนต่อไปหลังจากปิดทีวีดิจิทัลทั้ง 3 ช่อง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าในวันที่ 16 สิงหาคม 2562 เวลา 10.00 น. จะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 3 ช่องที่ได้ยื่นขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเป็นล็อตแรก และได้ยุติออกอากาศหลังเที่ยงคืนวันที่ 15 ส.ค. 2562 ได้แก่ ช่องสปริงนิวส์ 19 ,ไบรท์ทีวี 20 และช่องสปริง 26 โดยช่องสปริงนิวส์ จะได้รับเงินชดเชย 498,240,594.26 บาท ,ไบรท์ทีวี 278,410,219.57 บาท และช่องสปริง 26 ได้ 600,739,889.56 บาท

“ก่อนที่แต่ละช่องจะได้รับเงิน จะต้องเซ็นสัญญาว่าจะเยียวยาพนักงานตามแผนที่ได้เสนอกับ กสทช. หากไม่ปฏิบัติตาม กสทช.ยังมีแบงค์การันตีของแต่ละช่องที่อยู่ในมือ ส่วนกรณีของพนักงานช่อง 3 ทางผู้บริหารแจ้งว่า จะปรับปรุงในส่วนที่สามารถจะแก้ไขได้ อาทิ การให้สามีภรรยาออกพร้อมกัน หรือการมีมติให้พนักงานที่ประสบอุบัติเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ต้องออกจากงาน”

คราวนี้ต้องดูกันต่อไปว่าหลังจากยุติการออกอากาศทั้ง 3 ช่องแล้ว แต่ละเจ้าจะทำยังไงกันต่อ จะออกอากาศผ่านช่องทางออนไลน์ยังไงบ้าง? หรือจะหายไปเลย ต้องติดตามกันต่อไปครับ…

ข่าวบางส่วนจาก ประชาชาติธุรกิจ

[Live] ส่องสื่อ ส่องอนาคตดิจิทัลทีวี

[Live] ส่องสื่อ ส่องอนาคตดิจิทัลทีวี มาร่วมวิเคราะห์และรับชมการยุติการออกอากาศของทีวีดิจิทัลทั้ง 3 ช่อง (สปริงนิวส์ 19 , ไบรท์ทีวี 20 และสปริง 26) กับทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อ อ่านบทความ “จากวันแรก สู่วันลาของทีวีดิจิทัลช่อง 19 20 และ 26” ได้ที่ http://songsue.co/2924/

โพสต์โดย ส่องสื่อ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2019