fbpx

วันนี้ส่องสื่อ เว็บไซต์ที่พูดเรื่องสื่อมวลชนได้เปิดเป็นเวลาครบ 1 ปีเต็มแล้ว หลายคนคงอาจจะเพิ่งรู้จักเราหรือรู้จักเรามายาวนานแล้ว แต่หลายคนก็คงงงๆ ว่าสรุปแล้วเราอยู่มากันกี่ปีแล้ว แล้วทำไมเราถึงต้องทำส่องสื่อ? ทำกันไปทำไม? ทำแล้วได้ตังค์กันบ้างรึเปล่า? แล้วที่มาที่ไปของการทำเว็บไซต์มาจากไหน? วันนี้เราจะมาบอกกันครับ

ก่อนอื่นเลยต้องย้อนกลับไปเมื่อ 25 มีนาคม 2559 เราได้มีโอกาสเข้าค่ายของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ หรือ SONP เป็นค่ายผู้สื่อข่าวดิจิทัลรุ่นเยาว์ รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราได้ฝึกกระบวนการการเป็นบรรณาธิการและทำงานร่วมกับฝ่ายเว็บไซต์และฝ่ายการตลาดร่วมกันด้วย และทำให้เราได้รู้จักกับ “YWC” หรือ Young Webmaster Camp แบบจริงๆ จังๆ จากครั้งแรกที่เราสมัครไปแบบไม่รู้อะไรเลย แต่ก็นั่นแหละ รู้จักไว้ก่อนก็ไม่ได้เสียหายอะไรเลยนิ ใช่ไหม?

กระบวนการที่เราได้จากค่าย YDNP2 หรือ Young Digital News Provider 2 ก็คืออย่างที่บอกไปตอนต้นเลย คือทำให้เรากล้าที่จะไปหาข่าวด้วยตัวเอง รู้จักการสัมภาษณ์ การทำงานกองบรรณาธิการต่างๆ มากขึ้น รวมไปถึงการเก็บข้อมูล การเขียนข่าวบนเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งกลายมาเป็นบทเรียนให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นว่า “เส้นทางนี้แหละ ของฉัน!” หลังจากนั้นจึงกลับมาพัฒนา Facebook Page จาก “ถึงเวลาต้องวิจารณ์” กลายมาเป็น “Media Focus Thailand” แทน เพื่อปรับรูปแบบให้มาโฟกัสเรื่องสื่อมากขึ้น โดยเฉพาะตอนนั้นที่พูดเรื่องทีวีเป็นหลักอีกด้วย

หลังจากนั้นมาได้ 2 ปี ในต้นปี 2561 เราก็ได้เขียนบทความชิ้นใหม่ลงผ่านทาง Medium โดยสัมภาษณ์ประเด็นเรื่องของ RuPual’s Drag Race และทำให้เราได้รู้จักกับพี่ๆ กลุ่ม RuPual’s Drag Race Thaifans ที่ทำให้เราได้ไปสัมภาษณ์เป็นครั้งแรกที่กันตนา และทำให้เราได้สัมผัสความเป็นนักข่าวอีกครั้ง นั่นเองทำให้เราเริ่มสนใจด้านสื่ออีกครั้ง และกลับมาตั้งคำถามถึงเรื่องสื่อมวลชนไทยว่า ทำไมสื่อมวลชนถึงไม่มีกระจกสะท้อนตัวพวกเขาเองบ้าง? เราคุยเรื่องดูหนัง แต่ทำไมไม่มีกระจกสะท้อนถึงคนทำหนัง? เรามีคนทำข่าว แต่ทำไมไม่มีกระจกสะท้อนถึงคนทำข่าว? หรือพาดหัวบนหนังสือพิมพ์ ทำไมไม่มีคนมาสะท้อนพาดหัวเหล่านั้นบ้าง? เราจึงได้เริ่มทำ “ส่องสื่อ” แบบจริงจังอีกครั้ง โดยเริ่มจากคนเดียวก่อน เป็นคนสัมภาษณ์ ทำรูปภาพเอง เขียนเอง แกะบทสัมภาษณ์เอง ลงเอง ดูแลแฟนเพจเอง ครบวงจรมากๆ

หลังจากที่เราทำได้ไม่นาน กระแสตอบรับค่อนข้างดีมากๆ เราเลยย้ายไปที่ Minimore อีกครั้ง และเริ่มสัมภาษณ์ทั้งคนจากไลน์ทีวี , กันตนา และรวมไปถึงชาว Drag Race Thailand Season 1 ซึ่งทำให้มีคนเข้ามาอ่านเฉลี่ยบทความละ 1,000 วิวส์ และมียอดรวมประมาณ 27,800 วิวส์ ในขณะที่บน Facebook มีคนกดถูกใจอยู่เพียงไม่ถึง 3,000 คนด้วยซ้ำ เราเลยเริ่มขยับขยาย โดยไปทำบนเว็บไซต์ mitrtalk.com ก่อน (ซึ่งเริ่มลงบทความในวันที่ 8 ตุลาคม 2561 และปิดตัวเว็บไซต์ไปเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ปีเดียวกัน)

หลังจากนั้นเราจึงเริ่มสมัครค่าย Young Webmaster Camp #16 ไป เพื่อที่อยากจะได้ประสบการณ์จากค่ายนี้เอามาตั้งต้นกับส่องสื่อแบบจริงจังสักที เรากลัวว่ารอบนี้เราจะชวดไปอีก หลังจากสมัครมาแล้ว 4 ปี เราเลยตัดสินใจทำการบ้านอย่างหนัก ในขณะที่งานของส่องสื่อก็ยังมีให้เขียนอีกเพียบ เลยค่อนข้างใช้เวลานิดนึงในการทำการบ้าน และนั่นก็ทำให้เราติดเป็นเด็กค่าย (ร่วมกับ กรทอง วิริยะเศวตกุล บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง www.spaceth.co นั่นแหละ)

พอเราเข้ามาใน YWC#16 ความเข้าใจว่าเรารู้จักคอนเทนต์ดีพอก็หายไปเลย กลับกลายเป็นว่าหลายๆ อย่างเรายังเข้าใจไม่ถ่องแท้ โดยเฉพาะการทำเว็บไซต์ เราได้รับคำแนะนำมาอย่างมากมายว่าตรงไหนควรปรับ ตรงไหนที่ไม่ควรใส่ ตรงไหนต้องเสริมบ้าง? ซึ่งทำให้เว็บของเราดูมีองค์ประกอบมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะคำแนะนำจาก “เติ้ล” ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง www.spaceth.co เหมือนกันนั่นแหละ

เรายังจำประโยคที่เติ้ลบอกกับเราได้ในวันนั้นว่า “เว็บกับเพจมึงคนละชื่อเลย เปลี่ยนเหอะ” ได้ 5555

หลังจากนั้น เราได้เรียนรู้ตั้งแต่การออกแบบเว็บไซต์ การผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ รวมถึงการทำงานเป็นทีมผ่าน “บ้านบี” ซึ่งมีเพื่อนๆ ในทีมที่น่ารักมากๆ เป็นบรรยากาศที่ดีมากๆ และในวันนั้นเรายังได้รู้จักกับพี่ๆ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยที่เขาผ่านประสบการณ์มาค่อนข้างสูง ทำให้เราได้เรียนรู้การทำเว็บไซต์แบบเต็มๆ ตั้งแต่กระบวนการทำงานยันการทำงานแบบทีมเลยทีเดียว

หลังจากนั้นไม่กี่วันหลังจากเข้าค่ายจบ เราจึงเปิดเว็บไซต์ songsue.co ขึ้นมา โดยอาศัยความรู้จากการทำเว็บไซต์จากค่าย YWC#16 และนั่นเป็นจุดแรกเริ่มที่ทำให้เราได้ Connection กับพี่ๆ หลายคน ตั้งแต่พี่คนที่หนึ่งที่ให้สถานที่จัดส่องสื่อ Meet up #1 และเลี้ยงพิซซ่าพวกเราด้วย พี่เอ็มที่ให้โอกาสเราเข้าไปทำข่าวใน iCreator Meet up รวมไปถึงพี่คนอื่นๆ อีกมากมายที่ให้ความรู้กับพวกเรา ซึ่งทั้งหมดนี้ได้มาเพราะนามสกุล YWC16 ล้วนๆ

ปัจจุบันนี้ส่องสื่อเป็นเว็บไซต์ด้านสื่อสารมวลชนที่มีผู้เข้าชมรวมกันมากกว่า 32,000 ครั้ง และเรามีทีมงานทั้งหมด 13 คน โดยมีพี่ทีม YWC#12 เป็นทีมงานร่วมด้วย และยังมี JWC หรือ Junior Webmaster Camp อีกถึง 4 คน ได้แก่ นีโอ โชติ และไทม์ JWC#11 , ก้อง JWC#7 ซึ่งส่วนหนึ่งเราก็ดึงน้องๆ มาจากค่ายนั่นแหละ ทุกคนทำงานแบบอาสาสมัครอยู่ในช่วงนี้ (เพราะแผนการตลาดกำลังวางแผนกันอยู่) และส่องสื่อได้เข้ามามีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์ค่ายทั้ง JWC#11 และ YWC#17 เสมอมาอีกด้วย

ถ้าถามว่าเราเติบโตได้เพราะ YWC ใช่ไหม? คงตอบว่าใช่อย่างภูมิใจ เพราะค่ายแห่งนี้ได้ทำให้เราได้ทำคอนเทนต์ที่แปลก แตกต่างจากคนอื่น รวมไปถึงได้ทำให้เราได้เจอสังคมใหม่ๆ สังคมที่ทำให้เราได้เรียนรู้ไปกับพี่ๆ นามสกุลเดียวกันไปตลอดชีวิตอีกด้วย ยังไงถ้าอยากได้ประสบการณ์การทำเว็บที่แตกต่างจากเดิม มาสมัครกันได้นะ ^^

แล้วเจอกันนะครับ


โครงการ Young Webmaster Camp ครั้งที่ 17 เปิดรับสมัคร 4 สาขา ได้แก่

  • สาขาการตลาด (Web Marketing) สาขาด้านการวางกลยุทธ์ทางการตลาด และกำหนดแนวทางของเว็บไซต์ สร้างรายได้จากการแก้ปัญหาหรือตอบความต้องการของผู้ใช้งาน
  • สาขาคอนเทนต์ (Web Content) สาขาด้านการนำเสนอเนื้อหา ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร ภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจเกี่ยวกับเว็บไซต์ดียิ่งขึ้น
  • สาขาดีไซน์ (Web Design) สาขาด้านการออกแบบ ทั้งการออกแบบด้านความสวยงามและประสบการณ์ในการใช้งานภายในเว็บไซต์ เพื่อสร้างสรรค์เว็บไซต์ที่ทันสมัยและใช้งานง่ายในเวลาเดียวกัน
  • สาขาโปรแกรมมิ่ง (Web Programming) สาขาด้านการสร้างเว็บไซต์ ให้กำเนิดเว็บไซต์จากการเขียนโค้ดด้วยภาษาต่าง ๆ เป็นกำลังหลักที่จะนำทั้งเนื้อหา ประการณ์ ความสวยงาม และการแก้ปัญหาที่ตรงจุดสู่ผู้ใช้งาน

ขอเชิญชวนนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศที่มีอายุระหว่าง 18-23 ปีสมัครเข้าร่วมโครงการ ผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 80 คนจะได้เข้าค่ายระหว่างวันที่ 26 – 29 ธันวาคม 2562 ณ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการสามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ต.ค. 62 ที่เว็บไซต์ ywc.in.th