fbpx

เพื่อเป็นการต้อนรับวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี ทีมกองบรรณาธิการเว็บไซต์ส่องสื่อจึงดึงตัวแขกรับเชิญซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล และโลดแล่นในวงการบันเทิงมาอย่างยาวนาน อย่าง “ครูธัญ – ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์” มาพูดคุยหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ เรื่อง LGBT หรือแม้กระทั่งบทบาทของครูธัญเอง ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันได้เลยครับ

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้ได้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2562 ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะลุกลามจนเกิดการประกาศควบคุมพื้นที่ และก่อนการยุบพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบัน ส.ส. บางส่วนรวมถึงครูธัญได้ย้ายสังกัดไปอยู่พรรคก้าวไกลแล้ว

แนะนำตัวก่อน

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ นะคะ คนจะเรียกว่าครูธัญ และก็มีหลาย ๆ ครั้งเลยที่คนจะจำธัญวัจน์กับธัญวารินเหมือนเป็นคนเดียวกันนะคะ แต่ว่าจริง ๆ เราก็ชื่อธัญเหมือนกันนะคะ คนเรียกครูธัญ จริง ๆ เป็นนักออกแบบท่าเต้นมาก่อนนะคะ ทำงานเกี่ยวกับ Music video ,concert  ทำเกี่ยวกับศิลปินในเมืองไทย เกี่ยวกับงานโฆษณา เกี่ยวกับงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการออกแบบการแสดง การออกแบบท่าเต้น แล้วก็ event ต่าง ๆ

จริง ๆ แล้วที่เราตัดสินใจเข้ามาทางการเมืองก็เพราะอย่างแรกเลย เรามองว่าเวลาเราทำงานในแวดวงของเรา เราก็พบอย่างหนึ่งว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ได้มีเสรีภาพ แล้วมันก็นำพาชีวิตเราไปสู่จุดที่เรียกว่าไม่มีทางออกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง platform ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องลิขสิทธิ์ หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องต่าง ๆ ที่จริง ๆ มันสวนทางกับทางสากล ที่มันจะทำให้คนที่ทำงานในวงการบันเทิง ยิ่งนานวันยิ่งจน ในขณะที่ต่างชาติยิ่งนานวันยิ่งรวย มันก็ทำให้เราเกิดตั้งคำถามต่าง ๆ ซึ่งพอเราเติบโตขึ้นมามันก็ทำให้เราเห็นความไม่เป็นธรรมบางอย่างในสังคม นี่ก็เป็นจุดเริ่มอีกอย่างหนึ่งที่ ทำให้เราก้าวเข้ามาสู่การเมืองค่ะ

คิดอย่างไรบ้างกับการเป็นส.ส.ที่เป็น LGBT กลุ่มแรก ๆ?

จริง ๆ คิดว่าเรารู้สึกดีใจที่(อดีต)พรรคอนาคตใหม่ให้พื้นที่ของเราตรงนี้นะคะ แล้วก็เป็นครั้งแรกเลยที่เราเปิดเผยตัวตนก่อนที่เราจะเลือกตั้ง ก่อนที่จะเดินเข้าสภาก่อนที่จะรายงานตัวซึ่งก็เสียงตอบรับ แน่นอนในแวดวงที่เป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้การยอมรับ ก็อาจจะมีคนบางกลุ่มที่อาจจะมองว่าไม่เห็นด้วย มองว่าเราเป็นเพียงแค่สีสันทางการเมือง แต่ทั้งหมดทั้งปวงเนี่ยมันก็ขึ้นอยู่กับว่า เรารู้ตัวเรา แต่มันขึ้นอยู่กับสังคม มีเลนส์ที่เรามองเรายังไง คือถ้าเกิดสมมติว่าเขามองเราเป็นเพียงสีสัน ก็อาจจะมองเราในมิติของความของการแต่งตัว ของการแต่งหน้าทำผมเท่านั้น

แต่จริง ๆ ถ้าเกิดเค้ามองลึกลงไปอีกก็จะเห็นว่าเรามีความคิดความอ่านที่ก็เป็นคนคนหนึ่งที่มีความคิดความอ่านในเชิงการเมือง ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ในเชิงในสิ่งที่จะต้องต่อสู้ คำว่าสีสันทางการเมืองครูมองว่ามันเป็นเลนส์ที่อันตราย เพราะว่ามันเหมือนยุคหนึ่งเวลาที่เรามองผู้หญิง ครูพูดคำง่าย ๆ เลยว่าผู้หญิงที่สวยและอาจจะมีรูปร่างที่ดีมีอะไรอย่างนี้ คนก็จะมองตรงอื่นและไม่ได้มองความคิดใช่ไหมคะ คำว่าสีสันหรือคำว่ากะเทยแต่งตัวเนี่ยมันก็เป็นเพียงภาพลักษณ์ภายนอก ผิดไหมที่เขาจะมองแบบนั้น ไม่ผิดแต่คิดว่าการมองของเขา ก็อยากให้เขามองเราลึกขึ้นแล้วก็ดูว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่กลุ่มคนหลายทางเพศทำมันไม่ใช่แค่เรื่องกรี๊ดกร๊าดกระตู้ฮู้อย่างที่เขาเข้าใจกันนะคะ

กระแสตอบรับทั้งดีและไม่ดีเรามีวิธีการจัดการยังไงบ้าง?

คืออย่างข่าวที่ครูคือฮาก็เกี่ยวกับการหมุนตัวในสภาแล้วก็เป็นข่าว ซึ่งครูก็ตกใจเหมือนกัน ถ้าคิดว่าเพราะครูคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องสาระสำคัญ แต่ทีนี้การที่สังคมให้ความสำคัญหรือ Blow ข่าวนั้นเนี่ยจนทำให้เกิดกระแสซึ่งก็มีคนทั้งเสียแล้วก็มีคนทั้งเข้ามาด่าเนี่ย ครูมองว่าคำด่าหรือคำโต้ตอบตรงนี้มันเป็นสิ่งที่สังคมต้องอ่านแล้วก็ต้องตกผลึกเองว่าเขาคิดยังไงกัน จริง ๆ แล้วถามว่าครูรับมือยังไงครูคิดว่าแน่นอน ครูไม่มีสิทธิ์ที่จะโต้ตอบ เพราะครูทำไปแล้ว แต่ว่าครูมองว่ามันก็เป็นบทสนทนาในสังคมที่วันนี้ เราก็ในเรื่องการเมืองเรามีการพูดเรื่องอื่น ๆ บ้าง แต่ครูก็ดีใจที่มันเป็นกระแสที่ให้คนได้ถกเถียงกันว่าสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นสัญลักษณ์ จะมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระซะทีเดียวก็ไม่เชิง แต่ว่ามันก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในเรื่องของสิทธิของตัวเอง มองว่าสังคมก็คงต้องเรียนรู้และใช้เวลาทำความเข้าใจกับบทสนทนานั้น

เคยโดน fake News บ้างไหม?

จริง ๆ fake News ของครูยังไม่เคยโดนกับตัวนะคะ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของ hate speech มากกว่า แล้วก็เรื่องการสร้างความเกลียดกลัวค่ะ คือจริง ๆ ความเกลียดกลัวมันก็จะผ่านวาทกรรมต่าง ๆ อย่างเช่น อีพวกวิปลาส อีพวกผิดเพศ อีพวกลักเพศ คือสร้างความเข้าใจให้กับสังคมที่ผิด ๆ คือการที่เล่นการเมืองเราต้องสตรองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็เจอข่าวตรงนี้เราก็ต้อง Standing for คืนยืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเป็น นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดแล้ว ครูเชื่อว่าสังคมก็จะทำความเข้าใจเอง เพราะครูก็ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการประกวดนางงามเวทีหนึ่งที่เอาประเด็นในเรื่องเสื้อผ้าเข้าสภา แต่งสีสันเข้าสภาและนางงามแต่ละคนมีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งครูคิดว่าครูก็รู้สึกดีใจที่การแต่งตัวสีสันเข้าสภาเนี่ยมันก้าวเข้าไปในพื้นที่การประกวดนางงาม ที่ทำให้นางงามต้องลุกขึ้นมาตอบคำถามอันนี้และทิศทางในการตอบคำถามเนี่ยครูก็คิดว่ามันเป็นอะไรที่เป็นความคิดที่ค่อนข้างก้าวหน้าและบางคนก็ตอบได้ก้าวหน้ามาก ๆ เลยนะคะ คิดว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ค่ะ

มองอย่างไรเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของ LGBT ในสื่อหรือในสังคมไทย?

จริง ๆ มองว่า ณ วันนี้เรามีพื้นที่มากขึ้นในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่ว่าคือเวลาทั้งหมดทั้งปวงเนี่ย ก่อนหน้านี้แล้วเราต้องยอมรับว่าเราอยู่ในเรื่องเล่าแบบหนึ่งคือเราอยู่ในเรื่องเล่าของคำว่านิทานใช่ไหมคะ มีเจ้าชายเจ้าหญิงเพราะฉะนั้นเรื่องราวของนิทานนี้มันส่งไปสู่ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ บทเพลง หรือภาพลักษณ์ของศิลปินในวงการบันเทิงที่เรียกว่าเป็น Pop culture เนี่ย มันเป็นเรื่องเล่าแบบนึงที่เป็นเรื่องเล่าแบบสำหรับเพศหญิงเพศชาย

ณ วันนี้เรามีความหลากหลายทางเพศเข้ามาในสื่อมากขึ้น คำถามคือว่าแล้ว ณ วันนี้ ความหลากหลายทางเพศเข้ามาในสื่อและเรายังมีบทที่ถูกผลิตซ้ำว่าเป็นคนที่เป็นตัวตลก คนที่มีปัญหา หรือคนที่หมกมุ่นเรื่องเพศ หรือคนที่จะต้องตายในโรคบางโรค ต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งมันก็มีพื้นที่มากขึ้น แต่ก็ยังสื่อสารในเรื่องของภาพเหมารวมและการตีตราอยู่มากค่ะ

คิดว่าในปัจจุบันนี้ยังมีคนตีตรา LGBT อยู่ไหม?

จริง ๆ ครูได้พูดเรื่องนี้ในสภา ก็คือเรื่องการตีตราเกี่ยวกับศึกษาธิการประจำจังหวัดแห่งหนึ่งที่พูดถึงการประกาศให้จับตาดูครูที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน คืออันนี้ครูได้เข้าไปหารือในสภา แล้วก็มีโอกาสได้พูดผ่านกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงศึกษาธิการ แล้วก็ศึกษาธิการจังหวัดก็ได้มีจดหมายแจ้งเขาผ่านการหารือในสภาว่า จริง ๆ แล้วการเหมารวมว่าจับตาดูครูที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน อย่างแรกคือการใช้ศัพท์ที่ไม่ถูกต้องคือคำว่าเบี่ยงเบน อย่างที่สองการละเมิดทางเพศเด็ก มันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพี่ว่าอันนี้มันก็เป็นความเข้าใจของสังคมที่มีเลนส์หรือมีมายาคติที่มองเราแบบเหมารวมอยู่ เพราะฉะนั้นมันเห็นได้ชัดเจน

เพราะฉะนั้นในฐานะที่เป็น ส.ส. แล้วก็ต้องทำความเข้าใจผ่านสภา แล้วก็หารือเรื่องเกี่ยวกับการตีตราเหล่านี้ ถามว่ายังมีอยู่ไหมยังมีอยู่มาก บางครั้งครู…. ไม่ใช่บางครั้งหรอกครูเข้าไปอ่าน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ มันก็เป็นกฎหมาย เป็นพ.ร.บ. ที่เรารู้ว่ามันยังไม่รื้อซากแนวคิดของสังคมนิยมชายไม่หมด คือมันยังมีคำว่าไม่ตรงกับเพศกําเนิด คืออันนี้จริง ๆ มันก็คือคำว่าเบี่ยงเบนนั่นแหละ แต่ว่าคุณแค่เปลี่ยนคำว่าเบี่ยงเบนเป็นไม่ตรง คือมันไม่ควรจะใช้คำว่าไม่ตรงกับไงคะ มันควรจะใช้คำว่าเป็นบุคคลที่มีการแสดงทางเพศที่เป็นปัจเจก อาจจะดูเหมาะสมกว่าไหม เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มันยังดูย้อนแย้งกันอยู่ แล้วก็คงต้องแก้ไขในวาระต่อ ๆ ไป แล้วก็สร้างความเข้าใจอันดีกับสังคมด้วยค่ะ

มองถึงพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับปัจจุบัน ว่ามันส่งผลให้กับคนทำงาน ได้รับเงินมากขึ้นหรือเปล่า

จริง ๆ แล้วครูต้องบอกเลยว่ามันก็มีการเปิดประตูและรัฐเนี่ยก็มองว่าเป็นเรื่องระหว่างบุคคลกับบุคคลที่จะทำสัญญากัน นั่นหมายถึงว่าถ้าสมมุติเราถูกจ้างให้ไปออกแบบท่าเต้นหรือรับจ้างให้ไปเขียนเพลงให้กับใครเนี่ย มันก็จะมีสัญญาหรือกฎหมายเนี่ยมันก็จะเปิดให้บริษัทที่เป็นทุนนิยมหรือค่ายที่ผูกขาดได้ออกแบบสัญญาและคนที่เข้าไปทำงานก็จะต้องจำนนต่ออำนาจ เพราะว่าค่ายทุนผูกขาดก็จะยึดติดอยู่กับสัมปทานรัฐถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นทำให้ศิลปินไม่ได้มีโอกาสหรือมีทางเลือกมากนักในยุคหนึ่ง

ถามว่าจริง ๆ แล้วถ้าเกิดจะให้ครูนิยามคำว่าลิขสิทธิ์เนี่ย ต่อให้ครูจ้างปอนด์ (ผู้สัมภาษณ์) เขียนเพลงนะคะ ถ้าให้เงินเลย 20,000 เขียนเพลงมาแล้วครูไปให้นักร้องร้องเนี่ยค่ะ จริง ๆ แล้วเพลงที่ปอนด์สร้างได้เงินจากค่าจ้างของครูเนี่ย จริง ๆ แล้วเพลงก็ยังต้องเป็นของปอนด์นะคะ แต่ว่าครูในฐานะคนจ้างครูจะมีสิทธิ์ Publishing หรือภาษาไทยคือการเผยแพร่ 5 ปี 3 ปีก็ทำสัญญากันไป แต่จริง ๆ แล้วลิขสิทธิ์หรือเจ้าของเนี่ย จะต้องอยู่กับบุคคลที่สร้างงาน บุคคลที่สร้างงานนั่นหมายถึงตัวนักร้องที่เป็นเจ้าของเสียงร้อง ผู้ประพันธ์ และนักดนตรีที่สร้างสรรค์ต่าง ๆ เหล่านั้นนะคะ ที่นี้สัดส่วนจริง ๆ แล้วมันต้องแบ่งกันออกไปคือ 30-30-30 ต้องแบ่งอย่างไรในลักษณะที่เป็นโมเดลของต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยคือพอคุณแต่งหรือคุณแสดงละครหรือคุณเขียนบทละครอะไรก็แล้วแต่ก็จะมีสัญญาที่ให้มอบสิทธิในการสร้างสรรค์งานให้กับค่าย เพราะฉะนั้นค่ายก็จึงมีสินทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ทางปัญญาของศิลปินมากมายและก็ขายซ้ำโดยสะสมความมั่งคั่งและอยู่เพียงผู้เดียว

เพราะฉะนั้นถามคำถามที่เกิดขึ้นมาต่อว่าแล้วจริง ๆ แล้วคนที่เป็นศิลปิน คนที่เป็นนักร้องเนี่ย ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบนี้จะใช้ชีวิตอยู่ยังไง ทั้ง ๆ ที่เขามีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมของประเทศไทยในแต่ละยุคที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องตั้งคำถามต่อไปค่ะ

ในวงการบันเทิงของเมืองไทยจะมีการพัฒนาเหมือนเมืองนอกไหม?

จริง ๆ คือเป้าหมาย แต่อย่างที่บอก นั่นหมายถึงว่าเราจะต้องบอกว่าตอนนี้คุณผูกขาด เป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจกับเขา ครูไม่อยากใช้คำว่านายทุนผูกขาดขนาดนั้น เพราะครูเชื่อว่าทุกคนก็ต้องการผลประโยชน์ทั้งสิ้น แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ในฐานะที่ทำงานอยู่ในสภานิติบัญญัติและออกแบบกฎหมายอย่างไรต่างหากที่จะทำให้เขาเหล่านั้นไม่ถูกเอาเปรียบและทุนผูกขาดก็ต้องอยู่ได้ด้วย ทีนี้เนี่ยมองว่า จริง ๆ มันจะแก้ยาก มันขึ้นอยู่กับว่าเสียงโหวตในสภา แล้วก็เบื้องลึกเบื้องหลังที่มันมีการเคลื่อนไหวพรรคการเมืองที่เขาจะยอมยกให้เราหรือไม่ ก็เป็นคำถามในเชิงการเมือง

แต่ครูกำลังจะบอกว่า ศิลปินในเมืองไทยคือปัญหาใหญ่ เพราะว่าเวลาความคิดสร้างสรรค์ไม่ถูกให้ความสำคัญ มันก็เหมือนว่าเราก็จะไม่สามารถสร้างความเป็น Original ได้ หรือสร้างความเป็นต้นแบบได้มั นไม่สามารถที่จะสร้างมูลค่าจากความคิดได้จริง ๆ เพราะคนคิดว่าคิดไปเดี๋ยวเขาก็เอาไปแล้ว ก็ผลิตตามเอางานเก่ามาผลิตซ้ำวนไปวนมาเพราะฉะนั้นคุณค่าทางความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นสิ่งที่คนไทยมองข้าม

เราอยู่ในประเทศที่เราถือกระเป๋า Louis Vuitton ก๊อปถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นคนที่ซื้อกระเป๋า Louis Vuitton ก๊อป เขาก็เพียงแค่ว่าซื้อกระเป๋า Louis Vuitton ก๊อปเพื่อให้อยู่ในสถานภาพที่คนยอมรับ ซื้อกระเป๋า Louis Vuitton แต่จริง ๆ คนที่ซื้อไม่ได้เคารพกระเป๋า Louis Vuitton ว่าจริง ๆ เขาสร้างแบรนด์แล้วก็มีมูลค่าทางการค้าและนี่ก็เป็นผลพวงอันหนึ่งที่เราต้องตั้งคำถามว่า ก็นี่ไงก็เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์หรือเปล่า เพราะฉะนั้นมันถึงเวลามาดูเรื่องเพลงยังคงก๊อปกันต่าง ๆ เหล่านี้มันคือเราจะมี Original ได้ยังไง หรืออย่างครูไปดูประกวดเต้น เด็กเต้นก็ดีเต้นเก่งแต่ว่าเขาก็เป็นการเต้น Cover เอาความคิดของเกาหลีมา เป็นสิ่งที่เขาแสดงต่อถามว่าเขาเป็นได้ไหม ก็เป็นได้ แต่ปัญหาคือแล้วความคิดสร้างสรรค์ของคุณอยู่ตรงไหน มันก็เป็นอีกคำถามหนึ่ง แต่ในขณะที่การเต้นแบบ Cover มันก็เปิดกว้างเปิดกว้างโดยที่เด็กก็ทุ่มเทกับสิ่งเหล่านี้โดยที่เด็กลืมบางอย่างที่สำคัญไป คือความคิดสร้างสรรค์ที่จะสร้างหน้าที่เป็น Original และเป็นตัวตน

แสดงว่าอุตสาหกรรมบันเทิงจะอยู่ได้ก็คืออยู่ได้ด้วย creative หรือความคิดสร้างสรรค์ใช่ไหม?

ใช่ ซึ่งยังไม่ได้ถูกให้คุณค่ามากพอ ส่วนคุณค่าที่มากพอคือคนที่มีอำนาจก็จะมองเห็นเท่านั้นไงคะ แต่เราถูกทำให้ไม่ตระหนักรู้คุณค่าในสิ่งที่เราคิดหรือสิ่งที่เรา creative ผ่านงานของเรา มันก็จะถูกผลิตซ้ำเอาของเดิมมาผลิตซ้ำเอางานนี้ผลิตซ้ำวนไปวนมามันก็ไม่ต่างจากการทำละคร remake ต่าง ๆ ที่มันก็ใช้เรื่องเดิม ๆ อุดมการณ์เดิม ๆ มาผลิตวนซ้ำแล้วก็สื่อสารเรื่องเดิม ๆ ให้กับสังคมค่ะ

คิดอย่างไรที่ต่างประเทศเขาปลูกฝังเรื่องลิขสิทธิ์ตั้งแต่เด็ก ๆ เลย?

ครูถึงบอกไงคะว่า creative หรือความคิดสร้างสรรค์ของประเทศเราไม่ได้ถูกทำให้มีคุณค่า คือมันเหมือนว่าทำให้เรื่องที่หาซื้อได้ทั่วไป หรือโหลดมาฟรี ๆ ได้ แต่จริง ๆ เมืองนอกคุณจะดู Netflix คุณก็ต้องจ่ายเงินดูหนัง อะไรคุณก็ต้องจ่ายเงิน ซื้อเพลงคุณก็ต้องผ่าน iTunes ถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาของประเทศที่เจริญแล้ว และมันก็ทำให้สังคมและศิลปินของเขาอยู่ได้ แต่เมืองไทยเนี่ย พอเรื่องความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ เพราะฉะนั้นเขาก็เลยรู้สึกว่ามันมีด้วยเหรอความคิดสร้างสรรค์ เขาก็เอาแผ่นซีดีมาโหลดมากกว่าความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในซีดี

จะจัดการตรงนี้อย่างไร?

แน่นอนเรื่องการศึกษา สอนให้เด็กเข้าใจในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การศึกษาของเราต้องให้ความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนสำคัญ เพราะเด็กจะรู้ทันทีว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นมาง่าย ๆ เพราะฉะนั้นกระบวนการผลิตงานของเขาในทุก ๆ มิติเลย เขาจะรู้ว่าความคิดสร้างสรรค์มันใช้เวลาตกผลึก ใช้คุณค่าของชีวิต เพราะฉะนั้นคุณจะแค่โหลดฟรีแล้วก็ฟัง แล้วก็บอกว่าต้องเสียเงินด้วยหรอมันไม่ใช่ (หัวเราะ)

มันเหมือนแบบว่าพูดตรง ๆ นะ จะว่ายังไงก็แล้วแต่ ครูซื้อแผ่นซีดีแบบลิขสิทธิ์หมดเลยนะ ตอนรายงานสินทรัพย์กับปปช. ครูก็ต้องถ่ายแล้วก็บอกว่าเนี่ย 5 แสนกว่าบาท คือครูเข้าใจตรงนี้ แล้วมันก็เป็นสิ่งที่คนในสังคมบางครั้งเขาก็มองว่าครูโง่นะ เราต้องบอกว่านี่คือสิ่งที่เราทำถูกต้องค่ะ คือเราต้องไม่ลักไก่ แต่ครูเข้าใจว่าค่าครองชีพตอนนี้มันสูงในสังคมเรา มันต้องมาทำความเข้าใจทั้งโครงสร้างเลย ครูเข้าใจนะคะ เราไม่ได้ว่าคนที่โหลดเพลงฟรี เขาอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ว่าถ้าได้อ่านบทความนี้แล้ว คุณก็จะได้รู้ว่าเวลาที่คุณได้คิดเพลงหรือคิดบทละครขึ้นมาเนี่ย มันเป็นความสามารถส่วนบุคคลที่เราต้องเคารพด้วยเหมือนกัน

สื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันนี้พัฒนาไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว?

จริง ๆ ครูมองว่าถ้าเกิดเป็นละครที่ใช้คำว่าเป็นกระแสหลักนะ ครูมองว่าก็ยังไม่ได้พัฒนาไปมากที่ยังเป็นเรื่องเล่าเรื่องเดิม คือเป็นเรื่องนิทานรักหวานแหวว แต่มันก็อาจจะมีบทบาทที่มีมิติของผู้หญิงที่เปลี่ยนไปนะคะ แต่ว่ามันก็ยังคงย่ำซ้ำอยู่กับความผิดความถูก ความขาวความดำ นางร้ายอิจฉาอยู่ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันเหมือนว่าเราก้าวข้ามไม่ผ่านในขณะที่ละครอื่น ๆ ที่ฉายใน Line TV หรือช่องที่ไม่เป็นกระแสหลักเนี่ย อาจจะมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ว่าเรตติ้งก็ยังไม่ได้สามารถที่จะทำให้สปอนเซอร์ให้การสนับสนุนมากพอ ครูมองว่ามันก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ค่อย ๆ เปลี่ยนจากรอบนอกมากกว่า แต่ว่ากระแสหลักก็ยังคงเป็นเป็นกระแสหลักและคนก็ยังนิยมชมชอบผ่านตัวดาราผ่านละคร ผ่านหน้าตาที่เป็นดาราดูสวยงามนะคะ มันก็ยังเป็นเรื่องเดิม

แต่ครูก็มองว่าอนาคตต่างหากที่สังคมต้องลุกขึ้นมาว่าชีวิตเราเนี่ยจะพูดเรื่องละคร และเอาละครมาสู่ชีวิตจริงมากแค่ไหน คือ ณ วันนี้เวลาคนมาทำงานในออฟฟิศช่วงเช้าก็จะพูดถึงละครเมื่อคืนถูกไหมคะ และความเป็นนางเอกนางร้ายในละครมันก็ส่งผลให้เรา มันกระตุ้นต่อมเราเวลาที่เราได้เสพ Fake News  มันเป็นการหล่อเลี้ยง Fake News ถูกไหมเวลาที่เราได้ข่าวที่มันเป็นขาวดำมาก ๆ และเราก็จะรู้สึกปี๊ดรู้สึกแบบตายละดูซิ สิ่งเหล่านี้มันคือมันได้ผล ถูกไหม Fake News ต้องการทำให้เรารู้สึกแบบนั้นแล้วมันได้ผล ครูพูดตรง ๆ เลยก็คือว่า Fake News มี agenda ไหม มี เขาไม่ได้ทำขึ้นมาสนุก ๆ นะคะ เขามี agenda เพราะเขาไม่ต้องการให้ประชาชนหลอมรวมเป็นพวกเดียวกัน ครูพูดง่าย ๆ ว่าสมมุติหนูเป็นเจ้าของบริษัท มีลูกน้องที่เก่ง 2 คน หนูต้องทำให้สองคนนี้ไม่ถูกกันนะ เพราะถ้าเขาถูกกัน หนูก็ไม่ต้องอยู่ หนูเก็ทประเด็นครูใช่ไหมคะ มันก็เป็นหลักการที่ทำให้ประชาชนแบ่งเป็น 2 ฝ่ายและก็ทำให้ขัดแย้งผ่าน Fake News หรือเปล่า

แล้วที่สำคัญมันก็เป็นหลักการของการดำรงอยู่ไว้ซึ่ง อำนาจที่เป็นเผด็จการหรือเปล่า นึกออกใช่ไหมคะ (หัวเราะ)  คือ Fake News ครูคิดว่าก็ยังใช้ได้ผลกับประเทศไทย ถามว่าเราจะรู้เท่าทันกับ Fake News ได้ยังไง ก็คือเราต้องรู้เท่าทันหมายถึงว่าเวลารับข่าวสารบางอย่างมาแล้วเนี่ย ไม่ต้องรีบแชร์หรือถ้าแชร์แล้วก็โพสต์หรือมาร์กข้อความไปว่าข่าวไม่รู้จริงหรือไม่ช่วยกันกรองนะคะ สอบถามเพื่อน ๆ พิมพ์ข้อความเพิ่มเติมไปกับ Fake News ที่มันยังไม่ได้รับการยืนยัน ก็มีส่วนช่วยที่จะทำให้คนรอบ ๆ ข้างเราตระหนักรู้เพราะว่าอารมณ์ของสังคมเป็นเรื่องสำคัญค่ะเวลาที่ Fake News มันได้ผลนั่นหมายถึงว่ามันเข้าทาง

การที่เราเป็นส.ส. มีส่วนช่วยอย่างไรในการขจัด Fake News?

เราขจัด Fake News ไม่ได้แน่ ๆ แต่แค่ว่าเราคงต้องสื่อสารให้กับสังคมให้ตระหนักรู้และเท่าทัน คือในชีวิตจริง ๆ ของคน ไม่มีใครที่เป็นนางร้ายและนางเอก เรามองคนว่าคนเป็นคนและคนแต่ละคนก็มีความชอบที่แตกต่างกัน เชื่อในเรื่องของสิทธิ สิทธิก็คือสิทธิของเราและกลับกันก็คือสิทธิของผู้อื่นด้วย คือถ้าเกิดเราเคารพกันตรงนี้ครูเชื่อว่า Fake News ก็จะทำอะไรไม่ได้ ครูคิดว่ามันเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญ

คืออย่าง LGBT Capital รายงานข่าวรายงานผลการวิจัยว่าเรามีกลุ่มคนรักหลายทางเพศ 4.8 ล้านคนและอาจจะเป็น 7 ล้านคนที่ยังไม่ยังไม่เปิดเผยตัวเนี่ย มันก็เป็นรายงานที่มันเป็นเลนส์มองจากคนรอบนอก เหมือนผู้ชายผู้หญิงทั่วไปก็จะมองเรามีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเนี่ย 4.8 ล้านคน แต่ในขณะที่พอเทิร์นกลัมาที่เป็นเลนส์ของเรา เราก็พยายามจะบอกว่าเราต้องการให้คุณเข้าใจพวกเราในฐานะที่เป็นคนคนหนึ่ง เพราะว่าเรามีพ่อ มีแม่ มีครู มีเพื่อน มีนักเรียน มีคนที่อยู่ในสังคม เพราะฉะนั้นคำว่า 4.8 ล้านสำหรับครู ครูมองว่ามันคือ 4.8 ล้านคูณคนที่เรารู้จักในสังคม เท่ากับผลลัพธ์ นั่นหมายถึงว่าตีว่า 5 ล้านคนคูณ 10 คนก็เท่าไหร่แล้ว

แล้วจริง ๆ เรารู้จักคนมากกว่า 10 คนในสังคมอยู่แล้วใช่ไหมคะ ครูกำลังจะบอกว่านี่คือเลนส์ที่เรากำลังจะสื่อสารบอกว่าเราไม่ใช่ 4.8 ล้านคน แต่เราคือส่วนหนึ่งของสังคมที่ยังไม่มีความเข้าใจกับผู้ชายผู้หญิง พูดแล้วไม่อยากให้มองว่าผู้ชายผู้หญิงไม่จำเป็นต้องรู้เรื่อง LGBT เลย แต่เรากำลังจะบอกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องของทุกคนนะคะเพราะฉะนั้นตรงนี้ เลนส์ตรงนี้มันตรงนี้มันต่างกันเวลาที่เกิดเกิด Fake News

กลับมาตรงประเด็นนี้พอมันเกิดเกิด Fake News  คนก็จะเอามายาคติของการแต่งตัว ความแรด ความเป็นตัวตลกเข้ามาสร้างเป็น Fake News มันก็จะยิ่งเป็นกำแพง เป็นม่านกั้นระหว่างเลนส์ของเรากับเลนส์ของผู้ชายผู้หญิง ทำให้ห่างออกจากกันนะคะ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจในเรื่อง Fake News แล้วก็ยังคงติดลมกับวาทกรรมเนี่ย มันก็ไม่มีทางเลยที่จะทำให้เราเป็นสังคมเดียวกันได้อย่างแท้จริง อันนี้คือครูมองสองด้านว่านี่คือด้านผู้ชายผู้หญิงที่มองหรือด้านกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมองค่ะ

เห็นด้วยไหมกับกฎหมายที่อนุญาตให้เปลี่ยนคำนำหน้าหลังการแปลงเพศ?

จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ครูได้คุยกับผู้เขียนรายงาน UNDP เกี่ยวกับการรับรองเพศนะคะ คือจริง ๆ ครูสามารถบอกได้เลยตอนนี้ว่าครูไม่มีความเห็นด้วย เพราะว่าเรื่องของเธอเนี่ยมันไม่ได้เป็นเรื่องของการที่จะต้องผ่าตัดแล้วถึงจะได้เป็นหรือไม่เป็น เพราะว่าการผ่าตัดนี้เราต้องยอมรับว่ามันผ่านในเรื่องของทุนนิยมในเรื่องของคุณค่าที่สังคมนิยมชายกำหนด คือต้องต้องมีอันนี้ ต้องมีความสวยอย่างนี้ ต้องเหมือนผู้หญิงแบบนี้ใช่ไหมคะ แต่จริง ๆ แล้วเรื่องของพี่มันเป็นเรื่องของสำนึก คือนั่นหมายถึงว่าในรายงานของ UNDP นี้เขาพูดเลยว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่อยู่ภายใน ต่อให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิง

ต่อให้ปอนด์ (ผู้สัมภาษณ์) ไม่ได้แต่งตัวเป็นผู้หญิงก่อนก็สามารถที่จะใช้นางสาวได้จริง ๆ ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเพื่อสร้างสิทธิ์ สิทธิ์มันควรจะต้องติดเกิดมากับมนุษย์เลย ไม่ใช่แบบว่าจะเกิดมาเป็นมนุษย์และฉันก็ต้องใช้เงินซื้อสิทธิ์อันนั้นอันนั้นเป็นเรื่องผิด อันที่ 2 คือสิ่งหนึ่งที่สังคมพยาบาลเฝ้าบอกเราซึ่ง UNDP บอกว่าผิดคือการที่รัฐบอกว่าเราป่วยหรือรัฐจะต้องมีหมอมาบอกว่าเราเป็นอะไรเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าถ้าหมดทั้งปวงมันอยู่ที่สำนึกของเราว่าเราเป็นเพศอะไรมากกว่า และเราก็ควรจะนิยามตัวเอง แล้วเราก็ควรจะแต่งตัวในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น

นั่นหมายถึงว่ามันไม่มีความจำเป็นต้องมีในปัจจัยของทุนนิยมไม่มี แต่ไม่มีปัจจัยของรัฐที่บอกว่าคุณป่วยหรือคุณต้องได้รับแบบนี้แล้วคุณถึงจะเป็นผู้หญิง ไม่มีใครมาบอกเราแบบนี้ และที่สำคัญร่างที่เขานำเสนอขึ้นมาเราก็ยังไม่ได้เห็นการมีส่วนร่วมของคนอย่างแท้จริงตลอดตั้งแต่ต้นจนจบค่ะ เพราะฉะนั้นจริง ๆ มีอีกหลายข้อมากที่ครูมองว่าร่างพ.ร.บ.นี้อาจจะยังไม่ครอบคลุม และที่สำคัญก็คือกฎหมายพอออกมาแล้วมันจะใช้ได้กับทุกคน ไม่ใช่ว่าออกมาแล้วใช้ได้กับกลุ่มคนบางคนซึ่งนี่ก็เป็นวิธีคิดแบบชนชั้นก็ไม่ถูกต้องค่ะ

ครูยังทำรายการ sex Society อยู่ไหม?

จริง ๆ ยังทำอยู่นะคะ แต่เนื่องจากครูมีงานยุ่งมาก แต่ว่าก็โทรคุยกับครูเคทตลอดนะคะ แล้วก็ตั้งใจจะกลับมาทำค่ะ แต่ตอนนี้มันเหมือนว่าเรายังแพลนเรื่องเวลาไม่ได้ เพราะว่าตอนนี้ 1 สัปดาห์เนี่ย วันอังคารประชุมพรรค พุธ-พฤหัสบดีเข้าสภา วันศุกร์ก็จะต้องมีสัมมนาเกี่ยวกับกลุ่มวงทำงาน เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องลงพื้นที่ ตอนนี้มันเลยเหมือนละวันจันทร์วันเดียวที่ครูแบบต้องอยู่บ้านทำความสะอาดบ้าน ซึ่งก็แล้วก็ต้องทำแล้วก็ต้องซักผ้าอยู่ (หัวเราะ) แต่ก็พยายามจ้างคนมา แต่ว่าถ้ามีงานจริง ๆ เราก็จะพยายามนัดวันจันทร์ นี่ยังไม่ได้พูดถึงคณะกรรมาธิการที่จะต้องนั่งกันอีกมันก็จะมีตารางงานเข้ามาแทรกอีกซึ่งตอนนี้เวลามันก็เลยแน่นค่ะ

แล้วรายการ sex Society เกิดจากอะไรครับ

รายการ sex Society กับครูเคทมันเกิดจาก ครูคิดว่ามันถึงเวลาที่ต้องพูดเรื่องการเมือง เพราะจริง ๆ ครูก็เป็นคนหนึ่งที่มีความเชื่อในประชาธิปไตยและครูก็ตื่นรู้มาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 49 เราเห็นบางอย่างก็อยู่ในวงการที่มันเกี่ยวกับสัมปทานรัฐ เกี่ยวกับการสอนคนที่อยู่ในนั้นใช่ไหมคะ แล้วก็เห็นโครงสร้างบางอย่างอยู่ แต่ว่าเราก็เก็บเงียบ เพราะว่าหนึ่งเวลาที่เราพูดว่าเราเป็นประชาธิปไตย มันก็จะมีแบบเราก็ไม่กล้าเสนอตัวเอง เพราะว่าเราไม่รู้ว่าคนรอบ ๆ ข้างคิดยังไง แล้วก็ตลอดจนสปอนเซอร์หรือคนหลาย ๆ คน เราก็เห็นได้ชัดว่าเขาอยู่ฝ่ายไหนใช่ไหมครับ แน่นอนว่าถ้าเกิดเราเปิดตัวมันต้องมีผลกับงานเรา เพราะฉะนั้น sex Society มันจึงเกิดมาจากความไม่ไหวละ ฉันต้องพูดแล้ว เผอิญตอนนั้นเราก็ได้ไปเรียนสตรีศึกษาใช่ไหมคะ แล้วก็ได้เจอครูเคทแล้วเราก็ยกหูโทรคุยกัน แล้วครูเคทก็ say yes ทันทีและก็เลยเริ่มเลย แล้วก็ทำมันออกมา เพราะว่าอยากให้สังคมไทยได้รู้เรื่องของการเมืองมากขึ้นในมิติที่เป็นชีวิตที่เราผ่านมาค่ะ ก็เลยเกิดขึ้นมา แต่ก็ตั้งใจจะทำอยู่นะคะ

อยากจะฝากอะไรถึงคนที่เห็นว่า ส.ส. ที่เป็น LGBT น่าจะเป็นแค่สีสันทางการเมือง?

เราเข้าใจที่ถ้าเกิดสมมุติเราบอกว่าเรามาเป็นสีสันนะคะ แต่จริง ๆ อย่างวันนี่ที่สัมภาษณ์เนี่ย ถ้าเราได้อ่านกันหรือคลิกเข้ามาอ่านก็จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วก็มีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงนะคะ แต่เพียงแค่ว่ารูปลักษณ์หรือพื้นที่ในสภา ในการทำงานเนี่ยคุณอาจจะไม่ได้เห็นเราในแง่มุมต่าง ๆ ใช่ไหมคะ สิ่งเหล่านี้เวลาที่คุณคลิกเข้ามาดู คุณก็จะได้เห็นความคิด

ก็อยากให้เปิดใจคลิกเข้ามาอ่านนิดนึง อย่างน้องปอนด์มาสัมภาษณ์ ครูก็ต้องขอบคุณมาก เพราะว่าเราได้มีโอกาสพูดในสิ่งที่สังคมมองว่ากะเทยจะพูดรู้เรื่องหรอ มันก็เป็นการสะท้อนความคิดอย่างหนึ่ง แล้วก็จริง ๆ แล้วทุกอย่างมันต้องเปิดใจ คือถ้าคุณเปิดใจปุ๊บ มันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างนะคะ เพราะว่าครูเชื่อว่าการที่เราก้าวไปสู่ในพื้นที่ที่เราไม่เคยไป อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นการค้นพบเรื่องใหม่ ๆ ที่คุณอาจจะไม่เคยคิดมาก่อนเพราะฉะนั้นจงอย่ามองผู้หญิงแค่ความสวย จงอย่ามองกะเทยว่าเป็นสีสันนะคะ คือก็จะมองเราว่าเป็นสีสัน โอเคแน่นอน ชอบแต่งตัวสีสัน แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราชอบไง แต่ในความคิดของเรา เราก็ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงและเราก็ทำงานหนักมากค่ะ