fbpx

ถ้าจะให้พูดถึงรายการเกมโชว์ในตำนาน ก็คงจะมีเพียงไม่กี่รายการที่อยู่ในใจของคนไทยแน่นอน หนึ่งในลิสต์นั้นจะต้องมีรายการที่ผลิตโดย “เวิร์คพอยท์” แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นชิงร้อยชิงล้าน , เวทีทอง , เกมจารชน หรือแม้กระทั่งปริศนาฟ้าแลบ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายการที่เวิร์คพอยท์ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองคนไทยมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมานั่นเอง แต่วันนี้เราไม่ได้จะมาคุยในส่วนของรายการของ workpoint เท่านั้น แต่จะมาคุยเกี่ยวกับธุรกิจของ Workpoint กันว่ามีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน ติดตามจากบทความนี้กันครับ

ก่อนอื่น ต้องบอกว่า Workpoint กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2532 นับจากตอนนี้ก็เป็นระยะเวลามากกว่า 30 ปีแล้ว สมัยก่อนนั้นเริ่มต้นผลิตรายการอย่าง “เวทีทอง” ก่อนที่จะทำรายการอื่นๆ ขยายเพิ่มเติมไปอีก และที่สำคัญ Workpoint เลือก “ช่อง 7 สี” เป็นสถานีแห่งแรกในการออกอากาศรายการของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ชิงร้อยชิงล้าน หรือเวทีทองก็ตาม นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เริ่มขยับขยายมาทำรายการที่หลากหลายขึ้น ออกอากาศหลายช่องขึ้น จนเรียกได้ว่าครบฟรีทีวี 6 ช่องมาแล้วก็ได้

หลายรายการก็อยู่ในความทรงจำมานัดต่อนัด ไม่ว่าจะเป็น “กามเทพผิดคิว” รายการค้นหาคู่รักไปนัดเดทรายการแรกๆ ในประเทศไทย , “ระเบิดเถิดเทิง” ซิทคอมที่ชาวซอยระเบิดเถิดเทิงจะมาสร้างเสียงหัวเราะให้กับพวกเรา , “เกมจารชน” เกมโชว์สัญชาติไทยที่ไดรับรางวัล Asian Television Award มาแล้ว หรือแม้กระทั่งรายการ “ชมรมขนหัวลุก” รายการเล่าเรื่องผีอันดับต้นๆ ของเมืองไทยที่เล่าได้หลอนมากที่สุดเลยทีเดียว

เนื่องจาก Workpoint ประสบความสำเร็จจากรายการทีวีมาแล้ว จึงเริ่มขยายมาทำ “ช่องเวิร์คพอยท์” โดยเริ่มมาจากการเป็นทีวีดาวเทียมก่อนในปี 2554 โดยนำรายการในอดีตของตนเองมารีรันให้ชมอีกครั้ง และเริ่มขยับขยาย นำรายการใหม่ของตนเองมาออกอากาศเพิ่มเติม จนเมื่อปี 2557 ช่องเวิร์คพอยท์จึงได้ออกสู่สายตนคนไทยทั้งประเทศผ่านระบบทีวีดิจิทัล โดยออกอากาศในรูปแบบคมชัดปกติ (SD) นั่นเอง

ด้วยความที่รายการของ Workpoint เองมีเอกลักษณ์อยู่แล้ว และเป็นที่ติดใจของคนไทยมาพอสมควร จึงทำให้เรตติ้งรายการต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยผังรายการเน้นเจาะกลุ่มที่เบื่อละครแล้ว โดยวางผังเป็นรายการวาไรตี้เต็มแน่นผังรายการ และมีละครบ้างประปลายแล้วแต่ช่วง จนถึงปี 2561 จึงครองอันดับมาอยู่ที่ 4 ของเรตติ้งทั้งหมดบนทีวีดิจิทัลนั่นเอง

แต่ใช่ว่าการครองอันดับเรตติ้ง Top 5 จะทำให้เงินไหลเข้า Workpoint มาตลอดเสมอไป เพราะล่าสุด Workpoint ก็ได้ประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 2 ออกมาแล้ว โดยรายได้รวมลดลงอยู่ที่ 803.61 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่ได้ 841.30 ล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจรายการโทรทัศน์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักลดลง จากการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีช่องทีวีดิจิทัลขอคืนไปทั้งหมด 7 ช่อง ทำให้ช่องที่เหลือต้องแข่งขันมากขึ้น  นอกจากนั้นเวิร์คพอยท์ยังมีธุรกิจรับจ้างจัดงานที่ไตรมาสนี้มีรายได้มากขึ้น และธุรกิจจัดคอนเสิร์ตและละครเวทีที่ไตรมาสนี้รายได้ลดลง เนื่องมาจากไตรมาสนี้จัดกิจกรรมน้อยกว่ารอบของไตรมาสในปีที่แล้วอีกด้วย

แต่อีกหนึ่งธุรกิจที่เวิร์คพอยท์เอาดีด้วยและจริงจังพอสมควร นั่นก็คือ “การขายสินค้าและบริการ” ที่เวิร์คพอยท์ปลุกปั้นแบรนด์ทั้งหมด 3 แบรนด์ด้วยกัน อย่าง “Let me in Beauty” “Me Vio” ที่เป็นสินค้าความงามและสุขภาพ และ “1346 Hello Shops” ที่เป็นแบรนด์ TV Shopping ซึ่งทั้งหมดได้มีช่องทางจำหน่ายผ่านช่องเวิร์คพอยท์ เวิร์คพอยท์จริงจังกับธุรกิจนี้มาก โดยได้ขยายเวลาขายสินค้ามาเป็น 80 นาที/วัน ครอบคลุมทุกช่วงเวลาของการรับชม ทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้กลยุทธ์ในการร่วมเป็นผู้สนับสนุนรายการในเครือของเวิร์คพอยท์อีกด้วย ทำให้ไตรมาสที่ 2/62 มีรายได้จากการขายสินค้ามากถึงร้อยละ 90 และรายได้จากบริการอื่นอีกร้อยละ 10 นั่นเอง

แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่สามารถตัดสินชี้ชะตาได้ว่าอนาคตเวิร์คพอยท์อาจจะเบนเข็มมาธุรกิจอื่นๆ แล้วหรือไม่? นอกจากข่าวการทำ Payment Gateway โดยการเข้ามาลงทุนในบริษัทอื่นแล้ว ฉะนั้นท่าทีต่อไปก็คือต้องรอติดตามหลังจากทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่องยุติการออกอากาศอย่างเป็นทางการเสียก่อน หลังจากนี้คือการแข่งขันของจริงแล้วที่เราจะรู้ได้ว่าใครที่จะเป็น Top 5 มากกว่ากัน