fbpx

ทุกวันนี้เราต้องยอมรับข้อหนึ่งว่าวงการสื่อสิ่งพิมพ์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลามากๆ ทั้งปัจจัยของเทคโนโลยีที่คอยมา Disrupt วงการสื่อสิ่งพิมพ์เอง ในขณะเดียวกันก็ทำให้นักเขียนมีโอกาสได้ใกล้ชิดนักอ่านมากขึ้น แล้วนักเขียนในยุคปัจจุบัน รวมไปถึงสำนักพิมพ์ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรล่ะ? วันนี้ส่องสื่อขอมาไขความกระจ่างผ่านแขกรับเชิญที่ร่วมเสวนาหลังจากที่ส่องสื่อจัดงาน Workshop “จับปากกา เขียนนิยายไปกับส่องสื่อ” จบไป นั่นก็คือ “นายแพทย์ อุเทน บุญอระณะ” หรือที่ทุกคนรู้จักในนามปากกา “รังสิมันต์” หรือ “หมอตุ๊ด” นั่นเอง ปัจจุบันนอกจากเป็นนักเขียนแล้วยังเป็นอายุรแพทย์โรคสมองอีกด้วย ผลงานที่ทุกคนน่าจะรู้จักนั่นก็คือ “Wake Up ชะนี” ซึ่งเขียนมาถึงเล่มที่ 2 แล้ว และกำลังจะถูกสร้างเป็นซีรีส์เป็นซีซั่นที่ 2 แล้วเช่นกัน และนิยายวาย (ชายรักชาย) อีกเรื่องอย่าง “รักนาย My Ride” ที่ก็กำลังจะถูกสร้างเป็นซีรีส์เช่นกัน วันนี้เราจะมารู้ถึงมุมมองของนักเขียนในการ Disrupt ตัวเอง ไปจนถึงตลาดนิยายไทยว่าจะไปต่อในทิศทางไหนกัน?

แต่ก่อนอื่นเรามาดูสถิติการซื้อหนังสือของคนไทยในงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 47 กันก่อน ปัจจุบันทางสามคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยสำรวจ พบว่ายอดขายหนังสือตลอดทั้งงานในปี 2562 ลดลงเล็กน้อย ในขณะที่คนเข้าชมงานมีมากขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน โดยทั้งหมดนี้สัมพันธ์กันกับสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ประกอบกับจำนวนหนังสือที่ออกในสัปดาห์หนังสือมีจำนวนที่น้อยลงเช่นกัน

แล้วทีนี้ในอนาคตสำนักพิมพ์ นักเขียน และคนอ่านจะไปในทิศทางไหนล่ะ? เรามาคุยกับนักเขียนผู้มีประสบการณ์อย่าง “หมอตุ๊ด” กันดีกว่าครับ

ผลงานที่ผ่านมา

ใช้นามปากกา “หมอตุ๊ด” เขียนเพจและเขียนบทความ ก็จะมีผลงานที่เป็น Pocket Book ก็คือ Wake Up ชะนี เล่ม 1 และเล่ม 2 ที่จะออกเร็วๆ นี้ แล้วก็ได้ผลิตเป็นซีรีส์ด้วย แล้วก็ใช้นามปากกาชื่อ “รังสิมันต์” เขียนนิยายเรื่อง “รักนาย My Ride” ที่กำลังจะกลายเป็นละครเร็วๆ นี้เช่นกัน

เขียนนิยายมากี่ปีแล้ว?

ถ้าเป็นเขียนนิยาย เขียนมาได้ 3 ปีแล้ว แต่ถ้าเริ่มต้นเขียนหนังสือจริงๆ ก็คือ 5 ปี

ที่ผ่านมาในฐานะที่เราเป็นนักเขียน เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์?

จริงๆ แล้วเราเกิดมาหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงนะ ไม่ได้เกิดมานานมากนัก เราเป็นคนที่ดังขึ้นมาได้จากกระแส Disrupt นี่แหละ คนเริ่มมาอ่านบทความยาวๆ บน Facebook มากขึ้น แพทก็เลยได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีคนรู้จักมากขึ้นก็เพราะเราเข้าใจธรรมชาติของการอ่าน คือหลายคนคงคิดว่าเราจะต้องย้ายไปสู่ออนไลน์ถูกไหม? จากหนังสือเป็นเล่มต้องย้ายไปสู่ออนไลน์ Magazine ทำยังไงรู้ไหม? เขาก็ย้ายคอนเทนต์จากในหน้าหนังสือ ย้ายมาสู่ออนไลน์ คำถามคือหน้าจอเธอ เธอรู้ไหมว่ามันกว้างเท่าไหร่? ใส่ตัวหนังสือได้เท่าไหร่? ความยาวของมันจุได้กี่บรรทัด? แล้วกี่บรรทัดถึงจะอ่านได้รู้เรื่อง? เมื่อมันมาโผล่บน Facebook มันแสดงผลกี่ย่อหน้า? ไม่มีใครรู้

เราไม่ได้เขียนเก่ง แต่เรารู้ข้อมูลพวกนี้ ก็เลยเอาสิ่งที่น่าสนใจไว้ใน 3 บรรทัดแรกก่อน ทำให้คนรู้สึกว่าอยากอ่าน พอคนอยากอ่านมากขึ้น อ่านเยอะมากขึ้น ก็เลยมีคนรู้จักเรามากขึ้นด้วย แล้วก็เลยถือกำเนิดในวงการนักเขียน จริงๆ แพทถือกำเนิดผ่านกระแสการ Disrupt นี่แหละ เพราะเข้าใจตัวของระบบเทคโนโลยีมากกว่าคนอื่น ไม่ได้เก่งไปมากกว่าคนอื่นเลย

ปรับเปลี่ยนตัวเองยังไงให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง?

ปรับในแง่ของการทำงาน คือหนังสือสมัยก่อน พอเราอยากรู้เราก็จะซื้ออ่าน แต่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องเอากระแสเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องนะ เอากระแสคนปัจจุบันก่อน กระแสสังคม กระแส Disruption ของสังคมนี่แหละ คนจะอ่านหนังสือก็ต่อเมื่อคนรักหนังสือเล่มนั้นไปแล้ว เขาจะซื้อหนังสือเพราะเขารักหนังสือเล่มนั้นไปแล้วด้วย ดังนั้นปัจจุบันนี้เราต้องให้คนอ่านได้อ่าน ได้รู้จักหนังสือเราก่อน วิธีการที่จะทำให้คนอ่านรู้จักเรามากขึ้นก็เป็นเทคโนโลยีอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็น Facebook เป็นเว็บอ่านนิยายออนไลน์ การใช้ Social Network ต่างๆ Twitter มีผลหมดเลย

นักเขียนสมัยก่อนจะใช้วิธีการเขียนไป อย่างอื่นเป็นของคนอื่นไปแทน สำนักพิมพ์เองก็ไม่สามารถทำ Marketing เองได้ถ้าไม่มีนักเขียนช่วย และช่องทางการทำ Marketing เดี๋ยวนี้หนี Digital Marketing ไม่ได้เลย ถ้าสมมุติว่าจับ Digital Marketing ไม่เป็น ให้รู้ไว้เลยว่าคุณกำลังกินบุญเก่าไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งคนที่ตามอ่านนิยายของคุณอาจจะถึงกาลอวสานแก่ตายไปเรียบร้อยแล้ว คุณจะขายนิยายต่อไปไม่ได้เพราะคุณทำ Digital Marketing ไม่เป็น ถามว่าสำคัญไหม? สำคัญมาก และกลายเป็น Mainstream หลักเลยในปัจจุบันของนิยาย

มองยังไงกับแพลตฟอร์มอ่านนิยายออนไลน์บ้าง?

คือแต่ละเว็บไซต์ก็จะมีข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกัน มีผู้ท้าชิงในตลาดค่อนข้างเยอะ แล้วก็มีผู้ท้าชิงพร้อมยอมแพ้ตั้งแต่ตอนแรกก็เยอะอีกเช่นเดียวกัน แต่สังเกตนะว่าในกระแสปัจจุบันนี้ ทุกคนพยายามที่จะแสดงเอกลักษณ์ของตนเอง อย่างเช่นตอนนี้ไม่มีใครสามารถโค่นล้ม Dek-D ได้ ซึ่งเขาเป็นเจ้าตลาดมาก เขาเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2540 กว่าๆ ฐานของเขาคือวัยรุ่นตั้งแต่ปี 2540 กว่าๆ ซึ่งปัจจุบันนี้คือวัยเราซึ่งเป็นวัยคนแก่แล้ว ก็ยังคงวนอยู่ใน Dek-D ถามว่าฐานคนอ่านกว้างไหม? กว้างมาก ไม่มีใครล้มเขาในฐานคนอ่านได้ แต่ด้วยความเป็น Dek-D เขามีความ To General เกินไป มีความแบบทั่วไป กว้างกว่ามากเลย เขาไม่มีความเป็นเฉพาะทาง

ก็จะเริ่มมีผู้ท้าชิงอย่าง “จอยลดา” ทำนิยายแนวนิยายแชท “อ่านเอา” ซึ่งจะเอานิยายแนวจินตะ นิยายพาฝันซะเยอะ จากนักเขียนโบราณซึ่งยังคงมีคนอ่านอยู่ในปัจจุบันนำมาลงให้อ่านกัน เห็นไหมว่าทุกคนพยายามที่จะชูเอกลักษณ์ของตนเองมากขึ้น พยายามเป็นตัวเลือกในเชิงเฉพาะทางมากขึ้น ไม่ใช่ตัวเลือกในเชิงทั่วๆ ไป ตลาดนี้ถือว่ากำลังเติบโตไปในแนวทางที่เรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะไม่เติบโตฉูดฉาดมากนัก แต่ก็ไม่เคยถอยหลังเลย ไปข้างหน้าตลอด

เทคโนโลยีการอ่านทำให้คนไม่ซื้อหนังสือเป็นเล่ม จริงหรือไม่?

ด้วยความที่เป็นคนที่เห็นข้อมูลมาแล้ว ก็เลยบอกได้เลยว่าไม่จริง แยกเป็น 2 ส่วนนะ คือคนไม่ซื้อนิตยสารแล้ว นิตยสารถึงกาลจบสิ้นไปแล้ว แต่คนยังซื้อหนังสือเล่มอยู่ หนังสือเล่มยังครองส่วนแบ่งทั้งโลกมากกว่า e-book อยู่ ซึ่ง e-book เคยจะพยายามชนะอยู่หลายครั้งมาก แต่ก็ทำได้เพียงแบบรู้สึกจะชนะ รู้สึกจะชนะ รู้สึกจะชนะ สุดท้ายแล้วหนังสือที่เป็นเล่มก็ยังคงชนะ e-book อยู่ดี คิดว่ามันก็คงจะเป็นแบบนี้ไปอีกสักพักนึง ในอนาคตมีโอกาสที่ e-book จะชนะหนังสือเล่มได้ แต่ก็ต้องเป็นอนาคตที่ไกลพอสมควร ยังไม่ถึงกับทันตอนนี้ เพราะเวลาที่เราซื้อหนังสือเล่มมา มันมีส่วนหนึ่งที่จะเป็นของแถมมาโดยที่เราไม่รู้ตัว คือ sense of belonging คือรู้สึกว่าของชิ้นนี้เป็นของเรา แล้วเราชอบ เราให้เพื่อนยืมต่อของเราได้ เรามีหนังสือที่เก็บไว้บนชั้นหนังสือได้ ในขณะที่ e-book มันอยู่ในอุปกรณ์เพียงอย่างเดียว มันไม่สามารถปล่อยให้คนอื่นยืมต่อได้ หรือว่าเอาขึ้นชั้นแล้วสวย ไม่มี

ในขณะที่คนเขียนนิยายมากขึ้นทุกวัน การคัดสรรมาเป็นบทละครโทรทัศน์จะยากขึ้นไหม?

อันนี้จากปากของคนคัดบทละครโทรทัศน์ที่รู้จักกัน เจ้าหนึ่ง เขาบอกว่าการนำนิยายเก่าๆ มาทำเป็นละครเริ่มน้อยลงแล้ว ยกเว้นแต่ว่าเป็นนิยายที่การันตียอดคนดูแน่ๆ แต่เขามองนิยายใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น แปลว่าตลาดเปิดรับนิยายของคนรุ่นใหม่เสมอ ปัจจุบันนี้จะเป็นตลาดของทั้งละครและซีรีส์นะครับ ละครเป็นสิ่งที่ขายความรู้สึก คนดูละครก็จะรู้สึกดี ได้รอยยิ้มกลับไป แต่ซีรีส์ไม่ได้คาดหวังความสุขหรือรอยยิ้มอย่างเดียว อาจจะคาดหวัง Reaction ของคนดูมากกว่า เมื่อคนดูๆ เรื่องนี้แล้วจะเกิดพฤติกรรมนี้ตามมาด้วย ซึ่งบทประพันธ์ที่จะมาตอบโจทย์ซีรีส์ก็มักจะเป็นบทประพันธ์แนวใหม่ เพ่งเล็งไปที่คนอ่านแล้วว่าเวลาอ่านจะเกิดปฏิกิริยาอะไร เพราะฉะนั้นตลาดซีรีส์ก็จะเหมาะกับบทประพันธ์ใหม่ๆ แต่ว่าถ้าเป็นตลาดละครก็จะก้ำกึ่งหน่อย บางทีก็จะยังมีการเอาบทประพันธ์เก่าๆ มาทำละครอยู่บ้าง

สิ่งที่ยังขาดหายไปในวงการนิยายคืออะไร?

คนที่กล้าทำอะไรนอกตลาด อย่าลืมว่านิยายไทยทำแล้วขายได้แค่ในประเทศไทยและประเทศลาวได้ เพราะฉะนั้นมันมีความเสี่ยงในการลงทุน ผู้ลงทุนคือสำนักพิมพ์จะไม่ค่อยกล้าลงทุนในสิ่งที่ไม่มีสถิติทางการตลาดมาก่อน ถ้าบอกว่านิยายวาย (ชายรักชาย) ที่มีฉากมีเซ็กส์ขายได้ดี เขาก็จะพยายามเล่นตรงนี้เพราะว่ามันปลอดภัย มันอยู่ใน safe zone แล้ว แต่ว่าคนที่กล้าที่ฉีกขนบออกมาทำในสเกลสำนักพิมพ์อาจจะยังน้อย ในสเกลของการพิมพ์และขายเองอาจจะพอมีบ้าง แต่มันก็ไม่ได้สร้างผลกระทบวงกว้างเท่าสำนักพิมพ์ทำ สิ่งที่ขาดก็คือความกล้าที่จะเปิดตลาด แต่เราเข้าใจนะ เพราะตลาดนิยายไทยมันไม่ได้กว้างขนาดที่ลงทุนได้กำไร ยังไงก็ตามสำนักพิมพ์ก็ยังคงเป็น Business Unit ไม่ใช่ Education Unit ที่จะต้องทำอะไรใหม่ๆ

ในตลาดนิยายไทย คนกลางกำลังจะหายไป?

พี่คิดว่าน่าจะน้อยลงเรื่อยๆ ปัจจุบันนักเขียนกับนักอ่านเจอะกันบนอินเทอร์เน็ตเยอะมาก นักอ่านสมัยใหม่ใจเย็นมาก สามารถรอได้ สั่งไปแล้วอีก 4 วันรอได้อ่าน เขารอได้และไม่ว่าอะไร แล้วนักอ่านก็เริ่มซื้อหนังสือออนไลน์ผ่านร้านหนังสือออนไลน์ เริ่มอ่าน e-book มากขึ้น ซื้อโดยตรงกับนักเขียนมากขึ้น ไม่ได้บอกว่าสำนักพิมพ์จะตาย แต่ร้านหนังสือกับสำนักพิมพ์จำเป็นต้องปรับตัว ต้องมองให้ออกว่าตลาดที่นักอ่านกับนักเขียนเจอกัน คุณเป็นอะไรได้บ้าง? เป็น Thrid Space ที่จัดงานเปิดตัวหนังสือ ให้นักเขียนกับนักอ่านมาพบกันได้ไหม? มี Reading Party ได้ไหม? มี Book Club ได้รึเปล่า? แล้วตัวเอง Support อะไรได้และจะได้อะไรจากตรงนี้? ถ้ายืนยันว่าจะยังคงทำธุรกิจสไตล์เดิม แบบเดิมต่อไป รับหนังสือมาขายไป ก็อยู่ได้ในระดับที่ยากลำบากมากขึ้น เพราะว่าคนอ่านเรามีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าเขาไม่ได้ซื้อผ่านร้านหนังสือเท่านั้นเอง

อนาคตของนักเขียน

นักเขียนจะทำทุกอย่างเองมากขึ้น ทั้งผลิต จัดจำหน่าย ทำการตลาด อย่างของเราๆ ก็จ้างเอเจนซีให้ไปติดต่อกับผู้จัดละครเองแล้วนะ โดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์แล้วด้วย หนังสือของเราที่เอาไปทำเป็นละครได้ก็ไม่ได้ผ่านสำนักพิมพ์แล้ว เพราะว่าบางทีสำนักพิมพ์ก็ไม่ได้มีช่องทางการติดต่อกับผู้จัดละคร เริ่มมีการตั้งกลุ่มบริษัทที่รับเป็นนายหน้ารับแปลหนังสือไปขายต่างประเทศมากขึ้น ขายหนังสือให้กับผู้จัดละคร เพราะฉะนั้นนักเขียนจะมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับสำนักพิมพ์ ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับร้านหนังสือ การตลาดจะเริ่มเป็นการตลาดโดยตรงคือ นักเขียนไปหานักอ่านเองมากขึ้น นักเขียนจึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะให้รอบด้านมากขึ้น หรือแม้กระทั่งทักษะการรีวิวสัญญาตามกฎหมายก็ต้องพัฒนาเองด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการถูกเอาเปรียบได้ในที่สุด

จาก หนังสือพิมพ์ Business Today ฉบับที่ 17 ประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2562 – 5 มกราคม 2563