fbpx

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานเสวนาหัวข้อ “นวัตกรรม” เพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อจัดทำคู่มือเกี่ยวกับนวัตกรรม แนวทางเพื่อการพัฒนาทำสื่อต่อไปโดยมีคุณปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้   ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เข้าร่วม พร้อมด้วยเหล่าวิทยาการ คุณหนุ่ย พงศ์สุข  หิรัญพฤกษ์คุณปฐม อินทโรดม, คุณสุวิตา  จรัญวงศ์ , ผศ.ดร.วรัชญ์  ครุจิต, คุณสุรเชษฐ์   อัศวเรืองอนันต์, ดร.อริสรา กำธรเจริญ โดยจัดไปเมื่อวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงภาพยนตร์ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต ชั้น 4 ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์

โดยส่องสื่อขอดึงตัว คุณปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และคุณวสันต์ ภัยหลีกลี้  ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มาร่วมพูดคุยถึงวัตถุประสงค์ของงานนี้ รวมไปถึงการนำคู่มือนวัตกรรมสื่อออกมาใช้งานในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์นี้ได้เลยครับ

พูดถึงงานสัมมนานี้หน่อย?

คุณปรเมศวร์ : ก็งานสัมมนานี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตามพระราชบัญญัติฯ มีหัวข้อหนึ่งที่ต้องทำก็คือนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฉะนั้นวันนี้ก็ได้เชิญบุคคลที่มีองค์ความรู้ ประกอบกับชวนประชาชนที่มีองค์ความรู้มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ได้นำสิ่งที่เราจะทำเป็นนวัตกรรมในนิเวศสื่อที่มีความสร้างสรรค์ขึ้น ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการสื่อสารมีความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ฉะนั้นสิ่งที่กองทุนพัฒนาสื่อฯ จะทำได้ก็คือการส่งข้อมูลข่าวสารไปในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อขจัดปัญหาข่าวปลอมหรืออะไรก็แล้วแต่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้องค์ความรู้ และนำองค์ความรู้จากงานสัมมนานี้ไปปรับใช้ให้เกิดนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป

คุณวสันต์ : ก็อย่างที่ท่านผู้ช่วยรัฐมนตรีได้บอกไปนะครับ งานครั้งนี้เกิดจากอนุกรรมการส่งเสริมนวัตกรรมฯ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยได้จัดขึ้นเพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคต่างๆ ก่อนที่จะผลิตเป็นคู่มือออกมาและส่งเสริมนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป 

คุณวสันต์ ภัยหลีกลี้  ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ผู้เข้าร่วมจะได้อะไรจากการสัมมนาครั้งนี้?

คุณปรเมศวร์ : ทางกองทุนเองต้องการความรู้ ความเข้าใจ และความเห็นจากการเข้าร่วมสัมมนาวันนี้ โดยทางกองทุนจะนำข้อมูลไปพัฒนาเป็นคู่มือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นวัตกรรมสื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาข่าวปลอมได้อย่างไร?

คุณวสันต์ : อย่างที่ท่านบอกคือสื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้มีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้น เราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ใช้นวัตกรรมสื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และในด้านของที่จะรับมือกับปัญหาต่างๆ ในโลกออนไลน์ เช่น ข่าวปลอม หรือการกลั่นแกล้งรังแกกันบนโลกออนไลน์ครับ

อยากให้พูดถึงสถิติว่าปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมามันรุนแรงมากขนาดไหน?

คุณวสันต์ : เรื่องข่าวปลอมในเมืองไทยก็เกิดปัญหาขึ้นคล้ายๆ กับทั่วโลกนะครับ เพราะว่าปัญหาคือทุกคนเป็นสื่อได้ ในสมัยก่อนเราจะมีสื่อวิชาชีพคอยกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารให้ แต่ว่าทุกวันนี้เมื่อทุกคนส่งสารเองได้ แล้วทุกคนต้องกลั่นกรองเอง สิ่งที่เผยแพร่อยู่ในโลกออนไลน์ก็มีทั้งที่เชื่อได้และไม่ได้ คือมีข่าวลือ ข่าวปลอมเกิดขึ้นมากมาย เราก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้านการคัดแยกข่าวปลอมออกให้ได้ 

คุณปรเมศวร์ : ผมขอเสริมในส่วนของจะใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยได้อย่างไรนะครับ คือมีวิทยากรหลายท่านที่ให้ความรู้ เขาจะมาพูดถึงการดำเนินการส่งข้อความสำคัญๆ ไปให้คนในโลกออนไลน์อย่างไร? จะมี Micro influence ที่พอมีคนตรงนี้พูด ทุกคนจะรับฟังเขามากขึ้น ดังนั้นข้อมูลที่ส่งมาทุกคนก็จะได้รับฟัง แต่ในส่วนของข่าวปลอมเอง สิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าคอนเทนต์ที่เราจะจัดสัมมนาวันนี้ คือการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่เยาวชน ซึ่งจะต้องทำระยะยาว 

ทางกระทรวงเองจะช่วยเผยแพร่นวัตกรรมสื่อยังไงได้บ้าง?

คุณปรเมศวร์ : ก็ตรงนี้เอง เราก็ต้องบอกว่าทางกระทรวงพยายามผลักดันเต็มที่ ทุกครั้งที่มีการประชุมเราก็พยายามที่จะหยิบยกคำว่าข่าวปลอมขึ้นมาพูดเสมอๆ ก็จะใช้กองทุนสื่อฯ เป็นตัวหลัก ส่วนหน่วยงานใดในกระทรวงวัฒนธรรมที่จะสามารถสนับนุนได้ เราก็เต็มที่ เต็มใจที่จะช่วยกันในการส่งเสริมให้ข้อมูลตรงนี้เผยแพร่ในวงกว้างมากขึ้น

ทางกองทุนสื่อเองจะทำยังไงให้คู่มือฉบับนี้เผยแพร่ขึ้นไปให้ประชาชนได้มากที่สุด?

คุณวสันต์ : ก็อย่างที่ท่านได้เล่าให้ฟังนะครับ เราก็คงจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แล้วผู้รู้ก็จะมาช่วยกันนำเสนอรับฟังความคิดเห็นว่าเราจะสร้างนิยามนวัตกรรมสื่ออย่างไร? เราจะพัฒนานวัตกรรมสื่ออย่างไรบ้าง? แล้วก็จะทำเป็นคู่มือออกมา เพื่อที่จะนำนวัตกรรมสื่อออกมาให้ได้มากที่สุด

คุณปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

คู่มือนวัตกรรมสื่อเองจะช่วยทำให้เกิดประโยชน์ในด้านใดบ้าง?

คุณวสันต์ : จะเกิดประโยชน์ในแง่การสื่อสารที่นำเอานวัตกรรมมาใช้ แล้วก่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างสรรค์สื่อที่ปลอดภัย

ฝากอะไรสำหรับงานในครั้งนี้?

คุณปรเมศวร์ : ก็งานในครั้งนี้เอง ในเบื้องต้นเองเราก็อยากจะแลกเปลี่ยนร่วมกัน แล้วก็นำความร่วมมือตรงนี้นำมาปรับใช้ในกองทุนสื่อให้ได้มากที่สุด เพื่อที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะสามารถพัฒนาคู่มือเพื่อสื่อสารและทำให้เกิดสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ โดยคำว่าคู่มือก็จะเป็นแนวทางที่สื่อและประชาชนสามารถนำมาปรับใช้ได้ เป็นบรรทัดฐานให้เกิดการดำเนินได้ง่ายขึ้น

คุณวสันต์ : การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ และทุกคนก็มีส่วนที่ช่วยให้การสื่อสารเรื่องสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แล้วนวัตกรรมสื่อก็จะมาช่วยให้การสื่อสารมันมีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วก็ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้และผู้รับสารมากขึ้นนั่นเอง

สำหรับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งที่สำคัญ ก็คือ      การส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  และเพื่อให้ภารกิจของกองทุนฯ สามารถดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าวคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  เพื่อทำหน้าที่      ในการดำเนินการ ออกแบบ กำหนดแนวทางหรือแนวนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุน     การสร้างนวัตกรรมสื่อให้เกิดมิติใหม่ ๆ ในการพัฒนาสื่อให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อระบบนิเวศสื่อในระยะยาว