fbpx

เรามักได้ยินจากสื่อมวลชนบ่อยครั้งว่าเด็กหญิงเป็นเหยื่อทางเพศของคนใกล้ตัว เพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งคนที่พวกเขาไม่รู้จักมาก่อนเลย ซึ่งเป็นข่าวที่สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ที่รับรู้เป็นอย่างมาก แต่ในความเป็นจริง ไม่เฉพาะเด็กหญิงเท่านั้นที่เป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศ เด็กชายจำนวนไม่น้อยก็ตกเป็นเหยื่อเช่นเดียวกัน และไม่เป็นข่าวในสื่อมากนัก ยกเว้นเสียว่าจะเป็นกรณีที่สร้างความสะเทือนใจแก่สังคม และเด็กชายที่กลายเป็นเหยื่อทางเพศเหล่านี้ ต่างก็เก็บรอยบาดแผลเอาไว้ให้เวลาคอยเยียวยา แต่มีเด็กชายจำนวนไม่น้อยที่เมื่อพวกเขาโตขึ้น ภาพฝังใจของการตกเป็นเหยื่อยังคงหลอกหลอนพวกเขาอยู่

ซีรีส์วายเรื่อง “TharnType the Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดี” ที่ออกอากาศทางช่อง ONE31 ทุกวันจันทร์ เวลา 23.30 น. และ LINE TV เป็นเรื่องราวของ “ไทป์” เด็กหนุ่มจากปักษ์ใต้ที่รังเกียจเพศที่สาม และมักฝันร้ายเป็นประจำ ใน EP.4 ซึ่งออกอากาศไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ไทป์เล่าสาเหตุที่เกลียดเพศที่สามให้เพื่อนร่วมห้องที่เป็นเกย์ที่ชื่อ “ธาร” ฟัง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจและสะท้อนถึงปัญหาของเด็กชายที่ตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศ มันเป็นภัยเงียบที่มักไม่มีใครพูดถึงมากนัก และทำราวกับว่ามันไม่มีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้น

ไทป์เล่าว่าเมื่อตอนอายุ 11 ปี เขาถูกคนงานก่อสร้างที่อยู่ใกล้ ๆ บ้านชวนไปสนามฟุตบอล ด้วยความเป็นเด็กและชอบการเล่นฟุตบอล ไทป์จึงตามผู้ชายคนนั้นไป สุดท้ายเด็กชายไทป์ถูกชายคนดังกล่าวทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ โดนจับมัดกับเก้าอี้ และโดนบังคับให้ใช้ปากสำเร็จความใคร่ ภาพเหตุการณ์วันนั้นกลายเป็นบาดแผลทางจิตใจ (Trauma) ที่ส่งผลต่อเขาจนกระทั่งเขาโตขึ้น ไทป์เกลียดกลัวกลุ่ม LGBT (Homophobia) มองว่าเป็นเพศที่ไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งมาจากภาพเหมารวม (Stereotype) ว่าทุกคนต้องเป็นแบบชายคนที่ทำร้ายเขา แถมยังส่งผลต่อบุคลิกภาพบางอย่างของไทป์เมื่อต้องติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนที่หลากหลายในสังคมที่เขาไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่ดูง่าย ๆ สำหรับคนอื่นได้

แม้จะเป็นเรื่องราวในซีรีส์วายที่ชวนแฟนตาซี แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจริงในสังคมเรา แต่มีพื้นที่น้อยมากที่จะสื่อสารกัน ทั้งนี้อาจมาจากสาเหตุหลายประการที่ทำให้สังคมเห็นว่า มันเป็นปัญหาที่ไม่น่าใส่ใจหรือไม่สำคัญ หรือพาลเข้าใจว่าปัญหานี้ไม่อ่อนไหวมากนักเมื่อเทียบกับการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิง

ภาพจาก kapook.com

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับบุคคลรอบข้างที่สนิทสนมกัน ผู้เขียนแทบไม่เชื่อว่าวัยเด็กของพวกเขาบางคนโดนล่วงละเมิดทางเพศในหลากหลายรูปแบบและแตกต่างกันตามแต่ละสถานการณ์ที่แต่ละคนเติบโตมา และต่างก็เก็บงำความทุกข์ใจนี้ไว้กับตัวเองมาตลอดชีวิตของพวกเขา โดยที่ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้อง แม้บางคนอาจจะคลี่คลายไปตามระยะเวลาที่พวกเขาเติบโต แต่มันก็เป็นบาดแผลที่จะถูกเก็บไว้ในส่วนลึกที่สุดเท่าที่พวกเขาจะเก็บมันเอาไว้ได้

เหยื่อคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า วัยเด็กเขาต้องนอนกับลูกพี่ลูกน้องที่อายุห่างกว่าเขา 9-10 ปี แน่นอนว่าคนหนึ่งยังเป็นเด็กที่ไม่ประสีประสา อีกคนก็อายุเกือบ 20 ปีแล้ว คืนหนึ่งระหว่างที่กำลังหลับอยู่นั้น เขารู้สึกว่ามือเขาวางอยู่บนอวัยวะเพศของลูกพี่ลูกน้องคนนั้น เขาตกใจมาก จึงรีบเอามือออก แต่มือของเขาก็ถูกลูกพี่ลูกน้องคนดังกล่าวจับไปวางไว้ที่อวัยวะเพศของตัวเองอีกครั้ง จนเขาสำเร็จความใคร่ เป็นแบบนี้หลายครั้ง จนเหยื่อเด็กรายนี้รู้สึกอึดอัดใจ และเคยเอาเรื่องนี้ไปบอกกับผู้ใหญ่ว่าไม่อยากนอนตรงนี้แล้ว แต่ก็ไม่กล้าที่จะบอกว่ามาจากสาเหตุใด สุดท้ายก็ต้องนอนที่เดิม แต่หลังจากนั้นไม่นาน ลูกพี่ลูกน้องคนดังกล่าวก็ย้ายออกไป

เหยื่ออีกรายเล่าให้ฟังว่า มีเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น และรู้จักกันเป็นอย่างดี ชวนให้ไปเล่นในที่ลับตาคน สุดท้ายเขาโดนบังคับให้ใช้ปากสำเร็จความใคร่ให้แก่เพื่อนบ้านวัยรุ่นคนดังกล่าว เขาบอกว่า ที่ทำไปก็เพราะความเดียงสา ไม่รู้ว่ามันคืออะไร รู้สึกอย่างเดียวว่ามันน่าขยะแขยง เหยื่ออีกคนบอกว่า เขาอายุ 12-13 ปี และค่อนข้างเติบโตช้ากว่าเด็กชายในวัยเดียวกัน เขาโดนครูผู้ชายรายหนึ่งชวนให้ไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนในที่ลับตาคน แต่สุดท้ายครูคนนั้นกลับใช้ปากขออมอวัยวะเพศเขา จนสำเร็จความใคร่เป็นครั้งแรก

อีกรายหนึ่งโดนล่วงละเมิดทางเพศขณะที่บวชเป็นสามเณรภาคฤดูร้อน เขาเล่าเรื่องราวในอดีตเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนให้ฟังว่า โดนพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งล่วงละเมิดทางเพศ เขาตกใจและกลัวกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาก ถึงขนาดหนีออกจากวัด และเดินกลับบ้านตอนเวลากลางคืนคนเดียว แม้ว่าจะกลัวแต่ก็ต้องหนีเพราะไม่อยากอยู่ในสภาพเช่นนี้ วัดกับบ้านห่างกัน 30 กว่ากิโลเมตร เดินไปร้องไห้ไป มันเลวร้ายแค่ไหนสำหรับเด็กคนหนึ่งที่ต้องมาเผชิญชะตากรรมเช่นนี้

ท่านลองคิดดูว่า เมื่อเด็กชายคนหนึ่งต้องกลายเป็นเหยี่อการล่วงละเมิดทางเพศ เด็กเหล่านี้เขาสับสน เจ็บปวด และสูญเสียความศรัทธากับพี่น้อง ญาติ และคนที่เขามอบความไว้วางใจให้มากเพียงใด แต่ที่น่าเศร้าใจไปกว่า คือ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถพูดคุยกับผู้ใดได้เลย ที่เป็นเช่นนี้ก็อาจมาจากความกลัว ความไม่รู้ว่าตนเองโดนล่วงละเมิดทางเพศ และความกระอักกระอ่วนใจของเด็กที่จะเล่าเรื่องที่พวกเขาคิดว่าน่าอับอายให้แก่ผู้อื่นฟัง แม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพ่อแม่ของพวกเขาเองก็ตาม

ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กชายนั้น เป็นปัญหาที่ถูกเก็บซ่อนเอาไว้ โดยไม่ได้รับความสนใจ ทั้งในเชิงป้องกัน แก้ปัญหา และเยียวยาเหยื่อที่ประสบปัญหาดังกล่าวมากนัก หากจะมองในเชิงการป้องกัน ผู้เขียนมองว่า ครอบครัวและโรงเรียนมีบทบาทสำคัญมากในการให้ความรู้ที่สอดคล้องกับช่วงวัยของเด็ก เพื่อให้พวกเขารู้ว่า การกระทำแบบใดเป็นการล่วงละเมิดร่างกายเด็ก และจะทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งการสื่อสารเรื่องนี้กับเด็กเป็นสิ่งสำคัญมาก

ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญมาก โดยจะต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมในครอบครัวให้พูดคุยกันเรื่องเพศได้อย่างไม่เคอะเขิน ทำเรื่องเพศในครอบครัวไม่ให้เป็นเรื่องน่าอาย แต่สามารถสื่อสารกันได้ เป็นโจทย์ที่พ่อแม่ต้องเริ่มสร้างบรรยากาศให้เกิดขึ้น อาจเริ่มจากประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศของเด็กจนถึงการพูดคุยเกี่ยวกับลักษณะหรือการกระทำที่เป็นการละเมิดร่างกายเด็กจากบุคคลอื่นที่เด็ก ๆ จะต้องรู้จักวิธีการปกป้องตนเอง และการเอาตัวเองออกจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งพ่อแม่สามารถพูดคุยกับลูกของตัวเองได้ ปัญหาที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับเด็กชาย (และเด็กหญิง) ทุกคน และลูกชายท่านอาจจะตกเป็นเหยื่อได้เหมือนกัน

ในซีรีส์เรื่องนี้ ยังพูดถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วย เพราะหลังจากพ่อของไทป์นำเรื่องนี้ไปแจ้งความกับตำรวจ จากนั้นเรื่องราวของไทป์ก็ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน บุคคลรอบข้างไทป์นั้นรู้หมดว่าเด็กที่ตกเป็นข่าวโดนล่วงละเมิดทางเพศนั้น คือ ไทป์ จนกลายเป็นความฝังใจว่าไม่อยากเอาเรื่องเอาราวกับผู้ที่กระทำต่อตนเองอีก เพราะกลัวจะเป็นข่าวเหมือนที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก

เรื่องราวนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นบ่อยครั้งเมื่อเด็กตกเป็นข่าว นอกจากเด็กจะเป็นเหยื่อของคนใจร้ายแล้ว เมื่อนำเรื่องเลวร้ายที่พวกเขาประสบมาไปแจ้งความและกลายเป็นข่าวในพื้นที่สื่อมวลชน เด็กเหล่านั้นก็กลายเป็นเหยื่อจากการกระทำของสื่อมวลชนอีกทอดหนึ่ง เมื่อเรื่องนี้ถูกรับรู้มากขึ้น เด็กก็จะได้รับความสนใจจากคนในชุมชน สายตาและคำพูดที่แสดงความห่วงใยกลายเป็นการตอกย้ำถึงความเจ็บปวดที่เด็กได้รับ

ในความเป็นจริงนั้น นอกจากจะมีสื่อมวลชนแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรเอกชนบางส่วนกลับทำตัวไม่รู้กฎหมายเสียเองก็มี บางกรณีเราจะเห็นเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านปัญหาสังคมเป็นผู้เชื้อเชิญสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวเด็กที่เป็นเหยื่อความรุนแรงถึงในสถานที่เกิดเหตุเสียเอง มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจไม่แพ้เรื่องที่เด็กชายตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศเลย ทั้งที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 9 หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 มาตรา 39 ต่างก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่ว่าจะเป็นภาพ เรื่องราว หรือข้อมูลใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ส่วนสื่อมวลชนที่ละเมิดสิทธิเด็กและกฎหมายก็ไม่เคยถูกผู้ใดลงโทษตามกฎหมายเลยแม้แต่รายเดียว

ประเด็นสุดท้ายที่น่าจะหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง คือ ปัจจัยที่ทำให้การล่วงละเมิดทางเพศเด็กชายไม่ได้รับความสนใจจากครอบครัว โรงเรียน หน่วยงานรัฐ และสาธารณชนในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปกป้องเด็กชายจากการละเมิดทางเพศ มันมีปัจจัยเกี่ยวกับ “เพศสภาพ” ของความเป็นชายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยสังคมประกอบสร้างความเป็นชายว่าต้องเข้มแข็ง เป็นสิ่งที่ปลูกฝังกันมาตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ด้วยมายาคติเช่นนี้จึงทำให้การล่วงละเมิดทางเพศเด็กชายกลายเป็นปัญหาที่ถูกมองข้ามจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน และโรงเรียน เพราะต่างก็ไม่คิดว่าเด็กชายจะเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ ผู้ใหญ่หลายคนแทบจะคิดภาพเหล่านี้ไม่ออกเลยแตกต่างจากภาพเหยื่อที่เป็นเด็กหญิง สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่นั้นลืมไปว่าพวกเขายังเป็น “เด็ก” แม้จะเป็นเด็กชายก็เป็นกลุ่มเปราะบางที่อาจจะถูกล่อลวงจากคนใจร้ายได้เช่นกัน ปัญหาการละเมิดทางเพศเด็กชาย มันเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม


บทความนี้เขียนโดย ผศ.ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา
อาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์