fbpx

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผมเพิ่งได้มีโอกาสได้ดูการ์ตูนผู้ใหญ่ผ่านทาง Netflix เรื่อง “Super Drag” ซึ่งเป็นการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ โชคดีมากๆที่ในครั้งนี้ Netflix ยอมพาทย์ไทย เพื่อให้ได้รับชมแบบมีอรรถรสแซ่บ ๆ แบบไทยด้วย และเราก็ไม่พลาดที่จะนำบทเรียนจากการ์ตูนเสียดสีสังคมแกะออกมาพูดถึงประเด็นที่สื่อสารจากการ์ตูนกัน ลองอ่านกันได้เลยครับ…

พื้นที่ของ Drag Queen เมื่อตัวตนนี้แปลงโฉมเพื่อกู้โลก!

ถ้าจะให้พูดถึงการ์ตูนแนว ๆ นี้ มองกวาดออกไปก็มีแต่การ์ตูนที่ออกไปในแนวทางไม่หญิงก็ชายเลย แต่ Super Drag ได้บ่งบอกถึงความเป็น LGBT ได้เป็นอย่างดี ทั้งการนำเรื่องราวของการมีตัวตนสังคมของ LGBT การเสียดสีสังคม รวมไปถึงการนำเสนอตัวการ์ตูนทั้ง 3 ตัวที่มี 2 ตัวตน เปรียบเสมือนกับ Drag Queen ซึ่งในซีซั่นแรกอาจจะยังไม่ได้พูดถึงการเป็น Drag Queen อย่างลึกซึ้งเท่าที่ควร แต่ถือได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่ตัวตนของ Drag Queen ในอีกโลกหนึ่งให้กลายเป็นฮีโร่ที่เป็นตัวดำเนินเรื่องหลักเลยทีเดียว

เมื่อ LGBT ต้องต่อสู้กับความคิดแบบเก่าและศาสนา

ในการ์ตูนเรื่องนี้พยายามเสียดสีสังคมที่มีความคิดภายใต้ความที่ “ชายเป็นใหญ่” ด้วยการนำเสนอภาพลักษณ์ผู้ร้ายซึ่งก็คือชายที่เป็นผู้คุมเมือง (ในเรื่องคือ “เหนือกฎหมาย”) ที่บ่งบอกชัดเจนว่าตนอิงกับลัทธิบุตรสวรรค์ รวมถึงยังต่อต้านกลุ่ม LGBT ถึงขนาดขั้นเปิดค่ายเพื่อให้พ่อแม่ของ LGBT ส่งลูกของตนเองมาเปลี่ยนแปลงกลับสู่เพศสภาพดังเดิม โดยเฉพาะในตอนที่ 3 ที่นำเสนอการเสียดสีเรื่องของ LGBT ที่โดนเข้าค่ายนี้ ทุกคนต่างโดนทรมานและต้องเปลี่ยนแปลงบุคลิกของตนเอง เพียงเพื่อจะทำให้คนในครอบครัวพึงพอใจ รวมถึงทำให้ซานโดวาล (ผู้คุมเมือง) รู้สึกว่าตนเองมีคนในปกครองเป็นจำนวนมากขึ้น

ยังมีอีกตอนหนึ่งที่พูดถึงโกลดีว่าที่ในช่วงวัยเด็ก ตนเองไม่ได้รับการยอมรับจากที่บ้าน เนื่องมาจากตนเองมักจะทำตัวไม่ตรงกับเพศตนเองซึ่งทำให้พ่อและแม่ไม่พอใจ รวมไปถึงผู้คุมเมืองอย่างซานโดวาลด้วย และสุดท้ายพ่อแม่ก็ไม่อยากที่จะมีลูกแบบนี้อีกด้วย สุดท้ายโกลดีว่าจึงไปพบกับคนที่จะทำให้เขาสามารถมีชีวิตที่เป็นตัวของตนเองได้ (คือใคร? ไม่บอกล่ะกัน)

ประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นหลักที่พูดถึงและการ์ตูนเรื่องนี้เลือกที่จะเสียดสีสังคม เพราะเอาเข้าจริงประเด็นการเหยียดเพศและการไม่ยอมรับ LGBT ยังมีอีกเยอะมากในสังคม ซึ่งในการ์ตูนได้เสียดสีถึงสถานการณ์จริงที่ชาว LGBT มักพบไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางวาจา , การกลั่นแกล้งในสังคมรวมไปถึงการไม่ยอมรับตัวตนและการเกลียดชัง รวมไปถึงข้อจำกัดทางศาสนา ซึ่งทำให้ LGBT หลายคนต้องต่อสู้บนฐานแห่งความเจ็บปวดมาโดยตลอด และนี่คงเป็นสถานการณ์ที่ทั้งโลกต้องพบเจอเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างของ Super Drag

การตีตราจากภายนอก : สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั่วโลก

ในตอนที่ 2 ของการ์ตูนนำเสนอมุมมองของแพทริคที่ขาดความมั่นใจในรูปร่างของตนเอง ถึงขนาดยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อพบเจอกับคู่เดท ซึ่งทำให้เขาต้องอึดอัดในการที่จะเปลี่ยนแปลงให้ไม่ใช่ตัวเอง และไม่ได้ถูกให้เข้าร่วมในภารกิจในช่วงแรก แต่หลังจากที่เขาค้นพบว่าการเปลี่ยนแปลงโดยที่ตัวเองก็ไม่ได้ชอบที่จะเป็นแบบนั้น มันทำให้เขารู้สึกไม่โอเค จึงได้กลับมาอยู่แบบที่ตัวเองเป็นและทำภารกิจร่วมกับเพื่อนๆได้อย่างสำเร็จ

ทั้งหมดนี้กำลังเสียดสีถึงสถานการณ์ที่พวกเราไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็แล้วแต่เรามักตัดสินตัวเองและไม่มั่นใจในความเป็นตัวเอง ลดทอนคุณค่าของตนเองลง และทำให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองแบบทั้งๆที่เราก็รู้สึกไม่โอเคกับมัน รวมไปถึงการเหยียดคนอื่นด้วยรูปลักษณ์หน้าตา  การตัดสินคนจากภายนอก ซึ่งหลายๆคนก็กำลังเป็นเช่นนั้นอยู่ ในการ์ตูนนั้นได้บอกถึงการมองเห็นคุณค่าในตัวเองว่าต้องเริ่มต้นจากเราก่อน เพื่อที่จะทำให้เรานั้นเข้าใจตนเองได้มากขึ้นนั่นเอง และสังคมต้องเห็นคุณค่าเปิดโอกาสให้กับความแตกต่างหลากหลายด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะทำให้สังคมได้เข้าใจความแตกต่างนี้และเรียนรู้ที่จะอยู่ไปด้วยกันนั่นเอง

จุดเริ่มต้นของจุดจบ : เมื่อเราต้องเชื่อมั่นในตัวเองให้มาก

ในตอนจบของเรื่อง ทุกคนก็มีความสุขที่จะได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองในคอนเสิร์ตของโกลดีว่า และชาว LGBT ก็ส่งพลังให้แก่กันและกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าทุกคนควรจะมีพลังในการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อสร้างสังคมให้เป็นสังคมที่ LGBT ถูกยอมรับได้อย่างแท้จริงสักที

ถึงแม้ว่าในชีวิตจริงนั้นอาจจะเป็นไปได้ยาก
แต่ก็อยากให้เป็นนะ

รับชมการ์ตูนชุดนี้ได้ที่ Netflix