fbpx

สวัสดีครับ วันนี้เรายังมาพบกับทุกท่านในภาคต่อของ “นิเทศรีวิว” กับการรีวิวคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันครับ โอกาสดีๆ อย่างนี้เราจึงดึงน้องนักร้องมาอีกคนหนึ่งที่ฝากผลงานมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์วายอย่าง “My Dream นายในฝัน” และเขาแจ้งเกิดจากรายการดังอย่าง La Banda Thailand ซุป’ตา บอยแบนด์ ซีซั่น 2 อีกด้วย เขาคนนั้นก็คือ “ทาโร่-ชาตรี สุวรรณวลัยกร” นั่นเอง ตอนนี้เขาเรียนอยู่ปี 4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรามาฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการเรียนกันดีกว่าครับ ติดตามได้เลย…

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้ได้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะลุกลามจนเกิดการประกาศควบคุมพื้นที่

ตอนที่อยู่ ม. 6 เลือกมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง?

ตอนนั้นจริง ๆ เลือกจุฬา คือจริง ๆ พ่ออยากให้ทำสายราชการ แต่แม่อยากให้เรียนพวกที่มันเป็น Business ครับ แม่ก็อยากให้เรียนจุฬาฯด้วย แต่ว่าตอนนั้นสอบติดที่เป็นครุศาสตร์ ตอนนั้นก็คือหลายที่มากเลยก็เลยเลือกไม่ถูก (หัวเราะ)

ทำไมถึง move ตัวเองมาจากครุศาสตร์เป็นวารสารศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์?

ผมว่าน่าจะเจอตัวเองช้าไป เหมือนกับว่าเราถนัดในงานสายนี้มากกว่า ในงานผลิตสื่อ ทำเกี่ยวกับสื่อครับ แต่ว่าตอนนั้นคือเราก็ชอบแต่เราก็ไม่ได้รู้ตัวเองขนาดนั้น ว่าเราเหมาะกับงานแบบนี้ การเรียนประเภทนี้ ก็เลยเรียนครุศาสตร์ไปก่อน 2 ปี สุดท้ายก็มาเจอตัวเองว่ามันไม่ใช่ทาง เราไม่ใช่สายที่จะแบบเป็นครูสอนคน อะไรแบบนี้ยาก ก็เลยเลือกในสิ่งที่ตัวเองรักดีกว่า

การเป็นเด็กซิ่วมันทำให้เรารู้สึกอย่างไรบ้าง?

สำหรับผมผมไม่รู้สึกว่ามันแปลกอะไรนะ แต่ผู้ใหญ่บางคนก็อาจจะมองว่ามันเป็นการเสียเวลา แต่ว่ารู้สึกว่ามันก็คือ สุดท้ายแล้วเราก็ควรเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด

มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าน่าจะต้องย้ายคณะ?

ตอนนั้นจุดหนึ่งเลยที่ทำให้ตัดสินใจเลยว่าไปดีกว่าก็คือ ตอนที่ไปฝึกสอนที่สาธิตจุฬาฯ ในจุฬามันจะมีสาสาธิตอยู่ข้างในแล้วพอขึ้นปีสองมันจะต้องเข้าไป observe แล้วเราก็ตามอาจารย์ไปแล้วก็เหมือนว่าไป observe แล้วเรารู้สึกว่ามันไม่ได้จริง ๆ ว่ะคือเราแบบไม่ได้ คือเราจะรู้ตัวเองดี ณ จุด ๆ นั้นว่าเราไม่ได้แน่นอน ก็เลยเริ่มคิดที่จะย้ายคณะ

ตอนที่ย้ายได้ดูมหาวิทยาลัยอื่นบ้างไหม นอกจากจุฬา-ธรรมศาสตร์?

จริง ๆ ตอนนั้นที่เล็งไว้ก็คือมีที่นี่แหละ BJM ที่เดียวเลย แล้วก็มาสมัครคือเขาก็ถามว่าถ้าไม่ได้จะทำยังไง ก็บอกก็ไม่รู้จะทำยังไงเพราะว่าลาออกไปแล้ว เพราะว่าถ้าอยู่ปี 2 ของที่จุฬาถ้าจะซิ่วมันต้องลาออกก่อนแต่ถ้าหยุดปี 1 มันไม่ต้องลาออก ก็คือซิ่วได้เลย ถ้าไม่ติดก็ไม่เป็นไร แต่พอปี 2 ก็ต้องลาออกก่อนถึงจะสมัครได้ ก็เลยกดดันนิดนึง

พอมาวารสารศาสตร์ธรรมศาสตร์มันต้องเริ่มต้นใหม่หมดเลยไหม?

ผมว่ามันก็ไม่เชิงเริ่มต้นใหม่นะ แต่ว่าส่วนใหญ่มันจะโอนไม่ได้ครับ เพราะว่าวิชามันคนละมหาวิทยาลัยกัน แต่ถ้าในจุฬาด้วยกันมันจะโอนได้ บางวิชาที่มันก็จะมีพื้นฐานมาแล้วอย่างเช่น พวกวิชาจิตวิทยา พวกวิชาที่เป็นวิชา Basic อังกฤษอะไรพวกนี้มันก็เหมือนเริ่มต้นมาอยู่แล้ว

สิ่งแรกที่เราเจอตอนเข้ามาเรียนคืออะไร?

สิ่งแรกที่เราจะเจอก็น่าจะเป็นเพื่อน เจอเพื่อนวง เพราะว่าเราก็เป็นคนที่ไม่ค่อยจะสนใจเรียนอยู่แล้ว ก็เน้นไปทางนั้นมากกว่า อยู่ร้านเกมอะไรแบบนี้

เล่าให้ฟังหน่อยชีวิตของการเรียนของปีแรก เราเรียนอะไรบ้าง?

ถ้าเป็นในปีแรกที่เหมือนกับที่จุฬาฯ มันก็จะเป็นวิชาพื้นฐานพวกจิตวิทยาอังกฤษพื้นฐานอะไรพวกนี้ครับเหมือนที่จุฬา ส่วนวิชาที่ใหม่สำหรับผมเลยในช่วงปีแรกก็จะเป็น พวกวิชา TU100 TU101 TU102 อะไรพวกนี้ครับ พวกอาเซียนแล้วก็ทำกิจกรรมรณรงค์ TU100 มันจะใหม่สำหรับผมเพราะตอนเรียนจุฬาฯมันไม่มีอะไรพวกนี้

แล้วพอผ่านไป 1 ปีพอเข้าปีที่ 2 เรียนอะไรอีกบ้าง?

เอาจริง ๆ ผมคือคนที่ไม่ตั้งใจเรียนเลย ช่วงปี 2 ปี 3 แทบไม่เข้าเรียนเลย แต่เท่าที่จำความได้ก็ปี 2 ผมจะเรียน พวก Basic สำหรับผมนะ เท่าที่ตัวเองรู้สึกมันจะเป็นเรียนในทางทฤษฎีมากกว่า มันจะไม่ค่อยเน้นปฏิบัติเท่าปีสูง ๆ อย่างเช่นพวกวิชาที่ให้อัดสปอต ทำสปอตโฆษณา มันก็จะเป็นอารมณ์เหมือนคือน่าจะเป็นวิชาที่เราได้ลงมือทำจริง ๆ ส่วนวิชาอื่น ๆ มันก็จะเป็นพวกวิชาที่เรียนในห้องเรียนหรือภาคทฤษฎีอะไรอย่างนี้ครับ

รู้สึกอย่างไรบ้างกับการเรียนที่นี่?

คือถามถามว่าใช่ไม่ใช่ เอาในแง่นี้ผมว่ามันใช่ มันใช่ทางแหละ แต่ว่าพอเรียนไปเรื่อย ๆ รู้สึกเหมือนกับว่ามันกว้างเกินไป เหมือน BJM มันเป็นอะไรที่กว้าง คือแทนที่แบบว่าอย่างเราเรียนสายฟิล์ม เวลาใครเขาเรียนฟิล์มเขาก็จะเจาะสุดเลย ไปออกกอง ไปอะไรพวกนี้ แต่ของ BJM มันก็แค่เรียนรู้เฉย ๆ ว่าแต่ละอันคืออะไร แต่ว่าไม่ลงลึก ถ้าอยากจะลงลึกต้องไปศึกษาเอาเอง มันก็ใช่ แต่บางอย่างมันก็ไม่ใช่

มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้างที่เราต้องเรียนกว้างขนาดนี้?

ผมว่าข้อดีมันมีนะ เพราะว่าการที่เราได้รู้อะไรกว้าง ๆ เวลาที่เราทำงานจริง ๆ  ผมว่ามันเป็นประโยชน์ มันเหมือนบางทีเราอาจจะไม่ต้องเก่งทุกอย่าง แต่ว่าเรารู้ในทุกอย่าง พอเวลาเราทำงานจริง เราสามารถคุม Process ในการทำงานได้ แต่ว่าการที่เราลงลึกไปอย่างใดอย่างหนึ่งมันก็ดีในแง่ว่า ถ้าสมมติว่าจะทำงานในสายงานใดสายงานหนึ่งอย่างจริงจัง เราก็จะเป็นเซียนด้านนั้นไปเลย มันดีกันคนละแบบนะ

มีอุปสรรคอะไรบ้างในการเรียน?

หลัก ๆ น่าจะเป็นตัวเอง (หัวเราะ) คือผมเป็นคนที่ไม่ชอบเรียนหนังสือ แล้วก็ไม่ตั้งใจเรียนด้วย แต่เราก็ทำงานส่งตามที่อาจารย์เขาต้องการแล้วก็อ่านหนังสือสอบเหมือนทุกคน จะว่าขี้เกียจก็ได้ แต่จะไม่อยากเรียน ส่วนใหญ่จะอยู่บ้าน ทำเพลงทำอะไรที่เราชอบ ส่วนเรียนก็เอาเป็นรอง ๆ ครับ เน้นแค่จบเฉย ๆ

ตอนนี้มีทำงานในวงการบันเทิงบ้างไหม?

ตอนนี้ส่วนใหญ่ทำเพลงครับผม จริง ๆ ก็ห่างหายมาน่าจะประมาณปี สองปีได้แล้วครับ แล้วก็ออกมาทำเพลงเองเหมือนเป็น Freelance ด้วยครับก็ Happy ดี

ตอนนี้มีกี่เพลงแล้ว?

จริง ๆ ผมทำเสร็จก็ทยอยปล่อยลงใน YouTube ปล่อยไปเรื่อย ๆ ครับตอนนี้ก็น่าจะประมาณสิบกว่าเพลงแล้วครับ

มี Feedback กลับมาอย่างไรบ้าง?

Feedback โอเคนะครับ คืออาจจะไม่ได้วิวเป็นล้านหรืออะไร แต่คนดูหลายคนเขาก็ชอบเขาก็ฟัง บางคนก็ทักเข้ามาว่าชอบเพลงมากเลย อยากให้ทำเพลงอย่างโน้นอย่างนี้เราก็ Happy

มีการเอาวิชาที่เราเรียนเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำเพลงบ้างไหม?

แทบไม่มีเลยครับ แต่ว่าอย่างตอนนี้ก็คือปี 4 เทอม 2 ผมทำ Thesis ก็เลยทำเพลงส่งอาจารย์ด้วย แต่หัวข้อจริง ๆ มันเป็น Digital Marketing เราก็จะได้ใช้ความรู้ในด้านของการบริหาร Marketing การบริหาร Content อะไรพวกนี้เอามาใช้กับ Project แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันก็ต้องครึ่ง ๆ กันระหว่างประสบการณ์ตรงกับความรู้สึกเรากับทฤษฎี มากันคนละครึ่งทาง

มีวิชาที่รู้สึกว่าตัวเองชอบบ้างไหม?

ถ้าเป็นวิชาที่ชอบ ตอนนั้นมันจะเป็นวิชาที่ผมบอกเรื่องการอัดสปอตโฆษณา การทำโฆษณา วิทยุ Broadcasting ผมว่าถ้าให้เลือกวิชาที่ชอบที่สุดก็คงเป็นวิชานี้ครับ เพราะว่ามันดู Practical เหมือนเราสามารถเอาไปใช้ได้จริง ๆ แล้วก็อาจารย์ชิลล์ด้วยก็เลยชอบ

ย้อนกลับไปตอนมัธยม พื้นฐานเป็นอย่างไรบ้าง เป็นเด็กกิจกรรมหรือเป็นเด็กเรียนหลัก ๆ ?

ถ้าตอนมัธยมผมจะมาอย่างละครึ่ง ๆ ก็ไม่ได้เป็นเด็กเรียนถึงขนาดนั่งหน้าห้อง ก็คือไม่ค่อยเอาเรียนแหละ แต่ว่าเราก็ตั้งใจเรียนหมายถึงว่าคะแนนสอบเราก็ดี ส่วนเรื่องกิจกรรม เราก็ไม่ได้เป็นเด็กกิจกรรมจ๋าขนาดว่าไปทำแคมเปญ ไปทำกิจกรรมนู่น นี่ นั่น แต่ว่าก็ทำบ้างอย่างเช่นว่าผมเป็นนักดนตรี ไปประกวดเล่นดนตรี แล้วก็เป็นนักกีฬาปะปลาย เราจะมากันคนละครึ่งทาง Balance กัน

มันก็เลยส่งผลต่อการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยด้วยหรือเปล่า?

ผมคิดว่ามันก็เกี่ยวนะ เพราะว่าเหมือนการที่เราสามารถ Balance ในเรื่องของกิจกรรมกับการเรียนได้ มันทำให้พอเราขึ้นมหาลัยปุ๊บ เรารู้ว่าอะไรที่มันสำคัญ อย่างเช่นผมไม่ชอบเรียนอย่างนี้ แต่ถ้าวิชาไหนที่มันสำคัญหรือว่ามันต้องผ่านจริง ๆ หรือว่าเป็นวิชาที่เราไม่เข้าใจจริง ๆ อย่างปี  1 เรียนเศรษฐศาสตร์คือเราก็ต้องเข้าเรียน เราต้องพยายามทำยังไงก็ได้ให้มันรอด ส่วนวิชาไหนที่เรารู้สึกว่ามันชิลล์มันผ่านอยู่แล้วผมก็จะไม่เข้า แล้วก็เอาเวลาไปทำกิจกรรม

มีเคล็ดลับในการเรียนบ้างไหม?

ผมว่าผมดวงดีนะ เอาจริง ๆ นะผมเรียนมา 4 ปีผมรู้สึกว่าผมไม่ใช่คนเก่งเลยแต่ว่าผมดวงดี ส่วนใหญ่ก็จะไปฟังเพื่อนพูดกันหน้าห้องสอบ ผมเป็นคนขี้เกียจอ่านหนังสือด้วย ก็เลยไปฟังเพื่อนเขาติวกัน สมมติคืนก่อนสอบ เพื่อนก็จะมาแล้วตั้งกลุ่มกัน แล้วก็ติวกัน ผมก็จะไปนั่งฟัง เพราะว่าผมเป็นคนเรียนรู้ไวกับการฟัง ผมเรื่องอ่านนี่ช้า ผมก็เลยฟังเอาแล้วก็พยายามนึกภาพตาม แล้วก็ไปสอบ ก็บวกกับดวงด้วยก็เลยผ่าน

การเรียน 4 ปีที่ผ่านมาวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์สอนอะไรเราบ้าง?

วารสารฯ ธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนข่าว หลัก ๆ เลยก็คือการผลิตสื่อที่เกี่ยวกับข่าว มีกระบวนการในการเขียนข่าวยังไง นำเสนอข่าวยังไง หรือว่ามุมมองไหนที่ควรจะนำเสนอ หรือมุมมองไหนไม่ควรจะนำเสนอ รวมถึงเรื่องพวกจริยธรรมด้วย พวกจริยธรรมสื่ออะไรพวกนี้ครับ พอขึ้นปีสูง ๆ ก็จะเป็นพวกเรื่องของธุรกิจไปแล้ว

ปกติเราดูข่าวหรือดูอะไรบ้างไหมครับ?

จริง ๆ เมื่อก่อนดูบ่อย แต่ว่าพอหลัง ๆ มาไม่ค่อยได้ดูแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะดูบน Social ครับ แต่ว่าไม่ได้ดูข่าวโทรทัศน์ก็จะดูในโทรศัพท์เอา ตามข่าวตามอะไร

มีการเอาวิชาเรียนของเรามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันบ้างไหม?

เยอะเลยฮะ เพราะว่าอย่างเราเสพข่าวบน Social อย่างนี้เรื่องความน่าเชื่อถือของ sort ข่าวมันไม่ได้แล้ว ความน่าเชื่อถือมันน้อยลง สิ่งที่เราเรียนมาในมหาวิทยาลัย มันก็จะถูกเอาไปใช้ในการประเมินว่าข่าวนี้มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เราควรจะเชื่อข่าวจากแหล่งไหน

สิ่งสำคัญของคนที่มาเรียนวารศาสตร์ต้องมีคืออะไร เพราะอะไร ขอหนึ่งอย่าง?

ใจครับ เพราะผมรู้สึกว่าถ้าคนที่ใจไม่ได้มา way นี้ สมมติว่าแบบคนนี้เหมาะกับการเป็นนักกีฬา ใจเขาเป็นทางนักกีฬา แต่ให้เขามาเรียนการทำข่าว ผลิตข่าว ผมว่าไม่ Happy หรอก อาจจะเรียนจบแต่ว่าไม่มีความสุข ผมคิดว่าจะทำอะไรสักอย่างใจมันต้องมา

จุดเริ่มต้นของการทำเพลงคืออะไร?

ตอนนั้นไปประกวด Boy Band ครับ รายการ La Banda Thailand แล้วก็เข้ารอบมาจนชนะ ก็ชนะแล้ว ก็ยังงง ๆ อยู่ แต่ว่าพอหลังจากนั้นมันเหมือนเราได้เข้าไปอยู่ในวงการเพลงมากขึ้น เราได้เข้าห้องอัด เราได้ไปเล่นซีรีส์ แล้วก็ทำเพลงซีรีส์ให้เขา ได้มีประสบการณ์ในการทำเพลงร้องเพลงมากขึ้น หลังจากนั้นเราก็เลยเริ่มทำเพลงเองมานี่ก็น่าจะประมาณ 2 ปีได้แล้วครับ ก็คือเริ่มทำเอง ศึกษาเอง ก็คือมันเหมือนเราใช้ความรู้สึกเอา เราไม่ได้มีทฤษฎีว่าการทำเพลงจะต้องเป็นแบบโน้นแบบนี้ แต่ว่ารู้สึกว่ามันจะต้องเป็นแบบนี้ ก็เลยออกมาเป็นแบบนี้

สิ่งสำคัญที่ทำให้คนทำเพลงประสบความสำเร็จคืออะไร?

ผมว่าใจเหมือนกัน คือทำเพลงคือใจมันต้องรัก ถ้าเกิดว่าใจไม่ได้รัก ถ้าทำเป็นธุรกิจอะไรพวกนี้มันอาจจะประสบความสำเร็จ แต่มันไม่มีความสุข คือมันต้องมากันคนละครึ่งทาง

มีอะไรอยากจะฝากน้องน้องที่กำลังรู้สึกว่าอยากจะเข้ามาเรียนวารศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์บ้างไหม?

ก็อย่างที่ผมบอกไปแหละว่าตอนที่ผมเข้าครุศาสตร์นี่คือเราไม่ได้มีความมั่นใจเลยว่าเราชอบอะไรหรือว่าเราอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร เรารู้ตัวช้าไปสองปีว่าเราอยากจะเรียนเกี่ยวกับการผลิตสื่อ แต่ว่าพอเรามารู้ตัวอีกที่มันก็ช้าไป คือที่อยากบอกน้อง ๆ ก็คืออยากให้รู้ตัวให้ไว มันรู้ได้ด้วยหลายวิธี ในการค้นหาตัวเอง ก็อยากจะให้รู้ตัวให้ไว จะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาแล้วก็จะได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองรัก ทำงานในสิ่งที่ตัวเองมีความสุข

วางอนาคตตัวเองอย่างไรบ้างหลังจากเรียนจบแล้ว?

คิดว่าในเรื่องการทำเพลงก็คงทำต่อไปเรื่อย ๆ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ผมบอกว่าใจมันรักอย่างนี้ครับ คือเราก็ทำไปเรื่อย ๆ ส่วนเรื่องงานคิดว่าน่าจะเริ่มทำงานปลายปี

อยากทำด้านไหน?

ก็คงหนีไม่พ้นด้านนี้ ด้านการผลิตสื่อพวก sound พวกทำสปอตโฆษณาทำเพลงทำอะไรพวกนี้

ฝากผลงานหน่อย

ได้ครับ ก็สามารถไปติดตามเพลงได้นะครับใน Channel TaroShatree Official ครับผม จะทยอยลงเพลงเรื่อย ๆ


ถ่ายภาพโดย : กาศิพัฒณ์ วงศ์วิทยกำจร
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : กฤตนัน ดิษฐบรรจง
แกะเทปโดย : Nok Kanokon