fbpx

ถ้าจะให้พูดถึงสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียง ก็คงมีไม่กี่สำนักพิมพ์ที่อยู่ในหัวของคุณผู้อ่านแน่นอน แต่ถ้าจะให้บอกอีกนิดว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่มีสถานีโทรทัศน์ ทุกคนก็คงนึกถึง “อมรินทร์” อย่างแน่นอน แต่ว่าอมรินทร์ในยุคนี้ไม่ได้เหมือนยุคก่อนแล้ว เพราะในยุคที่หนังสือเริ่มขายยากขึ้น อมรินทร์ต้องเคลื่อนตัวเองมากขึ้น ยิ่งอยู่ในยุคดิจิทัลทีวีแล้ว อมรินทร์จำเป็นต้องหาแหล่งทุนที่สามารถสานต่อธุรกิจไม่ให้ขาดทุนไปมากกว่านี้ได้ด้วย และนี่จึงเป็นที่มาของการเข้ามาร่วมทุนของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” นั่นเอง

รู้จักสายงานในอมรินทร์ก่อน

ก่อนอื่นต้องกล่าวถึงอมรินทร์ในยุคปัจจุบันว่าในบริษัทตอนนี้แบ่งการทำงานเป็น 7 สายงานธุรกิจ โดยมีสายงานเดิมเป็นตัวหลัก ได้แก่ ธุรกิจสำนักพิมพ์ ซึ่งมีหัวนิตยสารในเครืออย่าง แพรว ,บ้านและสวน ,สุดสัปดาห์ เป็นต้น ธุรกิจโรงพิมพ์ ธุรกิจงานพิมพ์ครบวงจร และธุรกิจการจัดจำหน่าย โดย ร้านนายอินทร์ ในการควบคุมของ บจก.อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ และยังแตกสายธุรกิจใหม่อีก ประกอบด้วย อมรินทร์ครีเอทีฟแอนด์อีเว้นท์ ที่จัดงานสำคัญๆ เช่น อมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์แฟร์ และบ้านและสวนแฟร์ที่จัดทุกปี , อมรินทร์นิวมีเดีย ที่คอยดูแลช่องทางออนไลน์เป็นหลัก รวมไปถึงเป็นเจ้าของเว็บไซต์สำคัญๆ เช่นแพรวและบ้านและสวน และอมรินทร์เทเลวิชั่น เจ้าของสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี ช่อง 34 นั่นเอง

พอเห็นสายงานทั้งหมดของอมรินทร์จะเห็นได้ว่าเกือบทุกสายงานมักจะเป็นการสนับสนุนและต่อยอดจากสายงานสำนักพิมพ์ทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรเดิมอย่าง ธุรกิจงานพิมพ์ครบวงจรหรือธุรกิจโรงพิมพ์ หรือจะเป็นธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาสนับสนุนอย่างธุรกิจการจัดจำหน่าย แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นการทำขึ้นมาใหม่ เพื่อนำคอนเทนต์ที่มีอยู่มาผลิตซ้ำ อย่างเช่น ธุรกิจสถานีโทรทัศน์ ธุรกิจนิวมีเดีย หรือธุรกิจอีเว้นท์นั่นเอง ดังนั้นจะเรียกว่าอมรินทร์ทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำก็ไม่ผิดนัก เพราะธุรกิจทั้งหมดที่ทำก็เกื้อหนุนกันพอสมควร

ผลประกอบการขาดทุนติดต่อกัน 4 ปี!

แต่ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจต้นน้ำอย่าง “สำนักพิมพ์” เริ่มมีทีท่าที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก เพราะเนื่องจากพฤติกรรมคนอ่านหนังสือที่น้อยลงทุกวัน และมีสื่อที่สามารถทดแทนได้ เช่น เว็บไซต์ออนไลน์ หรือ e-book เป็นต้น ทำให้อมรินทร์ต้องปรับตัวอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว รวมไปถึงธุรกิจดิจิทัลทีวีที่อมรินทร์เองต้องแบกรับผลประกอบการที่ขาดทุนมากพอสมควร สองธุรกิจนี้เองที่ทำให้เริ่มส่งสัญญาณว่าอมรินทร์อาจจะมีทีท่าที่ไปไม่รอดแล้วรึเปล่า?

จากผลประกอบการในรายงานประจำปีของ บมจ. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ปีล่าสุด (2561) รายงานว่ามีกำไรเพิ่มขึ้น 172 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีผลประกอบการขาดทุนอยู่ที่ 163 ล้านบาท และเคยขาดทุนมากสุดในปี 2559 อยู่ที่ 624 ล้านบาทเลยทีเดียว

จะสังเกตได้ว่าในช่วงปี 2561 นั้นเริ่มทำกำไรได้มากขึ้น เนื่องมาจากมีปัจจัยหลายส่วน ดังที่รายงานประจำปีได้ระบุไว้ว่าอมรินทร์ได้มีการทำการตลาดแบบ OMNI Channel ประกอบไปด้วย (1) On Print มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านผู้อ่านต่อเดือน (2) Online เข้าถึง 6 ล้านผู้อ่านต่อเดือน (3) On Ground เข้าถึงผู้เข้าชมงาน 3.5 ล้านคนต่อปี (4) On Air ติดอันดับ Top 10 ของโทรทัศน์ดิจิทัล และ (5) On-point-of-Sale เข้าถึงลูกค้า 10.5 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ยังเน้นกลยุทธ์ Content Creative สร้างสรรค์เนื้อหาที่มีความพิเศษและทันกระแส รวมถึงเนื้อหาที่เป็น Evergreen Content หรือเนื้อหาที่ยังทรงคุณค่าอยู่ตลอด แม้ว่าเวลาจะเปลี่ยนแปลงไป นั่นจึงส่งผลให้อมรินทร์ทำกำไรได้มากขึ้น

เมื่อ “สิริวัฒนภักดี” เข้ามาถือหุ้น

แต่อีกปัจจัยที่สำคัญที่อมรินทร์สามารถทำกำไรได้ในปีล่าสุด คือการเข้ามาถือหุ้นของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ที่การถือหุ้นครั้งนี้เป็นการถือที่แตกต่างจากตระกูลอื่นในแง่ที่ไม่ได้จัดการถือแค่กลุ่มอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเหมือนที่กลุ่มทุนอื่นๆ ดำเนินการ แต่เข้าไปถือหุ้นในกลุ่มบริษัทที่เป็นเจ้าของใบอนุญาตอีกที โดยกรณีศึกษานี้ตระกูลสิริวัฒนภักดีเลือกที่จะใช้ทั้งการเข้าไปถือหุ้นใน บจก.จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง และการถือหุ้นในอมรินทร์เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าการถือหุ้นในรูปแบบนี้ส่งผลดีต่อตระกูลสิริวัฒนภักดี เพราะสามารถมีสื่ออยู่ในมือแบบครอบคลุม เก็บครบทุกกลุ่มเป้าหมายทันทีแบบไม่ต้องใช้เวลานานมากนัก เพราะอมรินทร์เองก็มีเว็บไซต์ รายการ และนิตยสาร หนังสือที่เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว

แต่การเข้ามาถือหุ้นในครั้งนี้ก็ส่งผลให้อมรินทร์ต้องปรับตัวมากยิ่งขึ้น โดยตระกูลสิริวัฒนภักดีได้ส่ง “ฐาปณ สิริวัฒนภักดี” เข้ามาเป็นรองประธานกรรมการบริษัทฯ และคอยดูภาพรวมของการบริหารธุรกิจร่วมกับตระกูลอุทกะพันธุ์ด้วย ซึ่งการปรับในครั้งนี้ส่งผลในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านโทรทัศน์ที่ตระกูลสิริวัฒนภักดีกำลังจับตามอง เนื่องจากทั้ง 2 สถานีโทรทัศน์ที่ตระกูลสิริวัฒนภักดีถือหุ้นอยู่ล้วนขาดทุนอยู่แทบทั้งสิ้น

ในกรณีของอมรินทร์เลือกที่จะปรับเปลี่ยนโดยการร่วมทุนในบริษัท เรียล ฮีโร่ มวยไทย จำกัด และผลิตรายการกีฬามวยถ่ายทอดลงช่องอมรินทร์ ทีวี นอกจากนั้นยังดึงบจก. Change 2561 ของคุณฉอด – สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา มาผลิตรายการและละครอย่าง “สามีสีทอง” ซึ่งออกอากาศในช่วงเสาร์-อาทิตย์หลังรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” ที่ครองเรตติ้ง 10 อันดับแรกอยู่แล้ว ก็ดันให้สามีสีทองคว้าเรตติ้งทั้งในจอทีวีและบน YouTube ด้วยยอดผู้ชมมากกว่าล้านวิวส์ต่อช่วงในแต่ละตอนอีกด้วย และไทยเบฟก็ยังนำรายการ “บันทึกไทยเบฟ” มาลงผังในช่วงไพร์มไทม์ นอกจากนั้นก้ดึงรายการจากผู้ผลิตอย่าง Zense Entertainment ที่ผลิตเกมโชว์ชั้นนำมาร่วมเสริมทัพอีกด้วย ซึ่งทำให้ผังรายการอมรินทร์ทีวีแข็งแกร่งมากขึ้นและต่อยอดการเป็นผู้นำด้านความบันเทิงได้ครบวงจรอีกด้วย

แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่าเรตติ้งโดยรวมของอมรินทร์หลังจากทยอยปรับผังไปแล้ว ยังจะส่งผลดีต่อเนื่องอยู่รึไม่? ยังไงอย่าลืมติดตามได้ในคราวต่อไปทางหนังสือพิมพ์ Business Today และอ่านย้อนหลังได้ทาง songsue.co