fbpx

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 มีหลายสำนักข่าวรายงานว่า บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจสื่อและเทคโนโลยี ได้ปรับโครงสร้างการบริหารใหม่ อันเนื่องมาจากรายได้ปีนี้ที่พลาดเป้า ทำให้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์กรรับต้นปีกันเลยทีเดียว

ส่องสื่ออยากพาย้อนกลับไปถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของโมโน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วโมโนเองก็พยายามปรับโครงสร้างองค์กรมาโดยตลอด ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และพามาร่วมวิเคราะห์กันว่าทำไมทีวีที่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทยถึงตัดสินใจปลดพนักงานออกมากถึง 200 คน แบบสายฟ้าแลบขนาดนี้ ติดตามจากบทความนี้กันครับ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจธุรกิจของโมโนกันก่อน ปัจจุบันโมโนดำเนินธุรกิจอยู่ทั้งหมด 2 หน่วยใหญ่ๆ ก็คือหน่วยที่เป็นธุรกิจสื่อ เช่น บริการกดรับสมัครข้อมูล ธุรกิจโทรทัศน์ วิทยุ และหน่วยที่เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ เช่น ภาพยนตร์ บันเทิง เกม เป็นต้น ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าน้ำหนักของโมโนลงมาที่ด้านสื่ออย่างชัดเจนมากๆ เลยทีเดียว ซึ่งโมโน 29 ก็ทำผลงานออกมาได้ดีพอสมควร ทั้งการเป็นเจ้าตลาดของทีวีดิจิทัล ด้วยการครองตำแหน่งที่ 3 พร้อมเรตติ้งสูงสุดโดยเฉลี่ยของช่องที่มากกว่าทีวีดิจิทัลรายใหม่เจ้าอื่นๆ ในตลาดอีกด้วย

แต่ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา โมโน เทคโนโลยีกลับสามารถสร้างกำไรได้ไม่ดีนัก โดยสัญญาณเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 ที่เห็นตัวเลขว่าบริษัทขาดทุนอยู่ที่ 95.21 ล้านบาท ทำให้โมโนต้องปรับโครงสร้างด้วยการตัดสินใจยุติกิจการนิตยสาร เกม ลดขนาดธุรกิจบริการเสริมบนมือถือ รวมไปถึงยุติการลงทุนใน T Moment ทำให้พนักงานส่วนหนึ่งต้องจำใจให้ออก พร้อมรับเงินชดเชยไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยโมโนได้ปรับลดพนักงานในรอบนี้เป็นร้อยละ 15 นั่นเอง

หลังจากนั้น โมโนก็พยายามปรับโครงสร้างมาโดยตลอด โดยการขยับมาทำการตลาด OTT ภายใต้ชื่อ “MONO MAXX” และโปรโมทผ่านช่องทางทุกช่องทางที่ตนเองมีอยู่ ประกอบกับการขยับมาทำ Home Shopping ของโมโน 29 ให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในการซื้อภาพยนตร์เพื่อมาฉายเพิ่มอีกด้วย ซึ่งเหล่านี้สะท้อนการปรับตัวเพื่อหารายได้ที่ชัดเจนมาก

แต่การปรับโครงสร้างองค์กรก็ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะฟากผู้บริหารก็มีการปรับโครงสร้างองค์กรพอสมควร เริ่มจากการที่ “นายพิชญ์ โพธารามิก” ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ อันเนื่องมาจากการถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงดาบในข้อหาที่พิชญ์ ร่วมกับพวกในการใช้ข้อมูลภายในบริษัทเพื่อซื้อหุ้น JST หรือจัสมินนั่นเอง ทำให้โมโนต้องเร่งประชุมหาผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งก็คือ นางพรรณี วรวุฒิจงสถิต นั่นเอง และยังแต่งตั้งนายปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทนนายซัง โด ลี อีกด้วย และนั่นก็ส่งผลทำให้เกิดการปลดพนักงานระลอกแรกเกิดขึ้น เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรให้สามารถสร้างกำไรได้นั่นเอง โดยมีผลเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562

แต่ดีลฟ้าผ่าก็มักเกิดขึ้นในโมโนอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากที่ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ เข้ามารับตำแหน่งนี้ โดยดีลที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดนั่นก็คือการร่วมมือกับ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ในการสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อลงในช่องทางที่โมโนดูแลอยู่นั่นเอง รวมไปถึงการจับมือร่วมกันกับ SBS ในการซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์เกาหลีทั้งเพื่อการออกอากาศ และเพื่อการนำไปผลิตซ้ำ (รีเมค) อีกด้วย

ซึ่งจนแล้วจนรอดปิดปี โมโน เทคโนโลยีก็ไม่สามารถสร้างผลกำไรได้มากเท่าที่ควร…

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 Business Today ได้รายงานว่า ฝ่ายบริหารงานบุคคลของโมโนโทรเรียกพนักงานฝ่ายต่าง ๆ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยต้องลดจำนวนคน ซึ่งปัจจุบัน ฝ่ายข่าวมีพนักงานอยู่ประมาณ 80 คน และฝ่ายอื่นๆ ที่ต้องปรับรวมถึงฝ่ายบันเทิง ฝ่ายบริการลูกค้า รวมแล้วประมาณ 200 คน ส่งผลให้การปรับครั้งนี้คือครั้งแรกของปี 2563 และเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย

จากผลประกอบการของโมโนที่ปิดในไตรมาส 3/26 สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทยังขาดทุนอยู่ที่ 177 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ทำรายได้ได้มากที่สุดนั่นก็คือ ธุรกิจให้บริการโฆษณา 405 ล้านบาท รองลงมาเป็นการให้บริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ 34 ล้านบาท รายได้จากการสนับสนุน 49 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ อีก 37 ล้านบาท สรุปปิดไตรมาสได้อยู่ที่ 526 ล้านบาท

โดยรายได้สื่อโฆษณาทีวี ลดลง 32.56 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากไตรมาส 3 มีการแข่งขันที่รุนแรง เป็นผลจากช่องในอันดับ top 5 มีเรทติ้งเติบโตขึ้นมาก อีกทั้งยังมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงเงินโฆษณาในช่วงเวลาดังกล่าวมากขึ้นอีกด้วย

ทำให้โมโนจำเป็นต้องตัดสินใจปลดพนักงานในครั้งนี้ โดยพนักงานส่วนหนึ่งบอกว่านี่เป็นการปลดฟ้าผ่าเลย มีการเรียกมาพูดคุย อธิบายเงื่อนไขและเซ็นออกทันที มีผลทันที เก็บของและรับเงินชดเชยตามกฎหมายนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ นายปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่าบริษัทวางแผนในช่วง 3 ปี (ปี 2563-65) โดยตั้งเป้ารายได้จะปรับขึ้นไปแตะ 5 พันล้านบาทในปี 2565 แม้ว่าในปีนี้คาดว่ารายได้จะพลาดเป้าหมายที่วางไว้ในระดับ 3.5 พันล้านบาท พร้อมทั้งคาดว่าจะสามารถล้างขาดทุนสะสมที่มี 1.58 พันล้านบาทภายใน 3 ปีนี้ โดยจะพลิกกลับมามีกำไรในปี 2563

นอกจากนี้ โมโน 29 ยังรับ บรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าวคนใหม่ เบญจวรรณ สมสิน จากช่องสาม Producer รายการเรื่องเล่าเช้านี้ และเรื่องเล่าเสาร์ – อาทิตย์ มาแทนบรรณาธิการคนเดิมซึ่งได้ออกไปก่อนหน้านี้ราวกลางเดือนมกราคมอีกด้วย

ส่องสื่อวิเคราะห์ว่านี่อาจจะไม่ใช่ครั้งเดียวที่โมโนจะตัดสินใจเช่นนี้ ถึงแม้จำนวนทีวีดิจิทัลจะมีจำนวนช่องน้อยลงก็ตาม แต่การแข่งขันดุเดือดขึ้นทุกฝีก้าวแน่นอน สิ่งที่ผู้บริหารคิดนั่นก็คือจะทำยังไงให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างคล่องแคล่วที่สุด ในขณะเดียวกันพนักงานก็ต้องวางแผนรับมือให้ดี เพราะการปลดพนักงานในปีนี้ยังจะมีให้เห็นอีกเรื่อยๆ และจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะมากกว่าที่โมโนเคยตั้งไว้สูงสุดถึง 500 คนเลยก็เป็นไปได้

ยังไงส่องสื่อก็ขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนทุกท่านด้วยนะครับ