fbpx

วันนี้ส่องสื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมงาน “Thailand Transformation” ซึ่งเป็นงานเปิดตัวของ Business Today อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2019 ส่องสื่อจึงไม่พลาดที่จะหยิบยกประเด็นสำคัญๆ ที่ได้จากงานนี้มาฝากกัน โดยในงานได้ 3 รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ อย่าง “คลัง-ดีอีเอส-ท่องเที่ยว” มาร่วมปาฐกถาพิเศษกันอีกด้วย

แต่ในความเป็นส่องสื่อ เราจึงนำเอาเรื่องราวของการกว่าจะมาเป็นของ Business Today ที่ได้ “ดร.ธะนาชัย ธีรพัฒนวงศ์” มาพูดถึงที่มาที่ไปกัน และเรื่องของการตั้งศูนย์ Fake News ที่ได้ “คุณพุทธพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดีอีเอส มาพูดถึงแนวทางการจัดตั้งกัน ไปติดตามกันเลยจากบทสัมภาษณ์นี้ครับ

จากกรุงเทพธุรกิจ สู่ Business Today…

ดร. ธะนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ประธานกรรมการกิตติศักดิ์ กลุ่มบริษัท Media Expertise International จำกัด (MEI) และ บริษัท Nectar ได้พูดบนเวทีถึงการเปิดตัวของ Business Today และที่มาที่ไปถึงการมาทำ On Print ว่า

วันที่ 6 ตุลาคม 2560 คือวันประวัติศาสตร์ของวงการหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ภาษาไทยรายวัน ฉบับแรกของประเทศไทยในชื่อของ “กรุงเทพธุรกิจ” ไม่มีใครในบริษัทในวันนั้นหรือแม้กระทั่งบุคคลภายนอก หรือกูรูด้านสื่อสารมวลชนไม่เชื่อว่าหนังสือพิมพ์หัวนี้จะอยู่รอด แต่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก มีผลประกอบการที่ดีตั้งแต่เดือนแรกและอีกหลายสิบปีต่อมา

วันนี้คือวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2019 32 ปีให้หลัง โลกได้เปลี่ยนไปอย่างมากมาย Digital Disruption ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายโดยเฉพาะในวงการสื่อสารมวลชน เราคงจะทราบกันดีในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาว่าเพื่อนๆ ในวงการสื่อสารมวลชนทุกแขนง ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต้องหางานกันใหม่ หรือต้องเปลี่ยนอาชีพ ด้วยเหตุผลดังกล่าวผมเห็นโอกาสว่าเพื่อน น้องๆ ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ มีจรรยาบรรณที่ดี มีมาตรฐานสูง มาทั้งวงการวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร น่าจะมีเวที น่าจะมีสื่อที่เขามีที่ยืน แสดงความสามารถและประสบการณ์ของเขาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติ

ผมได้พบคุณอดิศักดิ์ที่ได้เป็นเพื่อนร่วมงานเก่า เป็นอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งเนชั่นทีวี ผมได้พบกับคุณ ณ กาฬ ที่อยู่ในวงการสื่อโดยเฉพาะวงการหนังสือพิมพ์ ท่านเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ผมมีน้องๆ อีกมากมายที่มาจากวงการสื่อแทบจะทุกแขนง ที่มีความสามารถ มีมาตรฐาน ก็เลยเกิดวันนี้ขึ้นมา ถึงแม้ว่าสื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายใหญ่หลวง นิเวศสื่อมีการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เพื่อนร่วมงานเราเห็นร่วมกันว่า Content is King คือเนื้อหาสาระยังเป็นพระเอกอยู่ตลอดกาล ไม่ว่าจะสื่อเก่าสื่อใหม่ คอนเทนต์ก็ยังเป็นพระเอกเสมอ

เรามีบริษัทที่ชื่อ MEI ที่เป็นบริษัทคนไทย หรือ Publisher คนไทย บริษัทแรกที่ได้รับความไว้วางใจจากการบินไทยให้เป็นผู้ผลิตนิตยสารบนเครื่องบินอย่าง “Sawadee” และยังทำนิตยสารแฟชั่นระดับโลกอย่าง “Harper’s BAZAAR Thailand” ด้วยบุคลากรที่เรามีทั้งหมด เรามีความมั่นใจว่าการเกิดของ Business Today ทั้ง Online และ Offline วันนี้เรามีงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

Business Today เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่มีความแตกต่าง เพราะเราใช้ Big Data มาช่วยสนับสนุนข้อมูลข่าวสารมากมายที่เป็นประโยชน์ เรามีพันธมิตรที่อยู่ในวงการเทคโนโลยีดิจิทัลอีกหลายหลายองค์กรที่เข้ามาร่วม ซึ่งเป็นหน่วยงานชั้นนำในเมืองไทย ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้ผมและบุคลากรในองค์กรมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า Business Today ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะมีครบทุกช่องทางอย่างแน่นอน

เพราะ Digital Disruption ทำให้เกิด Fake News?

คุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้พูดถึงปัญหาของการถูก Digital Disruption ในแวดวงสื่อสารมวลชนที่ทำให้เกิด Fake News ว่า

ผมเข้ามาได้ไม่ถึงเดือนก็โดนสื่อมวลชนตั้งฉายาว่า “รัฐมนตรี Fake News” ซึ่งจริงๆ มันเกิดมาตั้งนานแล้ว ถามว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ผมเชื่อว่าทุกคนที่ฟังในห้องนี้น่าจะรู้ดีที่สุด สมัยก่อนเรามีผู้สื่อข่าวหลายๆ ท่านที่อาวุโสก็นั่งอยู่ในห้องนี้ การนำเสนอข่าวแต่ละทีนักข่าวเขามีจรรยาบรรณ เขามีความรักในองค์กร เขามีความรักในวิชาชีพสื่อสารมวลชน เพราะฉะนั้นการนำเสนอสิ่งต่างๆ เขาจะต้องผ่านการกรองแล้วกรองอีก กว่าจะผ่านกอง บก. เพื่อให้นำเสนอข่าวได้แบบไม่มีผิดพลาด นำสู่สายตาของประชาชนได้

แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทุกคนบอกว่า Digital Disruption นี่แหละที่ทำให้ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้หมดแล้ว ไม่ต้องมีจรรยาบรรณก็ได้ ตื่นมาอยากจะด่าใครก็ด่าได้เลย วันนี้ไม่พอใจใครก็ใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไปหน่อย ใส่อารมณ์ตัวเองลงไปนิดนึง แล้วยิ่งปลอมเท่าไหร่ ยิ่งเติมเท่าไหร่ แชร์เยอะครับ เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนที่มีคุณภาพก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับเรื่องแบบนี้ ห้ามก็ไม่ได้เพราะมันเกิดขึ้นทุกวัน ทุกคนเป็นผู้สื่อข่าวหมดแล้วในตอนนี้ เพียงแต่ความรับผิดชอบต่อสังคมอาจจะไม่เท่ากัน นั่นคือเหตุผลที่ผมพูดในวันแรกที่เข้ามาว่าต้องบริหารจัดการ

สิ่งที่เราจะทำ กระทรวงจะไม่ได้ทำคนเดียว เราไม่ได้คิดที่จะเป็นหัวหน้าศูนย์ข่าวปลอมแม้แต่น้อย ปลัดและข้าราชการนี่บ่นถึงผมแทบทุกวันว่าไม่น่าไปรับมาเลย แต่ผมเรียนอย่างนี้ว่าศูนย์ป้องกันข่าวปลอมเราจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม เราเชิญสมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ เราเชิญสมาคมผู้สื่อข่าวที่เกี่ยวกับวิทยุโทรทัศน์เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการของเราด้วย เพราะเราหวังว่าถ้าวันหนึ่งมันแข็งแรงเราจะปล่อยให้ศูนย์แห่งนี้บริหารจัดการด้วยตัวของมันเอง

แต่วันนี้สิ่งที่ทำให้เราจำเป็นต้องเริ่มก่อน เพราะข้อมูลข่าวสารมันเยอะ ผมคิดว่าสื่อมวลชนหลายท่านคงคิดว่าอยากจะทำศูนย์ข่าวปลอม เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องข่าวปลอม แต่ทำไม่ได้ มีอยู่สองเรื่องเองที่ทำยากก็คือ ไม่สามารถจะติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ว่าข่าวนั้นจริงหรือปลอม เพราะส่วนใหญ่ข่าวจะมาจากหน่วยงานภาครัฐทั้งนั้น แล้วกว่าจะติดต่อได้ก็ปาเข้าไปสองวัน ข่าวแชร์ว่อนไปแสนแชร์ไปแล้ว อีกส่วนคือความรวดเร็ว เดี๋ยวนี้ข่าวหนึ่งถูกแชร์ไปถึงไหนแล้วก็ไม่รู้

ศูนย์ข่าวนี้เราจึงบริหารเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือรับข้อมูลข่าวสารที่เข้ามาให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วม ข่าวไหนที่มียอดแชร์เป็น Top 5 ให้ AI เป็นตัววัดเลย ถ้ามีข่าวปลอม 1 ใน 10 ที่มีการแชร์กัน นั่นคือเราต้องรีบทำงานเลย เพราะข่าวนั้นเริ่มทำให้มีการแชร์กันผิดๆ สู่ประชาชนในวงกว้าง ต่อมาคือการตรวจสอบ จะทำยังไงให้รวดเร็ว ทันใจ ตรวจสอบได้ว่าข่าวนี้เป็นข่าวปลอม ก็ต้องให้หน่วยงานภาครัฐเหล่านี้มาตรวจสอบ หา Contact ติดต่อให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ยืนยันภายใน 1 ชั่วโมงว่าข่าวนี้มันจริงหรือเท็จ แล้วก็ทำกราฟิกและแชร์ออกไป ส่วนสุดท้ายคือการเผยแพร่ เมื่อเรายืนยันแล้วว่าข่าวนี้เป็นข่าวปลอม เราจะทำยังไงให้ปล่อยออกไปได้ แล้วบอกว่าข่าวนี้เป็นข่าวปลอม มีสามส่วนครับ

ส่วนเรื่องการติดตาม ตรวจจับว่าใครเป็นคนปล่อยข่าวปลอม อันนั้นเราแยกออกมาไว้ ถ้าเอามาไว้รวมกันจะเกิดปัญหาว่าที่เราทำเรื่องนี้แสดงว่าเป็นเครื่องมือต่างๆ บ้าง เป็นการทำร้าย ทำลายคนอื่น เราไม่ทำ ก็แยกออกไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. เจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ไปดำเนินการ

วันนี้ผมเห็นผู้บริหารจากหลายแพลตฟอร์มก็มากัน เราได้คุยกับทั้งทาง Facebook ,YouTube ,Line ว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่า Line ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่คนไทยคุ้นชินในการใช้งาน เพราะฉะนั้นถ้าเราทำการยืนยันข่าวปลอม ถ้าเราไม่ทำผ่าน Line ก็ไม่ได้ประโยชน์อยู่ดี เพราะคนไทยก็ไม่ได้ใช้ ฉะนั้นเราจึงไปขอความร่วมมือกับ Line ว่าช่วยแชร์ข่าว ช่วยรับข่าวเราไปดำเนินการหรือใช้เป็น OA ระบบช่วยหน่อยได้ไหม ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี อนาคตอันใกล้เราตั้งไว้ว่าไม่เกินพฤศจิกายน เราต้องทำให้เสร็จ ซึ่งก็ไม่น่าพูดไปเลยนะครับ เพราะโดนกดดันทุกวันว่าจะเสร็จจริงไหม? เพราะว่ามันไม่ได้ง่าย แต่เราก็ต้องทำให้เสร็จ เพราะว่ามันเป็นประโยชน์ต่อคนไทยในยุคปัจจุบัน แล้วไม่ต้องกังวลว่าข่าวที่ยืนยันทุกคนเอาไปแชร์ได้