fbpx

6 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการเกิดของทีวีดิจิทัลนับเป็นดาบสองคม คมแรกคือทำให้ผู้ชมมีทางเลือกที่หลากหลาย แต่อีกคมหนึ่งก็คือการกำเนิดของผู้ประกอบการที่มากขึ้นนั่นเอง นั่นส่งผลทำให้ อสมท หนึ่งในองคืกรด้านสื่อชั้นนำของประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างหนัก และในปี 2563 อสมท ก็กำลังปรับตัวไปสู่แพลตฟอร์ม OTT (over the top) อย่างเป็นทางการ รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามจากบทความนี้ได้เลยครับ

ก่อนอื่น เรามาดูเสถียรภาพทางการเงินของ อสมท กันก่อน จากข้อมูลของฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.อสมท เปิดเผยว่าตั้งแต่เดือน มกราคม – พฤศจิกายน 2562 มีโครงสร้างรายได้จากธุรกิจทั้งหมด โดยรวมรายได้จากเงินชดเชยที่ได้รับจาก กสทช. ในการคืนใบอนุญาตช่อง 14 MCOT FAMILY รวมทั้งสิ้น 2,557 ล้านบาท แบ่งออกเป็น รายได้จากธุรกิจวิทยุ ร้อยละ 25 ธุรกิจโทรทัศน์ ร้อยละ 22 ธุรกิจร่วมดำเนินกิจการ (สัมปทาน) ร้อยละ 16 รายได้จากการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล (BNO) ร้อยละ 17 ธุรกิจสื่อออนไลน์และรายได้อื่นๆ ร้อยละ 20

จากเสถียรภาพทางการเงิน แสดงให้เห็นว่า อสมท มีรายได้ส่วนใหญ่ หลักๆ มาจากวิทยุและโทรทัศน์อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ค่าใช้จ่ายในองค์กรโดยรวมมีอยู่ 2,483 ล้านบาท นั่นแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว อสมท จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อทำกำไรให้มากขึ้นในปี 2563

แล้ว อสมท จะทำอะไรดีล่ะ? คำถามนี้หลายๆ คนคงคิดขึ้นมาในหัวอย่างแน่นอน สำหรับส่องสื่อแล้ว เรามีข้อมูลมาฝากกันครับ เริ่มต้นก่อนอื่น อสมท ใช้วิธีการจัดการบริหารคอนเทนต์ตนเอง โดยการนำซีรีส์จีนที่ตนเองซื้อบางส่วน นำไปลงที่ AIS PLAY ภายใต้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนคอนเทนต์กับทาง AIS PLAY หลังจากนั้นจึงเริ่มนำเอา “ข่าวดังข้ามเวลา” ไปลง ifilx และ Netflix ในเวลาต่อมา ถัดมา อสมท ก็ปรับนำเอารายการวิทยุบางส่วนมาพัฒนาเป็น Podcast และนำรายการวิทยุต่อยอดเป็นรายการโทรทัศน์ไปด้วย นี่คือสิ่งที่ อสมท ได้เริ่มปรับตัวแล้ว

แต่ก้าวสำคัญในปี 2563 ที่ อสมท เคลมไว้ และเราก็ยังไม่เห็นวี่แววในการทำให้มันเป็นจริงได้ (ซึ่งส่วนนี้คงต้องรอผู้บริหารมาชี้แจงอีกรอบ) นั่นก็คือ “การลงทุนร่วมผลิตกับ Netflix” ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจและในขณะเดียวกับก็ตั้งข้อสังเกตด้วยเช่นกัน ด้วยคำถามที่กองบรรณาธิการคิดไว้ว่า “จะใช้ทรัพยากรตรงไหนทำ?” ซึ่งแน่นอนว่า อสมท คงถนัดรายการสารคดีกับรายการข่าวอยู่แล้ว แต่จะทำอะไรกับ Netflix สิ่งนี้ที่ยังคงเป็นคำถามที่เกิดขึ้นและสงสัยไม่น้อย แต่นอกนั้นกับรายอื่นๆ เช่น Japan International Broadcasting Inc. (JIB) ประเทศญี่ปุ่น ที่จะทำรายการท่องเที่ยวแนวสองวัย หรือกับ CCTV ของจีน เราก็ยังพอเห็นภาพว่า อสมท จะทำคอนเทนต์อะไรกัน

สิ่งนี้ที่เราต้องหาคำตอบต่อไป และนั่นจะตอบโจทย์กับ “Trusted Contents & Data” หรือไม่? ต้องให้อนาคตเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไปนั่นเอง…