fbpx

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของวงการโทรทัศน์ในบ้านเราซึ่งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ,การปรับลดพนักงานในยุคดิจิทัล รวมไปถึงการถูก Disrupt จากสื่อออนไลน์อีกหลายเจ้า ทำให้ผู้ผลิตรายการหลายรายค่อยๆ ปรับตัวเป็น Content provider กันมากขึ้น หลายรายที่ยุคประมูลทีวีดิจิทัลซึ่งหลายคนก็คิดว่าน่าจะพร้อมในการประมูลก็กลับกลายเป็นเพียงผู้เช่าเวลาหรือผู้ผลิตป้อนรายการเท่านั้น ซึ่งในระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นว่าการทำในรูปแบบนี้ก็ถือว่าเป็นหนทางรอดอย่างหนึ่งในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ที่ไม่รู้ว่าจะขาดทุนตอนไหนด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกับ “บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)” ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกวงการโทรทัศน์และผลิตรายการโทรทัศน์มานับไม่ถ้วน อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มการถ่ายทำละครโทรทัศน์ในรูปแบบ “นักแสดงท่องบทเอง-บันทึกเทป” อีกด้วย ในปีพ.ศ. 2557 กันตนานั้นได้ประกาศเป็นผู้ผลิตอิสระที่ไม่ขึ้นตรงต่อสถานีโทรทัศน์ช่องใดช่องหนึ่ง จากในอดีตที่เน้นผลิตลงที่ช่อง 7 สีเป็นหลัก โดยผลิตผ่านบริษัทในเครือของกันตนาที่มีอยู่ และยังขยายแพลตฟอร์มในการรับชมจากเดิมที่จำกัดอยู่แค่โทรทัศน์ ก็หันมาผลิตในช่องทางออนไลน์มากขึ้นด้วย

ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีรายการออกสู่สายตาคนไทยมากมาย โดยส่วนหนึ่งเป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์เพื่อมาผลิตในประเทศไทย และอีกส่วนคือคิดค้นและผลิตขึ้นมาจากต้นทุนที่ตนเองมีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น “The Face Thailand” ที่ปีนี้ดำเนินมาถึงซีซั่นที่ 5 เข้าไปแล้ว ถึงแม้เรตติ้งโดยรวมจะได้ไม่ถึง 1.00 แต่ก็ได้รับกระแสตีกลับในโลกออนไลน์มาไม่น้อยเลยทีเดียว และยังสร้างเม็ดเงินโฆษณาเป็นกอบเป็นกำ หรือจะเป็นรายการยอดฮิตอย่าง “คดีเด็ด” และ “เรื่องจริงผ่านจอ” ที่สามารถครองใจคนดูได้อย่างต่อเนื่องด้วยเนื้อหาที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม

คุณศศิกร ฉันทเศรษฐ์ ประธานสายธุรกิจรายการโทรทัศน์ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์กับส่องสื่อถึงการตัดสินใจปรับเปลี่ยนเป็น Content Provider เต็มรูปแบบว่า “กันตนาประกาศตั้งแต่วันแรกที่มีทีวีดิจิทัล บอกว่าเราเป็น Content Provider พร้อมที่จะทำคอนเทนต์ให้กับทุกช่อง ทุกแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น เพราะว่าจริง ๆ แล้ว พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนทุกปี ตอนนี้เปลี่ยนตลอด คนทำคอนเทนต์ก็ต้องเตรียมพร้อมตลอดสำหรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนดู แล้วทำให้เข้ากับเขามากที่สุด”

การปรับเปลี่ยนทิศทางเป็น Content Provider นั้นก็สอดคล้องกับทิศทางในอุตสาหกรรมโทรทัศน์บ้านเรา เพราะจำนวนช่องทางการรับชมมีมากขึ้นและไม่ได้หยุดอยู่แค่ทีวีแล้ว จึงทำให้สามารถขยับขยายช่องทางให้เข้าใกล้คนดูได้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงการขยับเข้าสู่เม็ดเงินโฆษณาในด้านอื่น ๆ ได้ต่อไปในอนาคตด้วย

ล่าสุด นีลเส็น (ประเทศไทย) รายงานการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อ 6 เดือนแรก (ม.ค. – มิ.ย.) ของปีพ.ศ. 2562 เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มีมูลค่ารวม 50,702 ล้านบาท ติดลบ 2% แต่ถ้าดูเม็ดเงินโฆษณารายสื่อ โดยส่วนใหญ่ยังติดลบอยู่พอสมควร โดยสื่อที่ได้รับเม็ดเงินมากที่สุดก็คือ “โทรทัศน์” ที่มีมูลค่า 33,079 ล้านบาท ลดลง 0.58 % รองมาคือเคเบิล/ทีวีดาวเทียม มูลค่า 1,075 ล้านบาท ลดลง 13.31% นอกจากนั้นยังมีสื่อวิทยุ มูลค่า 2,178 ล้านบาท ลดลง 3.63% และสื่อในโรงภาพยนตร์ มูลค่า 3,681 ล้านบาท ลดลง 4.04%

ในขณะที่กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์นั้นอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่ลดเม็ดเงินลง เหลือมูลค่า 2,388 ล้านบาท ลดลง 17.74% และนิตยสาร มูลค่า 515 ล้านบาท ลดลง 21.13% ต่างกับสื่อนอกบ้านที่ยังเติบโต โดยมีมูลค่า 3,373 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.32% รองมาคือสื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 3,147 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.07% สื่อในห้างฯ 514 ล้านบาท ทรงตัว และสื่อดิจิทัล มูลค่า 302 ล้านบาท

ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขผลประกอบการของกันตนาที่อยู่ในช่วงขาลง โดยบริษัทในเครือต่างก็ทำรายได้ค่อนข้างน้อยลงจากปีก่อน บางบริษัทก็ยังขาดทุนสะสมจำนวนมาก และในบางบริษัทกำไรก็ลดลงตามสภาวการณ์ของอุตสาหกรรมที่ซบเซาลงเรื่อย ๆ อีกด้วย

ซึ่งก็ตรงกับที่คุณศศิกร ได้พูดถึงการมีทีวีดิจิทัลจำนวนช่องมากขึ้นว่า “กันตนาไม่ได้กำไรเพิ่มมากขึ้น คืองานเยอะขึ้นแต่ Margins (อัตรากำไรขั้นต้น) น้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนทำทีวีในปัจจุบันทุกที ถ้าไม่ขาดทุนก็มีกำไรจริง แต่ Margins น้อยลง มันไม่เหมือนยุคที่มันมี 4-5 ช่อง Margins มันเยอะมาก บางทีทำรายการเดียวสามารถเลี้ยงได้ทั้งบริษัทเลย กันตนาผ่านยุคที่จริง ๆ มีรายการ “คดีเด็ด” รายการเดียวก็เลี้ยงได้ทั้งบริษัทได้เลย (หัวเราะ) เพราะว่ายุคนั้นโฆษณานาทีละ 300,000-400,000 บาท แต่ยุคนี้มันหาแบบนั้นไม่ได้แล้ว เดี๋ยวนี้เรตติ้งแค่ขึ้น 5-7 ถือว่ารายการนี้มันก็ประสบความสำเร็จมากแล้ว ซึ่งมันเปลี่ยนไปเยอะ แต่ราคาของเรตติ้งมันยังเป็นตามอุตสาหกรรมอยู่ สมมุติถ้าราคาโฆษณาแทนที่มันจะเพิ่มขึ้น มันกลับลดลง ถ้าเกิดเรตติ้งไม่ได้มันก็ยังมีราคาโฆษณามารองรับอยู่”

แต่ท้ายที่สุดแล้วในอนาคตกันตนาก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลที่คนดูสามารถดูอะไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ เพราะในยุคนี้คนรุ่นใหม่หลายคนก็เลือกที่จะไม่ดูทีวีแล้ว และหลายครั้งตัวเลขเรตติ้งก็สะท้อนได้ถึงการที่คนดูไม่ได้อยากดูอะไรเดิม ๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะไม่งั้นกันตนา(และผู้ผลิตรายการอิสระ)ก็จะขาดทุนต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง