fbpx

ส่องสื่อวันนี้ เราขอพาทุกคนมาติดตามกับชีวิตของผู้สื่อข่าวท่านหนึ่ง ผู้มีวลีเด็ดอย่าง “คุณกิตติคะ!” อันเป็นที่กล่าวถึงกัน ซึ่งปัจจุบันนี้นอกจากส่งสารเรื่องข่าวสารผ่านหน้าจอโทรทัศน์แล้ว ยังเปิดสำนักข่าวออนไลน์ พร้อมๆ กับขายขนมจีนไปด้วยในคราวเดียวกัน เราเลยจับเขามานั่งคุยถึงประเด็นว่า เมื่อนักข่าวโดน Disrupt ควรจะทำอย่างไรกันต่อไปดี?

ส่องสื่อถือโอกาสเรียนเชิญ “คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย” หรือพี่แยมของเรามาพูดคุยด้วยกัน ติดตามทุกเรื่องราวแบบฉบับย่อได้จากบทสัมภาษณ์นี้ไปด้วยกันได้เลย

ที่มาที่ไปของ The Reporters คืออะไร?

The Reporters คือสำนักข่าวที่พี่แยมตั้งใจจะให้เป็นพื้นที่ในการนำเสนอข่าวในสิ่งที่พี่แยมอยากจะทำในฐานะเป็นนักข่าว แล้วก็เป็นพื้นที่กลางให้กับเพื่อนๆ นักข่าว เพื่อที่จะได้มาร่วมกันทำข่าวที่ตัวเองอยากทำ โดยเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาจากทุนในการที่จะทำข่าว ในการที่จะถูกกำหนดประเด็นมาจากกอง บก. เราอยากที่จะมีอิสระในการที่จะไปทำข่าวอะไรก็ได้ที่เราอยากจะทำ

ตอนนี้มีนักข่าวทั้งหมดกี่คน?

ก็จริงๆ นักข่าวก็คือเพื่อนๆ ที่อยู่ในวงการนี่แหละ ก็มีข่าวก็ส่งข่าวมาให้ แล้วก็มีนักข่าวหลักก็มีพี่ 1 คน แล้วก็มีพี่อีก 2 คนที่เพิ่งถูกเลิกจ้างมาจากทีวีก็มาร่วมเป็นนักข่าวใน The Reporters แล้วก็พี่ก็ตั้งใจให้มันเป็นเครือข่ายสำหรับนักข่าวที่ต้องการที่จะทำข่าวแล้วมีพื้นที่ในการรายงานข่าว แล้วสุดท้ายก็คือทุกคนคือ “We are The Reporters” เราจะมีพื้นที่สำหรับทุกคนที่อยากเป็นนักข่าวให้มาร่วมกันจอยในการทำข่าวร่วมกัน

ย้อนกลับไปอีกหน่อย จุดแรกเริ่มเดิมทีที่มาทำ The Reporters คืออะไร?

เกิดจากการที่พี่เองก็อึดอัดกับระบบโครงสร้างของสื่อทีวีที่ทำอะไรก็ต้องของบประมาณ แล้วก็ต้องขออนุญาตประเด็นที่จะต้องทำ ต้องผ่านการพิจารณา พี่อยากมีพื้นที่ข่าวที่พี่อยากจะทำข่าวทุกที่ที่พี่อยากทำ ทุกเรื่องที่พี่อยากไปด้วยตัวของพี่เอง พี่เลยก็ต้องหาพื้นที่ของพี่ที่จะรายงานข่าวแล้วให้คนมาติดตามพี่ แต่พอเราไม่มีทุน เราก็คิดว่าจะทำยังไงดี? พอดีกับที่เราจะเปิดร้านขายขนมจีนของธุรกิจที่บ้านอยู่แล้ว เราก็เลยตั้งใจที่จะให้แหล่งตรงนี้เป็นแหล่งที่จะหาเงินให้พอในกระเป๋า เป็นทุนส่วนตัวในการที่จะเดินทางไปทำข่าวที่ไหนก็ได้ แล้วให้คนได้บริโภคข่าวในแบบฉบับของเรา

มีคนมองว่าอาชีพนักข่าวต้องลำบากแน่นอนเลย พี่มองอย่างไรกับประเด็นนี้บ้าง?

มันลำบากเพราะว่าเราไม่มั่นคงในการที่จะอยู่กับอาชีพนี้ได้ เพราะว่าธุรกิจมันจะล้มเหลวหรือเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นมันไม่มั่นคง แล้วเราเองก็ต้องปรับตัว จะทำยังไงให้แข่งขันได้อยู่ได้ เราคนหนึ่งเราต้องทำทุกอย่างเป็น แล้วก็เราคนหนึ่งต้องแข่งขันกับประเด็นข่าวที่ทุกคนสามารถนำเสนอประเด็นของตนเองได้ เพราะฉะนั้นต้องทำการบ้านเยอะหน่อย ต้องปรับตัว ทำยังไงให้ข่าวของเรารวดเร็วชนะข่าวออนไลน์ ข่าวทีวีก็ต้องมีประเด็นที่มากขึ้น เราก็ต้องทำงานหนักมาก

ทุกวันนี้ข่าวออนไลน์เข้ามาเยอะมาก ทำยังไงให้ข่าวของเราน่าเชื่อถือมากที่สุด?

ก็ทำข่าวของเราให้ดีและมีคุณภาพ แล้วก็เนื้อหาของข่าวนำเสนอไปเป็นตัวที่จะทำให้คนมาติดตามเรา แล้วก็ยังคงให้ความเชื่อถือกับเรา พี่คิดว่าสิ่งที่สำคัญในหน้าที่ก็คือการหาข่าว การทำข่าวที่ดี แล้วก็มีคุณภาพ เราก็ยังอยู่รอดได้เพราะนี่คือหน้าที่ของเรา เราอย่าหลงลืมหน้าที่ของเราเป็นเด็ดขาด เพราะว่าเราอยู่ได้เพราะเราต้องทำข่าว เราอยากมั่นคงเราก็ต้องออกไปทำข่าวทุกๆ วัน

มองยังไงกับระบบโครงสร้างสื่อในปัจจุบันนี้บ้าง?

เพราะว่ามันก็ทำลายตัวเองนะ ระบบโครงสร้างที่ข่าวทีวีบางทีทำร้อยข่าวออกได้แค่ข่าวเดียว มันก็ไม่ทันข่าวออนไลน์ที่มันจะสามารถสดได้ตลอดเวลา พอธุรกิจมันขาดทุนมันก็เลยต้องลดต้นทุน พอลดต้นทุนก็ทำให้ข่าวมันไม่มีคุณภาพ มันก็เป็นวงจรการทำข่าวที่มันไม่มีคุณภาพ พอมันไม่มีคุณภาพแล้วใครจะมาดูคุณ มันไม่มีความแตกต่าง แล้วมันจะมาดูทำไมในเมื่อหาดูที่อื่นก็เหมือนๆ กัน มันก็กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่พี่มองว่า “ถ้าเราไม่มาตั้งหลักในการหาข่าวที่มีคุณภาพ ที่มันแตกต่าง เราเองก็อยู่รอดไม่ได้”

จุดแตกต่างของเราคืออะไร?

“ข่าวจริง ยิงตรงจากสนามข่าว” ค่ะ พี่ก็ยังคงใช้ความที่เป็นฐปณีย์ ลงพื้นที่รวดเร็วแล้วก็เจาะลึกมาใช้เป็นหลักในการสื่อสาร The Reporters คือนักข่าวที่จะออกไปหาข่าว เพราะฉะนั้นคุณจะได้ข่าวจริง ยิงตรงจากสนามข่าว เพราะว่าคุณได้รับข่าวที่มาจากนักข่าวที่ลงพื้นที่ทำข่าวได้โดยตรงนั้นเอง

คิดยังไงที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้แล้ว?

พี่ว่าก็เป็นเรื่องดี เพราะว่าการสื่อสารมันย่อมมีหลากหลาย แล้วก็มีพื้นที่ ถ้าพื้นที่ที่มีการสื่อสารมีมาก คนในสังคมก็จะมีเสรีภาพในการที่จะสื่อสารได้มากขึ้น ทุกคนเป็นสื่อได้ แต่คนที่มาเป็นวิชาชีพสื่อเนี่ย ก็ต้องรักษาไว้ซึ่งคุณภาพแล้วมันก็คงต้องเป็นสถาบันที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม แล้วต้องมีจรรยาบรรณ มีจริยธรรม มีหลักการในการที่จะมาทำงานอย่างมีความรับผิดชอบ ทุกคนเป็นสื่อได้ แต่ถ้าถามว่าทุกคนมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองรายงานมากน้อยแค่ไหน? พี่ยังคงคาดหวังที่จะเห็นทุกคนใช้ภาษาข่าวที่มันเป็นข่าว ไม่ใช่ใช้ภาษาพูด ภาษาพูดที่เอาไว้เล่าเรื่องบอกต่อกันแต่มันไม่ใช่การสื่อสาร การสื่อสารมันต้องเป็นภาษาที่สามารถที่จะสื่อสารเพื่อให้คนในสังคมได้เห็นข้อเท็จจริงได้ เกิดประโยชน์กับสิ่งที่เรานำเสนอ

เห็นยังไงกับสถานการณ์การถูกเลิกจ้างของฝ่ายข่าวบ้าง?

ก็เศร้าใจแล้วก็สงสารเพื่อน บางคนก็คิดว่าเป็นนักข่าวทำอาชีพสื่อในองค์กรที่มีความมั่นคง 20-30 ปี พอมาวันหนึ่งกลับไม่ได้มีความมั่นคงอะไรเลย มันก็น่าเศร้าใจที่หลายๆ คนต้องยุติอาชีพนี้ไป ทั้งๆ ที่ใจตัวเองรัก มันก็น่าเศร้า แต่ทุกคนต้องลุกขึ้นสู้แล้วก็ปรับตัวที่จะอยู่รอดให้ได้ ทั้งในชีวิตความเป็นอยู่แล้วก็การกลับมาทำงานในวิชาชีพที่ตนเองรักและถนัด มันอาจจะไม่ได้อยู่ในองค์กรใหญ่แล้ว มันอาจจะมาอยู่ในสำนักข่าวเล็กๆ แบบพี่ก็ได้

สันติภาพสื่อในปัจจุบันนี้เป็นยังไงบ้าง?

คือสื่อไทยให้ความสนใจกับข่าวสิทธิมนุษยชน กับเรื่องของข่าวสันติภาพน้อยมาก ทว่ามันอาจจะเป็นข่าวที่เรตติ้งไม่ดี เป็นข่าวที่คนไม่ค่อยชอบ เป็นข่าวที่คนติดตามก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงมาครั้งหนึ่ง คนก็เห็นปัญหา ถามว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 15 ปีคนก็ไม่ได้รับความสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปของผู้คนในจังหวัดชายแดนภายใต้ เว้นเสียแต่มีระเบิดครั้งหนึ่งคนก็“อ้อ มีระเบิดอีกแล้ว” แต่คนไม่ได้สนใจความเป็นไปที่จะกลับมาแก้ไขปัญหาในความขัดแย้งที่มันร้าวลึกอยู่ในพื้นที่

สันติภาพจะไม่มีวันเกิดถ้าสื่อไม่มีความเข้าใจต่อคำว่าสันติภาพ มันไม่ได้หมายความว่าเรานำเสนอแต่ความรุนแรง แต่สื่อต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจของผู้คนที่อยู่ในความขัดแย้ง ท่ามกลางภาวะสงคราม จะให้คนมีความเข้าใจกันอย่างไร? ตรงนี้คือการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่ในการสื่อสาร การทำข่าวสันติภาพมันคือการที่จะให้พื้นที่ให้ทุกคนได้ออกมาพูด ให้ทุกคนได้ออกมาบอกถึงความคิดของเขา ปัญหาของเขา แล้วเราจะมาร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาอย่างไร?

พี่ถึงบอกว่าไม่มีสันติภาพในข่าว เพราะว่าพี่เป็นนักข่าวที่ทำข่าวสันติภาพ พี่ก็คาดหวังว่าวันหนึ่งจะพูดคำว่า “เกิดสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว” แต่ ณ วันนี้ พี่เองยังไม่สามารถพูดคำนี้ได้ เพราะว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่ที่จะทำให้เกิดสันติภาพได้

โดนคุกคามจากภาครัฐบ้างไหม?

แน่นอนค่ะ ทุกครั้งที่ทำข่าวที่เป็นต่อต้านนโยบายรัฐ เราก็ถูกคุกคาม ข่มขู่ ซึ่งปัจจุบันมันมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ได้ผลมากที่สุดในปัจจุบันก็เรียกว่า information operation หรือ io นั่นก็คือการโจมตีหรือกลั่นแกล้งผ่าน Social Media การล่าแม่มด ถ้าหากเราทำข่าวตรงข้ามกับนโยบายรัฐ มันก็จะมีเพจที่ออกมาโจมตีเรา แล้วก็ชักจูงให้ผู้คนคิดเห็นต่างจากเรา ซึ่งพี่ก็เจอมาเยอะแล้วก็พี่มีภูมิต้านทานมากพอที่จะรับมือกับ io เหล่านี้ได้ นั่นก็คือการทำข้อเท็จจริงของเราให้ถูกต้อง ให้มันดี แล้วก็เวลาที่เกิดเหตุแบบนี้ เราก็นำข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงมานำเสนอเพื่อให้สังคมจะได้เข้าใจ

เวลาเจอบ่อยๆ เราวิตกกังวลบ้างไหม?

ก็ไม่นะ ก็ด้วยความที่เจอบ่อย ก็เลยทำให้เรามีภูมิต้านทานมากพอที่จะต่อสู้กับมัน แล้วก็อดทน

คิดยังไงกับวลีฮิตติดลมบน “คุณกิตติคะ” ?

ก็เป็นวลีที่เป็นตำนานสำหรับพี่กับคุณกิตติ สิงหาปัดไปแล้ว ก็ทำให้ใครหลายๆ คนเอาคำนี้ไปใช้ในการรายงานข่าว ก็ถือว่าเป็นคำที่ทำให้ข่าวน่าสนใจ พี่ก็รู้สึกว่าเป็นคนที่ทำให้เกิดคำนี้ขึ้นมา แล้วพี่ก็ชอบ เราก็อยากจะฟังทุกคนพูดว่า “คุณกิตติคะ” เพื่อที่จะรายงานสิ่งที่ตัวเองเห็นและเกิดขึ้นด้วยความรักในการที่จะรายงานข่าว ก็ต่อไปอยากให้เปลี่ยนเป็น “คุณฐปณีย์คะ” บ้างนะคะ

ในอนาคตจะมีความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวงการสื่อสารมวลชนบ้างไหม?

ยังมีผู้คนที่ต้องตกงานอีกเยอะ แล้วก็ผู้คนก็ต้องปรับตัวที่จะทำพื้นที่ข่าวสารให้มันตอบโจทย์กับสังคมว่าสังคมต้องการสื่อแบบไหน? ต้องการข่าวอะไรต่างๆ สังคมจะเดินไปทิศทางไหน? สื่อก็ต้องกลับมาคิดทบทวนตัวเองเหมือนกันว่าเราทำหน้าที่ของเราได้ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่? ก้าวต่อไปของวงการสื่อไทยก็คือต้องกลับมาย้อนคิด เราเป็นนักข่าวเราก็ต้องกลับมาทำข่าวของเราให้ดี สร้างคุณภาพข่าวเพื่อที่จะให้สังคมได้ข่าวจากเราที่ดี แล้วคนก็จะกลับมายึดโยงว่านักข่าวมีความสำคัญ

อยากให้ส่องสื่อมาสัก 1 เรื่อง จะส่องเรื่องอะไรดี?

ตอนนี้เราเห็นหลายๆ องค์กรกำลังเอาคนออกเพื่อปรับโครงสร้าง แต่พอผ่านมาระยะเวลาหนึ่ง เราเห็นว่ามันไม่ใช่เพียงแค่การปรับโครงสร้างเพื่อเอาคนออก แต่ยังรับคนใหม่เข้ามา เราก็อยากตั้งคำถามเหมือนกันว่า มันเป็นการปรับโครงสร้างที่อะไร? เอาคนเก่าออกแล้วพาคนใหม่เข้ามาเนี่ย มันเป็นการปรับเปลี่ยนเพราะอะไร? ก็อยากจะตั้งคำถามเหมือนกันสำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ องค์กร ณ ขณะนี้เราได้เห็นและได้รับการสื่อสารมาจากเพื่อนที่ถูกให้ออก แต่ผ่านมา 1 เดือนกลับรับคนใหม่มาเพิ่ม ทั้งๆ ที่เอาคนเก่าออกไปโดยอ้างว่าต้องลดค่าใช้จ่าย ต้องปรับโครงสร้าง มันเป็นการปรับโครงสร้างที่เรื่องของต้นทุนหรือเรื่องของอคติ

ฝากถึงเพื่อนสื่อมวลชนหน่อย

ก็ให้เพื่อนๆ ทุกคนสู้ๆ นะคะ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก หลายคนเป็นนักข่าวมาทั้งชีวิตแล้วพอวันหนึ่งไม่ได้ทำข่าวเนี่ย มันเหมือนกับชีวิตบางส่วนมันหายไป อาจจะเกิดความเครียด ซึมเศร้า ขอให้มีกำลังใจ แล้วก็ลุกขึ้นมา หาโอกาสกับตัวเอง ถ้ายังอยากจะทำข่าวอยู่ก็ลองปรับตัวมาทำออนไลน์ หรือไปทำอาชีพอื่นๆ เพื่อที่จะหาพื้นที่ให้เราได้ทำข่าวของเรา ทำอาชีพที่เรารัก ถ้าทำข่าวแล้วมีรายได้ไม่มากพอ โอเค เราอาจจะมีอาชีพเสริมอย่างไรก็ว่ากันไป ซึ่งปัจจุบันมันสามารถทำได้สองอย่าง

ฝากถึงคนดูหน่อยครับ

ก็ฝากถึงทุกๆ คนนะคะ ปัจจุบันนี้สื่อมีหลากหลายก็จริง แต่ว่าอยากจะให้ทุกๆ คนให้ความสนใจกับสื่อที่พยายามที่จะนำเสนอข่าวที่มีคุณภาพให้กับสังคมนะคะ แล้วก็ช่วยกันนำเสนอข่าวที่ใช้ภาษาที่ดี เพื่อที่จะให้สังคมของเราสื่อสารภาษาที่มีความเข้าใจกัน ไม่ใช้ Hate speech หรือคำหยาบคาย พี่อยากเห็นไม่ว่าจะเป็นสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์หรือตัวบุคคล ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง แล้วก็ใช้ภาษาที่สุภาพ ไม่ใช้คำหยาบคาย เพราะว่าสังคมจะดีไม่ดีก็อยู่ที่คำพูดนะ ถ้ามี Hate Speech หรือคำหยาบคายออกมาในสื่อมากๆ สังคมก็ถูกไปอยู่ในทิศทางที่หยาบคายนะคะ

ฝากผลงานหน่อยครับ

ตอนนี้ถ้ายังติดตามฐปณีย์ก็ยังติดตามได้ที่ข่าว 3 มิติ ช่อง 3 ทุกคืนกับ “คุณกิตติคะ” แล้วก็ถ้าอยากติดตามข่าวแบบฐปณีย์ที่มากขึ้น หลากหลายขึ้น ติดตามได้ที่ The Reporters ก็คือหมายถึงนักข่าวหลายๆ คนที่เรามาเป็น “We Are The Reporters” ก็ติดตามข่าวหรือส่งข่าวมาที่เราได้เลยค่ะ