fbpx

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) ได้ปรับโฉมใหม่ตนเอง ทั้งการปรับเปลี่ยน Logo การเปลี่ยนสำนักงานไปอยู่ละแวกเกษตร-นวมินทร์ หรือการปรับ Brand CI ใหม่ให้มีรูปลักษณ์ที่แปลกตามากขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับสโลแกนประจำองค์กรอย่าง “Passion to Win” แถมยังเรียกตนเองใหม่ว่า “RS Group” อีกด้วย นั่นจึงทำให้ภาพลักษณ์ของ RS ดูแปลกตาและดูเป็นองค์กรไร้ขอบเขตมากขึ้นนั่นเอง

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ก่อนหน้านี้หลายคนคงอาจจะมองว่าหลังจาก RS ประกาศอำลาจากวงการเพลงซึ่งมีคู่แข่งที่สำคัญอย่าง GMM Grammy เพื่อมาทำธุรกิจ TV Shopping ซึ่งก็มีคู่แข่งที่สำคัญนั่นก็คือ GMM Grammy เช่นเดียวกัน (ในนาม O Shopping ซึ่งปัจจุบันแกรมมี่ถือหุ้น 100%) เหลือไว้เพียง RSIAM ที่เน้นเพลงลูกทุ่งเป็นหลัก และเน้นการเทเม็ดเงินไปให้เฉพาะศิลปินที่มีฐานแฟนคลับค่อนข้างแน่นอยู่แล้วด้วย ทำให้ชื่อของ RS Music ก็เริ่มเลือนหายไปจากหูของคนฟังชาวไทย

แต่ถึงกระนั้น หลังจากห่างหายไปไม่นาน RS เองก็ใช้แบรนด์ Cool Fahrenheit มาชูโรงในการจัดคอนเสิร์ตรียูเนียนของศิลปิน RS ซึ่งที่ผ่านมามีทั้ง Raptor / D2B และล่าสุดอย่าง Kamikaze ที่เพิ่งเลื่อนการจัดคอนเสิร์ตไปเพราะผลกระทบเรื่อง COVID-19 และมีข่าวลือหนาหูมาจากทางฝั่งของ RS ว่าจะมีการกลับมาทำค่ายเพลงสตริงเช่นเดียวกัน โดยอยู่ในช่วงการฟอร์มทีมอยู่ในตอนนี้

ซึ่งข่าวลือนั้นกำลังจะกลายเป็นจริง เมื่อรายงานประจำปี 2562 ของ บมจ.อาร์เอส เปิดเผยว่าจะมีการเพิ่มศิลปินผ่านค่ายเพลงที่เป็นแนวสตริงภายในปี 2563 นี้ ซึ่งสอดรับกับเว็บไซต์ของบริษัทที่มีการบอกรายละเอียดถึง 2 ค่ายเพลงที่จะกลับมา นั่นก็คือ “Kamikaze” และ “Rosesound” นั่นเอง

กลับมาที่ผลประกอบการของบริษัทในขณะนี้ เราจะเห็นได้ว่าโครงสร้างรายได้ของบริษัทนั้นแบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจพาณิชย์ ประกอบไปด้วยการจัดจำหน่ายสินค้าของ RS Mall และ Lifestar อยู่ที่ร้อยละ 56 รองลงมาคือธุรกิจสื่อที่มีช่อง 8 และ Cool Fahrenheit ที่ทำรายได้ไปร้อยละ 30 และสุดท้ายก็คือธุรกิจเพลงและอื่นๆ ที่ทำรายได้ไปร้อยละ 14

สิ่งที่ทำให้อาร์เอสกลับมาทำธุรกิจเพลงอีกครั้งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีสองสามเหตุผลที่กองบรรณาธิการส่องสื่อวิเคราะห์ออกมาได้ นั่นก็คือ การที่แบรนด์อาร์สยามไม่สามารถตอบโจทย์คนฟังเพลงสตริงได้ เนื่องจากคนยังติดภาพลักษณ์ของอาร์สยามก็คือเพลงลูกทุ่งเป็นหลัก ต่อมาก็คือการสอดรับกับธุรกิจเพลงที่มีอยู่ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจเพลงค่อนข้างแข่งขันกันสูง อาร์เอสมีแบรนด์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว การเข้ามาในธุรกิจเพลงสตริงอีกครั้งจึงอาจจะไม่ใช่เรื่องยากในการทำให้คนจดจำ และสุดท้ายก็คือ การปรับตัวเพื่อต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ที่มีอยู่ เนื่องจากในอนาคตอาร์เอสต้องการพัฒนาและต่อยอดไปยังสินค้าที่บริษัทมีอยู่ การมีบุคลากรที่มีชื่อเสียงคนใหม่ๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้เขาสามารถพัฒนาองค์กรได้ต่อไปนั่นเอง

อินโฟกราฟิกโดย ทินวุฒิ ลิวานัค