fbpx

ครั้งก่อนหน้านี้ เราเคยเขียนบทความเกี่ยวกับ “คนไทยไม่อ่านหนังสือแล้วจริงเหรอ?” โดยนำผลการสำรวจจาก 5 จังหวัดมาวิเคราะห์เกี่ยวกับการเลือกซื้อและการอ่านของคนไทยใน 5 พื้นที่กัน คราวนี้เลยขอพามามองมุมของผู้จัดจำหน่ายหนังสือกันบ้างว่าเขาฝากความหวังไว้ที่ใครบ้าง? โดยครั้งนี้ก็นำผลการสำรวจจาก PUBAT หรือสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยมาวิเคราะห์กันอีกเช่นเคย ติดตามจากบทความนี้กันได้เลย

ก่อนอื่นต้องเท้าความถึงอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ก่อนว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมารายได้รวมค่อนข้างถดถอยมากเลยทีเดียว โดยช่วงที่ลดลงมากที่สุดคือปี 2560 ที่ตลาดธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์มีรายได้ลดลงมากถึงร้อยละ 12 สะท้อนให้เห็นถึงอุตสาหกรรมที่คนเลือกซื้อกันน้อยลงแล้ว สอดคล้องกับจำนวนหนังสือที่ออกจำหน่ายใหม่ในช่วงปี 2560 ที่มีจำนวนน้อยลง และมีสำนักพิมพ์ที่ไม่ได้วางจำหน่ายหนังสือเล่มใหม่มากถึงร้อยละ 21 เลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่าภาวะตลาดสื่อสิ่งพิมพ์กำลังอยู่ในช่วงที่ขาลงเรื่อยๆ แต่ทว่าจำนวนเล่มที่แต่ละคนอ่านหนังสือนั้นกลับมากขึ้น เมื่อผลสำรวจจากงานสัปดาห์หนังสือระบุไว้ว่าคนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยเดือนละ 3 เล่ม โดยช่องทางหลักที่คนนิยมซื้อหนังสือมากที่สุดก็ยังคงเป็นร้านหนังสือมากถึงร้อยละ 47 ส่วนอีกร้อยละ 35 เน้นการมาซื้อที่งานหนังสือซึ่งจัดปีละ 2 ครั้ง ช่วงต้นปีและปลายปี นอกจากนั้นร้อยละ 15 ยังสั่งหนังสือเป็นเล่มทางออนไลน์ และมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่อ่านบนอี-บุ๊ค

จากตัวเลขที่แสดงให้เห็นต่างๆ แสดงถึงสถานการณ์ของหนังสือของไทยที่ยังไม่มีวันตายอย่างแน่นอน เนื่องจากฐานของคนส่วนใหญ่ยังนิยมการอ่านหนังสือในรูปแบบเล่มมากกว่าอ่านผ่านทางออนไลน์ รวมไปถึงคนส่วนใหญ่ยังนิยมไปเดินตามร้านหนังสือมากเป็นส่วนใหญ่ อาจจะด้วยเนื่องมาจากไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่มักนิยมเดินห้าง และหนึ่งในกิจวัตรนั่นก็คือการเดินอ่านหนังสือนั่นเอง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากๆ เนื่องมาจากศูนย์การค้ากำลังจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่การเจริญเติบโตของร้านหนังสือในศูนย์การค้ากลับน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่สำนักพิมพ์ก็ยังต้องพึ่งการขายหนังสือผ่านทางหน้าร้านอยู่ดี

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ นอกจากการขายของเดิมที่มีอยู่แล้ว สำนักพิมพ์ต้องรู้จักการ Disrupt ตัวเอง ด้วยการฉีกกรอบจากสิ่งที่มีอยู่และสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่ได้จำกัดแค่บนแพลตฟอร์มเดียวเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ตนเองเป็นที่รู้จักได้ง่ายแล้ว ยังสามารถพัฒนาและต่อยอดไปยังสิ่งที่ตนเองมีอยู่ นั่นก็คือ “ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม” และจะได้ไม่จำเป็นต้องพึ่งร้านหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว