fbpx

ในปัจจุบันนี้ปัญหาท้องไม่พร้อมก็เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแล เพราะด้วยสถิติของแม่วัยรุ่นในประเทศไทยยังคงมีอัตราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ทั้งอาจจะทำให้เกิดปัญหาหรือแก้ปัญหาได้นั่นก็คือ “สื่อ” เช่นกันครับ วันนี้ส่องสื่อเลยขอจับเข่านั่งคุยกับ นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อํานวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของสื่อและท้องไม่พร้อมว่ามันเกี่ยวข้องอย่างไรกันบ้าง? ลองติดตามกันได้เลยครับ

เข้าใจปัญหาท้องในวัยรุ่นก่อน

คุณหมอ : เราพบว่าพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยที่เราพบว่าวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็ก ปวช. เท่าที่เราเก็บข้อมูลมาเราพบว่าเด็ก ปวช. 2 มากกว่าร้อยละ 50 ที่บอกว่ามีเพศสัมพันธ์กันแล้ว ส่วนในระดับมัธยมปลาย เด็กม. 5 ผู้ชายมีอัตราร้อยละ 25 ผู้หญิงก็ร้อยละ 20 ที่บอกว่ามีเพศสัมพันธ์แล้ว นอกจากนี้การมีเพศสัมพันธ์ก็ยังใช้ถุงยางอนามัยไม่ครบ 100% ครั้งแรกก็มีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยอยู่ที่ร้อยละ 70 พอครั้งหลังที่เราถามไปก็ลดลงเหลือร้อยละ 60 ในนักเรียนหญิง ซึ่งอันนี้ที่น่าห่วง นอกจากนั้นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นก็สูงขึ้นด้วย

ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากอะไร?

คุณหมอ : ปัญหาก็มีหลากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น การที่พ่อแม่ตั้งครรภ์มีการเตรียมความพร้อมรึเปล่า? ไม่ใช่ว่าเตรียมแค่เงิน แต่การสร้างความอบอุ่นในครอบครัวก็สำคัญ การที่เด็กเองได้รู้จักคุณค่าตนเองด้วยรึเปล่า? มีความรับผิดชอบ มีการหาความรู้ มีการที่จะหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ บางคนไม่รู้วิธี ไม่มีทักษะ มันก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ เราพบว่าการมีเพศสัมพันธ์ของเด็กหญิงอายุยิ่งน้อย ซึ่งเกิดจากการถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ได้เกิดจากความเต็มใจ ซึ่งอันนี้คงต้องมาเน้นย้ำเรื่องสถาบันในครอบครัวและการศึกษาเอง การสอนเพศศึกษามันไม่ได้สอนแค่มีเพศสัมพันธ์กันยังไงด้วย แต่มันต้องรวมถึงทักษะในการเจรจาต่อรอง ทักษะการที่ไม่พาตัวเองไปในที่ที่สุ่มเสี่ยงปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศจะเป็นอย่างไร? ตลอดจนเมื่อเกิดปัญหาจะติดต่อยังไง? จะช่วยเหลือตนเองได้อย่างไร? มีมาตรการไหนที่ช่วยได้บ้าง? อันนี้ก็เป็นเรื่องของการสอนเพศศึกษานะครับ เพราะฉะนั้นปัจจัยพวกนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ อีกเรื่องหนึ่งคือ จากสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเราจะเห็นว่าสื่อต่างๆเข้ามาได้อย่างง่ายดาย ทั้งสื่อที่ดีหรือสื่อที่อาจจะทำให้ไปอยู่ในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น การที่จะสอนให้เด็กรู้เท่าทันสื่อฉลาดในการเลือกรับสื่อ เราคงไปปิดกั้นไม่ได้ ไปตามปิดไม่ไหว แต่เราสอนให้มีภูมิคุ้มกันทางสังคมได้อย่างไร?ผมว่าตรงนี้สำคัญ

สื่อมีผลทำให้เกิดปัญหายังไง?

คุณหมอ : เราจะเห็นกันว่าปัจจุบันบทบาทสื่อเป็นบทบาทที่สำคัญ ทุกคนก็ยังเข้าถึงสื่อได้ง่ายอีกด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นสื่อบุคคลหรือจะใช้ระบบไอทีต่างๆ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ถ้าสื่อมวลชนมีทัศนคติในมุมบวก มีความรู้ มีทัศนคติที่ดี แล้วก็สามารถจัดทำสื่อหรือเขียนข่าวไปในแง่มุมที่ชี้ให้เห็นปัญหา ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา หรือสามารถที่จะนำเสนอตัวอย่างที่ดีๆที่มีการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะในภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด อันนี้ก็จะช่วยกระตุ้นให้คนในสังคมลุกขึ้นมาทำ เพราะว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หลายคนอาจจะยังมีทัศนคติที่ยังไม่ดีหรือบางคนอาจจะมองว่ามันเป็นปัญหาที่แก้ลำบากแก้ยาก มันมีหลายปัจจัย แต่ว่าจริงๆแล้วก็มีหลายหน่วยงานที่ทำตรงนี้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างของโรงเรียนที่สอนเพศศึกษาได้ดี ตัวอย่างของสถานบริการด้านสาธารณสุขที่ทำงานตรงนี้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นระดับ รพ.สต. หรือในระดับโรงพยาบาล ทั้งในโรงพยาบาลในระดับอำเภอหรือระดับจังหวัด แล้วก็องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำงานตรงนี้ได้ดี ทุกระดับก็มีตัวอย่างที่ดีทำยังไงถึงจะให้มีการประกาศ ถ้าเราช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลพวกนี้ มันก็จะเป็นการเผยแพร่ความดี แล้วก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการที่จะให้พื้นที่อื่นขับเคลื่อนต่อ

สื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้พูดเรื่องเพศได้อย่างถูกต้อง?

คุณหมอ : ใช่ครับ ผมคาดว่าแบบนั้น ช่วยกันที่จะไม่ไปตีตราเพื่อให้ปัญหามันแย่ลง แต่ช่วยกันสร้างโอกาสและเป็นการตัดวงจรด้วยว่าวัยรุ่นที่เจอปัญหาแม่วัยรุ่น เราพบว่าพ่อแม่วัยรุ่นเองมักจะมีพ่อแม่ตัวเองเป็นพ่อแม่วัยรุ่นมาก่อนส่วนหนึ่งด้วย แล้วก็คงไม่ใช่ติดต่อทางพันธุกรรม แต่เป็นเพราะวัยรุ่นขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดโอกาสทางการประกอบอาชีพหลากหลายอย่างในการพัฒนาตนเอง ก็เลยทำให้ลูกตนเองไม่ได้รับการดูแลที่ดีและนำไปสู่วัฏจักรเดิมๆ เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนเองก็จะมาเป็น 1 ในภาคีที่จะมาตัดวงจรนี้แล้วก็ทำให้ปัญหามันคลี่คลายไปได้ด้วยดี

ยกตัวอย่างสื่อที่ตีตรากับพ่อแม่วัยรุ่น?

คุณหมอ : ยกตัวอย่างนะครับเหมือนกับบอกว่าเวลาเด็กถูกทำร้ายหรือเด็กถูกทิ้ง สื่อมวลชนก็มักจะพาดหัวว่า “แม่ใจยักษ์” แล้วก็เกิดคำถามขึ้นมาว่าลูกเกิดจากแม่คนเดียวไม่ได้ ก็ต้องมีพ่อด้วยแล้วพ่อใจยักษ์หายไปไหน? อันนี้มันเหมือนถูกประณามอยู่ หรือบางทีที่เด็กถูกทิ้งก็จะพาดหัวข่าวว่าเกิดจากแม่วัยรุ่นแน่เลย ซึ่งอันที่จริงเรายังไม่รู้เลยว่าแม่ที่นำลูกมาทิ้งเป็นใคร? เพราะฉะนั้นอันนี้ก็อาจจะต้องมีการมาปรับแนวทางการนำเสนอข่าว

ตัวอย่างสื่อที่นำเสนอในแง่ลบต่อแม่วัยรุ่น

สื่อที่ดีมีส่วนในการบูรณาการกับภาครัฐได้ใช่ไหม?

คุณหมอ : ใช่เลยครับ ทั้งหมดที่พูดมา คือจะทำอย่างไรให้สื่อมวลชนเข้าใจ เวลาเสนอข่าวคงจะทำให้ข่าวมันไม่ดูหวือหวา แต่ถ้าจะชี้ประเด็น ยกสถานการณ์ขึ้นมาแล้ว ควรจะนำเสนอต่อไปด้วยว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาจะเป็นอย่างไร?มีกระบวนการช่วยหรือมีใครช่วย อย่างไรบ้าง? ถ้านำเสนอตรงนี้ได้ผู้รับสื่อเองก็จะได้รับประโยชน์จากข่าวตรงนี้ และไม่มองสังคมว่ามันแย่มันเลวไปมากกว่านี้

สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงสื่อมวลชน?

คุณหมอ : การที่จะช่วยปรับทัศนคติต่อทุกคนในสังคม เรื่องของการสร้างความตระหนักการที่จะช่วยกันมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา อยากจะฝากบทบาทนี้ให้กับสื่อมวลชนทุกคนครับ

เราว่าสื่อมวลชนก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องการท้องไม่พร้อมได้ เพียงแค่สร้างความเข้าใจ สร้างทัศนคติเชิงบวก สร้างคุณค่าให้กับพ่อแม่วัยรุ่นและให้โอกาสผ่านสื่อ ไม่ตีตรา ไม่ซ้ำเติม เพื่อที่จะได้มีสื่อที่สร้างความเข้าใจให้กับสังคมและปราศจากการเลือกปฏิบัตินั่นเองครับ.

นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อํานวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข 

รู้ไว้ใช่ว่า 

พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพ.ศ. 2559 หรือชื่อเล่นคือ “พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น” ได้จัดทำคู่มือสำหรับนักข่าวเพื่อส่งเสริมสิทธิสุขภาพวัยรุ่น โดย 1 ในประเด็นที่สำคัญก็คือ “การพาดหัวผิดละเมิดสิทธิวัยรุ่น” โดยได้นำเสนอถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสื่อมวลชนบ้านเราที่มีการพาดหัวข่าวอย่างรุนแรง เช่น “วัยรุ่นใจแตก” หรือ “แม่ใจยักษ์” ทั้งๆที่การพบซากทารกนั้น ยังไม่ทราบสมมุติฐานแน่ชัดว่าใครเป็นคนทิ้ง ทั้งนี้จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดเป็นอย่างมาก เพราะข้อเท็จจริงก็คือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม หรือคนที่ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ไม่ใช่แค่กลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น โดยข้อมูลจาก สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ระหว่างเดือนตุลาคม 2558 – 30 มิถุนายน 2561 ระบุว่ามีผู้ปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อมทั้งหมด 52,370 รายและในนั้นมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปีคิดเป็นร้อยละ 30 เท่านั้น

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีรายงานการเฝ้าระวังการทำแท้งในประเทศไทย พ.ศ. 2558 โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่จัดเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยทำแท้ง 2,489 ราย พบว่าคนที่ทำแท้งด้วยเหตุผลด้านสุขภาพส่วนใหญ่อายุ 30-34 ปี คนที่ทำแท้งด้วยเหตุผลด้านฐานะการเงิน สังคม และครอบครัวส่วนใหญ่อายุ 20-24 ปี และมีวัยรุ่นทำแท้งไม่ถึงร้อยละ 30

ทั้งหมดนี้กำลังจะบ่งบอกว่าประเทศไทยยังมีปัญหาด้านความเชื่อ ทัศนคติของผู้ที่เกี่ยวข้องยังเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ที่มีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเหมาะสมและผู้ที่ประสบปัญหาที่เข้าไม่ถึงระบบการช่วยเหลือ เขาก็ไม่ใช่อาชญากรด้วยเช่นกัน

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องพ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น ได้ที่ www.whaf.or.th