fbpx

หลายคนคงเคยที่อยากจะเป็นนักเขียนอยู่ไม่น้อยแน่นอนใช่ไหมครับ? แต่จะมีสักกี่คนที่จะลุกขึ้นมาเริ่มต้นทำความฝันของตัวเอง และทำตาม idol ของตัวเอง วันนี้ส่องสื่อได้รับเกียรติให้สัมภาษณ์หนึ่งใน idol ของใครหลายๆ คนเช่นกัน นั่นก็คือ “นิ้วกลม” หรือชื่อจริงของเขาก็คือ “เอ๋ – สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์” ที่มีผลงานเขียนซึ่งเป็นที่รู้จักมานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น “โตเกียวไม่มีขา” “เหตุใดเราจึงยังมีชีวิตอยู่” และผลงานล่าสุดอย่าง 100 Liife Lessons วันนี้เราจะพานิ้วกลมมานั่งคุยถึงจุดเริ่มต้นในการเขียน การมองสื่อสารมวลชนในยุคนี้ รวมไปถึงสิ่งสำคัญที่คนรุ่นใหม่ควรมีก่อนเขียน ซึ่งล้วนน่าสนใจมากๆ ติดตามอ่านได้จากบทความนี้ได้เลย

จุดเริ่มต้นในการเขียนหนังสือคืออะไร?

จุดเริ่มต้นการเขียนหนังสือมาจากการอ่านหนังสือครับ ก็แรงบันดาลใจในการเขียนของยุคแรกๆ น่าจะเป็นหนังสือของพี่ๆ นักเขียนหลายๆ คนนะครับ มีพี่วินทร์ เลี้ยววาริน พี่ปราบดา หยุน คุณมุกหอม วงษ์เทศ คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ พี่โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง พี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันทร์ อะไรประมาณนี้ครับ

แรงบันดาลใจในการเขียนแต่ละเรื่องของนิ้วกลม?

แต่ละเรื่องหลากหลายมากครับ ถ้าจะสรุปเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนก็คงยกออกมาเป็น ข้อสงสัย ถ้าเกิดว่าเรามีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับอะไร เราก็อยากจะหาคำตอบจากสิ่งนั้น เวลาเราจะหาคำตอบก็อาจจะหาได้หลายแบบ เช่น เอาตัวเองออกไปเจอประสบการณ์นั้น หรืออ่านหนังสือถึงเรื่องที่เราสงสัย และถามเรื่องที่อยากรู้กับผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ แล้วก็พอเราได้ข้อมูล ได้ข้อคิด มุมมองต่างๆ นานา เราก็ถ่ายทอดออกมาเป็นการเขียน

ตลอดระยะเวลาการเป็นนักเขียน สิ่งแวดล้อมรอบข้างมีการเปลื่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้างไหม?

โอ้โห!! (หัวเราะ) นี่คงต้องเป็นคำถามที่ต้องถามกันอีกประมาณชั่วโมงหนึ่งเลยครับ แน่นอนครับ มันเปลี่ยนแปลงมากมายก่ายกองเต็มไปหมด จริงๆ เราไม่ได้อยากเปลี่ยนอะไรเลยครับ คือชีวิตมันไม่ได้มีการวางแผนนะ คืออะไรมันเกิดขึ้นก็ทดลองนะ มันเหมือนแบบอยู่มาวันหนึ่งมันมี Blog เกิดขึ้น เราก็ไปเขียน Blog มาโดยตลอด มันมีทวิตเตอร์ก็ลองเล่นทวิตเตอร์ดู มันมี instagrame ก็เล่น คือมันก็เหมือนมนุษย์ทั่วๆ ไปเลยครับ (หัวเราะ) คือมันมี Platform อะไรขึ้นมา เราก็ใช้นะครับ ก็แค่นั้นเอง แต่พอดีว่าเราเขียนหนังสือใช่ไหมครับ? เราก็ใช้มันในการส่งตัวหนังสือมันออกไป มันไม่ได้แพลนถูกไหม? มันไม่มีทางรู้หรอกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นตอนนี้ แต่มันก็เหมือนกันว่าเราลองเล่นอะไรแบบนี้

การเขียนหนังสือ จำเป็นอยู่แค่บนหนังสืออยู่รึเปล่า?

ไม่จำเป็นแน่นอนอยู่แล้วครับ มันไม่เคยจำเป็นจะต้องอยู่บนสื่อใดสื่อหนึ่งอยู่แล้วครับ เนื้อหามันสามารถถูกส่งผ่านไปได้ด้วยทุกสื่อเลย กระทั่งว่าไม่จำเป็นจะต้องเขียนด้วยซ้ำ คุณจะวาดภาพก็ได้ คุณจะถ่ายภาพก็ได้ คุณจะพูดเอาก็ได้ คือจริงๆ แล้วมันคือ Content นะ Content แต่ละอย่างก็เหมาะกับ Platform แตกต่างกันอยู่แล้วครับ

ประสบการณ์ในการเขียนที่ผ่านมาสอนอะไรเราบ้าง?

คิดว่าการเขียนที่มันสำคัญมากกับตัวเราเองก็คือ มันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นครับ เพราะว่าการเขียนคือกิจกรรมในการที่เราได้พูดคุยกับตัวเอง แล้วโอกาสที่เราจะได้พูดคุยกับตัวเราเองมันมีน้อยมาก เอาจริงๆ แล้วมันคงเป็นกิจกรรมประหลาด ถ้าอยู่ดีๆ มานั่งถามตัวเองว่าเป็นยังไงบ้างว่ะ? คิดยังไงว่ะ? แต่ว่าการเขียนมันคือสิ่งนั้นครับ

ถ้าคนรุ่นใหม่อยากเขียนหนังสือ ต้องเริ่มจากตรงไหนก่อน?

จริงๆ ถ้าพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากเขียนหนังสือแล้ว ไม่สามารถพูดอะไรกับเขาได้เลยครับ เพราะเขารู้จากโลกใบนี้มากกว่าเรามาก เขาเข้าใจธรรมชาติของการอ่านของโลกยุคนี้มากกว่าเรามาก เราเป็นคนโบราณของโลกการเขียน ก็เชื่อว่าเขาเห็นลู่ทาง เห็น Platform เห็นพื้นที่ในการที่เขาจะสร้างตัวตน สร้างผลงานขึ้นมาจากโลกใบนั้นได้ดีกว่าเราแน่นอน ถ้าจะแนะนำอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถแนะนำอะไรเหล่านี้ได้เลย ก็จะแนะนำอย่างเดียวว่าขอให้กล้าหาญ แล้วก็เชื่อมั่นในตัวเองแล้วเขียนมันออกมาล่ะครับ

คนไทยไม่อ่านหนังสือแล้วจริงหรือเปล่า?

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ยาวเหมือนกันครับ ต้องคุยกันยาว คืออย่างแรกถ้าเรามองจากประวัติศาสตร์ มันก็ชัดเจนว่าวัฒนธรรมไทยเป็วัฒนธรรมที่เป็นมุขปาฐะ (แปลว่า การบอกต่อกันมา) คือเป็นวัฒนธรรมการบอกเล่าผ่านการใช้ปากหรือว่าการพูด การเล่นเพลงพื้นบ้าน การขับเสภา หรือการเล่นลิเก เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมที่มีการใช้เอกสารที่มีการจดบันทึกมันอาจจะไม่ได้แข็งแรงเมื่อเทียบกับวัฒนธรรมอย่างยุโรป เพราะฉะนั้นก็จึงไม่แปลกถ้าเกิดเรามีความรู้สึกว่าเราใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือน้อย แต่ว่าจริงๆ แล้วคนไทย เวลาเราพูดถึงคนไทยมันหลากหลายและกว้างใหญ่ไพศาลมาก เราไม่สามารถจะหาค่าเฉลี่ยหรือใช้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาเป็นตัวแทนในการพูดถึงคนไทยทั้งหมดได้

ทีนี้พอคุณบอกว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อย คุณกำลังพูดถึงคนไทยแบบไหนล่ะ?
มันไม่น่าจะรวบเป็นคำง่ายๆ แบบนั้นนะครับ

คิดว่าหนังสือยังมีชีวิตอยู่ไหม? หรืออาจจะตายไปในอีกกี่ปี?

หนังสือยังมีชีวิตอยู่แน่นอนครับ แล้วก็มันก็พูดได้อีกหลายมุม เพราะว่าเวลาเราพูดถึงหนังสือ เราพูดถึงหนังสือแบบไหน? คือหนังสือที่เรารู้จักกันเป็นเล่มๆ หรือเรากำลังพูดถึงว่า e-book ก็เป็นหนังสือไหม? หรือแม้กระทั่งว่าสิ่งที่กำลังเป็น Magazine พอมันมาอยู่ออนไลน์คุณยังนับเป็นหนังสืออยู่รึเปล่า? หรือเราวัดมันแค่ว่าถ้าตัวหนังสือมันไปอยู่ที่ไหน มันก็สามารถเรียกได้เหมือนกันว่าคืออุปกรณ์การอ่าน ซึ่งมันเท่ากับหนังสือ ฉะนั้นมันก็ขึ้นอยู่ที่ว่าแต่ละคนจะมองในมุมไหนครับ 

แต่ว่าถ้าตอบในมุมตัวเองเลยก็คือว่าการอ่านมันเป็นกิจวัตรประจำวันที่ไม่หลายไปจากมนุษย์หรอก เพราะว่ามันเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เราจำเป็นจะต้องทำ ในสองส่วน ส่วนแรกก็คือความต้องการรับรู้ข่าวสารแล้วข่าวสารมันก็มีลักษณะบางแบบที่จะต้องรับรู้ผ่านการอ่าน เช่น มันไม่สามารถเล่าได้ละเอียดขนาดนั้น มันไม่สามารถที่จะเล่าเรื่องหนึ่งยาวขนาดนั้นได้ สองมันอาจจะต้องการจินตนาการของผู้อ่าน สามมันอาจจะต้องการเวลา สี่มันอาจจะต้องการความเงียบ มันอาจจะต้องการสมาธิ คือมันมีธรรมชาติบางอย่างที่การอ่านยังจำเป็นอยู่ 

การศึกษาในรูปแบบสถาบันการศึกษาจะมีส่วนช่วยให้การเขียนนั้นเจริญเติบโตต่อไปรึเปล่า?

คือเวลาเราพูดถึงการเรียนรู้ การศึกษาอย่างนี้ครับ มันก็มีสองแบบ แบบแรกก็คือเราต้องเรียนรู้ในระบบการศึกษาแบบทางการก็คือแบบวุฒิการศึกษาทั้งหลาย ซึ่งมันก็ยังมีอยู่ แน่นอนว่ามนุษย์เจริญเติบโตขึ้นมาจากการสอนของครูบาอาจารย์ แล้วก็อาจจะเรียนรู้จากวิชาการเล่มหนาๆ อะไรประมาณนั้น แต่สิ่งที่มันแตกต่างไปในเด็กยุคนี้คือเขามีโอกาสได้เรียนรู้นอกโรงเรียนมากกว่าในคนรุ่นก่อนๆ นี้เยอะ ก็แน่นอนว่าความรู้หลากหลายมากขึ้น เข้าถึงความรู้ได้มากขึ้น เข้าถึงแหล่งความรู้ภาษาอื่น หรือแม้กระทั่ง range ของความรู้มันกว้างมาก คือคุณอยากจะรู้เรื่องโบราณมากๆ คุณก็ไปค้นได้ มันมีสารคดีแบบ 10-20 ปีอยู่ใน YouTube คือแน่นอน คุณเข้าถึงความรู้ได้เยอะแยะแน่นอน 

ปัญหามันก็คือว่าคุณจะจัดการความรู้ที่เต็มไปหมดและกว้างใหญ่ไพศาลขนาดนั้นได้ยังไง? ซึ่งถ้าจัดการได้คุณจะสนุกแน่นอนกับการที่คุณจะเป็นสื่อ

มองความเปลี่ยนแปลงไปของนักข่าวในปัจจุบันนี้หน่อย

คิดว่าสิ่งที่มันท้าทายวงการข่าวก็คือ ข่าวที่เป็นสถาบันมันเคยเป็นสถาบันคือสถาบันสื่อ เช่น เราจะต้องเชื่อทีวี เราจะต้องเชื่อหนังสือพิมพ์เท่านั้น มันถูกสั่นคลอนแล้ว เพราะว่ามีความรวดเร็วของเทคโนโลยีถูกไหมครับ? ทุกคนสามารถจะเป็นผู้สื่อข่าวได้คุณเกิดเหตุอะไรบางอย่างเขาสามารถหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่าย สิ่งนั้นก็เรียกว่าข่าวแล้ว อันต่อมาก็คือในเมื่อทุกคนสามารถเขียนหรือผลิตข่าวได้แล้ว เขาก็สามารถสร้างข่าวปลอมขึ้นมาได้ ทีนี้ตัวสำนักข่าวเองพอมันมาเจอทั้งข่าวที่เร็วและข่าวปลอมด้วย คุณจะรับมือกับมันยังไง?

มันนำไปสู่ข้อสุดท้าย คือพอมาอยู่ในโลกออนไลน์แล้วสิ่งที่วัดผลข่าวกลับกลายเป็นยอดวิว ยอดกดไลก์ ยอด Engagement หรือยอด comment ต่างๆ เหล่านี้ เราจะนำเสนอข่าวอย่างไร อย่างไรถึงเป็นมาตรฐานข่าวที่ดี คือคุณคิดว่าข่าวที่ดีคือข่าวที่เร็วที่สุด หรือข่าวที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงที่สุด ใช้ภาพที่หวือหวาที่สุด หรือว่าข่าวที่มันดราม่าที่สุด คุณวัดเกณฑ์จากแบบนั้นรึเปล่า? ซึ่งถ้าวัดเกณฑ์จากจากแบบนั้นมันก็ควรตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าแล้วมันใช่เกณฑ์ที่ถูกต้องรึเปล่า?

อยากฝากอะไรถึงคนที่จะลุกขึ้นมาเขียนบทความสักชุด?

ไม่มีอะไรฝากครับ ก็ทุกคนมีทางเลือกแล้วก็มีความฝัน มีชีวิตเป็นของตัวเองครับ เพียงแค่อยากให้กล้าหาญครับ เพราะว่ามันไม่มีใครที่ไม่ล้มเหลว ก็ลองทำดูแล้วก็ล้มเหลวก็เรียนรู้จากมันครับ ล้มเหลวแล้วก็ทำอีก ชีวิตมันก็คือแบบนี้ทั้งชีวิตล่ะครับ

ทุกท่านสามารถติดตามเรื่องราวของนิ้วกลมได้ผ่านทาง https://www.facebook.com/Roundfinger.BOOK/ ได้เลย และติดตามบทสัมภาษณ์ดีๆ ได้ที่ songsue.co และ www.facebook.com/songsue.co ได้ในโอกาสต่อๆ ไป