fbpx

ในปีที่ผ่านมาไทยทีวีสีช่อง 3 ได้มอบความสุขมาตลอด 50 ปี และยิ่งช่วงนี้ก็เป็นช่วงเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 50 อย่างภาคภูมิ พร้อมๆ กับการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก และช่อง 3 ยังต้องต่อสู้กับสมรภูมิ Digital Disruption อีกด้วย วันนี้ทีมกองบรรณาธิการส่องสื่อเลยขอเปิดใจพูดคุยกับ “อริยะ พนมยงค์” กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. BEC World กันอีกรอบ ถึงทิศทางในปี 2020 รวมไปถึงอุปสรรคและก้าวต่อไปในวงการธุรกิจทีวีดิจิทัลว่าจะเป็นอย่างไร ติดตามจากบทสัมภาษณ์นี้ได้เลยครับ

ปี 2020 ในสายตาของช่อง 3

ปี 2020 ก็น่าจะเป็นปีที่เหนื่อยเหมือนกันสำหรับอุตสาหกรรมเรา แต่รวมไปถึงเศรษฐกิจของโลกก็เช่นกัน ปีนี้สิ่งที่เราเห็นก็คือความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังจากทางช่อง 3 ผมอยู่มา 9 เดือนแล้ว ผมคิดและเชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนรอคอยอยู่ นอกเหนือจากกลยุทธ์ที่รออยู่ สิ่งหนึ่งที่รอคอยก็คือความเปลี่ยนแปลงบนหน้าจอโทรทัศน์ เพราะสุดท้ายธุรกิจของเราก็ยังอยู่บนหน้าจอ

ทีนี้พอพูดถึง Disruption เราก็พูดกันบ่อยมาหลายปี ผมก็ไปค้นคว้าสถิติมา สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร? คือจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น โดยในปี 2014 เรามีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 27 ล้านคน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเกิดทีวีดิจิทัล 24 ช่อง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือในปี 2015 จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตโดดขึ้นเป็น 40 ล้านคน และนับวันนี้เราอยู่ที่ 55 ล้านคน ฉะนั้นในระยะเวลา 4 ปีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 2 เท่า เพราะฉะนั้นอย่างที่เราคุยกันหลายๆ ครั้ง ก็เราเกิด Disruption 2 ลูกด้วยกัน

ลูกแรกก็คือ ถ้าเราพูดถึงเม็ดเงินของสื่อ เป็นเม็ดเงินที่แบ่งจำนวนผู้เล่นที่มากขึ้น กับพฤติกรรมของคนที่ใช้ออนไลน์มากขึ้น ภายในเวลาแค่ 4 ปี แล้วก็บังเอิญว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจและท้าทาย และพอดูดี ๆ เราจะพบว่าปัจจุบันมี 3 ผู้เล่นใหญ่ๆ ก็คือ Google ,Facebook และ LINE

Google ประเทศไทย YouTube เป็นประเทศอันดับ 6 ของโลก
Facebook ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับ 8 ของโลก
LINE ประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ของโลก

คือมันมีไม่กี่อย่างที่เราจะอยู่อันดับต้นๆ ของโลกนะครับ แต่โลกออนไลน์คือหนึ่งในนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นภาพก็คือประเทศไทยเป็นประเทศดิจิทัลในแง่ของผู้ใช้ อันนี้คือ Disruption ในมุมมองของผู้บริโภค วันนี้เราอยู่ในสื่อที่เราแย่งเวลาของผู้บริโภคกันอยู่ อะไรที่แย่งเวลาของผู้บริโภค วันนี้เราแข่งกันหมด เพราะฉะนั้นวันนี้สิ่งที่เทคโนโลยีให้ไม่ได้ก็คือ “เวลา” เรามีเวลาอยู่ 24 ชั่วโมง เวลาที่เราใช้ 1 บริการดูคอนเทนต์ คือเวลาที่เราไม่ได้อยู่บน Platform อื่น ๆ ฉะนั้นเราไม่ได้มองในแง่ของแค่วีดิโอคอนเทนต์เท่านั้น แต่เรามองหมดทุกอย่าง

ถ้าเรามองย้อนกลับไปในปี 2019 เราก็จะเห็นว่าแนวโน้มของภาพรวมของสื่อก็ยังทรงๆ อยู่ มีลดลงอีกประมาณ 1-2% ทีวีก็ยังลดลงอยู่ สื่อหลักๆ ที่ยังโตอยู่ก็จะมีสองสื่อ ก็คือสื่อดิจิทัลเติบโต 19% และสื่อโฮม ช็อปปิ้งเติบโต 38% ภาพรวมอุตสาหกรรมลดลง 2% ส่วนของภาพ BEC World 3 ไตรมาสรวมกันเรายังติดลบอยู่ 138 ล้านบาท จริง ๆ เราเพิ่งบวกในไตรมาสที่ 3

ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกก็ดูเหมือนจะชะลอตัว ส่วนประเทศไทยก็ประกาศไปแล้วว่า GDP จะโตช้าลง ส่วนสื่อโฆษณาสำหรับผมก็คือว่าน่าจะลดลง

วิสัยทัศน์ใหม่ของ BEC World

เราไม่ได้มองว่าเราทำธุรกิจโทรทัศน์เหมือนเดิม แต่เราทำธุรกิจคอนเทนต์ เราเห็นว่าคอนเทนต์เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ เพราะสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ เพราะฉะนั้นเรากำลังถือสิ่งที่มีค่ามากสำหรับตัวเราเองและ Partner ของเรา สิ่งที่เราวางก็คือวิสัยทัศน์ ก็เป็นวิสัยทัศน์ที่อาจจะยาวนิดนึงแต่ก็เป็นการที่ผ่านการคิดแล้วคิดอีก มันเป็นการควบคุมธุรกิจทุกอย่างของเราให้ไปอยู่ในบรรทัดเดียว ความจริงก็คือเราต้องเคลื่อนไหวให้เร็ว อันนี้คือทุกคนต้องรู้อยู่แล้ว เวลาไม่ได้เข้าข้างเรา แล้วก็ในจังหวะที่เรากำลังฉลองครบรอบ 50 ปีในเดือนมีนาคมนี้ สิ่งที่เราเห็นก็คือเราหยิบคอนเทนต์ละคร ข่าวมาให้คนไทย 50 ปี ฉะนั้นสิ่งที่มีอยู่เราไม่ได้ทิ้งอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่เราหยิบมาใช้ก็คือการผลิตคอนเทนต์ที่สด ใหม่ และตอบโจทย์ตอ่ผู้ชม ณ วันนี้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญคือจริตของผู้ชม

ความท้าทายก็คือในสมัยก่อนทุกคนดูจอเดียวกันทั้งหมด ตอนนี้คือมีทางเลือก ฉะนั้นแต่ละกลุ่มก็จะดูคอนเทนต์แตกต่างกัน ทำยังไงให้ตอบโจทย์แก่ผู้ชมของเรา และเทคโนโลยีก็มีบทบาทต่อการตอบโจทย์ของแบรนด์ และทำให้สื่อมีประสิทธิภาพที่สร้างผลให้เขาเห็นได้

คนดูทีวีน้อยลง?

ถามว่าดูน้อยลงไหม ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยก่อนก็แน่นอนว่าน้อยลง แต่สำหรับผมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่ดูทีวี ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มที่สองคือใช้ทั้งจอทีวีและออนไลน์ และกลุ่มของวัยรุ่นที่อยู่บนออนไลน์หลักๆ เลย ฉะนั้นเราก็ต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนดู และสามารถส่งคอนเทนต์ไปในทุก ๆ ช่องทางได้ สิ่งสำคัญคือต้องเจาะให้ได้ว่าอนาคตของจอทีวีจะไปในทิศทางไหน ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน และเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาตั้งแต่ตอนนี้ และอย่าคิดว่ามันไม่น่าจะเวิร์ค สิ่งนี้ต้องล้างให้หมดไปเลยครับ

การเปลี่ยนแปลงบนหน้าจอช่อง 3 หลังจากนี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างไหม?

จริง ๆ แล้ววันนี้ในงาน “เปิดวิกบิ๊ก 3” สิ่งที่เราได้แถลงไปก็คือมันจะมีอยู่ 4 ส่วน 3 ที่จะเห็นบนหน้าจอในประเทศไทย และ 1 ที่จะเห็นในหน้าจอต่างประเทศ เรื่องแรกก็คือผังรายการ ช่วงเวลาที่เราเน้นก็คือช่วง 18.00-22.30 น. เหตุผลสั้นๆ ก็คือมันจะเป็นช่วงที่ถ้าเราไปดูข้อมูลจาก Nielsen จะพบว่าเป็นช่วงที่มีผู้ชมเยอะที่สุด เพราะฉะนั้นจะแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาก็คือ ช่วงเวลา 18.00 น. ก็จะเป็น “มิติใหม่แห่งความสนุก” สิ่งที่เราจะทำก็คือเราจะมีการเปิดตัว 3 รายการใหม่ วันนี้ก็มีเปิดตัวรายการ “สะกิดใจโชว์” ของพี่ป๋อ – ณัฐวุฒิ แต่ว่ามีอีก 2 รายการที่เรากำลังจะสรุปรายละเอียดกันอยู่ เพราะฉะนั้นส่วนนี้จะเป็นส่วนแรกที่เราจะเริ่มเห็นกันแล้ว จากเดิมที่เป็นช่วงเวลารีรันก็จะเอารายการใหม่เข้ามา ก็พยายามจะตอบโจทย์ครอบครัวเพราะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังกลับบ้านกันอยู่

ส่วนช่วงที่ 2 ก็จะเป็นช่วงละครก่อนข่าว เวลา 19.00 น. ซึ่งจริง ๆ แล้วมันคือช่วงพีคที่มีจำนวนผู้ชมที่เยอะที่สุดในทั้งวัน 24 ชั่วโมง สิ่งที่ละครเราจะมีก็คือ ละครล็อตนี้จะผลิตใหม่ทั้งหมด คุณภาพก็เต็มที่ไม่แพ้กันเลย เพราะฉะนั้นเราทุ่มเทกับช่วงเวลานี้จริง ๆ ลักษณะของละครก็จะเข้มข้นหลากหลาย ครบรส แล้วก็ช่วง 20.20 น. ก็จะเป็นช่วงคอละคร ก็จะเล่นคำนิดนึงตรงคำว่า “คอ” ในภาษาอังกฤษคือคำว่า “Core” ก็ช่วงนี้จะมีความเข้มข้น แต่สิ่งที่เราพยายามปรับก็คือรูปแบบที่เราจะนำเสนอให้มันมีความกระชับ เข้าเรื่องเร็วขึ้น ซึ่งตอนนี้ถ้าเราดูละครที่มีอยู่ในปัจจุบันกจะเห็นว่าช่วง 19.00 น.ก็กำลังมาดี 20.20 น.ก็มาดีเช่นกัน ก็ถือว่าต้นปีก็สอดคล้องกันกลยุทธ์ที่เราวางไว้

จริง ๆ หัวใจหลักก็คือ Content ตัวช่วงผังเวลาที่เราเน้นก่อนก็คือ 18.00-22.30 น. แล้วเดี๋ยวเราจะไล่ไปในทุกช่วงเวลา แต่เอาตรงนี้ก่อน เพราะจะเป็นช่วงที่เห็นความเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด แล้วก็เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยอยู่ด้วย สิ่งที่ตามมาก็คือ 3+ กับ D2C ซึ่งไปควบคู่กัน

3+ ก็คือการเปลี่ยนโฉมของ Mello ความต่างก็คือ แน่นอนเราเปลี่ยนชื่อ เราเปลี่ยนหน้าตาของตัวแอพ แต่ใส้ในเดิม Mello เน้นละครรีรัน สิ่งที่เราปรับก็คือเราจะรวมคอนเทนต์ของช่อง 3 เอาไว้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากละครรีรันแล้วก็จะมีรายการข่าว รายการบันเทิง และหนังที่มีลิขสิทธิ์ที่สามารถถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์ได้ คือเราก็กลายๆ เป็น OTT แต่ก็เน้นเป็นคอนเทนต์ของเราเป็นหลัก วิธีการชมไม่ใช่แค่รีรัน แต่ชมสดได้ด้วย อันนี้คือจะเป็นจุดเด่นของ 3+ แต่นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่เราใส่เป็นลูกเล่นไปด้วย เราจะมีระบบ Point เพราะฉะนั้นหลังจากนี้ พอเราดูละครของช่อง 3 ไม่ใช่แค่ผ่าน 3+ แต่ผ่านจอทีวีได้ด้วย

เพราะเรามี QR Code Scanner แล้วใน 3+ สิ่งที่เราจะทำก็คือเราจะเชื่อม 3+ กับจอทีวีและออนไลน์ Point ก็คือรูปแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่เรากำลังเตรียมอีกอย่างหนึ่งก็คือ D2C หรือ Direct 2 Consumer คือเราต้องการเชื่อมหน้าจอทีวีกับออนไลน์ให้กลายเป็นสื่อใหม่ไปด้วยเลย สิ่งที่เราทำก็คือต่อไปนี้พอเราเห็นรูปแบบโฆษณาของแบรนด์บนหน้าจอทีวี มันไม่ใช่แค่สร้าง Branding Awareness เท่านั้น แต่เราสามารถใช้ QR Code หรือใช้ Call Center ที่เราเตรียมไว้อยู่ ทั้ง 2 ช่องทางนี้ก็จะส่งไปที่การขาย หรือ Traffic ไปที่สาขาของแบรนด์ เพราะฉะนั้นมันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และข้อมูลที่เราจะมี เราก็จะสามารถแชร์กับลูกค้าแบรนด์ได้ด้วย แล้วก็ทำ CRM ต่อเนื่องได้ด้วย

ส่วนสุดท้ายก็คือการส่งออกคอนเทนต์ไปต่างประเทศ วันนี้เราก็เห็นชัดเจนว่าเราบุกตลาดต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าในครึ่งปีหลัง 2019 เราบุกตลาดจีน ฮ่องกง ใต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี แน่นอนว่าในปี 2020 เราเอาจริงกับตลาดต่างประเทศ ตลาดที่เราเน้นก็คือตลาดจีนกับอินโดไซน่า เมื่อประมาณ 3 อาทิตย์ที่แล้วก็จะเห็นว่าเราเปิดตัวความร่วมมือกับ Tencent และ WeTV ทั้งเป็นตลาดจีนและตลาดไทย และเราก็จะเห็นภาพแบบนี้เพิ่มขึ้นอีกในปีนี้

มองตัวเองว่าไม่ได้จบอยู่แค่ทีวี แต่คือคอนเทนต์

สิ่งที่เราพยายามสร้างก็คือ เราไม่ได้มองแค่ธุรกิจทีวี ถ้ามองในสัดส่วนรายได้ของเรา 83% เป็นรายได้จากหน้าจอทีวี 17% มาจากธุรกิจอื่น ๆ สิ่งที่เราต้องการทำก็คือภายใน 4 ปี เราต้องการให้รายได้จากธุรกิจทีวีลดเหลือ 65% และรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ 35% เพราะว่าเราต้องการกระจายความเสี่ยง เราต้องสร้างแหล่งรายได้ใหม่ และเราต้องการสร้างธุรกิจใหม่ให้ BEC เติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะให้ทันภายในปี 2023 การเติบโตในแง่ของรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 10%

เปิดช่องทางให้ศิลปินเจอผู้ชมทุกช่องทาง

ในส่วนของ Artist สิ่งที่อาจจะเริ่มเห็นและคุยมาตลอด ก็คือการเพิ่มพื้นที่ให้ศิลปินของเราบนหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นบนทีวีหรือออนไลน์ เมื่อก่อนศิลปินต้องรอคอยละคร ซึ่งจริง ๆ แล้วเรามีศิลปินเกือบ 200 คน แล้วมันเป็นจุดขายและจุดเด่นของช่อง 3 คนที่เป็นแฟนๆ ดาราเขาอยากเห็นดาราของเขาไม่ใช่แค่ช่วงเวลาละคร ฉะนั้นเราจึงเริ่มสร้างรายการที่ใช้ดาราและศิลปินของเราเพิ่มพื้นที่ให้เขา นี่คือรูปแบบการเพิ่มพื้นที่ของเรา ในขณะเดียวกันเราได้ทบทวนกับกลยุทธ์ของเราให้เป็น Talent Development โดยใช้ความสามารถรอบด้านของศิลปินของเรามาส่งเสริมและสร้างธุรกิจและโอกาสใหม่ๆ โดยเจาะที่จีนเป็นหลัก เป็นการเปิดตลาดใหม่

Home Shopping คือทางเลือกของช่อง 3 ในอนาคต

จริง ๆ แล้วตอนนี้สิ่งที่เราเริ่มต้นเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่ทำ Home Shopping มาเช่าเวลาของช่องก่อน อนาคตเราคงเข้าสู่ธุรกิจ e-commerce คือออกมาในลักษณะของ Home Shopping แต่ก็คงออกมาในลักษณะที่แตกต่างจากคนอื่นมากขึ้น ซึ่งต้องรอการคุยกันเพิ่มเติมในอนาคต เราว่ามันมีรูปแบบที่ทำให้แตกต่างจากเดิมได้ ตอนนี้สิ่งที่เรามีอยู่คือคนที่มาใช้เวลาของเราอยู่ กับสิ่งที่เราจะทำเองคงต้องใช้เวลานิดนึง

Subscription มาแน่ แต่ไม่ใช่ตอนนี้

ผมคิดว่ายังเร็วไปหน่อย คงต้องรอให้ 3+ ไปให้ได้ดีก่อน ถึงจะเริ่มทำ แต่มีแนวโนเมว่าจะทำในอนาคตแน่นอน

ไม่มีแผนที่จะดึงคอนเทนต์มาผลิตเองทั้งหมด

คือจริง ๆ แล้วที่ผ่านมาก็มีกลุ่มที่อยู่กับเรามา เราเรียกกันเล่นๆ ว่า “ผู้จัด” ก็มีแผนที่ยังใช้เขาอยู่ ไม่ได้มีแผนที่เราจะทำด้วยตนเอง 100% ไม่งั้นเราจะแบกต้นทุนมาที่เราหมดเลย แต่เรามีความหลากหลายในการใช้ผู้จัดที่มีความถนัดเฉพาะตัวของเขา เราก็สามารถดึงตัวตนของเขาออกมาได้หมดเลย แต่ว่าที่ผ่านมาตอนผมเข้ามา ด้วยความเป็นช่อง 3 เราก็ยังเป็นช่องที่ใหญ่อยู่ การที่ผู้จัดประสบความสำเร็จกับช่อง 3 ก็ยังเป็น Impact ที่ใหญ่อยู่

ปิดทีวีแอนะล็อก ไม่มีผลต่อธุรกิจโดยรวม

การปิดแอนะล็อก ทุกวันนี้คือวิ่งคู่ขนานกันอยู่แล้ว แล้วคือเราเป็นช่องสุดท้ายที่ยังออกอากาศในระบบแอนะล็อกอยู่ มันคือแค่เรื่องของระยะเวลา ไม่ได้เป็นนัยยะสำคัญเท่ากับการปิด 2 ช่องดิจิทัลที่ส่งผลดีต่อภาพรวมเป็นหลัก ในการแข่งขันถ้าพี่ๆ จำได้ ผมก็ประเมินการว่าการแข่งขันจะดุเดือดมากขึ้น เราเลยคืน 2 ช่องและก็เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น นั่นคือโอกาสเดียวที่จะคืนช่องได้ คนที่จะอยู่อุตสาหกรรมนี้ก็ต้องอยู่ให้รอด

ปิดแอนะล็อก = คืนที่ดินหนองแขม?

ก็ตอนนี้เรากำลังเจรจากับทาง อสมท ในเรื่องของการเช่าที่ดินที่หนองแขมต่อ เรามีแผนต่อถ้าเช่นต่อก็จบ แต่ถ้าไม่ได้เช่าต่อก็ไปเช่าที่อื่น แต่อยู่ในระหว่างการคุยกันอยู่

สำหรับตัวโลโก้ของช่อง 3 หลังจากวันที่ 26 มีนาคม 2563 จะเห็นเป็นตัวไหน?

จะใช้อันเดิม จะมีปรับเพิ่มนิดหน่อย ก็จะมีการเพิ่มเงาไปนิดหน่อย ส่วนที่ว่าจะใช้คำว่า HD เหมือนช่องอื่น ๆ ไหม?  อันนี้รอสรุปกันอีกทีนะครับ

BEC World จะเห็นกำไรในตอนไหน?

ปีนี้น่าจะเป็นปีที่สำคัญที่ทุกคนจับตามองกันอยู่ เราค่อนข้างมีความคาดหวังสูงกับปี 2020 เราต้องได้เห็นผลประกอบการที่ดีในปี 2020 แน่นอน ส่วนระยะยาวเราอาจจะเห็นธุรกิจอื่นเติบโตมากขึ้น ตอนพูดถึงธุรกิจดิจิทัล ทุกคนคาดหวังว่าจะได้เห็นธุรกิจดิจิทัล และผมก็ใช้เวลา 5 เดือนกว่าจะได้ปิดดีลกับ Tencent ซึ่งทำให้เรายังไม่เห็นผลในปี 2019 และเห็นผลในปี 2020 และจะได้เห็นอีก 3 ดีล

BEC World จะโดน Disrupt อะไรอีกไหม?

โดยธรรมชาติวงการเทคโนโลยีเร็วกว่าทุกวงการ ด้วยลักษณะของธุรกิจก็คือทำให้คล่องตัวได้อยู่แล้ว เพราะมักจะเป็นธุรกิจที่สร้างขึ้นมาใหม่ การเคลื่อนไหวก็ต้องเร็วกว่าอยู่แล้ว สำหรับเราก็ต้องปรับตัว วันนี้การแข่งขันเราไม่ได้แข่งแค่ช่องทีวี แต่เป็นคนที่อยู่รอบข้างเราด้วย คนที่แย่งเวลาคนดูนั่นก็ถือว่าเป็นคู่แข่งของเรา ฉะนั้นความเร็วก็สำคัญ ฉะนั้นเราจะประมาทไม่ได้ ส่วนธุรกิจที่เป็น Traditional ลักษณะของธุรกิจและวัฒนธรรมองค์กรแตกต่างกันเยอะ