fbpx

หลายคนอาจจะเคยรู้จัก “ไผ่ ดาวดิน” หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากคดีการแชร์ข่าวของสำนักข่าวบีบีซีประจำประเทศไทยอยู่ไม่น้อย แต่วันนี้ส่องสื่อมีโอกาสได้สัมภาษณ์ไผ่ ดาวดิน ถึงแนวคิดของสื่อมวลชนในสไตล์นักกิจกรรมระดับประเทศคนนี้ว่าเขาคิดอย่างไรกับสื่อบ้านเรากันบ้าง? รวมไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับคดีด้วยว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร? เขาคิดอะไรอยู่กันแน่? ติดตามจากบทสัมภาษณ์นี้ได้เลย

ไผ่ ดาวดิน คือใคร?

ไผ่ ดาวดินก็คือผมนี่แหละ ผมเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ แล้วก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นสังคม จึงได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มดาวดิน กลุ่มดาวดินก็คือกลุ่มที่เผยแพร่เรื่องกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นกลุ่มของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมครับ แล้วก็เคลื่อนไหวแทบจะทุกเรื่อง ไม่ว้่จะเป็นเรื่องทรัพยากร สิทธิมนุษยชน การศึกษา อะไรแบบนี้ จนมาถึงช่วงรัฐประหารเราก็เคลื่อนไหวต่อจนมาถึงทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวในช่วงรัฐประหารคืออะไร?

การรัฐประหารไม่ถูกต้องอยู่แล้วครับ คือมันไม่จำเป็นจะต้องมีจุดเริ่มต้นเลย แค่คิดรัฐประหารมันก็ผิดแล้ว มันไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลแล้วนะ

จุดเริ่มต้นสู่การแชร์ข่าวและการถูกจำคุกคืออะไร?

คือเนื่องด้วยผมเป็นคนที่สนใจประเด็นข่าวสารบ้านเมืองอยู่แล้ว เรื่องที่ผมทำงานประเด็นสังคมและข่าวสารอยู่แล้ว มันก็มีข่าวมาซึ่งผมก็ติดตามข่าวแล้วก็กดแชร์ไป คือข่าวอะไรมาเราโอเค เราก็แชร์หมดนะ คือมันเป็นข่าวที่คนไทยให้ความสนใจ และมันเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านด้วยนะ เราก็เป็นคนที่สนใจและติดตามอยู่แล้ว

ถามว่ารู้สึกน้อยใจไหมที่โดน ผมเป็นคนผมก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกันนะครับ ทำไมเราโดนแล้วคนอื่นไม่โดน คือมันเป็นเรื่องปกติพื้นฐานว่าเราไม่ต้องมีความคิดพื้นฐานอะไร ซึ่งแบบโอเค เราก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกันครับ

ในความคิดของไผ่ คิดว่าปัจจุบันสื่อโดนรัฐแทรกแซงมากน้อยแค่ไหน?

ก็มาก มาก มากเลย (หัวเราะ) ก็แทรกแซงมาก เขาก็ต้องทำอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าปล่อยให้สื่ออิสระเสรี คนก็คิดได้สิ เพราะในวันนี้สื่อก็เป็นเครื่องมือของรัฐ คือสื่อก็อยากมีอิสระนะ แต่ด้วยความที่รัฐมากดมาบีบอยู่ตลอด คือผมก็คิดว่าสื่อต้องต่อสู้เพื่ออิสรภาพของสื่อนะ ไม่ใช่พอบอกว่าเป็นนักข่าวต้องอยู่บนความเป็นกลางเท่านั้น ไม่มีหรอกความเป็นกลางในสังคม มันมีแค่ความถูกต้องไง มันมีคนที่ถูกกดขี่และไม่ถูกกดขี่ไง แล้วคุณต้องนำเสนอในข้อเท็จจริงไง ซึ่งวันนี้คุณไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงได้ คุณไม่สามารถมีความคิดอิสระของสื่อได้ 

เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนทั้งหลายก็ต้องกล้าที่จะเรียกร้อง คือสื่อควรเป็นสิ่งที่ให้ทุกคนได้หาความรู้ที่จะเรียนรู้ว่าอันนี้คิดแบบนี้ อันนี้คิดแบบนี้ ส่วนคนจะคิดยังไงก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเขาเอง แต่ว่าสื่อทุกวันนี้มันแคบมาก สื่อกระแสหลักก็จะถูกควบคุมโดยรัฐให้ออกแบบนี้ๆ แล้วไง คนจะเข้าใจความจริงในสังคมรึเปล่า? เพราะฉะนั้นสื่อก็เป็นกลไกหนึ่งในการสร้างการรับรู้ต่อสังคม เป็นหน้าที่ที่สำคัญที่คุณต้องตระหนัก ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเป็นส่วนร่วมของการเปลี่ยนแปลง

ถามว่ามีสื่อไหนที่ทำแบบนี้ไหม? ผมว่ามันน้อยนะ มันก็มีคนทำซึ่งเขาก็ไม่ได้ติดข้อจำกัดต่างๆ ไง คือโครงสร้างของสื่อมันก็มีไง สื่ออิสระจริงๆก็มีช่องทางน้อย สื่อกระแสหลักมันก็ทำอะไรไม่ได้ ประเด็นของผมคือเมื่อสื่ออยากทำแบบนี้มันต้องทำได้สิ คุณอยากทำอะไรคุณก็ต้องทำได้ คือเสรีภาพมันอยู่ตรงนี้ คุณจะมีความเห็นยังไงก็ให้ประชาชนได้เรียนรู้ไป เรียนรู้จากข้อเท็จจริง เรียนรู้จากสังคมมนุษย์ผ่านสื่อ เพราะว่าถ้าเกิดข้อเท็จจริงออกมาแล้วสื่อนำมานำเสนอและคนก็ไม่ค่อยเห็นอยู่แล้วไง

แสดงว่าเสรีภาพสื่อน้อยลงไปใช่ไหม? 

ไม่ใช่แค่สื่อไงครับ แต่คือเสรีภาพคนทั้งประเทศเลย

แล้วเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีไหม?

ถ้ามีคงไม่โดนคดีหรอกครับ

ถ้าคนอื่นโดนคดีแบบเรา ควรต้องทำยังไง?

ก็ทำแบบเราครับ ไม่ว่าจะโดนคดีหรือไม่อย่างไรก็ต้องทำอยู่แล้ว คือมันก็จะทำอะไรได้อ่ะ ไม่รู้นะขนาดผมโดนแล้วผมก็ยัง เออ… เพื่อนๆ ก็ทำได้มากสุดแค่ให้กำลังใจนะ มันเละไปหมดแล้วสังคมไทย มันพังไปหมดแล้วนะ ไม่ว่าจะเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มันพังไปหมดแล้วนะ ไม่เหลืออะไรแล้วนะ สุดท้ายก็คือประชาชนที่ต้องสร้างโครงสร้างใหม่ ถูกไหมครับ? ต้องมาออกแบบ 

คือกฎหมายต้องออกมาจากประชาชน นโยบายต้องมาจากประชาชน การออกแบบการแก้ไขปัญหาต้องมาจากประชาชนทุกคนที่ช่วยกันในการแก้ไขปัญหาได้

แสดงว่าสื่อต้องมาจากประชาชนด้วยรึเปล่า?

คือผมว่าทุกวันนี้สื่อมันกว้างมากนะ คือประชาชนเขาต้องทำสื่อเองไงในเมื่อสื่อไม่ทำ คือผมไม่ได้มองเป็นเรื่องเฉพาะ คือผมมองว่าสื่อก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมนะ พวกคุณชอบอ้างความเป็นกลาง ความเป็นกลางมันไม่มีในสังคมไง ถ้าคุรไม่เสนอความจริงคุณก็เข้าข้างเผด็จการไงที่คอยหลอกหลวง คือผมมองว่าอันไหนไม่ดีก็ไม่ดีไง คือคุณไม่ต้องเสนอก็ได้แต่ว่าคุณต้องพูดความจริงไง แล้ววันนี้ก็เป็นรัฐที่คุมสื่อไง อย่างบางสื่อที่เป็นกระแสหลัก เขาไม่สนใจ นำเสนอข่าวชาวบ้าน แต่ไม่ได้สนใจข่าวอื่นๆ เลย อธิบายยังไงว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญเหรอ? เอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัด ทำไมชาวบ้านโดนทำร้ายเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ คนไม่สนใจอ่ะ

คือผมมองว่ามุมมองควรจะกว้างขึ้นนะ คุณอย่าขายแต่ข่าวที่จะขายไง คุณต้องขายความจริงไง คือทุกครั้งที่เราจะเห็นข่าวมันจะมาเป็นรูปแบบใช่ไหม? เรื่องอุบัติเหตุ เรื่องโน่น เรื่องนี่ ซึ่งผมก็โอเค มันก็มีทั่วประเทศนั่นแหละ แต่ว่าเรื่องที่สร้างสรรค์กว่านี้มันก็มีเหมือนกัน แต่เขามาเน้น อ้าว เกิดอุบัติเหตุแล้วไง? เพื่อความไม่ประมาท คนก็รู้แล้วแต่เรื่องอื่นๆ คนที่ยังไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้รับรู้ล่ะ คุณไม่พูดถึงเลย ทหารปิดทางชาวบ้านให้บริษัทปิโตรเลี่ยมขนของเข้าไปทำงาน อย่างงี้คุณเคยพูดไหม? คือผมว่าสื่อก็มีอิทธิพลอย่างหนึ่ง พอสื่อกระเพื่อมทำให้เกิดกระแส มันก็ส่งแรงกระเพื่อมได้ในระดับนึง ซึ่งมันก็สำคัญมากเหมือนกันนะ