fbpx

พูดถึง “Moment” หลายคนอาจจะรู้สึกกับหลากหลายความทรงจำมากมาย ไม่ว่าจะทุกข์ สุข เศร้า และในบางครั้งใน Moment นั้นๆ ก็มักจะมีภาพยนตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะภาพยนตร์ฝีมือคนไทยที่ปัจจุบันนี้มีหลากหลายทุนหันมาทำมากยิ่งขึ้น หลายทุนได้เงินกลับไปเป็นกอบเป็นกำ แต่กับอีกหลายเจ้าก็ต้องหอบหนี้สินกลับไปเช่นกัน เช่นเดียวกับ “T Moment” ที่ต้องยุติกิจการลง แม้ไม่ได้มีหนี้สินมากมายเท่า แต่ก็จำใจต้องจากลา เมื่อโมโนประกาศถอนทุนไปเป็นที่เรียบร้อย

T Moment ก่อตั้งขึ้นหลังจาก “ไท เอนเตอร์เทนเมนต์” แยกตัวออกจาก GTH โดยได้โมโน กรุ๊ป ร่วมทุนในการดำเนินการ และมีทุนจดทะเบียนทั้งหมด 200 ล้านบาท มีผู้บริหารคือ วิสูตร พูลวรลักษณ์ เป็นหัวเรือใหญ่ในการบริหาร หลังจากนั้นด้วยความที่ T Moment ออกมาแบบเดี่ยวๆ จึงจำเป็นต้องเปิดรับสมัครพนักงานหลายตำแหน่ง กลายเป็นที่ฮือฮาไม่น้อยเลยทีเดียว

ถัดมาจากนั้น 1 ปี (2560) จึงได้ฤกษ์ฉายภาพยนตร์ลำดับที่ 1 ของ T Moment นั่นก็คือ “โอเวอร์ไซส์ ทลายพุง” ภาพยนตร์แนวถนัดของวิสูตร ด้วยการเล่าเรื่องแบบแอ็กชัน-คอมเมดี้ ประกอบกับเนื้อหาอ้างอิงจากเรื่องจริงที่ตำรวจจำเป็นต้องลดพุง จึงทำให้ได้กระแสไปประมาณหนึ่ง พ่วงด้วยการเปิดรับสมัครนักแสดงนำที่ต้องเข้ากับเรื่องด้วย ก็ยิ่งทำให้กระแสแรง แต่สุดท้ายก็จบด้วยเม็ดเงินที่ภาพยนตร์ฉายได้เพียง 15.38 ล้านบาท เป็นสิ่งที่ทำให้ T Moment ต้องทำการบ้านอย่างหนักอีกครั้ง

ต่อมาด้วยปีถัดมา (2561) T Moment เปิดตัวภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ App War แอปชนแอป ภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอเมดี้ ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการแข่งขันระหว่าง 2 สตาร์ทอัพ ซึ่งถึงแม้จะมีนักแสดงจาก BNK48 มาแสดงนำและทำให้หลายคนคาดหวังว่าจะดึงกระแสกลับมาได้บ้าง แต่สุดท้ายก็ทำรายได้อยู่เพียงแค่ 17.8 ล้านบาท

อีกเรื่องที่เปิดตัวไปด้วยความท้าทาย เพราะใช้แค่ “โลเคชั่นเดียว – นักแสดงนำคนเดียวแบกทั้งเรื่อง” และประสบความสำเร็จแบบจริงๆ นั่นก็คือ The Pool นรก 6 เมตร ที่ได้ “เคน-ธีรเดช” เป็นนักแสดงนำ ซึ่งทำให้ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวกไปไม่น้อย รวมไปถึงรายได้ที่ปิดด้วยตัวเลข 53.9 ล้านบาท

ต้องบอกว่า T Moment ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาตลอด 2 ปี 8 เดือน แต่โมเมนต์นี้ก็ต้องจบลงด้วยการที่โมโนปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ หลังจากที่โมโนประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่ 2/62 ว่าบริษัทขาดทุนอยู่ที่ 95.21 ล้านบาท และโมโนก็ตัดสินใจยุติกิจการนิตยสาร เกม ลดขนาดธุรกิจบริการเสริมบนมือถือ รวมไปถึงยุติการลงทุนใน T Moment อีกด้วย ถือเป็นการปิดฉากของ T Moment ลงนั่นเอง ซึ่งการยุบธุรกิจต่างๆ มีผลทำให้พนักงานต้องถูกเลิกจ้างในสัดส่วนร้อยละ 15 ของพนักงานทั้งหมดอีกด้วย

แต่สิ่งที่น่าสังเกตในโมโนอีกอย่างนั่นก็คือ วิสูตร พูลวรลักษณ์ยังคงถือหุ้นในโมโน เทคโนโลยีอยู่จนถึงปัจจุบัน และยังไม่มีทีท่าที่จะขายหุ้นในบริษัทที่ถืออยู่ร้อยละ 1.30 (45,000,000 หุ้น) แต่อย่างใด และเจ้าตัวก็ยังไม่สัมภาษณ์ถึงกรณีการยุติการลงทุนใน T Moment กับสื่อสำนักไหนด้วยซ้ำ

แต่อันที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าโมโนจะทิ้งวงการภาพยนตร์ไทยไปเลย เพราะปัจจุบันโมโนยังมี “โมโน ฟิล์ม” ที่เป็นทั้งผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยเริ่มธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีภาพยนตร์ดังๆ อย่างเช่น “2538 อัลเทอร์มาจีบ” และปัจจุบันก็มีแพลนที่จะผลิตภาพยนตร์ไทยทั้งเพื่อฉายในโรงภาพยนตร์และฉายผ่านแอพพลิเคชั่น MONOMAXX อีกด้วย

กลับมาที่ผลประกอบการของ Mono Technology ในไตรมาสที่ 3/62 กันบ้าง งวดนี้จริงๆ ธุรกิจเรือธงที่สุดก็ยังคงเป็นทีวีดิจิทัลอย่าง “โมโน 29” ที่มีรายได้อยู่ที่ 405.28 ล้านบาท ยังสะท้อนให้เห็นว่าโมโน 29 ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีเสมอมา แถมด้วยเรตติ้งของช่องโมโน 29 ยังครอง Top 3 ของคนไทยอีกด้วย สังเกตจากฐานผู้ชมในปี 2561 ตามที่ กสทช. รายงานก็พบว่ากลุ่มคนดูช่องโมโน 29 ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุ 40-44 ปีในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล และมีรายได้ทั้งปีอยู่ที่ 1,810 ล้านบาทในปี 2561 อีกด้วย

สำหรับภาพยนตร์แล้ว โมโนมีความพยายามเต็มที่ในการนำเสนอภาพยนตร์ที่ตนเองมีลิขสิทธิ์ถืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการนำนางนากมาฉายฉลองครบรอบ 20 ปีในการฉายภาพยนตร์ หรือการนำภาพยนตร์ไทยในอดีตที่ตนเองถือลิขสิทธิ์นำมาลงในช่องทางต่างๆ อาทิเช่น MONOMAXX หรือ Netflix เป็นต้น รวมไปถึงการจัดฉายภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในโลก หรือในชื่อ “Premium Blockbuster : Thailand Premiere” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานจริงจังของโมโนในการคัดสรรภาพยนตร์มาฉายนั่นเอง

แต่สำหรับภาพยนตร์ไทย อาจจะต้องตั้งเป็นคำถามว่าสรุปแล้วไทยอยู่ในช่วงขาลงจริงหรือ? แล้วจะทำยังไงให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอยู่รอดและสร้างชื่อเสียงต่อไปได้ อาจจะต้องพึ่งรัฐสนับสนุนแนวภาพยนตร์ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเดิมๆ รึเปล่า? ก็ต้องฝากคำถามให้กับทุกคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นคนตอบต่อไป