fbpx

สื่อมวลชนเป็นพื้นที่ในการนำเสนอวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ หนึ่งในวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในทุกวันนี้คือ “วัฒนธรรมทางเพศ” ซึ่งในปัจจุบันความหลากหลายทางเพศถูกทำให้เป็นสินค้าในรายการโทรทัศน์ประเภทรายการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบรายการตลก ละคร ซีรีส์ ฯลฯ การประกอบสร้างวัฒนธรรมความหลากหลายทางเพศในรายการโทรทัศน์ทุกวันนี้ เปรียบเสมือนการสร้างชุดมายาคติทางเพศให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกลายเป็น “สินค้า”

สิ่งที่น่าสนใจในการศึกษาวัฒนธรรมทางเพศในปัจจุบัน คือการประกอบสร้างความรุนแรงทางเพศในรายการโทรทัศน์ โดยเฉพาะรายการที่นำกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมาร่วมในรายการเพื่อสร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้เข้าร่วมรายการ และผู้ที่ชมรายการทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะรูปแบบรายการปกิณกะ (variety show) ที่เน้นความบันเทิง ความสนุกสนาน ความตลกขบขัน รวมไปถึงความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม 

ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนได้พบข้อมูลจากความบังเอิญ หลังจากได้ชมรายการ ๆ หนึ่งจากผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ที่มีการผลิตรูปแบบรายการบันเทิง โดยเฉพาะรายการตลกเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้เขียนกำลังเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด พบว่ารายการดังกล่าวมีการนำกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมาปรับเปลี่ยนให้เป็นสินค้า โดยใช้อัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นเครื่องมือในการแสวงหารายได้

รายการดังกล่าวนำกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมาร่วมในรายการเป็นผู้แข่งขัน และให้ผู้เข้าเข้าร่วมรายการ (ที่เป็นดารา นักแสดง) หาว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศคู่ไหนเป็นคู่รักกันจริง และคู่ไหนเป็นคู่รักปลอม โดยเลือกใช้ความสัมพันธ์ของคู่มาเป็นความบันเทิงในรายการ โดยรูปแบบรายการเป็นการนำคู่รักทั้งแบบรักเพศเดียวกัน รักต่างเพศ และผู้ที่มีความพิเศษกว่าคนทั่วไปในเรื่องความรัก เช่น มีคู่รักเป็นชาวต่างชาติ มาเข้าร่วมรายการ และให้ผู้เข้าแข่งขันทายว่าคู่ไหนคือคู่รักจริง ๆ หรือคู่ไหนคือคู่รักปลอม สิ่งสำคัญที่เป็นข้อถกเถียงในรายการนี้คือ การใช้ความรุนแรงด้านคำพูดในการตีตราความเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ 

“เสียดายของ” คือวาทกรรมการสร้างความรุนแรงให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศที่เป็นเลสเบี้ยน ที่ถูกผลิตซ้ำในพื้นที่สื่อมวลชน สิ่งเหล่านี้ถูกประกอบสร้างจากสื่อที่นำเสนอว่า “ทอม” “ดี้” “หญิงรักหญิง” เป็นเพศที่มีอารมณ์รุนแรงกว่าหญิงชายทั่วไป กับอัตลักษณ์ทางเพศที่เป็นแฟชั่น หรือเป็นพฤติกรรมความชอบชั่วคราวที่สามารถเปลี่ยนกลับมาชอบเพศตรงข้ามได้ กลายเป็นการสร้างอารมณ์รุนแรง “แก้ทอม ซ่อมดี้” (เพศแห่งสยาม, 2562) ถูกใช้เป็นความรุนแรงในการตีตราเลสเบี้ยน โดยผู้ชายที่เป็นกลุ่มรักต่างเพศมองว่าความรักของหญิง-หญิงนั้น เป็นความรักที่ไม่เป็นความจริง และการประกอบสร้างภาพชายเป็นใหญ่ด้วยการมองผู้หญิงเป็นสิ่งของหรือวัตถุทางเพศเท่านั้น

รายการดังกล่าวพยายามผลิตซ้ำความเป็น “อื่น” ให้กับผู้เข้าร่วมรายการที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าช่วงท้ายของรายการจะนำเสนอภาพความรักของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศก็จริง แต่ระหว่างรายการผู้ดำเนินรายการ และผู้เข้าร่วมรายการ ต่างแสดงออกถึงอคติต่อกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศอย่างเห็นได้ชัด การสร้างความตลกขบขันให้กับผู้เข้าแข่งขันที่เป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศชาย-ชาย ที่มีหน้าตาไม่ได้ดูดีเหมือนภาพมายาคติของคนไทย ดั่งเช่น ดารา นักแสดง ต้องถูกจัดเป็นผู้ที่รักเพศเดียวกัน และสร้างภาพตัวแทนผู้หญิงสวยว่าต้องเป็นผู้ที่รักต่างเพศ สิ่งเหล่านี้อยู่ในระดับมายาคติของมนุษย์ที่มีภาพแทนความสวยหล่อว่าเป็นผู้ที่รักต่างเพศเท่านั้น ในขณะที่ผู้ไม่สวยหล่อตามลักษณะนิยมกลับเป็นผู้ที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มรักเพศเดียวกัน

เมื่อการร่วมเพศของผู้อื่นถูกทำให้เป็นเรื่องตลก การใช้สัญญะ “ฉิ่งฉับ กรับ โหม่ง” แทนความหมายของการร่วมเพศหญิงกับหญิงในรายการดังกล่าว ผู้เข้าร่วมรายการที่เป็นนักแสดงชายแสดงออกถึงการอคติรักเพศเดียวกันของกลุ่มหญิง-หญิง โดยใช้คำว่า “รับไม่ได้” และ “เสียดายของ” เพื่อเป็นการผลิตซ้ำอคติทางเพศ สิ่งสำคัญของความคิดนี้ คือวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามเก็บกด ปิดกั้น กดทับอีกข้างของคู่ตรงข้ามไว้ ทั้ง ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยหรือใช้ประโยชน์จากคู่ตรงข้ามในการสร้างตัวตนของตนขึ้นมา พูดง่าย ๆ คือ วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามจะเลือกชูข้างหนึ่งของคู่ตรงข้ามและเก็บกดอีกข้างไว้  และในหลายกรณี มีแนวโน้มที่ วิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามเป็นวิธีคิดที่ใช้ความรุนแรง กระทำความรุนแรงกับอีกฝ่ายอย่างมาก อีกเรื่องคือการเหมารวม (Stereotype) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้างความเป็น “อื่น” คือต้องสร้างตราประทับทางการเมืองและวัฒนธรรมให้กับฝ่ายตรงข้ามด้วย ในรายการดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าผู้เข้าร่วมรายการพยายามกดทับ และปิดกั้นความเป็นอื่นทางด้านรสนิยมทางเพศของผู้เข้าแข่งขัน ด้วยการสร้างวาทกรรมความรุนแรงดังกล่าว และชูวิธีคิดแบบการรักเพศตรงข้าม (heterosexual) เป็นเรื่องที่ถูกต้องในสังคม (วรวิทย์ ไชยทอง, 2557) 

สิ่งที่น่าสนใจในการเขียนงานครั้งนี้ ผู้เขียนได้พยายามเก็บข้อมูลผู้ชมรายการบนรถทัวร์ที่ผู้เขียนร่วมเดินทางไปด้วยในครั้งนี้ พบว่ามีกลุ่มคู่รักต่างเพศหลายคนที่ชมรายการดังกล่าว ต่างตลกขบขันไปกับรูปแบบรายการและมีการพูดคุยกับคู่รักตนเองเกี่ยวกับเรื่องราวความรักของผู้เข้าแข่งขันในรายการ ไปในทิศทางของการวิพากษ์วิจารณ์อัตลักษณ์ทางเพศของผู้เข้าแข่งขัน และยังแสดงความรู้สึกตลกขบขันเมื่อพูดถึงรูปร่างหน้าตาของผู้เข้าแข่งขัน ที่ไม่ได้ดูดีตามภาพมายาคติ และการพูดถึงเรือนร่างของหญิง-หญิงในรายการในแง่มุมของการล่วงละเมิดทางเพศ

ในมุมมองผู้เขียนในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พบว่าความรุนแรงทางเพศเหล่านี้ถูกประกอบสร้างในระดับวัฒนธรรมของประชาชนในประเทศไทยไปเสียแล้ว การแก้ปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องยากยิ่ง เมื่อสื่อมวลชนซึ่งมีอำนาจในสังคมสูง กำลังผลิตซ้ำความรุนแรงเหล่านี้ไปยังกลุ่มผู้ชมทุกเพศทุกวัย และการที่สื่อมวลชนให้ค่าของกลุ่มความหลากหลายทางเพศเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าให้กับรายการโทรทัศน์ หากจะมองในมุมมองสังคมทุนนิยม กลุ่มความหลากหลายทางเพศเหล่านี้กำลังกลายเป็นผลผลิตในลัทธิทุนนิยม ที่กำลังแสวงหาผลกำไรจากความเป็น “อื่น” ของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ

สิ่งสำคัญคือการรื้อสร้างชุดมายาคติเรื่องเพศในสังคมไทยที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานในสื่อมวลชน โดยสื่อมวลชนเองต้องเป็นผู้รื้อสร้างชุดความคิดนี้ แต่ก็มีสื่อมวลชนที่เห็นผลประโยชน์จากชุดความคิดนี้ และพยายามผลิตซ้ำชุดมายาคติทางเพศในแบบเดิม ๆ ลงไป การร่วมมือของทุกภาคส่วนในประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการยุติความรุนแรงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาดความร่วมมือจากทุกคนในสังคม ผู้เขียนจึงขอเป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่ตีแผ่อำนาจของสื่อมวลชนในการประกอบสร้าง และผลิตซ้ำชุดความคิดการสร้างความเป็น “อื่น” ในสังคม เป้าหมายเพื่อยุติความรุนแรง และสร้างความเท่าเทียมในวัฒนธรรมทางเพศในสังคมให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย