fbpx

สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อที่อยู่กับมนุษยชาติมาเนิ่นนาน ถึงแม้การมาถึงของเทคโนโลยีต่างๆจะทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลมาถึงสื่อประเภทนี้อยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่การมาถึงของโทรทัศน์ จนมาถึงยุคของเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังไม่ได้เสื่อมความนิยมจนเกิดปรากฎการณ์ล้มหายตายจากไป จนกระทั่งการมาถึงของสมาร์ทโฟน และการเกิดขึ้นของคนในเจนเนอเรชั่นใหม่ ปรากฎการณ์ล้มหายตายจากที่หลายฝ่ายคาดเดาไว้ ก็เกิดขึ้นจริงให้เราเห็นตรงหน้า

ถึงแม้ในปัจจุบัน สื่อสิ่งพิมพ์จะยังไม่ได้หายไปจนไม่เหลือให้เห็นเลย แต่การปิดตัวลงของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ อันเนื่องมาจากประสบภาวะขาดทุน ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อคนในอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านวิธีการเสพสื่อของคนในประเทศอีกด้วย

บทความนี้จะพาไปสำรวจวงการสื่อสิ่งพิมพ์ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อทบทวนปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น และวิเคราะห์อนาคตอันใกล้ในปีถัดไปนับจากนี้

หนังสือพิมพ์ , นิตยสาร : ขาดทุนจนต้องปิดตัว

สื่อสิ่งพิมพ์ในหลายๆรูปแบบ ทยอยปิดตัวจนเป็นปรากฏการณ์ในปี 2560 – 2561 กันเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่นิตยสารชื่อดังอย่างขวัญเรือน , Starpics หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างเชียงใหม่นิวส์ ที่ย้ายการนำเสนอข้อมูลไปเป็นออนไลน์เต็มตัว หรือนิตยสารในเครือไทยรัฐอย่าง สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ รวมถึงนิยสารชื่อดังหัวต่างๆที่พากันปิดตัวตามๆกันไป

 ตลอดทั้งปีที่ผ่านมานี้ ก็มีการปิดตัวลงของสื่อสิ่งพิมพ์หลากหลายหัวเช่นกัน ถึงแม้จะไม่มากเท่าปีก่อนหน้า แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ไล่ตั้งแต่การปิดตัวพร้อมกันทั้งสองหัวของ บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) อย่าง โพสต์ทูเดย์ และ Monday2Friday (M2F) [1]

จากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์พบว่า ในปี 2558 มีรายได้รวม 2,211.59 ล้านบาท ขาดทุน 251.76 ล้านบาท ในปี 2559 รายได้รวม 1,865.15 ล้านบาท ขาดทุน 215.33 ล้านบาท ปี 2560 รายได้รวม 1,367.07 ล้านบาท ขาดทุน 358.83 ล้านบาท และปี 2561 รายได้รวม 1,230.0 ล้านบาท ขาดทุน 167.7 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ยังดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ต่อไป [2]

สื่อสิ่งพิมพ์อีกหัวที่ปิดไป คือ The Nation หนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษที่ขาดทุนต่อเนื่องกันมาถึง 10 ปี จากปัญหาการขายหนังสือราคาต่ำกว่าต้นทุนแบบ B2B เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปวางในที่ต่างๆ เช่น สายการบิน โรงแรม โรงพยาบาล ในขณะที่การขายปลีกทั่วไปกลับไม่ได้กำไรมาทดแทนในส่วนนี้ โดยจะย้ายไปนำเสนอในช่องทางโลกออนไลน์แทน พร้อมทั้งเพิ่มข่าวภาษาจีนเข้ามาด้วย [3]

นิตยสาร Science Illustrated , Student Weekly และสุดสัปดาห์ ก็ไม่สามารถต้านทานการเปลี่ยนผ่าน และภาวะขาดทุนได้เช่นกัน [1] [4]  โดยทีมงาน Student Weekly ยังคงไปต่อในโลกออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอย่างเว็บไซต์ เช่นเดียวกับสุดสัปดาห์ที่ใช้แพลตฟอร์มเว็บไซต์เช่นเดียวกัน เป็นการปิดตำนานนิตยสารแบบกระดาษที่เป็นพื้นที่แห่งความรู้ และการแบ่งปันไปอย่างน่าเสียดาย

Credit : PUBAT

หนังสือเล่ม : ยุคขาขึ้นกำลังมา

            ถึงแม้นิตยสารและหนังสือพิมพ์จะทยอยปิดตัวลงไปหลายหัว กลับกันแล้วในฝั่งของหนังสือให้กำลังใจ หนังสือพ็อคเก็ต บุ๊คส์ หนังสือนิยาย หรือหนังสือที่สามารถอ่านจบได้ในเวลาไม่นาน กลับได้รับความนิยม และสร้างรายได้ให้แก่สำนักพิมพ์อย่างต่อเนื่อง หากเราเดินเข้าไปในร้านหนังสือ หนังสือประเภทนี้เป็นหนังสือที่มีการเปลี่ยนแปลงเล่มใหม่ๆออกมาตลอด บางเล่มมีการพิมพ์ซ้ำหลายต่อหลายครั้ง

            ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ [5]  แสดงให้เห็นว่า ในปี พ.ศ. 2561 (ตลอดทั้งปี) บริษัท บันลือ บุ๊คส์ จำกัด มีรายได้รวม 26 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่มี 17 ล้านบาท รวมถึงเมื่อหาผลกำไรสุทธิแล้ว พบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 15 ในขณะที่ บริษัท ซีเอ็ด ยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) พบว่ารายได้รวมไม่ได้ต่างจากปีก่อนหน้ามากนัก แต่กำไรสุทธิไม่ติดลบแล้ว

            บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 13 แต่เป็นการลดลงที่ตัวเลขจริงอยู่ที่ 169 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าบริษัทยังคงทำกำไรมหาศาลอยู่ ในขณะที่ฟากฝั่งนิยายอย่าง บริษัท แจ่มใส พับลิชชิ่ง จำกัด มีร้อยละของกำไรสุทธิลดลงเช่นกัน แต่ยังได้ตัวเลขอยู่ที่ 38 ล้านบาท

            ณ วันนี้ (10 ธันวาคม 2562) ข้อมูลของปี 2562 ยังไม่มีให้สืบค้นได้ แต่จากบรรยากาศตลอดทั้งปี และตัวเลขผลประกอบการในปีก่อนหน้าสองปีที่แสดงให้เห็น ทำให้เราพอจะบอกได้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบของหนังสือเล่ม ยังสามารถยืนอยู่ได้ในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ทุกวันนี้

งานหนังสือเปลี่ยนที่จัด

            มีเสียงสะท้อนจากผู้อ่านจำนวนวนมาก เกี่ยวกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 ที่ผ่านมา จากการย้ายสถานที่จัดงาน จากเดิมที่จัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ไปเป็นที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี โดยความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือเรื่องของการเดินทางไปนั้นมีความยากลำบากกว่าเดิม ถึงแม้จะมีการประชาสัมพันธ์แนะนำเส้นทาง และการให้บริการของรถสาธารณะก็ตาม รวมถึงการหลงทิศภายในงาน และโซนอาหารที่ไม่เพียงพออีกด้วย [6]

            ถึงแม้จะความเห็นไม่พอใจอยู่มาก แต่การจัดงานครั้งนี้ก็ได้รับคำชมในส่วนของการจัดให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้ไม่ต้องขึ้นหรือลงบันไดหลายชั้นๆ ซึ่งสะดวกกับผู้สูงอายุ มีห้องน้ำที่สะอาด และสถานที่โดยรวมที่ทันสมัย

            จากเสียงสะท้อนหลายๆอย่างของผู้อ่าน ทำให้คาดว่าในการจัดงานปีต่อๆไป (ซึ่งก็น่าจะยังจัดอยู่ทีอิมแพคฯ ต่อ) คงได้มีการพัฒนาและปรับปรุงในส่วนตรงนี้มากขึ้น หากเราได้เห็นภาพของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในต้นปี 2563 ที่จะมาถึงแล้ว เราคงสามารถวิเคราะห์แนวโน้ม และความเป็นไปได้ต่างๆได้มากขึ้นครับ

Credit : PUBAT

ปรับตัวตามยุคสมัย

            การปิดตัวของหนังสือพิมพ์ The Nation และตัดสินใจคงหนังสือพิมพ์หัว คม ชัด ลึก เอาไว้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่น้อยกว่า ทำให้สามารถปรับตัวได้ และดำเนินต่อไปได้ในธุรกิจของสื่อสิ่งพิมพ์ ในขณะที่ส่ง The Nation เข้าสู่ช่องทางออนไลน์ [3] เช่นเดียวกับ Student Weekly , สุดสัปดาห์ และเชียงใหม่นิวส์ที่ได้กล่าวไป จะเห็นว่าการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เป็นไปเพื่อให้ธุรกิจ และแบรนด์ยังคงดำเนินต่อไปได้ เพียงแต่นำเสนอในรูปแบบใหม่เท่านั้น

            จากเดิมที่โลกออนไลน์ เป็นสิ่งใหม่ และอาจจะถือเป็นศัตรูของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในอดีตที่ผ่านมา หากเมื่อมองในยุคปัจจุบันแล้ว กลายเป็นว่าธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์เอง ก็ปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ด้วยแนวคิดที่ไม่ยึดิดช่องทางการนำเสนอ ไปมากกว่าเนื้อหาที่ยังคงเอกลักษณ์เอาไว้นั่นเอง

สื่อสิ่งพิมพ์ในปี’63

            สำหรับธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในปี 2563 ที่กำลังใกล้เข้ามานี้ ผู้เขียนคาดว่าจะยังคงเกิดปรากฏการณ์ปิดตัวของนิตยสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์บางหัวเกิดขึ้น แต่ในจำนวนที่ปิดตัวลงไปนั้น หลายหัวจะเป็นการปรับตัวเข้าไปสู่ช่องทางการนำเสนอใหม่ๆ มากกว่าหัวที่ปิดตัวและเลิกกิจการไป

            ในขณะที่หนังสือประเภทอื่นๆ ที่เป็นเล่มนั้น น่าจะยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยอาจจะปรับตัวน้อยกว่าหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร เนื่องจากลักษณะของเนื้อหาแตกต่างกัน ในส่วนของนิตยสารและหนังสือพิมพ์นั้น จุดขายสำคัญคือเนื้อหาที่สดใหม่ และแบรนด์ที่แข็งแรง ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์แบบเล่มอื่นๆนั้น อาจจะยังอยู่ได้ด้วยชื่อชั้นของนักเขียน การลดต้นทุนกระดาษ การขายหนังสือพ่วงกับอีเวนต์พิเศษต่างๆ หรือการขายเรื่องราวแบบแฟรนไชส์

            หนังสือเล่มหนึ่งที่ตีพิมพ์ออกมาอาจจะไม่สามารถทำกำไรมหาศาลได้ หรืออาจจะขาดทุน แต่สำนักพิมพ์ยังมีหนังสือเล่มอื่นๆอีกหลายเล่มที่จะมาช่วยลดภาระความเสี่ยงในตรงนี้ได้

            ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์จึงยังคงอยู่ต่อไปในสังคมยุคปัจจุบัน แต่คงไม่สามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงได้หากไม่มีการปรับตัวใดๆ หรือไม่มีแบรนด์ที่แข็งแรงมากเพียงพอ ในฐานะนักอ่านคนหนึ่งที่ยังคงหลงมนต์เสน่ห์ของสื่อสิ่งพิมพ์แบบกระดาษอยู่ ผู้เขียนขอเป็นอีกกำลังใจให้กับสำนักพิมพ์ ผู้ผลิตผลงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆท่าน ให้มีแรงกาย และแรงใจในการสร้างสรรค์หนังสือดีๆต่อไปเรื่อยๆนะครับ สำหรับบทความนี้คงจะจบลงแต่เพียงเท่านี้ พบกันใหม่ปลายปี 2563 ครับ


อ้างอิง
[1] THE STANDARD TEAM . 2562 . CLEO – Science Illustrated ประกาศลาแผง สะท้อนภาวะถดถอยสื่อสิ่งพิมพ์  . สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2562 จาก https://thestandard.co/cleo-science-illustrated/
[2] MarketingOOPS! . 2562 . ค่ายใหญ่ก็ไม่ไหว ‘Posttoday-M2F’ ประกาศปิดตัว มี.ค.นี้ คัดทีมที่เหลือลุยดิจิทัล . สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2562 จาก https://www.marketingoops.com/news/biz-news/posttoday-m2f-close/
[3] Marketeer . 2562 . แถลงการณ์จากปาก CEO ทำไม The Nation ถึงปิดตัว แทนคมชัดลึก และก้าวต่อไปของหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษ. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2562 จาก https://marketeeronline.co/archives/106651
[4] THE STANDARD TEAM . 2562 . ปิดฉาก 36 ปี ‘สุดสัปดาห์’ โบกมือลากระดาษ มุ่งสู่ออนไลน์เต็มตัว . สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562
[5] https://www.dbd.go.th/
[6] Tanapon Noich . 2562 . พาเดินชม “มหกรรมหนังสือระดับชาติ” ครั้งแรกที่จัดเมืองทอง (พร้อมข้อแนะนำมือใหม่หัดเดิน) . สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 จาก https://www.beartai.com/lifestyle/365259