fbpx

โดยปกติแล้ว วงการตลกในบ้านเราส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องตลกในประเด็นชีวิตประจำวันเสียมากกว่า จะมีน้อยที่มีรายการตลกที่เสียดสีสังคมหรือรัฐบาล (ซึ่งจะมีให้เห็นส่วนใหญ่ในรูปแบบช่อง “เจาะข่าวตื้น” ของจอห์น วิญญู หรือในรูปแบบของเดี่ยวไมโครโฟนของโน้ต อุดม แต้พาณิช) ด้วยเหตุผลที่รู้กันอยู่ทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราไปดูในดินแดนแห่งเสรีอย่างสหรัฐแล้ว เราจะเห็นได้ว่ามีรายการตลกที่เสียดสีการเมืองและสังคมอย่างมากมาย และแน่นอนว่าหนึ่งในรายการที่เราจะมากล่าวถึงกันในวันนี้เป็นรายการของคนที่ชื่อว่า “จอห์น ออลิเวอร์” จากรายการลาสต์วีคทูไนท์ (Last Week Tonight)

จอหน์ ออลิเวอร์เป็นศิลปินตลก (คำว่า comedian เป็นคำที่แปลได้ยากเหมือนกัน) ที่มาจากประเทศอังกฤษ โดยที่ตอนแรกเป็นศิลปินเดี่ยวไมโครโฟนตามคลับต่างๆ ในสหราชอาณาจักร จนกระทั่งย้ายมาตั้งต้นชีวิตใหม่ที่สหรัฐ โดยที่ตอนนั้นเองที่เข้ามาร่วมรายการข่าวเสียดสีการเมืองชื่อดังอย่าง “รายการรายวันกับจอนสตูววาร์ท” หรือ เดอะเดลี่ย์โชว์ วิทธ์ จอน สตูววาร์ท (The Daily Show with Jon Stewart) ในฐานะผู้สื่อข่าวอังกฤษอาวุโส (Senior British Correspondant) ตั้งแต่ 2006 และก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับเขาเองมาตั้งแต่นั้น โดยที่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ออลิเวอร์ได้ขึ้นมาแทนที่จอน สตูววาร์ทในฐานะผู้จัดรายการรับเชิญถึงเวลา 8 สัปดาห์ (ซึ่งตอนนั้นผู้จัดรายการหลัก จอน สตูววาร์ทได้ขอเวลาไปถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Rosewater) และได้ใช้เวลานั้นเองสร้างชื่อเสียงว่าเป็น “ผู้เสียดข่าว” ที่ตลกพอๆกับผู้จัดรายการเลยทีเดียว และจนกระทั่งปี 2013 จอห์น ออลิเวอร์ได้ตัดสินใจอำลาเดอะเดลี่ย์โชว์ เพื่อไปเปิดรายการที่ตอนนี้รู้จักกันว่า ลาสต์วีคทูไนท์ วิทธ์ จอห์น ออลิเวอร์ (Last Week Tonight with John Oliver – รายการ “สัปดาห์เมื่อคืนวานนี้”) ซึ่งก็สร้างความโด่งดังให้กับตัวเองในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุผลที่เขียนถึงจอห์น ออลิเวอร์นั้นไม่ใช่เพราะความตลกขบขันจากการเสียดสีการเมืองและเรื่องอื่นๆ ในสังคมอย่างเดียว แต่สิ่งหนึ่งเลยที่ทำให้รายการและตัวออลิเวอร์เองมีชื่อเสียงได้ขนาดนี้ ก็เพราะความบ้าระหำของจอหน์ ออลิเวอร์ (ในเรื่องตลกๆแบบโง่ๆ) และอิทธิพลของรายการนี้ต่อสังคมและการเมืองโดยทั่วไป หรือพูดง่ายๆเลยก็คือ สร้างกระแสเปลื่ยนแปลงจากเรื่องโง่ๆนั่นเอง เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้นกัน ?

ยกตัวอย่างได้จากเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเอาเปรียบ หรือในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า gerrymandering ซึ่งตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่ในอเมริกา เนื่องจากว่าปัญหานี้สะท้อนไปถึงการแทนเสียงประชาชนในสภาคองเกรสซึ่งไม่เป็นธรรมเพราะเอื้อกลุ่มพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่า และแน่นอนว่าด้วยสไตล์ของจอห์น ออลิเวอร์เองแล้ว เขาเองได้เอาเรื่องนี้มาผสมกับตลกและการเขียนข่าว และแน่นอนว่ามันออกมาแล้วดี และผู้ชมเองก็เห็นด้วยกับออลิเวอร์ จนกระทั่งมีการเปลื่ยนแปลงในหลายมลรัฐในสหรัฐ 

อย่างเช่นออลิเวอร์ได้พูดถึงปัญหาการแบ่งเขตในมลรัฐนอร์ธแคโรไลน่าว่ามีเป้าประสงค์ในการแบ่งกลุ่มคนที่มีผิวดำออกจากกัน และเมื่อจอหน์ ออลิเวอร์นำเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว มีคนไปร้องเรียนศาลฎีกาในมลรัฐนอร์ธแคโรไลน่าเรื่องนี้ และตัดสินว่ามีเป้าประสงค์นั้นจริง และสั่งให้มีการแบ่งเขตใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอิทธิพลเหล่านี้ยังเป็นอีกหลายอิทธิพลที่รายการของจอห์น ออลิเวอร์มีในการเปลื่ยนแปลงสังคมในหลายๆด้าน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการเมืองอย่างเดียว 

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือในเรื่องของถ่านหิน ที่ยังคงเป็นประเด็นอยู่ในสหรัฐเพราะประเทศสหรัฐยังคงใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเหมือนเดิม ปัญหาของมันก็คือ มีความอันตรายสูงมาก และคนที่ทำงานนี้ก็ต้องป่วย มีความเสี่ยงในการทำงานสูง และรายได้มีอันน้อยนิด และนอกจากนั้นแล้วนักธุรกิจในวงการถ่านหินก็หาได้สนใจเรื่องนี้ไม่ ซึ่งนั้นเป็นเหตุให้จอห์น ออลิเวอร์ใช้บทสัมภาษณ์ของนักธุรกิจคนนั้น ที่พูดถึงเรื่อง “พูดคุยกับกระรอก” ในเรื่องการตัดสินใจทางธุรกิจ มาใช้เล่นกับนักธุรกิจคนนั้น โดยเอาคนมาแต่งตัวเป็นกระรอกแล้วเขียนเช็คบอกว่า “กินขี้ซะไอ้บ็อบ” (Eat Sh!t, Bob!) 

แต่อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจคนนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เลยตัดสินใจฟ้องจอห์น ออลิเวอร์ในศาลด้วยเหตุที่ใช้คำพูดสบประมาทในรายการ แต่อย่างไรก็ตาม จอห์น ออลิเวอร์ก็ได้นำเรื่องที่เขาได้ศึกษาทั้งหมดมาใช้เป็นการแก้ต่างในศาล ผู้พิพากษาเลยตัดสินใจว่าจอห์น ออลิเวอร์มีเหตุผลมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง จึงให้ตัดสินว่าจอห์น ออลิเวอร์ ชนะคดีและให้ออลิเวอร์เขียนการตัดสินใจของศาลให้ด้วย

ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายๆเรื่องที่ถือว่าเป็นวีรกรรมของจอห์น ออลิเวอร์ที่ได้งบประมาณจากบริษัทแม่อย่างเอชบีโอ ในการทำสิ่งบ้าๆเหล่านี้ แต่มันก็ได้ผล เพราะว่ารายการของเขานอกจากโด่งดังและได้รับรางวัลมากมายแล้ว เขายังทำให้รายการของเขาเองเป็นรายการที่นำความเปลื่ยนแปลงมายังระบบการเมืองและสังคมทั้งในสหรัฐอเมริการ และประเทศอื่นๆทั่วโลกด้วย และด้วยความนั้นเองที่จอห์น ออลิเวอร์ ถึงแม้ว่าเป็นตลก และยังยืนยันในความเป็นตลกของเขาตลอดมา ยังสามารถทำหน้าที่สื่อที่ดี ตามหลักจริยธรรมได้เช่นเดียวกัน

การที่นำเรื่องของจอห์น ออลิเวอร์มาเขียนในวันนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าในยุคที่การรับข้อมูลข่าวจากสือนั้นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อแล้ว การมองดูจอห์น ออลิเวอร์เป็นตัวอย่างก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะถึงแม้ว่าจอห์น ออลิเวอร์ไม่ได้เป็นนักข่าว แต่ก็ใช้ความเป็นนักข่าวมาทำงานและนำเสนอความจริงของสังคมและการเมืองที่ควรจะทำ โดยที่ไม่เกรงกลัวอำนาจที่เหนือกว่านั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นการนำเสนอที่ “น่าเบื่อโคตร” (จากโดนัลด์ ทรัมป์) และ “ทำให้คนโง่” (จากสำนักพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล) ที่สามารถเปลื่ยนแปลงสังคมและการเมืองเพื่อสิ่งที่ดีกว่านั่นเอง เพราะฉะนั้นแล้ว จอห์น ออลิเวอร์ คือนักจัดรายการที่มองเห็นถึงความเปลื่ยนแปลงในยุคนี้ และใช้มันเพื่อเปลื่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีกว่า และการนี้เองที่ทำให้ผมมองว่า การมีอยู่ของจอห์น ออลิเวอร์ และนักจัดรายการคนอื่นๆที่มาแนวเดียวกัน เป็นเรื่องที่ดีที่เกิดขึ้นมาในสังคมเลย