fbpx

หลายคนคงจะเคยคุ้นเคยกับชื่อ “พี่หมวย-ดร.อริสรา กำธรเจริญ” จากรายการทั้งในอดีตและปัจจุบันที่พี่หมวยทำมาหลายรายการมากๆ แต่จะมีน้อยคนที่รู้จักพี่หมวยว่าเธอเรียนทั้งปริญญาตรีถึงปริญญาเอกที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเธอยังมีความคิด ความอ่านที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง หรือเรื่องสื่อมวลชนที่เธอทำอยู่ก็ตาม วันนี้ส่องสื่อจึงเชิญเธอมาพูดคุยกัน (เราคุยในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่จะมีประกาศควบคุมพื้นที่เมื่อเดือนเมษายน 2563) เกี่ยวกับเส้นทางกว่าจะเป็นผู้ประกาศข่าวกัน ถ้าพร้อมอ่านแล้วไปอ่านกันได้เลยครับ…

ก่อนอื่นอยากให้แนะนำตัวครับผม?

พี่หมวย ดร.อริสรา กำธรเจริญ ตอนนี้ก็อ่านข่าว รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ทางช่อง 3 ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ 11.15-12.15 น.

เส้นทางเริ่มต้นพี่หมวยเรียนด้านอะไรมาก่อน?

เรียนคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เรียนตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ตอนปริญญาตรีเนี่ยก็เรียนเอกวิทยุโทรทัศน์ แล้วก็ปริญญาโท เอกบริหารการสื่อสาร ส่วนปริญญาเอกก็เรียนด้านสื่อสารการเมือง เกี่ยวกับการสื่อสารทั้งหมดเลย

การเรียนในคณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเดียวกัน มันมีความแตกต่างอย่างไรบ้าง?

ด้วยระดับของปริญญาตรีไปปริญญาโท มันก็พอปรับตัวได้ แต่จากปริญญาโทไปปริญญาเอก มันแบบก้าวกระโดดเลย มันคือสองเท่าของปริญญาโท มันต้องใช้ความอดทนมากในการอ่าน ในการค้นคว้า ในการอยู่กับตัวเองในการคบคิด

คือที่เรียนที่เดียวกันเพราะว่าพี่ติดบรรยากาศ ชอบบรรยากาศของธรรมศาสตร์ ก็เลยไม่ได้มีโอกาสไปสอบที่อื่น แล้วก็หลักสูตรที่มีอยู่ก็ตอบโจทย์ตรงที่ว่าเราอยากจะเรียนอันนี้ ตอนปริญญาโทเราอยากจะเรียนด้านการบริหารสื่อสารมวลชน เพราะในการบริหารเนี่ยมันจะต้องมีเรื่องไหนที่มันควรจะคำนึงถึงบ้าง ถ้าเราเป็นคนที่ทำธุรกิจสื่อ ก็เรียนปริญญาโท แล้วมันก็ตอบโจทย์ พอตอบโจทย์เสร็จ พอเรียนปริญญาเอก ก็คือเราอยากเรียนทางด้านการสื่อสารด้วย แต่ว่าในมุมอื่นเราก็มี ตอนนี้มีเอกสื่อสารการเมืองก็คือถ้านักการเมืองจะสื่อสารที่เห็นชัดก็คือพวกการทำพวกแคมเปญรณรงค์การเลือกตั้ง พี่ก็สนใจ เพราะว่าคือการเมืองก็เป็นเรื่องใกล้ตัว ก็ดูวิธีการสื่อสารของเขาในแง่มุมการเมืองว่าเป็นยังไงบ้าง?

อยากให้พูดถึงทำแคมเปญการเลือกตั้งที่ผ่านมา?

(หัวเราะ) จริง ๆ ถ้าไปดู มันก็จะไปตรงกับทฤษฎีที่มันเขียนมานานมาก เกี่ยวกับเรื่องของแคมเปญในการทำการเลือกตั้ง คือไปดูกลยุทธ์มันมีอยู่ 2 อย่างไม่ Positive ก็ Negative

Positive ก็คือพูดยังไงก็ได้ ฉันดียังไง พรรคฉันดียังไง แล้วก็ Negative ก็คือด่าอีกพรรคนึง อีกฝ่ายนึง ว่าเขาไม่ดีตรงไหน อย่าไปเลือกเขาตรงไหนยังไง แล้วการใช้กลยุทธ์ในปัจจุบัน มันก็ใช้ผสมกันทั้ง Negative , Positive ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของการเลือกตั้ง ช่วงแรกเราอาจจะโจมตีเขาแล้วก็มาพูดถึงความดีของเราว่าความดีของเราเป็นยังไง หลังจากนั้นพอใกล้ ๆ ช่วงโค้งสุดท้ายด่ามันแรง ๆ อีกทีให้คนเปลี่ยนใจ ให้คนที่รักอีกฝั่งนึงจะไปลงคะแนนให้เขาเปลี่ยนใจ พูดว่าก็เขาเคยมีปมปัญหาอย่างนี้ มาเปิดกันในช่วงโค้งสุดท้าย มันก็เป็นเรื่องของการวางกลยุทธ์แล้วก็พูดย้ำมาอีกที เลือกฉันจะได้อะไรอย่างนี้

จริง ๆ แล้วดูแคมเปญมันก็ไม่หนีไปจากแนวคิดทฤษฎีที่มี เพียงแต่ว่าช่วงไหนแต่ละพรรคจะหยิบอะไรมา โดยรวมคือเวลาดูการเมืองก็สนุกนะ ช่วงนี้ใช้แนวทาง Positive ช่วงนี้ใช้ Negative ชมตัวเองแล้วก็ด่าคนอื่นแค่นั้นเอง

จากการเลือกตั้งในปี 2562 มีความแตกต่างอะไรบ้างจากที่เราเรียนมา?

จริง ๆ แล้วของพี่ที่เรียนคือสื่อสารการเมือง เราไม่ได้ลงไปในเรื่องของรัฐศาสตร์ที่เป็นการเมืองมากนัก เราดูเรื่องของการสื่อสาร แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องของการใช้ Social Media เข้ามา อย่างพรรคการเมืองใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วก็สามารถที่จะไปครองใจคนได้ในช่วงเวลาที่ไม่นาน

เราได้อิทธิพลของ Social Media ซึ่งเป็นการสื่อสารสื่อ ก็เป็นสื่อที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกแบบเต็มรูปแบบในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะว่าเราก็ไม่ได้เลือกตั้งมาหลายปีใช่ไหมคะ ในยุคที่สื่อมันเปลี่ยนไป ก็ได้เห็นความสำเร็จจากการใช้ Social Media ขณะเดียวกัน Social Media ก็อาจทำให้ผู้สมัครคนนึงกลายเป็นผู้สมัครที่คนไม่ชอบไปได้ ถ้ามีการแชร์หรือมีการเผยแพร่คลิปที่แฉพฤติกรรมของเขาอย่างนี้มันก็จะไปเร็วมาก สิ่งที่เห็นที่แตกต่างจากทุกการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็คือเรื่องของ Social Media

เริ่มต้นเข้าสู่วงการผู้ประกาศข่าวได้อย่างไรบ้างครับ?

จริง ๆ แล้วพี่เรียนด้านสื่อสารมวลชน แล้วก็ตอนปี 2 พี่สมัครเป็นผู้ประกาศพิเศษของช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ในสมัยนั้นก่อนจะเป็น Modernine TV ก็ไปอ่านแจ้งรายการ อ่านแนะนำรายการ อ่านหุ้น แล้วหลังจากนั้นตอนปี 4 ก็ฝึกงานฝ่ายข่าว นอกจากนั้นก็ยังได้อ่านข่าวเยาวชนของช่อง 9 หลังจากนั้นก็เริ่มอยู่ในแวดวง TV เรื่อยมา

แต่ก่อนพี่ประกวดสาวแพรวก็เล่นละคร เป็นพิธีกร อย่างที่พี่บอกก็เป็นพิธีกรตั้งแต่สมัยเรียนปี 4 แล้วก็ทำงาน พี่ชอบที่ว่าสื่อมันสนุก คือมันมีความท้าทายเกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย เราก็เห็นมา ก็อาจจะประสบการณ์ไม่เท่ากับพี่ ๆ แต่ก็เห็นมาก็ไม่น้อย เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง เห็นมาตั้งแต่เคเบิลทีวีมีแค่ UBC กับ Thaisky TV มาจนวันนี้เราเป็น Digital TV ก็ได้เห็นวงการโทรทัศน์ที่มันเปลี่ยนไป แต่พี่ชอบอุตสาหกรรมนี้ เพราะว่ามันสนุก

มีเหตุการณ์ไหนบ้างที่ไปอยู่ในเหตุการณ์แล้วรู้สึกว่าน่าจะนำมาแบ่งปันให้กับน้อง ๆ ที่กำลังเรียนให้แบบรู้บ้าง?

ถ้าเรื่องของรายการข่าวก็น่าจะเป็นสมาธิ แล้วก็โดยเฉพาะข่าวที่มันมีความละเอียดอ่อน อย่างเรื่องการชุมนุมทางการเมืองอย่างนี้ มันก็จะมีวิธีการ มีเทคนิคในการรายงานเหมือนกันว่าเราควรจะรายงานยังไงที่มันไม่ไปสร้างความแตกแยก การรายงานเฉพาะข้อเท็จจริง ไม่ใส่ความเห็นเข้าไป เพราะว่าแน่นอนว่าจะมีกองเชียร์

เรื่องการเมืองเป็นเรื่องของเสรีภาพทางความคิดอยู่แล้ว คือทุกคนก็จะมีจุดยืนที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรารายงานก็จะต้องเป็นกลางมากที่สุด เราก็นำเสนอข้อเท็จจริงโดยที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็น ก็ต้องคิดเยอะ ๆ ก็เครียดเหมือนกัน ตอนช่วงที่มันมีบรรยากาศของความขัดแย้ง มีบรรยากาศการชุมนุม แต่ก็เราก็พยายามทำหน้าที่เพื่อให้คนในสังคมได้เห็นว่าภาพที่มันเกิดขึ้นจริง ๆ เนี่ยมันเป็นยังไงคะ

สิ่งสำคัญที่ผู้ประกาศข่าวจำเป็นที่จะต้องมีใน ณ ขณะนี้ คืออะไรบ้าง?

น่าจะเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมนะ เพราะว่าตอนนี้คือทุกอย่างมันเร็วมาก อย่างที่เราคุยกันเยอะ ๆ เรื่องของ Fake News อย่างนี้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะนำเสนอต้องมีการตรวจสอบอีกนะ บางทีพี่ก็โทร.หานักข่าว โทร.หาแหล่งข่าว ตรวจสอบว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นยังไง เพื่อให้ผู้รับสารได้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจริง ๆ คือถ้า TV มันแข่งความเร็วสู้ Online ไม่ได้อยู่แล้ว เราแข่งความน่าเชื่อถือค่ะ

เราจำเป็นที่จะต้องมีอะไรในระหว่างการนำเสนอข่าวด่วน ณ ขณะนั้น?

จริง ๆ แล้วข่าวด่วนที่เข้ามา มันจะเป็นข่าวที่เราตามมาอยู่ระยะหนึ่งอยู่แล้ว อย่างคดี ผอ.กอล์ฟเหตุการณ์ชิงทองอย่างนี้ บางทีอาจจะมีด่วนเรื่องแถลงข่าว ณ วันนั้น แต่วันนั้นพี่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ว่ามีคนที่รับผิดชอบอยู่แล้ว คือมันจะง่ายตรงที่เราเกาะติดข้อมูลอยู่แล้ว เราก็โอเค ตัดเข้าแถลงข่าวช่วงเวลานี้ด้วยพื้นที่เราตามข่าวมาตลอด เราก็ให้ได้เห็นเลยว่าภาพเหตุการณ์การแถลงตอนนี้เป็นยังไง หรือแถลงข่าวตอนนั้นเหตุการณ์ฆ่ายกครัวบังฟัด พี่ก็อยู่ในเหตุการณ์การที่ตัดเข้าแถลงข่าวช่วงนำตัวผู้ต้องหามาแถลงโดย ผบ.ตร.

ก็คิดว่าสมาธิสำคัญนะคะ เพราะว่าเวลาด่วน อย่างที่รู้ว่าผู้ประกาศข่าวเขาจะมีการใส่หูฟัง เพื่อที่จะฟังคำสั่ง บางที่ข่าวด่วน เสียงพูดในหูก็คือทุกคนสั่งงานกัน เราก็ต้องพยายามแยกประสาท บางที่เราก็ต้องอ่านไปด้วยแล้วก็ฟังไปด้วย ก็ต้องใช้สมาธิพอสมควร พี่ว่าก็ต้องมีสติ มันก็เป็นความท้าทาย ก็ตรวจสอบก่อน อ่านให้ถูก ถ้าเกิดว่าด่วนเข้ามาแล้วข้อมูลมันยังไม่เคลียร์ เราก็ให้ทีมงานไปตรวจสอบก่อน ช้านิดนึงดีกว่าออกไปแล้วผิด แต่ถ้ามันมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ซึ่งเราก็พยายามให้มันน้อยที่สุด ถ้ามีจริง ๆ ก็ขออภัยท่านผู้ชม

ฉะนั้นความสำคัญก็คือช้าหน่อย แต่แน่นอนกว่า?

ถูกต้องนะคะ คือ TV ตอนนี้แข่งเร็วมันแข่งไม่ได้อยู่แล้ว เราก็เน้นความถูกต้อง แต่ก็ไม่ได้ช้าจนตกข่าวไปอะไรอย่างนี้ ช้าอยู่ในแบบช่วงเวลาที่พอรับได้ ไม่ใช่แบบตกไปวันสองวัน อย่างนี้มันก็จะไม่ใช่ข่าวแล้ว เพราะข่าวมันก็ต้องเน้นความสดใหม่

พูดถึงการทำงานในผู้ประกาศข่าวบ้าง วันนึงต้องทำอะไรบ้าง?

ก็ต้องอยู่กับข่าวนะ จริง ๆ ตอนที่เริ่มมาอ่านข่าว สมัยก่อนมันก็ยังไม่ได้มี Internet เราก็ต้องพกวิทยุเครื่องเล็ก ๆ เพื่อจะฟังคลื่นข่าว อยู่ในรถก็เปลี่ยนจากคลื่นเพลงเป็นคลื่นข่าว เพื่อจะติดตามข่าว กลับไปก็ต้องรีบกลับไปเพื่อที่จะรอดูข่าวค่ำ ข่าว 22.00 น. เพื่อที่จะอัปเดตข่าว แต่เดี๋ยวนี้มันง่ายมากขึ้น เราก็จะต้องคอยอัปเดตคอยดู ก็จะมี Line Group ที่บรรณาธิการข่าวส่งข่าวมาเราก็ดู ข่าวนี้สนใจก็ไปดูต่อว่าข่าวนี่ที่มาที่ไปเป็นยังไง ไปอ่านรายละเอียดของข่าวว่าสำนักข่าวนี้ว่าอย่างนี้ สำนักข่าวอื่นว่ายังไง มีอะไรที่ต่างกันบ้าง?

อยากให้เล่าตอนแรกที่เข้ามาอยู่กับช่อง 3 หน่อยว่าบรรยากาศเป็นยังไงบ้าง?

พี่ทำงานกับช่อง 3 เป็น 10 กว่าปีนะ ตั้งแต่รายการข่าววันใหม่ ตอนนั้นพี่เรียนปริญญาเอกอยู่ แล้วข่าววันใหม่ก็เป็นช่วงข่าวภาคดึกที่ช่อง 3 อยากจะเริ่ม พี่ก็ได้มาร่วมทำตั้งแต่วันแรกเลยที่ทำรายการข่าววันใหม่ ตอนนั้นเป็นภาคดึกแล้วพี่เรียนปริญญาเอกอยู่ก็คิดว่าน่าจะทำได้ คือพอเรียนปริญญาเอกพี่ก็หยุดงานที่ช่อง 11 (NBT) ไปโดยตอนนั้นต้องอ่านข่าวตอนเช้า เพราะว่ามันต้องเข้าห้องสมุด เรียนหนัก แล้วทีนี้เราก็เรียนอย่างเดียวแล้วก็คิดถึงงานข่าว แล้วก็เป็นจังหวะที่เขาติดต่อมาพอดี ก็โอ้โห! ดีใจเลยค่ะ ก็ได้มาอ่าน อ่านอยู่ 11 ปี แล้วก็พอมามี Digital TV พี่ก็ถูกโยกให้มาอ่านช่วงเที่ยง เป็นตอนกลางวัน

อยากให้เล่าถึงรายการเป็นข่าวเช้านี้ ถึงวันแรกของการเปิดตัวรายการหน่อยครับ?

โอ้!! ตอนนั้นเราเตรียมกันนานนะ เพราะว่ามันตื่นเต้น แล้วมันจะเป็นรายการแรกเลยของการเปิดสถานีตอน 6 โมงเช้า ก็ไม่เคยทำงานกับไก่มาก่อน ก็แต่ก็รู้ว่าเขาเก่งมาก เพราะว่าเขาทำเรื่องเด่นเย็นนี้ ทำเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ แล้วก็ตอนนั้นก็มาเจอกัน พี่ก็จากทำดึกก็มาทำเช้าเลย ทีมงานก็แข็งขันมาก เรามีทีมใหม่ ๆ ที่มา แล้วก็…ต้องตื่นเช้า

ตอนนั้นตื่นมาถึงสถานี ตื่นตีสามได้มั้ง เพราะว่ารายการมันสองชั่วโมง ข่าวมันเยอะ 06.00-08.00 น. แล้วเราก็สนุกสนานเหมือนมีไฟเลย นอกจากนั้นทางหัวหน้าก็สนับสนุนอิสระทางความคิด อยากจะทำอะไร อยากจะจัดกิจกรรมอะไร อยากจะลงพื้นที่ อยากจะไปทำข่าวอะไรก็สนับสนุน แล้วเราก็มีไฟ คนที่ทำอยู่กับเราทั้งทีมงาน กองบก. ผู้ประกาศรายการมันเต็มที่ นอกจากนั้นรายการมันก็มีหลายช่วง มีหลายคนก็เลยมีไฟ สนุกมาก

แล้วก็ประทับใจกับทีมงาน ได้อะไรเยอะเลย ได้เรียนรู้เรื่องของการทำข่าว เรื่องการหาประเด็น เรื่องการจะทำยังไงให้เราใกล้ชิดคนดูมากขึ้น เราจะเข้าไปหาคนดูยังไง จะจัดกิจกรรมอะไร จะโปรโมทยังไง เพราะมันเป็นช่องใหม่ด้วย แล้วก็จะทำให้มีเรตติ้งยังไง ก็เรียนรู้เทคนิคในการถ่ายทำ นอกเหนือจากการทำงานเบื้องหน้าก็ได้มีโอกาสเรียนรู้ว่าเบื้องหลังจะทำยังไง จะคิดเฟรมยังไง จะทำฉากยังไง จะเอาโต๊ะไหมหรือไม่เอาโต๊ะ จะเอาอะไรเป็นสีธีม เริ่มคิดมาด้วยกันก็แบบประทับใจ

ปัจจุบันนี้เห็นสถานการณ์ของสื่อมวลชนเป็นยังไงบ้าง?

สื่อได้รับผลกระทบเยอะ ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเราเองก็ต้องปรับตัวค่ะ เราก็เหนื่อยมากขึ้นนะคะ แต่ว่าพี่ก็ยังรักในอาชีพสื่อสารมวลชนอยู่ ตราบใดที่เราทำรายการแล้วยังมีผู้ชมให้การสนับสนุน พี่ก็ยังอยากทำต่อ แต่มันก็ท้าทายมากขึ้น เราก็ต้องพยายามหาอะไรใหม่ ๆ ที่มันตอบโจทย์คนดู

จากการรายงานข่าวหลาย ๆ ครั้ง เราเห็นจุดบกพร่องอะไรในสื่อมวลชนบ้านเราบ้างไหม?

ก็อย่างที่ กสทช. ได้มีการเรียกสื่อเข้าไป จริง ๆ แล้วมันก็เป็นการเรียนรู้ของคนทำสื่อด้วย เพราะว่ามันไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในบ้านเรา ก็เหมือนกับการเรียนรู้ไปด้วยกัน สื่อเองก็รับฟังเสียงของประชาชนที่มีการท้วงติงเข้ามา แล้วก็มีทางคณะกรรมการเข้ามาดูว่าอันนี้ไม่เหมาะอันนี้ไม่ควร มันก็จะเป็นบทเรียนสำหรับการปรับปรุงครั้งต่อไป

สื่อมวลชนจะอยู่ยังไงต่อในช่วงที่สื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น สื่อออนไลน์?

พี่ว่าก็ยังเป็นในเรื่องของความเชื่อถือเนอะ คือการดู TV บรรยากาศในการดูจอคือทีวีมันดูได้หลายคน แล้วมันดูแล้วมันพูดคุยกันได้ พี่ว่ามันก็ยังเป็นสื่อที่มีเสน่ห์อยู่ แต่เราจะทำยังไงให้สามารถดึงดูดใจคนไม่ให้ดูจากจอเล็ก จอมือถือ มันก็เป็นความท้าทายของคนทำงาน การทำหน้าจอให้สวย คือทีวีมันเห็นภาพสีสันความสวยงาม ข้างนอกมันต้องดึงดูด มันต้องน่าดูแล้วก็เนื้อข้างใน ตัว content ข้างใน เขาดูไปครึ่งชั่วโมงเขาจะได้อะไร มันจะต้องตอบโจทย์เขา แล้วก็วิธีการนำเสนอมันก็เปลี่ยนไป เราจะทำยังไงให้ดึงดูดความสนใจของเขา

สิ่งสำคัญที่สุดที่คนอยากจะมาทำงานเป็นผู้ประกาศข่าว ต้องมีอะไร?

ถ้าอยากเป็นผู้ประกาศข่าวก็ต้องสนใจในข่าวสาร เป็นคนที่ชอบสื่อสาร คือถ้าเรียนทางด้านสื่อสารมวลชน พี่ว่าน่าจะเป็นคนที่ชอบสื่อสาร อาจจะสื่อสารในแง่ของเราจะเป็นคนรับสาร ก็ต้องเป็นคนที่เปิดรับข่าวสาร ถ้าเกิดเป็นคนที่แบบไม่ได้ทำอะไรเลย พอเรียนไปมันก็จะไม่เห็นกรณีศึกษาต่าง ๆ แล้วก็จะไม่มีเรื่องไปคุย แต่ว่าฉันชอบดูความเคลื่อนไหวใน TV วิเคราะห์วงการมันเป็นอย่างนี้ สิ่งพิมพ์มันเป็นอย่างนี้ หนังสือพิมพ์มันเป็นอย่างนี้ นิตยสารมันเปลี่ยนไปอย่างนี้ หนังสือมันเปลี่ยนมาเป็นออนไลน์อะไรยังไง อย่างนี้คือมันก็สนุก พี่ว่าถ้าอยากเรียนด้านสื่อสารก็ต้องเป็นคนที่ใช้สื่อ เป็นคนที่เสพสื่อ ต้องเป็นคนที่มีความชอบ มีความเกี่ยวพันกับสื่อในแง่มุมไหนก็ได้

ทำงานกับพี่หนุ่ม กรรชัยล่าสุดเป็นยังไงบ้างครับ?

แกเป็นคนที่น่ารักมากนะ พี่หนุ่มเป็นคนขยันมาก มาถึงสถานีแต่เช้า เดี๋ยวเปิดดูโทรศัพท์ต้องมีข้อความที่พี่หนุ่มส่งมาเกี่ยวกับข่าว ส่งประเด็นข่าวเข้ามา พี่หนุ่มน่ารักมาก พี่หนุ่มเล่าเรื่องสนุก พี่หนุ่มความจำดีมาก เล่านี่แบบรายละเอียดเป๊ะ ๆ เป๊ะ ๆ เลย พี่หนุ่มน่ารักจริง ๆ ค่ะ แล้วพี่ก็ถือว่าโชคดีมากที่ได้มีโอกาสทำงานกับพี่หนุ่ม ได้จัดรายการคู่กัน

พี่หมวยอยู่ตั้งแต่ช่วงที่อ่านข่าวเนอะไปจนถึงการเล่าข่าว มันแตกต่างกันยังไงบ้าง?

รสนิยมความชอบในการฟังข่าวของคนก็เปลี่ยนไป ก็แล้วแต่ว่าช่องไหนอยากจะเน้น แล้วแต่รูปแบบรายการด้วยว่าต้องการความเป็นทางการมากน้อยขนาดไหน? จริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับ concept รายการ

แต่ว่าเราเองในฐานะที่คนหน้าจอ เราก็ต้องปรับให้ตรงกับใจของผู้ชม ซึ่งเราก็จะมีเกณฑ์ในการวัดของเรา มีเรตติ้ง เรตติ้งดี คือตอนนี้มันก็ยังเป็นเรื่องของตัวเลขเรตติ้ง อยู่ที่เครื่องมือวัดว่าคนดูเรามากน้อยขนาดไหน ก็ตรงนั้นแหละ เราทำแบบนี้ เราทำทีวีมันลองหลายแบบอยู่แล้ว เที่ยงวันทันเหตุการณ์ก็ปรับมาเยอะ สัมภาษณ์แหล่งข่าว Phone in เชิญแขกมา ออกไปนอกสถานที่ คือเราก็พยายามปรับอยู่แล้ว เพื่อให้รู้ว่าแบบไหนที่มันโดนใจมากที่สุด ก็ลองไปแล้วมันสนุก ทีวีมันได้ทำทุกวัน ได้พัฒนาทุกวันมีปัญหาก็แก้ไป รายการสดมันมีปัญหาอยู่แล้ว มันเกิดเหตุแบบที่มันไม่เหมือนเมื่อวานอะไรอย่างนี้ เราจะแก้ยังไงมันก็เป็นความท้าทายของคนทำงานทีวี

รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้อยู่ในรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ซึ่งเป็นรายการที่อยู่กับช่อง 3 มานานมากจริง ๆ?

ภูมิใจ โชคดีมากค่ะ ที่ได้มีโอกาสทำรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ เราก็อยากทำให้มันดี ๆ ให้ได้อยู่ในใจของคนไทยทุก ๆ คน เราก็จะทำหน้าที่สื่อมวลชนตามสโลแกนเลยค่ะ ข่าวจริง ทันเหตุการณ์ พึ่งพาได้

แยกประสาทยังไงกับระหว่างหูฟังที่ต้องฟังตลอดเวลากับบทที่จะต้องอ่าน?

ก็พยายามแยกกับมีสมาธิในสิ่งที่อ่าน ถ้าอ่านก็จะมีสมาธิ เวลาทำงานคู่กันมันก็จะดีอย่างนึง ก็คือถ้าเราอ่านแล้วเขาสั่งเนี่ยมันก็จะเป็นหน้าที่ของอีกคนโดยที่ไม่ต้องบอกว่าเขาจะต้องฟังแทนเรา อย่างถ้าพี่หนุ่มอ่านอย่างนี้ เราก็ต้องพยายามฟังพยายามจดแล้วก็บอกเขา ถ้าเกิดว่าเขาจะสั่งพี่หนุ่ม เพราะรู้ว่าเขาจะมีสมาธิกับเนื้อข่าวที่เขาอ่านอยู่ เราก็จะรู้ว่าเราต้องมีหน้าที่ในการฟังนะ แล้วก็ถ้าเกิดว่ามันกวนมาก ๆ อาจจะต้องดึงหูออกเพื่อให้เรามีสมาธิอยู่กับตรงนี้ เพราะคนดูไม่รู้หรอกว่าเสียงข้างในมันโวยวาย คนดูคิดว่าเอ๊ะ ทำไมเราอ่านมันไม่ smoot เลย อ่านติด ๆ ขัด ๆ เรียบเรียงประโยคไม่ค่อยถูกอะไรอย่างนี้ เราก็จะดึงหูออกเลยค่ะ ไม่มีสมาธิ

ส่องสื่อเรื่องอะไรดีครับ ในวงการสื่อสารมวลชนบ้านเรา?

อยากให้ส่องสื่อเรื่องการนำเสนอข่าวด้านการศึกษา ก็จริง ๆ แล้วพี่ก็ทำรายการ ตอนที่เริ่มทำรายการก็มีทำรายการเกมคนเก่งกับ LG ที่เกี่ยวกับการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการ แล้วก็ตอนนี้รายการการศึกษามันก็ไม่ค่อยเห็น อยากให้ส่องสื่อช่วยไปดูหน่อยว่ามันยังพอมีรายการไหนบ้างยังไง แล้วมันจะมีรูปแบบมีแนวทางยังไงที่จะทำให้รายการการศึกษามาอยู่บนหน้าจอทีวีแล้วก็ดึงดูดความสนใจของคนได้

สุดท้ายฝากอะไรให้กับคนดู หรือ นักศึกษาที่เข้ามาอ่านว่าอยากจะเรียนแล้วเห็นพี่หมวยเป็น Idol?

อยากฝากรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์นะคะที่พี่ทำอยู่ตอนนี้ทางช่อง 3 แล้วก็สำหรับน้อง ๆ ที่อยากจะมาเรียนทางด้านสื่อสารมวลชน พี่ก็ว่าสาขานี้เนี่ยแม้ว่าจะมีคนบอกว่า เรียนสาขาไหนก็มาทำด้านสื่อสารมวลชนได้ แต่ในมุมของพี่ ๆ ก็คิดว่าคนที่เรียนทางด้านสื่อ มันมีมิติ มีมุมมองที่ลึกกว่า เวลาที่เราผลิตสื่อออกไปมากกว่าคนที่ไม่ได้เรียนทางด้านสื่อสารมวลชน อันนี้เป็นความคิดเห็นของพี่ส่วนตัว ซึ่งก็ไม่ได้ก้าวล่วงสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนด้านสื่อสารมวลชน แต่ในความคิดพี่ เท่าที่พี่สัมผัสมากับเพื่อนที่เรียนสื่อสารมาด้วยกันแล้วมาคุยกัน มาพูดกันแล้วเขาก็บอกว่าเวลาที่เราไปทำสื่อเนี่ยเราก็ทำไม่เหมือนกับคนที่ไม่ได้เรียนสื่อสารมวลชนมา พี่ว่าเราก็มีเอกลักษณ์เฉพาะ ก็เป็นกำลังใจให้กับคนที่จะเป็นนักสื่อสารมวลชนค่ะ